‘พณ.-เอกชน’ รับมือ วิกฤต ‘รัสเซีย-ยูเครน’

‘พณ.-เอกชน’ รับมือ วิกฤต ‘รัสเซีย-ยูเครน’

เมื่อเกิดเหตุการณ์รุนแรงระหว่างประเทศจุดใดของโลก ย่อมส่งผลกระทบทุกประเทศโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ รวมทั้งประเทศไทย

ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเห็นพ้องกันว่า ในระยะสั้นไทยจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่หากยืดเยื้อเกิน 1-2 เดือน ย่อมได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้น

กระทรวงพาณิชย์จัดประชุมกับภาคเอกชน ทั้งคณะกรรมการภาคเอกชน 3 ฝ่าย (กกร.) สภาผู้ส่งออกทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย รวมถึงสถาบันการเงิน

“จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ในระยะสั้นยังไม่เห็นผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกไปรัสเซียและยูเครน แม้มีการปิดท่าเรือบางแห่งใน 2 ประเทศ แต่ก็ใช้การส่งออกผ่านท่าเรือข้ามแดน เช่น จากจีน ส่งเข้ารัสเซีย ส่วนการชำระเงินระหว่างไทยกับรัสเซียยังปกติ ต้องพยุงให้ไทยส่งออกไปรัสเซียได้ตามปกติ

Advertisement

ทั้งนี้ ทางปฏิบัติจะทำอย่างไรให้สินค้าที่เคยขายให้รัสเซียและยูเครน ยังส่งออกในปริมาณไม่ลดลง จากการวิเคราะห์ผลกลุ่มสินค้าส่งออกที่อาจได้รับผลกระทบหากเหตุการณ์รุนแรงขึ้น คือ ยางล้อรถยนต์ อาหารแปรรูป อัญมณีและเครื่องประดับ

แต่ที่เรากังวลจากนี้ คือ ผลกระทบทางอ้อมจากปัญหาราคาน้ำมันสูงขึ้นต่อเนื่อง กระทบต่อต้นทุนขนส่งและต้นทุนสูงจากการเปลี่ยนท่าเรือส่งมอบสินค้า ราคาพลังงานที่สูงขึ้นจะกระทบต่อสินค้าเหล็ก ธัญพืชที่นำเข้า เพื่อทำอาหารสัตว์ เช่น ข้าวสาลีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพราะรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก

ดังนั้น ในที่ประชุมเห็นพ้องกับแผนรับมือว่าไม่ว่าสถานการณ์จะรุนแรงน้อยลง หรือรุนแรงมากขึ้น ที่ต้องเร่งทำ คือ หันไปบุกตลาดทดแทน เช่น ตลาดตะวันออกกลาง ตลาดแอฟริกา ตลาดลาตินอเมริกา และทำควบคู่ไปกับหาตลาดทดแทนสินค้าของรัสเซียและยูเครน ที่ไทยไม่สามารถส่งออก แต่ส่งออกไปตลาดสำคัญในโลกแทน 2 ประเทศนี้ด้วย จะถือเป็นโอกาสเข้าไปทดแทนตลาดรัสเซียกับยูเครน เช่น มันสำปะหลัง อาจส่งไปจีนแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของยูเครน หรือผลิตภัณฑ์ยางในสหรัฐ อาหารสำเร็จรูปทดแทนตลาดรัสเซียและยูเครน เป็นต้น

Advertisement

“ยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดว่าจะมีปัญหาอะไร และอะไรที่ต้องเข้าดูแลทันที เรื่องสำคัญคือเปิดเส้นทางส่งสินค้าให้ไร้อุปสรรค” รองนายกฯและ รมว.พาณิชย์สรุป

ขณะที่ “บุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร” ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เสริมว่า ตอนนี้ยูเครนและรัสเซียเริ่มปิดท่าเรือ ทำให้ผู้ส่งออกต้องเปลี่ยนเส้นทาง และพิจารณาขนส่งผ่านแดนจากจีนไปรัสเซีย ซึ่งไม่ขัดระเบียบองค์การการค้าโลก โดยเอกชนขอให้รัฐบาลไทยเจรจากับจีนเพื่อให้การขนย้ายและขนส่งสินค้าจากไทยผ่านจีน เข้ารัสเซียหรือยูเครน ทำได้สะดวก รวดเร็ว ลดปัญหาขั้นตอนการตรวจเอกสารและอื่นๆ ที่เป็นอุปสรรค โดยกระทรวงพาณิชย์จะประสานหน่วยงานต่างๆ เพื่อหยิบยกขึ้นหารือกับจีนในทุกเวทีที่มีการประชุมเจรจา

“ส่วนเรื่องความวิตกชำระเงินโอนเงิน หลังรัสเซียถูกโดนถอดออกจากระบบการเงิน SWIFT นั้น ระบบ SWIFT มีธนาคารในเครือข่ายกว่า 1.1 หมื่นแห่ง จาก 200 ประเทศ ตอนนี้ยังเป็นการโดนแบนระหว่างสหรัฐกับรัสเซีย แต่ประเทศอื่นๆ แม้ในยุโรป ก็ยังไม่แบนรัสเซีย ทำให้การทำธุรกรรมการเงินไทยกับรัสเซียยังไม่มีผลกระทบแต่อย่างไร” ปลัดกระทรวงพาณิชย์ระบุ

