เศรษฐกิจดิจิทัล VS เศรษฐกิจพอเพียง

เศรษฐกิจดิจิทัล VS เศรษฐกิจพอเพียง

เศรษฐกิจดิจิทัล VS เศรษฐกิจพอเพียง

คําว่า ประชาชนต้องปรับตัวอยู่กับไวรัสโควิด-19 ให้ได้เป็น “คาถา” ที่สำคัญของคนไทยทุกคนต้องเริ่มท่องบ่อยๆ จนเข้าใจ ปฏิบัติให้ได้ และอยู่กับมันให้เป็นวิถีแบบปลอดภัย ตามที่ “ชาร์ล ดาร์วิน” กล่าวไว้ว่า “ผู้ที่อยู่รอดไม่ได้แข็งแกร่งที่สุดหรือฉลาดที่สุด แต่ปรับตัวได้ดีที่สุดในยุคการเปลี่ยนแปลง” ฉันใดก็ฉันนั้น ไม่ว่า “คนหรือมนุษย์” จะป้องกันเข้มข้นอย่างไรในที่สุดเจ้า “โอไมครอน” ก็แหกด่านเข้ามาถึงเมืองไทยได้สำเร็จมันปรับตัวจากอัลฟ่า เบต้า แกมม่า เดลต้า ตั้งชื่อตามอักษรโบราณที่มีอีก บานตะไท เชื่อได้ว่าไม่มีทางจบที่ “โอไมครอน” แน่ๆ

ตามธรรมชาติเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กลายพันธุ์ (ผ่าเหล่า=Mutation) ไม่ต่างจากเผ่าพันธุ์มนุษย์ต้องมีพัฒนาการยกระดับสร้างภูมิคุ้มกันตัวเองเพื่อ “ความอยู่รอด” และทำตัวให้ “อันตราย” ป้องกันตัวเองไม่ให้สูญพันธุ์

คนคิด “วัคซีน” ฆ่ามันได้ ไวรัสมันก็ติดอาวุธใหม่มาทำลายกวาดล้างคนได้เช่นกัน เพราะฉะนั้น “มวลมนุษยชาติ” หรือ “คนไทยทั้งประเทศ” ต้องปรับตัวเช่นกัน อยู่กับมันให้ได้ ไม่ต้องกลัวจนหงอ แต่ก็ไม่ประมาทจนพากันตายหมู่ อดทนรอจนกว่าจะกลายเป็นโรคประจำถิ่นเหมือนไข้หวัดธรรมดานั่นแหละ แค่อาการ “แพนิก” ชั่วขณะทำเศรษฐกิจโลกที่กำลังโงหัวฟื้นตัวต้องดิ่งเหวลงไปอีก

Advertisement

แต่ก็ไม่เว้นไทยแลนด์แดนสวรรค์ ที่ท้าทายมฤตยูมากกว่าใคร เพราะกำลังอยู่ในช่วงเปิดประเทศ รับทัวร์ต่างชาติ รีสตาร์ตเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่เพราะมั่นใจ “มนต์ขลังสกัดโควิดอยู่” แต่มันเป็นไฟต์บังคับให้ต้องเสี่ยง ขืนมัวแต่กลัวโควิดตาย ก็มีหวังตายกันทั้งประเทศ กับสถานการณ์สภาพเศรษฐกิจร่อแร่ ภายใต้กัปตันทีมอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและ รมว.กลาโหม ที่สั่งปลูกผักชีในค่ายทหารแก้ผักแพง ปล่อยรถทหารวิ่งแทนรถบรรทุกขู่ประท้วงน้ำมันแพง คนว่างงานสูงขึ้น ของกินของใช้แพงขึ้น รายได้น้อยลงจนถึงยากไร้

สถานการณ์แบบที่กลุ่มทุนใหญ่ขยับส่งสัญญาณ หากยังเป็นแบบนี้อันตรายต่อระบบเศรษฐกิจอับปาง สวนทางกับฝ่ายถือ “อำนาจการเมืองไม่รู้ร้อนไม่รู้หนาว” อย่าได้ปลื้มเคลิ้มว่า “พรรคร่วมรัฐบาล” จะพังพาบส่อแตกคอไม่พอใจกันเรื่องไม่สนองนโยบายเพื่อประชาชน ทำทีแย่งกันหาเสียงตามสัญญากับชาวบ้านไปวันๆ “หลุมดำทางการเมือง”

