ส่องป้ายหาเสียง ‘เป๊ะ-ปัง’ โดนใจ-ได้คะแนน

ส่องป้ายหาเสียง ‘เป๊ะ-ปัง’ โดนใจ-ได้คะแนน

กลายเป็นประเด็นร้อนแรงแทบจะแซงแนวนโยบายไปแล้ว สำหรับวิวาทะ ป้ายหาเสียง ของผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เมื่อโลกออนไลน์แชร์ภาพป้ายของผู้สมัครรายหนึ่งเรียงรายหนาแน่นบดบังทัศนวิสัย สร้างความเดือดร้อนรำคาญใจ หวั่นเกิดอันตรายต่อคนเดินเท้า จนเจ้าของป้ายต้องเร่งแก้ไขพร้อมขออภัยชาวบางกอก

ต่อมาโซเชียลยังร่วมแชร์ประสบการณ์ด้านลบที่มีต่อแผ่นป้ายโฆษณาที่ควรทำหน้าที่โกยคะแนนไม่ใช่ไล่แขก นำไปสู่ความระแวดระวังที่มากขึ้นของผู้สมัครแต่ละรายในช่วงที่วิวาทะโหมไวด้วยปลายนิ้ว
ก่อนหน้านี้ สมชัย สุรกาญจน์กุล ประธานกรรมการการเลือกตั้งประจำท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร ออกมาฝากถึงผู้สมัครว่าการติดป้ายต้องจัดให้เหมาะสม เป็นระบียบ สะอาด ปลอดภัย มั่นคง แข็งแรง ไม่ขวางทางจราจร เป็นต้น

ไม่เพียงเท่านั้น ต้องไม่ซ้อนทับผู้สมัครรายอื่น!

นอกจากนี้ ยังมีโพยสถานที่ห้ามติดป้าย ได้แก่ ผิวจราจร เกาะกลางถนน สะพานลอยทั้งของคนและของรถ รั้วและแผงเหล็กริมถนน ป้ายจราจรและสัญญาณไฟจราจร ป้ายประกาศของทางราชการ รั้ว กำแพง หรือผนังอาคารของทางราชการ ต้นไม้และเสาไฟฟ้าบริเวณเกาะกลางถนน ศาลาที่พักผู้โดยสารและบริเวณโดยรอบในระยะ 10 เมตร

Advertisement

เรียกได้ว่า ข้อแนะนำเยอะ ข้อห้ามก็มาก เพราะเกี่ยวข้องกับความสะดวกปลอดภัยของผู้คนส่วนใหญ่ ไม่ใช่แค่ความสวยงามไม่รกตา

ท่ามกลางข้อกำหนดต่างๆ นานา ถามว่า แล้วจะหาเสียงด้วยป้ายอย่างไร จึงจะได้ทั้งความ เป๊ะ และความ ปัง

คำถามนี้ พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ มีคำตอบน่าสนใจ
ไม่ทราบเหมือนกันว่าจะทำป้ายหาเสียงอย่างไรให้ได้เสียง แต่ผมไม่คิดว่าป้ายหาเสียงในยุคนี้จะมีอิทธิพลกับคนเลือกมาก ติดเยอะเกินไป อาจมีผลในทางลบมากกว่า แทนที่คนจะเลือก อาจทำให้เขาไม่เลือก เพราะป้ายบังรถเมล์ ไม่รู้ว่าสายไหนกำลังมา บ้านเมืองรก ดูน่าเกลียด การหาเสียงในช่องทางโซเชียลมีเดียที่อาจได้ผลในการโน้มน้าวอยากให้เลือกมากกว่า

Advertisement

ถามว่า ตัวป้ายสะท้อนตัวตนของผู้สมัครหรือไม่ อย่างไร และมากน้อยเพียงใด อดีตคณบดีนิติศาสตร์ท่านนี้มองว่า ไม่ค่อยเท่าไหร่

