‘ยุกติ’ รีวิว ‘ก่อร่างเป็นบางกอก’ ยิ่งอ่านจบยิ่งสงสัย คนไทยมีด้วยหรือ? ชี้ ความเป็นลาวในกรุงเทพฯถูกกดมากสุด

เมื่อวันที่ 2 เมษายน ที่เวทีกลาง ชั้น M สถานีกลางบางซื่อ ภายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 50 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 20 สำนักพิมพ์มติชนจัดเวทีเสวนา ‘ก่อร่างเป็นบางกอก : เบื้องลึกเบื้องหลังนานาชาติพันธุ์ในบางกอก’ ดำเนินรายการโดย นายสมฤทธิ์ ลือชัย นักประวัติศาสตร์ชื่อดัง (อ่าน ‘พวงทอง’ ฟันธง กรุงเทพ เทพไม่ได้สร้าง คนสร้างคือไพร่ ทาส เชลย สามัญชน)

รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ผู้แปล ‘ก่อร่างเป็นบางกอก’ จาก ‘Siamese Melting Pot’ ผลงาน Edward Van Roy กล่าวว่า ตนชอบสำนวนภาษาของหนังสือเล่มนี้ ซึ่งผู้เขียนบอกเองว่าใช้ภาษาซับซ้อน ยุ่ง และเก่าหน่อย แต่ตนก็ชอบ ที่ประทับใจคือหนังสือเล่มนี้รวมความรู้เกี่ยวกับคนในบางกอกจากมุมมองของคนหลายกลุ่ม ที่ผ่านมามีคนเขียนหนังสือเกี่ยวกับคนจีน คนมอญ คนลาว คนโปรตุเกส และอื่นๆ แต่ไม่เคยถูกนำมารวมในเล่มเดียวให้เห็นภาพรวมของปฏิสัมพันธ์ นี่คือสิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน นอกจากนี้ ยังชอบแผนที่ในเล่มซึ่งนอกจากผู้เขียนขยันค้นคว้าแล้ว ยังเดินเท้าไปตามที่ต่างๆ เป็นการใช้วิธีของนักมานุษยวิทยาเดินไปในชุมชน พูดคุยกับคนนั้นคนนี้ จึงระบุได้ชัดเจนว่าอะไรอยู่ตรงไหน แม้จะหาบนกูเกิลได้ แต่อาจไม่เห็นถึงศาสนสถานที่ซ้อนทับ ไม่ทราบความเป็นมาว่าเก่าแก่ขนาดไหน การที่ผู้เขียนเดินเท้าไปคุยกับผู้คนจึงทำให้ได้ภาพของกรุงเทพฯจากคนเดินถนน ซึ่งตนคิดว่าเป็นสิ่งที่เราขาดหายไปนานแล้ว ปัจจุบันคนที่อาศัยอยู่ใน กทม.มาราว 10-20 ปี หรือเพิ่งเข้ามาอยู่ใหม่ รู้จักกรุงเทพฯจากถนนอย่างเดียว ไม่ได้เห็นคนกรุงเทพฯในมุมคนเดินถนน ซึ่งหนังสือเล่มนี้ให้ภาพอย่างชัดเจน

“เมื่ออ่านจบ เราจะยิ่งสงสัยว่ามันมีด้วยเหรอคนไทย ใครกันแน่คือคนไทย ชวนให้งงไปกันใหญ่ ผมสงสัยว่าถ้าสืบย้อนกลับไปสัก 1-2 เจเนอเรชั่น คงพบว่ามาจากที่อื่น ดังนั้น กรุงเทพฯไม่ต่างจากที่อื่นในโลก โดยเฉพาะการเป็นเมืองใหญ่ที่เกิดจากคนนอก จากคนร้อยพ่อพันแม่ ไม่มีใครอ้างความเป็นเจ้าของกรุงเทพฯได้” รศ.ดร.ยุกติกล่าว
.
รศ.ดร.ยุกติกล่าวว่า กรุงเทพฯมีความซับซ้อนมาก ชี้ให้เห็นความรุ่มรวยของศิลปวัฒนธรรม ผู้คนในสังคมบางกอก ไม่ใช่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งกลุ่มเดียว หนังสือเล่มนี้ในแต่ละบทมีการแบ่งกลุ่มซึ่งแต่ละกลุ่มก็มีที่มาหลากหลาย