ด้าน “สนั่น อังอุบลกุล” ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ระบุหลังประชุมว่า ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน มีแนวโน้ม
ยืดเยื้อ ส่งผลต่อราคาพลังงานในตลาดโลก ซึ่งในระยะนี้ผู้ประกอบการไทยควรระมัดระวังเรื่องการชำระเงินและรับคำสั่งซื้อ อาจเกิดความล่าช้า แต่คาดว่าผู้ประกอบการไทยอาจจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงมากนัก เนื่องจากไทยกับทั้งรัสเซียและยูเครน มีปริมาณการค้าต่อกันไม่มาก ประมาณ 0.5% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดของไทย และ 0.9% ของมูลค่านำเข้าทั้งหมดของไทย

แต่ผู้ประกอบการไทยอาจไปใช้ช่องทางอื่นในการรับชำระเงิน เช่น ชำระเงินผ่านระบบ SWIFT กับธนาคารในรัสเซียที่ไม่ถูกแซงก์ชั่น หรือชำระเงินผ่านระบบ CIPS ของจีน หรือชำระเงินผ่านประเทศที่สาม ในที่ประชุมเตรียมรับมือในส่วนนี้แล้ว

ภาคเอกชนประเมินว่า ผู้ประกอบการไทยที่จะได้รับผลกระทบ ได้แก่ กลุ่มผู้ผลิตอาหารสัตว์ อุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมยางรถยนต์ อุตสาหกรรมอาหารและแปรรูป

กลุ่มเอสเอ็มอี โดยเฉพาะเครื่องสำอางและอัญมณี ที่รัสเซียเป็นลูกค้ารายใหญ่ รวมทั้งกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ ซึ่งปัจจุบันนักท่องเที่ยวจากรัสเซียเป็นนักท่องเที่ยวอันดับ 1 ของไทย

“หอการค้าไทยคาดว่าสถานการณ์คงยืดเยื้อแน่นอน แต่ในระยะสั้นนี้ ผลกระทบทางตรงมีไม่มากนัก แต่ผลทางอ้อมจะสำคัญมากกว่า คือ ราคาน้ำมันทะลุ 115 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลแล้ว และมีโอกาสทะลุ 120 เหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ราคาน้ำมันในประเทศไทยขึ้น 5.0-7.5 บาทต่อลิตร ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย เพราะสินค้ามีราคาแพง ต้องขอขอบคุณรัฐบาลที่ช่วยลดภาษีและตรึงราคาน้ำมันในช่วงนี้ และอยากให้พิจารณามาตรการนี้ต่อหากเหตุการณ์ยืดเยื้อ” ประธานกรรมการหอการค้าไทยประเมิน

ขณะที่ด้านการท่องเที่ยวปีนี้จากรัสเซียมาไทยอาจหายไป 2.5 แสนคน เนื่องจากมีข้อจำกัดของการเดินทาง จากเดิมประเมินไว้ 5 แสนคน แต่คาดนักท่องเที่ยวจากซาอุดีอาระเบียทดแทนส่วนนี้

ส่วนผลกระทบด้านอื่น คือต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ (ข้าวสาลีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) จะสูงขึ้น เพราะยูเครนเป็นประเทศส่งออกข้าวสาลีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รายใหญ่ของโลก แต่มันสำปะหลังเป็นสินค้าทดแทนได้ อาจเป็นโอกาสของธุรกิจมันสำปะหลังของไทย ที่จะเข้ามาทดแทนส่วนนี้ในอนาคต

อีกเรื่องคือการค้าระหว่างประเทศจะกระทบ global supply chain ที่ต้องจับตามองผลกระทบจากค่าระวางเรือจะสูงขึ้น อันเนื่องมาจากสายเรืองดรับ booking เส้นทางรัสเซีย-ยูเครน และบริษัทประกันภัยไม่รับประกันการขนส่งสินค้าในเส้นทางดังกล่าว ทำให้ต้องพิจารณาใช้เส้นทางทางบกหรือระบบรางแทน และต้องขนส่งผ่านประเทศอื่นๆ เพื่อเข้าไปยังรัสเซียและยูเครน ขณะนี้เริ่มมีประกาศจากสายเรือที่พร้อมให้บริการบ้างแล้วว่า สินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น อาหาร ยา และสิ่งของจำเป็นอื่นๆ ยังสามารถส่งเข้ารัสเซียได้

“ส่วนในระยะกลางและระยะยาว ประเมินว่าจะกระทบด้านโลจิสติกส์ อาจเกิดภาวะขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ จึงขอเสนอให้ภาครัฐเร่งเจรจาจัดทำ Transit Agreement กับจีน และศึกษาการใช้ประโยชน์จากสิทธิพิเศษทางภาษีของสหภาพยูเรเซีย เพื่อพิจารณาเป็นเส้นทางในการขนส่งสินค้าใหม่ นอกจากนั้น ยังต้องติดตามภาวะเงินเฟ้อและการส่งออกอย่างต่อเนื่อง เพราะจะเป็นปัจจัยสำคัญในการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้ ทั้งนี้ ภาครัฐควรรักษาอัตราแลกเปลี่ยนให้อยู่ในระดับ 32.5-33.5 บาทต่อเหรียญสหรัฐ” ประธานกรรมการหอการค้าไทยประเมินสถานการณ์พร้อมข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ

เป็นการระดมสมองรับมือกับวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน เพื่อหามาตรการต่างๆ รองรับไม่ให้มีผลกระทบกับไทยมากเกินไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image