ส่วนใหญ่ไม่มีอะไรเท่าไหร่ นอกจากข้อความที่พิมพ์ลงบนป้าย แต่ผมคิดว่าที่เขาต้องการจะเน้นคือชื่อเสียงของพรรคและตัวบุคคลว่าพรรคนี้มีใครบ้าง ผู้สมัครของบางพรรคไม่ได้ใช้เฉพาะรูปผู้สมัคร แต่ใช้รูปคนอื่นที่คนส่วนใหญ่รู้จักด้วย เช่น หัวหน้าพรรค ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งรู้จักใครมากที่สุด เขาจะเน้นจุดเด่นตรงนั้นในป้ายหาเสียง พนัสวิเคราะห์

อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ แห่งรั้วสุโขทัยธรรมาธิราช มองต่างออกไปเล็กน้อยในประเด็นอิทธิพลโซเชียลมีเดีย โดยยืนยันว่าป้ายหาเสียงถือเป็นกลยุทธ์และเครื่องมือสำคัญในทุกยุคสมัย แม้วันนี้โลกโซเชียล หรือการสื่อสารผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่จะช่วยหาเสียงได้มากจริงๆ แต่การใช้ป้ายหาเสียงยังคงเป็นวัฒนธรรม เป็นประเพณีปฏิบัติของการเลือกตั้ง ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองจึงไม่สามารถละเลยได้

กลยุทธ์ในการหาเสียง เช่น การลงพื้นที่ พบปะแบบเผชิญหน้า หาเสียงแบบเคาะประตูบ้าน ยังคงจำเป็นอยู่ รวมไปถึงป้ายหาเสียงด้วย เนื่องจากการเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นสิ่งที่สัมผัสใกล้ชิดพี่น้องประชาชน ในส่วนของการหยิบยกข้อความมาใช้ก็เป็นประเด็นสำคัญในการหาเสียง เป็น การตลาดทางการเมือง อย่างหนึ่ง ซึ่งใช้มาไม่น้อยกว่า 20 ปีในการเมืองไทย ถือเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงตัวตนและวิสัยทัศน์ของผู้สมัคร สร้างการจดจำ ซึ่งอาจ

ไม่ต้องเป็นข้อความก็ได้ อย่างสมัย พล.ต. จำลอง ศรีเมือง ลงสมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในสมัยแรก ตอนนั้นยังไม่สังกัดพรรค ก็ใช้ฝาเข่ง ในการทำป้ายหาเสียง ซึ่งสะท้อนถึงความสมถะ ความเป็นลูกแม่ค้า การเข้าไปอยู่ในจิตใจของคนกรุงเทพฯ เพราะจำนวนไม่น้อย คือผู้ประกอบการ หรือคนที่หาเช้ากินค่ำ ปรากฏว่า พล.ต.จำลองก็ได้รับฐานสนับสนุนจากแม่ค้ามากมาย

รศ.ดร.ยุทธพรฉายภาพต่อไปว่า ช่วงหลังการเลือกตั้ง ส.ส.ในปี 2544 เป็นต้นมา มีการใช้ธีมสี โควตข้อความ รวมถึงรูปลักษณ์ของป้ายก็เปลี่ยนไป ถือเป็นผลผลิตของยุคสมัย โดยในปัจจุบันนี้มีการเติมบรรดา #แฮชแท็ก ต่างๆ เข้าไปด้วย เพราะเป็นยุคของโซเชียลมีเดีย แต่การทำหน้าที่ของป้ายหาเสียงก็ยังคงเหมือนเดิม คือการเป็นสัญญะทางการเมืองอย่างหนึ่ง

สิ่งที่น่าสนใจคือในต่างประเทศ หลายแห่งกำหนดพื้นที่ในการติดตั้งป้ายหาเสียงเพื่อไม่ให้รก หรือเป็นมลพิษทางสายตากับผู้คน เช่น ญี่ปุ่น หลายประเทศมีงานวิจัยถึงขั้นใช้เอไอ (AI) ไปสแกนป้ายหาเสียง ว่าป้ายแบบไหนที่จะโดนใจผู้คน แน่นอนว่าพื้นฐานของป้ายหาเสียงต้องมีรูป หมายเลข และชื่อ ส่วนอื่นๆ ที่จะโดนใจผู้คนก็มักจะเกี่ยวข้องกับเรื่องของสีและรูปแบบตัวอักษร (Font) ที่มีลักษณะเฉพาะ ซึ่งจะทำให้ผู้คนจดจำได้ง่าย

