‘บีโอไอ’ จับมือ ‘เอ็นไอเอ’ จัดมหกรรม “BCG Startup Investment Day” หวังเพิ่มช่องให้สตาร์ตอัพเข้าถึงแหล่งทุน 

‘บีโอไอ’ จับมือ ‘เอ็นไอเอ’ จัดมหกรรม “BCG Startup Investment Day” หวังเพิ่มช่องให้สตาร์ตอัพเข้าถึงแหล่งทุน 

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ เปิดเผยว่า บีโอไอร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือเอ็นไอเอ จัดงานมหกรรม BCG Startup Investment Day ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจ Bio-Circular-Green Economy (BCG Economy) ขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้กลุ่มวิสาหกิจเริ่มต้น หรือ Startup ที่มีศักยภาพเข้าถึงแหล่งเงินทุนและมาตรการสนับสนุนต่างๆ พร้อมทั้งเปิดให้มีการสร้างเครือข่ายพันธมิตรเพื่อต่อยอดโอกาสทางธุรกิจในอนาคต

“การจัดงานครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่บีโอไอ เอ็นไอเอ และหน่วยงานพันธมิตรกว่า 10 หน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และนักลงทุนร่วมกันจัดขึ้นเพื่อสนับสนุนให้สตาร์ตอัพที่มีเทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ แต่ขาดการสนับสนุนด้านเงินทุน มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนและมาตรการต่างๆ ของภาครัฐ เอกชน รวมถึงนักลงทุน โดยรวบรวมมาตรการการสนับสนุนไว้ที่เดียว งานครั้งนี้มุ่งเน้นสตาร์ตอัพในกลุ่ม BCG  สอดคล้องกับ BCG Model ที่เป็นแนวทางสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในช่วงต่อไป” นางสาวดวงใจกล่าว

นางสาวดวงใจกล่าวว่า กิจการในกลุ่ม BCG ถือว่ามีความสำคัญมากต่อเศรษฐกิจไทย ดังจะเห็นได้จากสถิติขอรับการส่งเสริมการลงทุน ในปี 2564 ที่ผ่านมา คำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรม BCG มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 152,434 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 123% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน จากจำนวนโครงการ 746 โครงการ ที่เพิ่มขึ้น 63% ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2558-2564 คำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม BCG มีมูลค่ารวม 675,781 ล้านบาท รวม 2,996 โครงการ

นายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ เอ็นไอเอ กล่าวว่า หนึ่งในภารกิจหลักของ เอ็นไอเอ คือ การส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการสร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศตามแนวคิด “บีซีจี โมเดล” โดยเฉพาะกลุ่มสตาร์ตอัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึก (BCG DeepTech Startup) 3 ด้าน ได้แก่ อาหาร (FoodTech) เกษตร (AgTech) และการแพทย์ (MedTech) ซึ่งเป็นสาขาที่มีโอกาสและศักยภาพการเติบโตสูง แต่ยังมีจำนวนไม่มากนักและต้องใช้ระยะเวลาในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่มีความซับซ้อนจากผลงานวิจัยและพัฒนา เพื่อนำไปสู่ความได้เปรียบทางการแข่งขัน 

Advertisement

ดังนั้น เอ็นไอเอ จึงได้วางกรอบการพัฒนาผู้ประกอบการหรือสตาร์ทอัพที่ใช้เทคโนโลยีเชิงลึก เพื่อเร่งสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันตั้งแต่ระยะแนวคิด ต้นแบบ ทดลองตลาด ขยายการเติบโต จนกระทั่งมีความสมบูรณ์พร้อมเป็นพลังขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยตั้งเป้าหมายที่จะสร้างให้เกิด BCG DeepTech Startup จำนวน 65 ราย ภายใน 3 ปี ซึ่งความร่วมมือกับบีโอไอและพันธมิตรในครั้งนี้ เป็นโอกาสให้สตาร์ตอัพสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงมาตรการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ครบในที่เดียว และยังเปิดกว้างสำหรับสตาร์ตอัพไทยและต่างชาติที่มีส่วนในการผลักดัน BCG Startup Ecosystem อย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย

ด้าน นายศรัณย์ สุตันติวรคุณ นายกสมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน (TVCA) กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ดี ที่หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการเติบโตของสตาร์ตอัพในประเทศไทย โดยเฉพาะสตาร์ตอัพรายเล็กที่ขาดเงินทุนเริ่มต้น ปัจจุบันสตาร์ตอัพไทยมีความเข้าใจพื้นฐานการทำธุรกิจเป็นอย่างดี มีการพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่สอดคล้องกับชีวิตวิถีใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจะช่วยสร้างเศรษฐกิจใหม่ให้กับประเทศได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image