‘พวงทอง’ ฟันธง กรุงเทพ เทพไม่ได้สร้าง คนสร้างคือไพร่ ทาส เชลย สามัญชน

เมื่อวันที่ 2 เมษายน ที่สถานีกลางบางซื่อ ภายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 50 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 20 ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศที่บูธ A16 ‘สำนักพิมพ์มติชน’ ชั้น 1 (G floor) ใกล้ทางเชื่อมต่อ MRT เช้าวันนี้มีผู้ทยอยเดินทางมาเลือกช้อปหนังสือที่บูธมติชนเพื่อรับส่วนลดพิเศษไม่ขาดสาย

โดยเวลา 14.00 น. บริเวณเวทีกลาง ชั้น M มีเสวนาเรื่อง ‘ก่อร่างเป็นบางกอก’ เบื้องลึกเบื้องหลังนานาชาติพันธุ์ในบางกอก โดย รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้แปลหนังสือ ‘ก่อร่างเป็นบางกอก’ จาก Simese Melting Pot ผลงาน Edward Van Roy (อ่าน ‘ยุกติ’ รีวิว ‘ก่อร่างเป็นบางกอก’ ยิ่งอ่านจบยิ่งสงสัย คนไทยมีด้วยหรือ? ชี้ ความเป็นลาวในกรุงเทพถูกกดมากสุด)

รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการโดย นายสมฤทธิ์ ลือชัย นักประวัติศาสตร์ชื่อดัง

ในตอนหนึ่ง รศ.ดร.พวงทองกล่าวว่า ตนอ่านเล่มนี้อยู่ ฉบับไทยที่อาจารย์ยุกติแปล อ.คริส เบเคอร์ บอกว่าไหนๆ อ่านแล้ว ก็ช่วยรีวิวเป็นภาษาอังกฤษ ประมาณ 2,000 คำ ตนอ่านงานนี้ในฐานะนักประวัติศาสตร์ เป็นงานศึกษาประวัติศาสตร์ของกลุ่มชาติพันธุ์ ตั้งแต่โพ้นทะเล จนถึงกรุงเทพฯ ด้วยสายตานักมานุษยวิทยา โฟกัสตั้งแต่ ช่วงอยุธยาแตก จนถึงสมัยรัชกาลที่ 5

Advertisement

ความแตกต่างและความมีสเน่ห์ของงานเล่มนี้ คือการที่ Edward Van Roy ผู้เขียนไม่ได้อ่านหลักฐานแบบ ‘แห้งๆ’ แต่ยกหลักฐานมาอธิบายได้อย่างน่าสนใจ ไม่ได้ยึดติดกรอบ ‘ระบบอุปถัมภ์แบบไทย’ ที่รวมเป็นเลือดเนื้อชาติเชื้อไทยอย่างสมานฉันท์ ไม่มีความขัดแย้งใดใด ทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ที่คนเข้ามาเกี่ยวข้องกัน เรียกได้ว่า เป็นประวัติศาสตร์กลุ่มชาติพันธุ์ ในกรุงเทพฯ

เมื่อนายสมฤทธิ์ถามว่า อ่านแล้วประทับใจอะไรจากหนังสือเล่มนี้บ้าง ?

รศ.ดร.พวงทองกล่าวว่า เวลาอ่าน ทำให้จินตนาการถึงกรุงเทพฯ ช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ว่ากรุงเทพฯ ประกอบด้วยความหลากหลาย คนหลายกลุ่มตั้งอยู่ตรงไหน ประกอบอาชีพอะไร อธิบายว่าคนบางกลุ่มทำไมจึงมาตั้งอยู่ตรงนี้ เช่น บ้านหม้อ ทำไมอยู่ศูนย์กลางเมือง ทำไมพาหุรัด มีทั้งแขก ทั้งจีน  เป็นต้น

Advertisement

“ไม่ได้เกิดจากการวางผังเมือง แต่เกิดจากการกำหนด ว่าคนกลุ่มไหนมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ หรือด้วยการขยายตัวของราชสำนัก เมื่อขยายออกไปก็ต้องมีกลุ่มคนที่เข้ามาตอบสนองความต้องการ เช่น ช่างเงิน ช่างหม้อ เลือกสรรค์เอาคนบางกลุ่มที่มี Skill (ทักษะ) เข้ามาอยู่ตรงกลาง แต่คนที่ไม่สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ เช่น พวกไพร่ ที่ถูกกวาดต้อนมาจากสงคราม มักจะถูกต้อนไปอยู่ชายขอบของกรุงเทพฯ

