ย้อนมุมมอง ‘เศรษฐา’ สะท้อนภาวะผู้นำ ‘ไม่ต้องเก่งภาษา ขอหัวการค้า เข้าใจปชช.’ จากเวทีเสวนามติชน

ย้อนมุมมอง เศรษฐา สะท้อนภาวะผู้นำ ‘ไม่ต้องเก่งภาษา ขอหัวการค้า เข้าใจปชช.’ จากเวที ท้าชน PERFECT STORM ทางรอดเศรษฐกิจไทย

สร้างความฮือฮาให้กับบรรากาศการเมืองไทยขณะนี้ที่กำลังนับถอยหลังเข้าโหมดการเลือกตั้ง เลือกผู้นำประเทศ หลังจากเมื่อวันที่ 11 ตุลคาม มีรายงานว่า พรรคเพื่อไทย (พท.) มีแนวทางเสนอชื่อบุคคลเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี 2 คน คนแรกคาดว่าจะเป็น นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ส่วนอีกหนึ่งชื่อ ได้แก่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วร่วมและนวัตกรรมพรรคเพื่อไทย หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ชิงนายกรัฐมนตรี ในการเลือกตั้งทั่วไปที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2566

โดยเฉพาะชื่อของ นายเศรษฐา ทวีสิน ประธานอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ที่ชื่นชั้นทางธุรกิจได้รับการยอมรับจากหลายวงการเช่นกัน

ล่าสุด เมื่อวันที่ 29 กันยายนที่ผ่านมา นายเศรษฐา ได้ขึ้นเวที เสวนา “ท้าชน PERFECT STORM ทางรอดเศรษฐกิจไทย” เปิดมุมมองหัวข้อ “จับทิศเศรษฐกิจ-สังคมไทย ในพายุวิกฤต” จัดโดยหนังสือพิมพ์มติชน

“มติชนออนไลน์” ขอพาทุกท่านย้อนอ่านบทสนทนาของนายเศรษฐา ที่พูดถึงการเมือง การเลือกตั้ง และภาวะผู้นำคนใหม่ ที่คนไทยคือผู้ตัดสิน!!

Advertisement

นายเศรษฐาให้มุมมองว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในปี 2566 และจะสามารถเปลี่ยนประเทศไทยได้ เพราะการเลือกตั้งครั้งถัดไปเป็นเรื่องสำคัญมาก เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องออกมาใช้สิทธิอย่างสมบูรณ์ ถ้าเกิดชอบกับรัฐบาลเก่าที่เขาทำงานตามนโยบายที่มาถูกใจโดนใจก็ออกไปใช้สิทธิ เพราะถ้าเกิดไม่ชอบอยากจะเปลี่ยน อยากจะเลือกคนอื่นก็ศึกษาให้ดีในการเลือกตั้งครั้งถัดไป

“การเลือกตั้งมีเรื่องจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.)ที่มีจำนวน 500 คน 400 คนเป็น ส.ส.เขต 100 คนเป็นระบบบัญชีรายชื่อ ซึ่ง 500 คน ผู้ทรงเกียรติจะถูกเลือกโดยประชาชน ส่วนส.ว. 250 เสียงมีสิทธิที่จะมาเลือกนายกฯ ผมขอฝากไว้ว่าประเทศไทยเรามีการปกครองระบอบประชาธิปไตย เชื่อว่า 500 คะแนนเสียง ถ้าเกิดว่ามีพรรคใดกลุ่มใดที่ได้เกิน 250 เสียงไปแล้ว ถือว่าเป็นฉันทามติของประชาชน มีหน้าที่ ต้องคิดให้ดีเพราะมีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรี“ นายเศรษฐากล่าว

Advertisement

นอกจากนี้ นายเศรษฐากล่าวช่วงหนึ่งถึงภาวะผู้นำประเทศที่คาดหวังและเหมาะสมว่า เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศมีระบอบประชาธิปไตย ผู้นำที่จะเข้ามาทำหน้าที่ต้องเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง ต้องเป็นคนที่เข้าใจถึงความต้องการของประชาชน ซึ่งการจะมีความเข้าใจได้ จะต้องเป็นผู้นำที่เข้าถึงได้ แต่ในแง่ของการปฏิบัติถ้าเกิดจะเข้าถึงได้กับคน 69 ล้านคนก็ลำบาก แต่ในระบบมีสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จำนวน 500 คน การที่ให้ ส.ส.เข้ารับฟังปัญหากับประชาชนแบบตั้งใจฟังในการแก้ไขปัญหา ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ เพราะ ส.ส.คือตัวแทนของประชาชน การเข้าถึงได้เป็นสิ่งสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่ง

นอกจากนี้ เรื่องภูมิศาสตร์ หรือการเมืองระหว่างประเทศ เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าไทยไม่ได้ยืนอยู่ในโลกของเราเอง เรื่องภาษา ถ้าเกิดมีผู้นำคนต่อไปก็ไม่จำเป็นจะต้องพูดภาษาอังกฤษได้ แต่ขอให้มีความคิด ความเข้าใจ เมื่อต้องทำการค้าระหว่างกัน ไม่ว่าจะเป็นสินค้าที่จำเป็น หรือไม่จำเป็น หรืออาจจะต้องซื้อบ้าง ไทยต้องดูว่ามีอะไรไปแลกเปลี่ยนบ้าง เป็นเรื่องที่ต้องทำเพื่อทำให้ประชาชนมีกินมีใช้ ดังนั้น เรื่องภูมิรัฐศาสตร์เป็นเรื่องสำคัญ

“เราต้องอยู่กับเพื่อนบ้าน เราต้องอยู่กับมหาอำนาจ เราต้องเข้าหาเขา โดยการใช้ล่าม เข้าไปติดต่อและกล้าพูด กล้าต่อรอง” นายเศรษฐากล่าว พร้อมย้ำว่า ถ้าคำนึงถึงด้านพฤติกรรม 2 เรื่องหลักของผู้นำ เป็นเรื่องที่นำมาซึ่งความเสมอภาค การช่วยลดความเหลื่อมล้ำพอสมควร และไทยเป็นประเทศที่อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อผ่านวิกฤตมาก็มาก อยากให้ท่านผู้นำลองทำในสิ่งที่ถูกต้องมากหน่อย และอาจถูกใจน้อยหน่อย ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ต้องกล้าทำ!!

อ่าน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image