สำหรับเสียงวิพากษ์ถึงผลกระทบต่อวิถีชีวิต รศ.ดร.ยุทธพร เล่าว่า ผู้สมัครและพรรคการเมืองของไทยในอดีตอาจไม่ได้ตระหนักมากนัก จนกระทั่งในระยะหลังเริ่มมีการลดขนาดป้ายลง เพื่อรับผิดชอบต่อสังคมซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับกระแสลดภาวะโลกร้อน ลดการใช้ทรัพยากร เช่น ป้ายของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เบอร์ 8 ลดขนาดเพื่อให้สอดคล้องนโยบายกรุงเทพฯสีเขียวซึ่งได้รับตอบรับดี

ผู้สมัครรายอื่นก็ทำด้วย เช่น ศิธา ทิวารี เบอร์ 11 พรรคไทยสร้างไทย จน เทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาบอกว่า ประชาธิปัตย์เป็นผู้ริเริ่มมาก่อนแล้ว
ถามว่าในบรรดาป้ายหาเสียงของผู้สมัครมากมาย ของใครโดนใจสุด?

สำหรับผมป้ายที่น่าสนใจในการเลือกตั้งรอบนี้ คือป้ายของ คุณวรัญชัย โชคชนะ เพราะป้ายของผู้สมัครท่านอื่นๆ ไม่ได้ต่างกันมาก เป็นธรรมเนียมปฏิบัติ คือสวยงาม มีรูป มีสีเฉพาะของแต่ละคน แต่คุณวรัญชัย ไม่ได้มีทุนทำการตลาดทางการเมือง ไม่ได้มีพรรค หรือกลุ่มใดสนับสนุนเหมือนผู้สมัครรายใหญ่ๆ ป้ายจึงเป็นรูปถ่ายคุณวรัญชัยที่เอาปากกาเมจิกเขียนชื่อและเบอร์เอาไว้ แต่ทำไมคนถึงจำคุณวรัญชัย โชคชนะ ได้ว่านี่คือผู้สมัครตลอดกาลของกรุงเทพมหานคร ผมคิดว่าเป็นการใช้ทุนที่น้อย แต่ประสบความสำเร็จมาก สำหรับคุณวรัญชัยไม่มีทุน แต่ทำให้คนรู้ได้ว่าเบอร์ 22 คือคำตอบของ รศ.ดร.ยุทธพร

สำหรับป้ายของผู้สมัครท่านอื่น รศ.ดร.ยุทธพรมองว่า ล้วนแต่สะท้อนถึง 3 มิติใหญ่ ได้แก่ 1.การเมืองระดับชาติ 2.เศรษฐกิจสังคม 3.การบริหาร พัฒนาและแก้ปัญหาเมือง

3 ส่วนนี้ น่าจะเป็นสิ่งที่คนกรุงเทพฯต้องการ และเป็นปัจจัยในการตัดสินใจ ป้ายหาเสียงจำนวนไม่น้อยก็พูดถึงสิ่งเหล่านี้ เช่น ป้ายของ คุณวิโรจน์ ลักขณาอดิศร พูดถึงเรื่องการต่อสู้ ประเด็นเชิงอุดมการณ์ ถ้าเป็นป้ายของ คุณสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ จะพูดถึงบรรดาบิ๊กโปรเจ็กต์ การแก้ปัญหาเมือง ส่วนป้ายของ คุณอัศวิน ขวัญเมือง พูดเรื่องการสานงานต่อในเชิงการบริหาร ในฐานะที่อยู่ตรงนี้มานานและมีสายสัมพันธ์กับรัฐบาลด้วยเพราะมาจากการแต่งตั้ง เช่นเดียวกับป้ายของคุณสกลธี ภัททิยกุล ส่วนอีกหลายท่านที่อาจจะไม่ได้เป็นผู้สมัครเบอร์ใหญ่ เช่น คุณรสนา โตสิตระกูล ก็พูดถึงความเป็นธรรม รศ.ดร.ยุทธพรทิ้งท้าย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image