การถูกเอาไปวางอยู่ตรงไหนของกรุงเทพฯ สำคัญกับความเติบโต หรือก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ การที่เราเห็น แขก มุสลิม มีหลายจุดมาก ทั้งบางรัก สีลม บางกะปิ กลุ่มบ้านครัว ฯลฯ แต่ละพื้นที่ทางเศรษฐกิจ มีเรื่องชนชั้นอยู่ด้วย ซึ่งคนบางกลุ่มถูกกวาดต้อนไปอยู่ชายขอบ ชีวิตทางด้านเศรษฐกิจ ถูกเลือกปฏิบัติตั้งแต่ต้น”
รศ.ดร.พวงทองขยายความ

รศ.ดร.พวงทองกล่าวต่อว่า หนังสือเล่มนี้ มีกรอบอธิบายหลายกรอบ แต่เวลาวิเคราะห์ จะมองความหลากหลาย เช่น แขก อิสลาม ทำไมกระจายไปหลายจุดใน กทม. เกิดจากอะไร เกิดจากนโยบาย ซึ่งมีการแข่งขันกัน

“ในหนังสือเล่มนี้ ชี้ให้เห็นว่า แม้กระทั่งมอญก็ถูกกลืน ด้วยกระบวนการความเป็นไทย และแนวคิดเรื่องรัฐชาติ เริ่มเปลี่ยนชื่อเรียกกลุ่มคน โดยใส่คำว่า ไทย เข้าไป เช่น ไทยมุสลิม แม้กระทั่งการผนวกเอากลุ่มมอญ ที่ทำหน้าที่ดูแล ฝั่งกรุงเทพ ธนบุรี พอเป็นกองทัพสมัยใหม่ บุคคลเหล่านี้ก็ต้องถูกผนวกเข้าไป ซึ่งการจะเป็นโปรเฟชชั่นนอลได้ ต้องทิ้งวัฒธรรมดั้งเดิมบางอย่าง”

พอเข้าสู่รัชการที่ 5 ต้องทำให้คนทางใต้รู้สึกผูกพันกับอำนาจรัฐส่วนกลาง จากที่เคยกระจายสู่หัวเมืองก็ถูกรวม ในแง่ ‘ประชากร’ ก็เช่นเดียวกัน ถูกรวมเพื่อสร้างสำนึก ปกป้องดินแดนแถบนี้ จงรักภักดีกับอำนาจศูนย์กลาง มีวิธีการ ทั้งการเกลี้ยกล่อม ให้การศึกษา เพื่อยกระดับสังคม ไปจนถึงการปราบ เพื่อให้คนเหล่านั้นสยบยอมต่ออำนาจรัฐ” รศ.ดร.พวงทองกล่าว

เมื่อนายสมฤทธิ์ถามว่า ความหลากหลาย เป็นประโยชน์ หรือโทษกับรัฐไทยมากกว่าหรือไม่  ?

รศ.ดร.พวงทองชี้ว่า ต้องถามว่า ความหลากหลายแบบไหนเป็นปัญหา แบบไหนไม่เป็นปัญหา อย่างความหลากหลายทางเศรษฐกิจ การมีแรงงานที่มีความรู้หลากหลาย ค้าขายเก่ง รู้เทคโนโลยีการทำน้ำตาล ซึ่งคนจีนเอาเข้ามา ทำให้น้ำตาลสร้างรายได้สูงให้กับ ราชสำนักสยาม รวมถึงการจัดทัพสมัยใหม่ที่ใช้ทหารรับจ้างตะวันตก มาช่วยดูแลเป็นการ์ด พวกที่ไม่มีสกิล ไปเป็นชาวนา ถางที่ดิน จ่ายภาษีให้กับเจ้านายเป็นต้น

“คนที่มีความรู้ด้านศิลปะ ก็สร้างวัดวาอารามที่สวยงาม แต่ความหลากหลายทางการเมือง เป็นสิ่งที่รับไม่ได้ เช่น คอมมิวนิสต์ หรือเข้ามาค้าขายให้ร่ำรวย แล้วกลับไป ไม่จงรักภักดีต่อดินแดนนี้ เช่นนี้เขาจะไม่ต้องการ
คือกระบวนการที่เห็นวิธีที่สยามจัดการกับความหลากหลาย”

รศ.ดร.พวงทองกล่าวต่อว่า ปัจจุบัน เรามักพูดว่า สังคมไทย มีคนหลายกลุ่ม แขก จีน ฝรั่ง อยู่ด้วยกัน ร่มเย็น ไม่มีปัญหา แล้วทำไมสามจังหวัดชายแดนใต้ถึงมีปัญหา ต้องถามว่า ทำไมความหลากหลายบางอย่างไม่มีปัญหา บางอย่างถึงมีปัญหา ซึ่งในประเด็นที่มีปัญหา ใช้วิธีพยายามกลืน ทำให้เป็นไทย เช่น คนจีน ลูกเจ๊กที่พูดจีนไมได้แล้ว เป็นต้น