ประชาชนต้องปรับตัวอยู่กับไวรัสโควิด-19 ให้ได้ แต่การเมืองยังเสพติดอำนาจอยู่ ทำได้ทุกอย่างเพื่ออยู่ต่อกับตัวเลือกที่มีอยู่อย่างจำกัด เหมือนมัดคอคนไทยต้องอยู่กับไฟต์บังคับ หันไปที่พรรค
“พปชร.” สภาพ “3 ป.” กับเลขาฯพรรคตัวจริง “ผู้กองมนัส” กับ “มาดามบิ๊กอาย” ก็ยังไม่ลงตัว

Advertisement

อนึ่งขณะนี้ประเทศไทยเราจะต้องเสี่ยงกับ “หลุมดำวังวนทางการเมือง” ที่ยังหาทางออกสรุปไม่ได้ แต่พลวัตรของ “หลุมดำความยากจน” ข้าวยากหมากแพง จากการแพร่ระบาดของ “เชื้อมฤตยูโอไมครอน” แล้วเศรษฐกิจของไทยจาก “ความยากจน” มาสู่ยุค “เศรษฐกิจพอเพียง” ของ “พ่อหลวง” และหนีไม่พ้นในก้าวสู่ “ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลล้วน”

ว่าด้วย “นวัตกรรมที่ทันสมัย” โดยไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม กำลังเป็นปัจจัยสำคัญในการวางโครงสร้างธุรกิจของปัจจุบันและอนาคต ที่เป็นความเปลี่ยนแปลงแบบทันทีทันใด อันเนื่องมากจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระหว่าง “โอกาส” กับ “ความท้าทาย” โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศ ที่จะต้องปรับตัวให้ทันกับการแข่งขัน ในการก้าวต่อไปของ “เศรษฐกิจยุคดิจิทัล” ระหว่าง “การผูกขาดทางธุรกิจ” กับ “การเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจ” เพื่อขยายโอกาสในการแข่งขันก็คือ การท้าทายของโลกธุรกิจ “ที่ไม่มีขอบเขตจำกัด” บริษัททุนใหญ่ในประเทศจะอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะคิดนอกกรอบและยอมรับความจริงทั้งในภาคสังคมและธุรกิจ

ยกตัวอย่างการเป็นพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจภายในประเทศจับมือกันระหว่าง “เอไอเอส” กับ “กัลฟ์” หรือ “ทรู” กับ “ดีแทค” หรือการควบรวม “ทีโอทีและแคท” หรือจับมือทางธุรกิจระหว่าง เฟซบุ๊ก เมสเซนเจอร์ ติ๊กต็อก ยูทูบ กูเกิล เน็ตฟลิกซ์ ช้อปปี้ อาลีบาบา อีเบย์ เหล่านี้ทำให้เห็นภาพของธุรกิจในอนาคต “ที่ไม่มีขีดจำกัด” เป็นการพัฒนาไปสู่เป้าหมาย “ทางนวัตกรรม” ของแต่ละองค์กรที่สามารถนำมาเพิ่มมูลค่าของสินค้าหรือสามารถต่อยอดธุรกิจให้โตไปอย่างไม่มีขีดจำกัด

“ธุรกิจโทรคมนาคม” เป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มในการแข่งขันสูงที่สุด รองลงมาเป็นธุรกิจโลจิสติกส์ เนื่องจาก “เศรษฐกิจดิจิทัล” ที่ใช้โครงข่ายเสมือนจริงมากที่สุด ไม่มีร้านค้าปลีก แต่เป็น “ร้านค้าออนไลน์” การตกลงทำธุรกิจแบบออนไลน์ การประชุมสัมมนาทางออนไลน์ การจัดนิทรรศการทางออนไลน์ เพียงแต่ว่าวิธีการและรูปแบบทางการทำงานที่เปลี่ยนไปเท่านั้น หรือที่บริษัทย่อยของ ปตท. อินโนบิกไปถือหุ้นในบริษัทโลตัส ฟาร์มาซูติคอล บริษัทผู้ผลิตยาสามัญชั้นนำจากไต้หวัน จะเห็นว่า “ปตท.” ไม่ได้ขายแค่น้ำมันเท่านั้น แต่ทำธุรกิจนอกกรอบให้ทันกันการแข่งขันในยุคสินค้าสุขภาพอนามัย ยารักษาโรคเป็นสิ่งจำเป็นในลำดับต้นของการดำรงชีวิต

