อจ.โบราณคดีลั่น’เพชรมีค่ากว่าหิน’! ย้ำถ้ำโพธิสัตว์คือเพชรของงานศิลป์ทวารวดี-หวั่นระเบิดหินกระทบภาพสลักพันปี

รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ลงพื้นที่สำรวจถ้ำพระโพธิสัตว์ อ.แก่งคอย สระบุรี

สืบเนื่องกระแสข่าวทักท้วงกรณีบริษัทเอกชน 2 ราย ขอทำการระเบิดหินใกล้กับถ้ำพระโพธิสัตว์ หรือถ้ำเขาน้ำพุ หมู่ 10 ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี โดยรายหนึ่งเป็นบริษัทปูนชื่อดัง จะขอระเบิดหินห่างจากถ้ำพระโพธิสัตว์ประมาณ 2 กิโลเมตร และอีกบริษัทหนึ่งจะขอระเบิดหินห่างจากถ้ำพระโพธิสัตว์ประมาณ 280 เมตร ซึ่งเสี่ยงต่อความเสียหายกับภาพสลักนูนต่ำในถ้ำพระโพธิสัตว์จากการสั่นสะเทือนเป็นอย่างมากนั้น

เมื่อวันที่ 30 ก.ย. รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ได้เดินทางไปยังวัดถ้ำพระโพธิสัตว์ โดยเบื้องต้นได้มีการพูดคุยกับเจ้าอาวาสและนายบุญมี วาทไชสงย์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 10 ซึ่งต่างห่วงใยในภาพสลักดังกล่าว เนื่องจากเป็นที่สักการะของชาวบ้านในท้องถิ่นมาอย่างยาวนาน อีกทั้งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์

วัดถ้ำโพธิสัตว์

 

Advertisement

จากนั้นได้เดินเท้าขึ้นไปบน “เขาน้ำพุ” ซึ่งเป็นที่ตั้งของถ้ำ จากเชิงเขาใช้เวลาประมาณ 15 นาที ภูมิทัศน์โดยรอบประกอบด้วยป่าไม้อุดมสมบูรณ์ มีบันไดที่ทางวัดทำขึ้นเพื่อความสะดวกในการขึ้นไปยังถ้ำ

รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าวว่า ภาพสลักที่ถ้ำพระโพธิสัตว์ ถือเป็นเพชรของงานศิลปะในวัฒนธรรมทวารวดี อายุราวพุทธศตวรรษที่ 13-15 หรือราว 1,000 ปีมาแล้ว จึงมีค่ากว่าจะถูกระเบิดไปเป็นหินก่อสร้าง ภาพดังกล่าวเป็นภาพสลักนูนต่ำรูปพระพุทธเจ้ากำลังเทศนาโปรดเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ 2 องค์คือ พระศิวะและพระนารายณ์ ด้านรูปแบบรับอิทธิพลจากศิลปะอินเดียสมัยคุปตะ-หลังคุปตะ มีอายุร่วมสมัยกับพระพุทธรูปศิลาขาวที่พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม ที่สำคัญมากคือเป็นภาพสลักที่มีพระพุทธเจ้าและเทพเจ้าในศาสนาฮินดูอยู่ร่วมกันที่เก่าแก่ที่สุดในไทย โดยอาจตีความได้ถึงการแข่งขันกันระหว่างศาสนา หรือในทางกลับกัน อาจเป็นการผสมผสานด้านความเชื่อก็เป็นได้ นอกจากนี้ยังเป็นหลักฐานที่ทำให้ทราบว่าผู้คนในยุคทวารวดีมีการใช้ถ้ำเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งมีหลงเหลือเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น หากถูกทำลายไป ไม่ว่าจะเจตนาหรือไม่ ถือว่าน่าเสียดายมาก

“ภาพนี้เป็นเพชรชิ้นหนึ่งของสมัยทวารวดี เพราะตัวอย่างของถ้ำธรรมชาติที่ถูกดัดแปลงให้เป็นที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา มีไม่ถึง 10 แห่งที่เหลืออยู่ การอยู่ร่วมกันของพระพุทธเจ้า พระวิษณุ และพระศิวะที่เป็นภาพขนาดใหญ่อย่างนี้ ไม่เคยเห็น ถือเป็นสถานที่ซึ่งพุทธอยู่กับพราหมณ์อย่างใกล้ชิดที่สุด และเก่าที่สุด ถ้าเสียไปแม้เพียงบางส่วนก็น่าเสียดายมาก ถือว่าเป็นการทำลายหลักฐานชั้นดีไป”

Advertisement

วัดถ้ำโพธิสัตว์

สำหรับบรรยากาศภายในถ้ำ ประกอบด้วยภาพสลักขนาดใหญ่ รวมถึงเจดีย์บรรจุพระธาตุ ซึ่งชาวบ้านให้ข้อมูลว่า มีการเดินเท้าขึ้นมาทำบุญเป็นประจำ เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่มีบทบาทต่อชุมชน นอกจากนี้ เขาน้ำพุแห่งนี้ยังมีชาวบ้านขึ้นมาหาของป่า และใช้น้ำบางส่วนจากน้ำตกซึ่งอยู่บริเวณเชิงเขาอีกด้วย

รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง อธิบายถึงภูมิประเทศซึ่งเป็นเทือกเขาหินปูนสลับซับซ้อน ประกอบด้วยถ้ำและเพิงผาซึ่งมนุษย์ในอดีตมักดัดแปลงเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์
รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง อธิบายถึงภูมิประเทศซึ่งเป็นเทือกเขาหินปูนสลับซับซ้อน ประกอบด้วยถ้ำและเพิงผาซึ่งมนุษย์ในอดีตมักดัดแปลงเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์

รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าวอีกว่า นอกเหนือจากถ้ำพระโพธิสัตว์แล้ว บนเขายังมีถ้ำอีกหลายแห่ง แต่ยังไม่พบว่ามีการสลักภาพบนผนัง เชื่อว่าทั้งหมดเคยถูกใช้เป็นสถานที่ทำพิธีกรรมทางศาสนา หรือทำวิปัสสนาคล้ายพระสงฆ์ในวัดป่าดังเช่นปัจจุบัน แต่ไม่น่าจะมีการอยู่อาศัยถาวร อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลการสำรวจด้านโบราณคดีโดย ศาสตราจารย์พิเศษ ศรีศักร วัลลิโภดม เมื่อครั้งยังเป็นอาจารย์คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร มีการพบหลักฐานของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่ง รศ.ดร.รุ่งโรจน์มองว่าเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากถ้ำถูกใช้เป็นที่ประกอบกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ในอดีตมาตั้งแต่สมัยโบราณ

วัดถ้ำโพธิสัตว์

ถ้ำพระโพธิสัตว์

เทือกเขาหินปูนในตำบลทับกวาง มีการให้สัมปทานการระเบิดหินไปแล้วบางส่วน
เทือกเขาหินปูนในตำบลทับกวาง มีการให้สัมปทานการระเบิดหินไปแล้วบางส่วน

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image