อ.โบราณคดี ชี้ เร็วเกินสรุป ‘ศรีเทพ’ คือศูนย์กลางทวารวดี แนะอย่าโฟกัสปม ‘ศาสนา’ ยัน นครปฐมโบราณวัตถุสถานหนาแน่น

อ.โบราณคดี ชี้ เร็วเกินสรุป ‘ศรีเทพ’ คือศูนย์กลางทวารวดี แนะอย่าโฟกัสปม ‘ศาสนา’ ชี้นครปฐมโบราณวัตถุสถานหนาแน่น

กรณี ศ.ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ อดีตอาจารย์คณะศิลปศาสตร์ ประกาศข้อเสนอใหม่เกี่ยวกับ ‘ทวารวดี’ ว่าตั้งอยู่ที่เมืองโบราณศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ไม่ใช่เมืองนครปฐมโบราณ หรือเมืองอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ตามที่นักวิชาการส่วนใหญ่เชื่อกันในปัจจุบัน เนื่องจากทวารวดีนับถือศาสนาพราหมณ์เป็นหลัก ไม่ใช่พุทธ ขณะที่นครปฐม และอู่ทองนับถือพุทธเป็นหลัก นอกจากนี้ เมืองโบราณศรีเทพยังพบเทวรูปพระกฤษณะผู้สร้างเมืองทวารวดีแห่งเดียวในประเทศ อีกทั้ง มีหลักฐานถึงความสอดคล้องกับชื่อ ‘กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา’ นามเดิมกรุงศรีอยุธยาอีกด้วย โดยต่อมา นายสุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้ก่อตั้งนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม ว่าข้อเสนอของศ.ดร.พิริยะ เป็นเรื่องใหญ่ เพราะเท่ากับเป็นการเปลี่ยนประวัติศาสตร์ไทยในขณะที่ปัจจุบันสังคมไทยถูกครอบงำโดยแนวคิดด้านเดียวว่าทวารวดีอยู่ที่นครปฐม

เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร กล่าวว่า โดยหลักการ ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าบ้านเมืองที่ชื่อว่า ทวารวดีอยู่ในภาคกลางของไทยจริงค่อนข้าง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่เมืองที่จะเรียกว่าเป็นศูนย์กลางหรือเมืองหลวงหรือราชธานีตั้งอยู่ตรงไหนนั้น ปัจจุบันยังไม่มีข้อตกลงทางวิชาการที่เห็นตรงกัน 100 เปอร์เซ็นต์

สำหรับข้อเสนอของศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ส่วนตัวมองว่าน่าสนใจและน่าตรวจสอบต่อไป ในแง่ของเหตุผลที่มาสนับสนุน ถือว่าเป็นมุมมองใหม่ แต่อาจยังรวดเร็วเกินไปที่จะสรุป เช่น การอธิบายว่า เมืองทวารวดี คือเมืองของพระกฤษณะ ดังนั้น ศรีเทพเป็นศูนย์กลางทวารวดีเพราะพบพระกฤษณะแห่งเดียวในประเทศนั้น ไม่ใช่ข้อเสนอที่ผิดอย่างแน่นอน แต่เหตุผลที่ยกมามีบริบทแวดล้อมสนับสนุนหรือไม่ ยังเป็นสิ่งที่น่าสงสัยอยู่

ในความเห็นของตน บ้านเมืองใดบ้านเมืองหนึ่งเรียกตัวเองว่าทวารวดี แน่นอนว่าความคิดเกี่ยวกับศาสนาพราหมณ์ ปกรณัมเกี่ยวกับเทพเจ้าอย่างพระกฤษณะเข้ามา ก็มีความเป็นไปได้ แต่วิธีการแสดงออกมีมากมายหลากหลาย ในกรณี ศ.ดร.พิริยะ อ้างประเด็นสร้อยนาม กรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา ซึ่งมีคำว่า ทวารวดี และอยุธยาหรืออโยธยา ที่เป็นเรื่องของพระรามด้วยซ้ำ คำถามคือ โบราณวัตถุสถานในอยุธยาสร้างขึ้นเนื่องในพุทธศาสนาถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น การใช้ชื่อที่อิงแอบกับปกรณัมเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ไม่ได้การันตีว่าศาสนสถานหรือศาสนวัตถุของเมืองนั้น จำเป็นต้องเป็นพราหมณ์ตามไปด้วย