“คนจีน แขก มอญ ลาว ไม่ได้มีความเป็นหนึ่งเดียวเหมือนกัน เขาเองก็มีที่มา มีประวัติศาสตร์หลากหลาย มีความขัดแย้งในกลุ่มตัวเอง และถูกเหมารวมมากเกินไปด้วยซ้ำ เช่น แขกมักกะสัน อพยพมาจากอินโดนีเซีย คนที่ถูกเรียกว่าแขกมีที่มาหลากหลาย แต่ปัจจุบันความเป็นกลุ่มคนแยกย่อยได้สลายหายไป แขกที่เรารู้จักน้อยมากคือแขกจาม จะมีใครกี่คนที่รู้ว่ามีแขกจามที่อพยพจากอยุธยามาอยู่กรุงธนบุรีเต็มไปหมด เพราะจามคือกองกำลังสำคัญในการรบทางเรือ คือกองอาสาจาม ซึ่งตั้งชุมชนอยู่ในบริเวณที่เป็นกองทัพเรือ นี่คือความสัมพันธ์ของประวัติศาสตร์กับปัจจุบัน วันนี้ลูกหลานส่วนหนึ่งก็ยังอยู่ แต่สิ่งที่หายไปคืออำนาจทางการเมืองเพราะระบบการบริหารเปลี่ยนไป” รศ.ดร.ยุกติกล่าว

Advertisement

รศ.ดร.ยุกติ กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้พูดถึงคนกรุงเทพฯทุกชนชั้น และทุกชนชั้นก็ไม่ได้มีความเป็นไทยบริสุทธิ์ผุดผ่อง แต่มีการผสมผสานตั้งแต่ชนชั้นบนสุดจนถึงรากหญ้า

“ต้องเข้าใจหลักคิดของชนชั้นนำสมัยโบราณที่ต้องสร้างโครงข่ายทางการเมืองกับกลุ่มต่างๆ เขาไม่เคยยึดติดว่าความเป็นผู้นำต้องมีชาติพันธุ์บริสุทธิ์ ไม่ได้คิดว่าต้องแต่งงานกับคนไทยเท่านั้น วิธีการสร้างเครือข่ายการเมืองคือการแต่งงาน ผู้หญิงจากชาติพันธุ์จะถูกส่งกันไปมาเป็นสื่อกลางในการสร้างสายสัมพันธ์ทางอำนาจ ดังนั้น เมื่อผู้มีอำนาจจากเวียดนามมาอยู่ในไทย มีลูกสาว น้องสาว ก็มาเกี่ยวดองกับชนชั้นนำสยาม หรือเจ้าลาว เจ้านครเวียงจันทน์ ตั้งแต่กรุงธนบุรี ทุกพระองค์เคยประทับในกรุงเทพฯมาแล้วทั้งนั้น มอญก็มีอำนาจในราชสำนักสยามเช่นกัน หนังสือเล่มนี้มีกล่าวไว้ ดังนั้น ไม่ว่าจะชนชั้นใด จะเห็นได้เลยว่า ไม่มีความเป็นไทยบริสุทธิ์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดเลย” รศ.ดร.ยุกติกล่าว

Advertisement

รศ.ดร.ยุกติ กล่าวว่า กระบวนการหลอมรวมของผู้คนถูกกล่าวไว้อย่างสลับซ้อนในหนังสือเล่มนี้ รัฐไทยจัดการกลุ่มต่างๆ ในแบบต่างๆ กัน แต่ไม่ได้เป็นกระบวนการที่นุ่มนวล

“มีใครสงสัยไหมว่า เกิดอะไรขึ้นในกรุงเทพฯบ้าง มีการจัดการในเชิงอำนาจหลายอย่าง สมัยก่อนวิธีที่รัฐปกครองชุมชนชาติพันธุ์คือตั้งคนของพวกเขาเองให้เป็นหัวหน้าติดต่อกับชนชั้นนำ คนเหล่านั้นก็ถูกรวบอำนาจ ตัดอำนาจ สร้างระบบบริหารใหม่ ถ้าขัดขืน ความรุนแรงก็เกิด ผู้นำชุมชนชาวจีนถูกสังหารไปเท่าไหร่ ต่อให้ไม่เป็นอั้งยี่ก็ตาม หรือกรณีของชาวลาว ซึ่งเป็นกำลังการผลิตหลักของสยาม คนลาวถูกกวาดต้อนมาจากทางเหนือ อีสาน และในลาวเอง นอกจากเป็นการกวาดต้อนคนมาเป็นกำลังการผลิตให้ตัวเองในกรุงเทพฯแล้ว ในขณะเดียวกันก็เป็นการลดกำลังของอีกฝ่ายด้วย ลาวถูกกระทำย่ำยี ถูกย้ายไปตามอำเภอใจ พอถึงช่วงเปลี่ยนแปลง ฝรั่งเข้ามา ความเป็นลาวถูกทำให้หายไปอย่างรวดเร็ว เพราะกลัวสิทธิสภาพนอกอาณาเขต นี่คือกระบวนการเปลี่ยนให้ทุกคนกลายเป็นไทย ซึ่งเกิดขึ้นในภาคใต้ด้วย” รศ.ดร.ยุกติกล่าว