“การทำให้เป็นหนึ่งเดียวในไทย เทียบกับโลกอื่นๆ ที่ยอมรับความหลากหลายมากกว่า เช่น สิงค์โปร พลเมือง 3-4 ล้านคน คนจีน 40 เปอร์เซ็นต์ มุสลิม 20 เปอร์เซ็นต์ มีแขก พุทธ ฝรั่ง มีภาษาราชการ 4 ภาษา เห็นได้ตามจุดต่างๆ วันหยุดราชการ ก็ยอมรับความสำคัญของคนทั้ง 4 กลุ่ม เขาไม่เลือกปฏิบัติกับคนกลุ่มอื่น เพื่อเลี่ยงความขัดแย้ง จราจล สงคราม ซึ่งต่างจากไทย สะท้อนออกมาจากปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้”
รศ.ดร.พวงทองระบุ

รศ.ดร.พวงทองยังกล่าวถึงความพยายามกลืนกลายอัตลักษณ์ของแต่วัฒนธรรมด้วยว่า ขณะเดียวกัน ก็เกิดการประกาศอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ขึ้นมา

“ฉันเป็นลูกจีน รักชาติ จัดงานสงกรานต์มอญ ถามว่าอัตลักษณ์นี้ต่อต้านอำนาจรัฐหรือไม่ คำตอบ คือ ไม่ แถมยังไปสนับสนุน เช่น ลูกจีนรักชาติ สามารถเอาร่วมจีนสารพัดที่อาจจะเคยขัดแย้งกัน กลุ่มไหนก็ได้มารวมกันมาร่วมกันในกระบวนการทางการเมืองของตัวเอง โดยไม่สนใจอัตลักษณ์ดั้งเดิม เพราะไม่สำคัญอีกต่อไป

การกลืนกลาย ไม่ได้เกิดจากฝีมือรัฐอย่างเดียว แต่เกิดจากการอยากรับอัตลักษณ์ใหม่ขึ้นมา เช่น เยาวราชมีการตั้งประตู ไชน่าทาวน์ ประกาศความสำเร็จ ฯลฯ บางทีเป็นเรื่องของการท่องเที่ยว ใครๆ ก็อยากมีรายได้ ซึ่งรัฐบาลประกาศนโยบาย ส่งเสริมการท่องเที่ยว คนก็ย่อมอยากร่วมด้วย มีหลายปัจจัยที่เข้าไปมีส่วน สิ่งที่หายไป เช่น จีนกลุ่มต่างๆ หายไป แต่เกิดจีนกลุ่มใหม่ขึ้นมา

รศ.ดร.พวงทองกล่าวว่า เราเรียนประวัติศาสตร์ไทยมา ประวัติศาสตร์การก่อตั้งกรุงเทพฯ มักเป็นประวัติศาสตร์กระแสหลัก แต่ไม่เห็นผู้คนที่อยู่ในสังคมนี้ โดยเฉพาะเมืองหลวง อย่างกรุงเทพฯ โฟกัสไปที่ คนที่สร้างขึ้นมา ‘กรุงเทพเมืองเทพสร้าง’ จริงๆ ไม่ใช่ แต่สร้างโดยไพร่ เชลยสงคราม สามัญชน คนสารพัดกลุ่มที่อพยพมา ทำให้เป็นกรุงเทพทุกวันนี้  คนแต่ละกลุ่มอยู่ไม่ห่างกัน สภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยทรุดโทรม

“ถ้า กทม. ปัจจุบัน มีเทพปกป้อง เทพเหล่านั้น คงต้องเป็นเทพเจ๊ก ลาว เขมร ญวณ หนังสือเล่มนี้ทำให้เห็นเมืองที่เราอยู่ชัดเจนขึ้น เป็นแว่นที่ใช้มองความเป็นกรุงเทพฯ ต่อไปด้วย รัฐเลือกปฏิบัติกับคนบางกลุ่ม ไม่สนใจคนบางกลุ่ม ความโกลาหล ที่เห็นในกรุงเทพจากเรื่องผังเมือง มีรากมาจากประวัติศาสตร์ที่เลือกปฏิบัติตามที่ผู้มีอำนาจตัดสินใจ

ขอบคุณ อ.ยุกติ ที่แปลเล่มนี้ขึ้นมา คิดว่า อ.ยุกติ แปลได้สละสลวย ไม่ใช้คำบาลี- สันสกฤตที่จะยิ่งงงไปกันใหญ่ บทที่อ่านยากคือบทที่ 1 กับ 10 เพราะเป็นเรื่องแนวคิด ที่เหลืออ่านลื่น” รศ.ดร.พวงทองกล่าวทิ้งท้าย

สำหรับหนังสือ Simese Melting Pot’ ก่อร่างเป็นบางกอก โดย Edward Van Roy เขียน, ยุกติ มุกดาวิจิตร แปล ราคาปกติ 480 พิเศษเหลือ 408 บาท เฉพาะงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 50

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image