Advertisement

“กรณีที่เห็นชัดเจนคือเรื่องของอยุธยา ที่มีทั้งคำว่า ทวารวดี มีทั้งคำว่าอยุธยา แต่ความเชื่อมโยงกับเทพเจ้าซึ่งในที่นี้คือพระวิษณุหรือพระนารายณ์ แสดงออกในทางพิธีกรรมของกษัตริย์ และพระนามของกษัตริย์ คำถามที่ย้อนมาในยุคทวารวดีคือถ้ายุคนั้นเรียกชื่อบ้านเมืองตัวเองว่าทวารวดี จำเป็นหรือที่ขนบประเพณีความเชื่อต้องเป็นพราหมณ์ ต้องบูชาพระกฤษณะเสมอไป ในสังคมที่มีความเชื่ออันหลากหลายผสมผสาน การที่มีชื่อเมืองทวารวดี ที่เป็นชื่อเมืองพระกฤษณะ ไม่ได้หมายความว่าศาสนวัตถุจะเป็นพุทธไม่ได้” รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าว

เจดีย์จุลประโทนในศิลปะทวารวดี จังหวัดนครปฐม (ภาพจากฐานข้อมูลศิลปกรรมในประเทศไทย)

รศ.ดร. รุ่งโรจน์กล่าวต่อไปว่า นักวิชาการตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันยังคงชี้ไปทางที่ว่า นครปฐมเป็นศูนย์กลางทวารวดี นับเป็นเสียงส่วนใหญ่ แต่ก็ไม่จำเป็นว่าจะถูกต้องเสมอไป อย่างไรก็ตาม นครปฐมมีเหตุผลที่ค่อนข้างรองรับได้ คือการอยู่ภายใต้ข้อสมมติฐานที่ว่า การที่จะเป็นราชธานี เมืองต้องมีขนาดใหญ่ใช่หรือไม่ ถ้าคิดว่าเมืองหลวงของรัฐจารีตโบราณต้องมีขนาดใหญ่ นครปฐมก็เข้าข่าย เพราะมีคูน้ำคันดินกว้างขวางที่สุด รวมถึงโบราณสถานโบราณวัตถุ มีปริมาณหนาแน่น ทั้งขนาดเมืองและปริมาณโบราณวัตถุ ปฏิเสธไม่ได้ว่านครปฐมน่าจะเป็นเมืองใหญ่ และมีความสำคัญจริงๆ จึงยังคงมีแนวโน้มที่คิดได้ว่านครปฐมเป็นศูนย์กลางได้ นอกจากนี้ ข้อมูลที่มีจนถึงปัจจุบัน ถ้าพล็อตจุดการพบจารึกทั้งหลายที่เอ่ยนาม ทวารวดี ทั้งเหรียญเงิน ซึ่งแม้ถูกเคลื่อนย้ายได้ แต่ก็พบที่นครปฐมด้วยเหมือนกัน รวมถึงล่าสุด พบจารึกวัดพระงาม จังหวัดนครปฐม ที่มีคำว่าทวารดี เหรียญเงินมีข้อความ ศรีทวารวดี ศวรปุณยะ ก็พบที่นครปฐม แม้พบที่เมืองอื่นด้วย แต่ข้อมูลปัจจุบันยังไม่มีอะไรมาโต้แย้งถึงขนาดที่จะทำให้ความคิดที่ว่านครปฐมเป็นศูนย์กลางต้องพับกระดานไป

“แม้มีข้อมูลเพิ่มว่า เมืองอื่นมีความเป็นไปได้ แต่ก็ไม่ได้ไปลดความเป็นไปได้ของนครปฐม ส่วนเรื่องตำนานที่ผูกโยงกับทวารวดี อย่าลืมว่านครปฐมมีตำนานพญากง พญาพาน ที่อาจทำให้นึกถึงการปราบพญากงซึ่งเกี่ยวข้องกับพระกฤษณะได้หรือไม่ เป็นความทรงจำ เรื่องเล่า มุขปาฐะที่อาจมีเชื้อบางอย่าง ที่สำคัญในสมัยสุโขทัย จารึกมหาเถรศรีศรัทธา ยังระบุถึงข้อมูลนครพระกฤษณ์ คือเมืองของพระกฤษณะ มีการระบุว่ามหาเถรศรีศรัทธา ไปบูรณะโบราณสถานมากมาย มีแห่งหนึ่ง ปรากฏข้อความว่า ขอมเรียกพระธม ซึ่งไมเคิล ไรท์ มองว่า หมายถึงพระปฐมเจดีย์ ดังนั้น คิดว่าร่องรอยความทรงจำตรงนี้ยังมีอยู่ในสมัยสุโขทัย ทำให้คิดว่านครพระกฤษณ์ในจารึกนี้น่าจะได้แก่พื้นที่นครปฐมในปัจจุบันหรือไม่” รศ.ดร.รุ่งโรจน์กล่าว

Advertisement
จารึกเหรียญเงินทวารวดี (วัดพระประโทนเจดีย์ 3) พบที่นครปฐม (ภาพจากฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรฯ)
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image