รศ.ดร.ยุกติ กล่าวต่อไปถึงประเด็นความสำเร็จของรัฐไทยในกระบวนการดังกล่าว โดยระบุว่า มีทั้งส่วนที่สำเร็จและไม่สำเร็จ ส่วนที่สำเร็จคือ คนที่อยู่มา 2-3 เจเนอเรชั่นไม่เชื่อว่าตัวเองไม่ใช่คนไทย รัฐไทยสามารถทำให้คนหลงลืมอดีตของตัวเอง หรือพยายามไม่อยากเชื่อมโยงตัวเองกับความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในอดีต ส่วนที่ไม่สำเร็จคือ การที่ยังมีการสืบทอดชุมชนโบราณจำนวนมาก ซึ่งจะเห็นได้จากศาสนสถานต่างๆ ที่ยังทำหน้าที่ของตัวเองอยู่

“บางคนอาจไม่รู้ว่าโบสถ์คริสต์ข้างบ้านอยู่มาก่อนตั้งกรุงเทพฯ เช่น โบสถ์เก่าย่านสามเสนของชาวโปรตุเกสซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา หรือมอญ ก็อยู่ใจกลางพระนครมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ วัดมอญที่สำคัญที่สุดคือวัดชนะสงคราม ซึ่งวังหน้าทรงรื้อฟื้นขึ้นมา ดังนั้น ความหลากหลายยังอยู่ สิ่งน่าสนใจซึ่งผู้เขียนกล่าวถึงคือสิ่งที่ถูกทำให้เลือนรางไป ไม่ค่อยคำนึงถึงความหลากหลายที่เคยมี” รศ.ดร.ยุกติกล่าว

รศ.ดร.ยุกติ กล่าวว่า สำหรับประเด็นสำนึกของความเป็นชาติพันธุ์ตนไม่อยากมองเป็นเรื่องโรแมนติกอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาของประวัติศาสตร์ การรื้อฟื้นอัตลักษณ์ทั้งจีน มอญ มุสลิม และอื่นๆ ขึ้นอยู่กับว่ารัฐอนุญาตให้ทำได้เมื่อใด ขึ้นอยู่กับจังหวะ โอกาส และการผ่อนปรนของรัฐ

“ช่วงที่รัฐพยายามทำให้คนกลืนกลายไปหมด จีนโดนหนักสุด คนจีนรู้สึกว่าไม่ได้เป็นคนที่นี่อยู่เสมอ แต่มีอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจ เมื่อถึงยุคที่รัฐปราบกดไม่ให้มีโรงเรียนจีน คนจีนต้องเงียบ ต้องอยู่ภายใต้การกลืนกลาย เรามองไม่เห็นความเป็นลาวในกรุงเทพฯ วังเจ้าลาวถูกกลบด้วยสถานที่อื่น อยู่ใต้สะพานพระราม 8 ความเป็นลาวในกรุงเทพฯถูกกดมากที่สุด ถ้าจะหาอะไรไม่เจอที่สุด คือความเป็นลาว” รศ.ดร.ยุกติกล่าว

รศ.ดร.ยุกติ กล่าวว่า หนังสือเล่มนี้สิ่งสำคัญสำหรับตนคือการที่ทำให้เราเห็นความเชื่อมโยงของตัวเองกับคนกลุ่มต่างๆ ในภูมิภาค ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย มีคนมากมายช่วยสร้างกรุงเทพฯ พวกเขามาจากลาว กัมพูชา เวียดนาม อินโดนีเซีย รวมถึงพม่าซึ่งเข้ามาหลายระลอก โดยเฉพาะคนมอญและคนทวาย

“กรุงเทพฯเป็นเมืองที่คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สร้างขึ้นมา หนังสือเล่มนี้ทำให้เรารู้สึกถ่อมตัวมากขึ้นว่าไม่ได้มีใครเป็นเจ้าของพื้นที่แห่งนี้ บรรพบุรุษของเราคือคนร้อยพ่อพันแม่ เราเป็นสาแหรกความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงคนเต็มไปหมด มันเป็นรากฝอยที่เชื่อมโยงถึงกัน” รศ.ดร.ยุกติกล่าว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image