กมธ.เกษตร-พาณิชย์ ถกปมโรคระบาดหมู ข้องใจ กรมปศุสัตว์-กรมการค้าภายใน แจงตัวเลขสับสน

“กมธ.เกษตร-พาณิชย์” ร่วมถกปมโรคระบาดหมู ข้องใจ “กรมปศุสัตว์-กรมการค้าภายใน” แจงตัวเลขสับสน 3 สัปดาห์หน้า เล็งประชุมหาข้อสรุปอีกครั้ง

เมื่อเวลา 12.50 น. วันที่ 27 มกราคม ที่รัฐสภา นายเอกชัย ทรงอำนาจเจริญ ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎร แถลงภายหลังการประชุมร่วมกันระหว่างกมธ.เกษตรฯ และกมธ.พาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา สภาถึงกรณีโรคระบาดอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) และกรณีหมูราคาแพง ว่า ขณะนี้ปัญหานี้ได้สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน กมธ.เกษตรฯ ได้เชิญกรมปศุสัตว์มาซักถามในหลายประเด็น ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้ให้ข้อมูลว่า สุกรที่ได้รับความเสียหายมี 3 แสนกว่าตัว ขณะที่เกษตรกรที่ได้รับความเสียหายมีจำนวน 9,746 ราย โดยโรคระบาดดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2565 กมธ.ฟังคำชี้แจงแล้วเกิดความสงสัยในส่วนของตัวเลขหลายประการ เช่น 1.จำนวนสุกรที่เข้าโรงฆ่าสัตว์กับจำนวนที่เลี้ยงใหม่เหตุใดถึงไม่สมดุลกัน ขาดกันเป็นแสนตัว 2.จำนวนผู้เลี้ยงสุกรรายย่อยที่เคยมีกว่า 1.8 แสนราย เหตุใดจึงเหลือเพียง 7 หมื่นราย เป็นไปไม่ได้ที่เกษตรกรจะล้มหายตายจากจำนวนขนาดนี้ในเวลา 1-2 เดือน หากระบุว่าโรคระบาดอหิวาต์ในสุกรเริ่มแพร่ระบาดตั้งแต่วันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา แปลว่าต้องเกิดมาระยะหนึ่งแล้วใช่หรือไม่

นายเอกชัย กล่าวต่อว่า สำหรับ กมธ.พาณิชย์ได้เชิญกรมการค้าภายในมาให้ข้อมูล โดยได้ข้อมูลว่าจำนวนสุกรลดลงร้อยละ 10 ขณะที่โรงชำแหละและการส่งออกสู่ตลาดยังเป็นปกติ คำถามคือถ้าชำแหละและส่งออกสู่ตลาดปกติ เหตุใดราคาเนื้อหมูจึงสูงขึ้น และมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยคืออะไร อย่างไรก็ตาม การชี้แจงข้อมูลยังมีความสับสน กมธ.เกษตรฯ และกมธ.พาณิชย์ จึงจะนัดหารือร่วมกันอีกครั้งหนึ่งในอีก 3 สัปดาห์ข้างหน้า เพื่อหาข้อสรุปและความชัดเจนจากกรณีดังกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image