ไม้ต่อธุรกิจขับเคลื่อนซี.พี.ยุคดิจิทัล : คอลัมน์ นอกลู่ในทาง

ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเล็กหรือใหญ่ ถึงเวลาหนึ่งก็ต้องส่งไม้ต่อให้คนรุ่นถัดไปมารับช่วง จากรุ่นพ่อสู่ลูก จากผู้ก่อตั้ง หรือเจ้าของกิจการไปยัง “ทายาท” หรือ “ผู้บริหารมืออาชีพ” จะอย่างไรก็มีเป้าประสงค์เดียวกันคือต้องการให้ธุรกิจดำรงอยู่และเจริญก้าวหน้าต่อไป

อาณาจักรธุรกิจล้านล้านครอบคลุมทุกสิ่งอันทั้งอาหารสมอง และอาหารมนุษย์ในฐานะ “ครัวของโลก” ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) ก็เช่นเดียวกัน

แม้จะยังต้องรอให้บอร์ดบริษัทอนุมัติ และแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) อย่างเป็นทางการ แต่ภายในองค์กรก็เป็นที่รับรู้ทั่วกันแล้วว่า ในปี 2560 นี้ ถึงเวลาที่ทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูลเจียรวนนท์จะเข้ามารับไม้ต่อธุรกิจอย่างเต็มตัว

โดยเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2560 ที่ผ่านมา เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) ได้มีการประกาศการจัดโครงสร้างการบริหารเป็นการภายใน

Advertisement

เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ จะขยับขึ้นมานั่งเก้าอี้ประธานอาวุโส เปิดทางให้ “นายสุภกิต” ลูกชายคนโต นั่งในตำแหน่งประธานกรรมการ และนายศุภชัย ลูกชายคนเล็ก นั่งเป็นประธานคณะผู้บริหาร (ซีอีโอ) เครือเจริญโภคภัณฑ์

ทั้งสองตำแหน่งนี้แต่เดิมนายธนินท์นั่งควบอยู่ ไม่ถือเป็นเรื่องที่เหนือความคาดหมายแต่อย่างใด เพราะทั้งสุภกิต และศุภชัย ได้ผ่านช่วงเวลาของการฝึกฝน พิสูจน์ตนเอง และบ่มเพาะประสบการณ์มาอย่างยาวนานในฝั่งฟากของธุรกิจบนโลกดิจิทัลตามกฎของตระกูลเจียรวนนท์ที่กำหนดไว้ว่า ลูกหลานไม่ควรเข้ามาในธุรกิจที่ทำได้ดีอยู่แล้ว

ทั้งคู่จึงต้องไปเริ่มต้นบุกเบิกธุรกิจใหม่ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ โดย “สุภกิจ” รับผิดชอบธุรกิจมีเดีย ส่วน “ศุภชัย” ดูแลธุรกิจโทรคมนาคม

Advertisement

สำหรับ “ศุภชัย” อาจกล่าวได้ว่าเป็นผู้พลิกฟื้นธุรกิจโทรคมนาคมของ ซี.พี. หลังเผชิญวิกฤตต้มย้ำกุ้ง ในปี 2540 ที่แทบจะล้มละลาย ให้กลับมายืนได้อีกครั้ง โดยอาสาเป็นผู้นำทีมเจรจาต่อรองกับเจ้าหนี้ด้วยตนเอง

ในวิกฤตมีโอกาสเสมอ

วิกฤตของ “ทีเอ” ในช่วงเวลานั้นเป็นโอกาสให้เขาได้พิสูจน์ฝีมือ

หลังปรับโครงสร้างหนี้เสร็จ “ศุภชัย” ก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารสูงสุด และเดินหน้าปรับเปลี่ยนองค์กรจาก “ทีเอ” (เทเลคอมเอเชีย) มาสู่ “ทรู” ขยับขยายธุรกิจจากผู้ให้บริการโทรศัพท์บ้านมาสู่การเป็น “ผู้ให้บริการสื่อสารครบวงจร” ลงหลักปักฐานยุทธศาสตร์ธุรกิจ “คอนเวอร์เจนซ์” ตั้งแต่สิบกว่าปีที่แล้ว ที่แม้แต่คนในองค์กรเองก็ยังไม่เข้าใจนัก หากในเวลาต่อมาได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ และกลายมาเป็นสิ่งที่ทำให้กลุ่มทรูโดดเด่น และแตกต่างไปจากคู่แข่งรายอื่น

“ศุภชัย” เคยพูดถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำงานในช่วงหลายปีที่ผ่านมาว่า ทำให้เข้าใจว่าผู้ที่เห็นความเปลี่ยนแปลง และเห็นว่าอะไรกำลังจะเปลี่ยน คือผู้มี “วิสัยทัศน์” และผู้ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้ คือ “นักบุกเบิก”

และผู้ที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงได้คือ “ผู้ที่จะสามารถอยู่รอดได้”

“สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญสำหรับการเป็นผู้นำองค์กร แต่คุณพ่อสอนผมเสมอว่า ผู้นำไม่ใช่เราต้องการเป็น แต่คนอื่นให้เป็น ถ้าไม่ทุ่มเท ไม่เสียสละมากกว่าผู้อื่น ก็ยากที่่จะเกิดการยอมรับ ซึ่งไม่ได้สำคัญกว่านามสกุล แต่นามสกุลอาจมีส่วนดี ตรงที่อย่างน้อยได้รับโอกาส ได้รับความไว้วางใจเร็ว ถ้าทุ่มเท เสียสละ”

อย่างไรก็ตาม การทำงานในระบบที่มีมืออาชีพ สิ่งสำคัญคือ ต้องแสดงให้เห็นว่าเราทุ่มเท และเสียสละมากกว่า เพราะในใจของมืออาชีพจะคิดว่าเราได้เปรียบหลายอย่าง ฉะนั้น ต้องยอมเสียเปรียบเป็น

จาก ผู้นำ “กลุ่มทรู” สู่ผู้นำของ “เครือซีพี”

“กลุ่มทรูจะต้องปรับเปลี่ยนองค์กรเข้าสู่ยุคของดิจิทัลแพลตฟอร์ม และดิจิทัลมีเดีย โดยขับเคลื่อนองค์กรจากการเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมสู่ผู้ให้บริการดิจิทัลที่เติมเต็มความต้องการของผู้บริโภค และภาคธุรกิจให้ได้ เช่น ถ้าบอกว่า มีสมาร์ทโฮมจะต้องหมายถึงแพลตฟอร์มในการให้บริการลูกค้า ไม่ใช่มีแต่ฮาร์ดแวร์หรืออุปกรณ์ และนี่จะเป็นยุคต่อไปของกลุ่มทรู ที่จะได้เห็นในอีก 3-5 ปีข้างหน้า”

แม้ “ศุภชัย” จะไม่อยากพูดถึงบทบาทความรับผิดชอบในฐานะ “ซีอีโอ” เครือเจริญโภคภัณฑ์มากนัก เพราะการแต่งตั้งเป็นทางการจะเกิดขึ้นในไตรมาสแรกหรือภายในไตรมาส 2 ปีนี้ แต่ยอมรับว่าความร่วมมือของบริษัทในเครือซีพีและกลุ่มทรูจะแนบแน่นขึ้น

แต่ทั้งทรูและบริษัทในเครือซีพีจะต้องสร้างความสมดุลระหว่างความร่วมมือระหว่างกันและความเป็นเอกเทศของแต่ละธุรกิจด้วย เพราะโดยหลักการแล้วต่างต้องยืนได้ด้วยขาของตนเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image