“เหรียญมีสองด้าน” เสมอ ย่อมมีทั้งคุณทั้งโทษเสมอ มุมหนึ่งมองว่าการควบรวมเป็นการ “ฮั้ว” ที่สมบูรณ์แบบ อีกมุมหนึ่งก็มองว่า คือ การขยายการเติบโตทางธุรกิจเพื่อการแข่งขัน โอกาสที่ไทยจะเอาชนะหรือแข่งขันกับบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกได้ก็ต้องสร้าง “ทีมไทยแลนด์” ขึ้นมาก่อน จากนั้นเข้าสู่ตลาดของการแข่งขันอย่างมั่นใจและมีประสิทธิภาพพอที่จะต่อสู้ในโลก “ยุคดิจิทัล”

ก็ย้อนกลับไปถึงการจับมือเป็นพันธมิตรของ “ทรูและดีแทค” อีกทีในรูปของ “Tech Company” จากมูลค่าการตลาดของทั้งสองบริษัท 158,822 ล้านกับ 108,327 ล้านบาท จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น 267,159 ล้านบาท ทันทีจากมูลค่ารวม 636,420 ล้านบาท หลังจากขยายธุรกิจแล้วคาดจะสร้างรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 300,745 ล้านบาท มีสัดส่วนจำนวนผู้ใช้งานที่ 97.8 ล้านเลขหมาย หรือร้อยละ 52.5 ขณะที่ “เอไอเอส” มีสัดส่วนผู้ใช้งานร้อยละ 44.6

การปรับภูมิทัศน์การแข่งขันของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไปสู่เวทีเทคโนโลยีดิจิทัล “รายได้” ไม่ใช่อยู่ที่จำนวนของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 5 ของรายได้ทั้งหมด แต่จะอยู่ที่การใช้งาน OVER THE TOP หรือการใช้งานแพลตฟอร์มต่างๆ ทางออนไลน์ ในอนาคตการตลาดโทรคมนาคมก็ไม่ได้มีแค่นี้จะมีคู่แข่งที่น่ากลัวจากการพัฒนาเทคโนโลยีที่สำคัญอีกมาก

ฐานะ “ผู้เขียน” หากติดตามความเป็นไปยุคพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมสิ่งหนึ่งประวัติศาสตร์ที่ได้ยิน
เสมอๆ และก็เป็นพลวัตที่ไม่ควรประมาท คือ “Disruption” ย่อมเกิดได้ตลอดเส้นทางการก้าวย่างมีผลกระทบต่อ การเมือง เศรษฐกิจ สังคม และ “คุณภาพชีวิต” ของประชาชนในท้ายที่สุด

สิ่งหนึ่งที่ต้องตระหนักและน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ “พ่อหลวง” ของเรามีต่อพสกนิกรชาวไทยอันหาที่สุดมิได้ พระองค์ทรงมีพระราชดำรัส ทรงสร้างคุณูปการต่อประเทศไทย คนไทยมากมายมหาศาล ขอยกมาย้ำเตือนเป็นบางส่วน ความว่า…

“การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือ ความพอมีพอกินพอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เบื้องต้น คนไทยใช้วิธีการและอุปกรณ์ที่ประหยัดแต่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เมื่อได้พื้นฐานความมั่นคงพร้อมพอสมควร และปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างเสริมความเจริญและฐานะทางเศรษฐกิจขึ้น สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป” ให้ไว้ ณ วันที่ 18 ก.ค.2517

“คนอื่นจะว่าอย่างไรก็ช่างเขา จะว่าเมืองไทยล้าสมัย ว่าเมืองไทยเชย ว่าเมืองไทยไม่มีสิ่งที่ทันสมัยใหม่ แต่เราอยู่พอมีพอกิน และขอให้ทุกคนมีความปรารถนาที่จะให้เมืองไทยพออยู่ พอกิน มีความสงบและทำงานตั้งจิตอธิษฐานตั้งปณิธานที่จะให้เมืองไทยอยู่แบบพอกิน ไม่ใช่ว่าจะรุ่งเรืองอย่างยิ่งยวด แต่ว่ามีความพออยู่พอกิน มีความสงบ เปรียบเทียบกับประเทศอื่น ถ้าเรารักษาความพออยู่พอกินนี้ได้ เราก็จะยิ่งยวดได้ (4 ธ.ค.2517)

เนื่องในวันที่ 5 ธันวาคม 2564 ผ่านมา 3-4 วัน อันเป็นวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 “5 ธันวามหาราช” และวันพ่อแห่งชาติของปวงชนชาวไทย ตระหนักถือ “ดุลยภาพ” ของการก้าวย่างของความเจริญด้านนวัตกรรมเทคโนโลยี “เศรษฐกิจดิจิทัลล้วนๆ” กับ “เศรษฐกิจพอเพียง” ของ “พ่อหลวง” ไงเล่าครับ

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image