ไม้ต่อธุรกิจขับเคลื่อนซี.พี.ยุคดิจิทัล : คอลัมน์ นอกลู่ในทาง

ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเล็กหรือใหญ่ ถึงเวลาหนึ่งก็ต้องส่งไม้ต่อให้คนรุ่นถัดไปมารับช่วง จากรุ่นพ่อสู่ลูก จากผู้ก่อตั้ง หรือเจ้าของกิจการไปยัง “ทายาท” หรือ “ผู้บริหารมืออาชีพ” จะอย่างไรก็มีเป้าประสงค์เดียวกันคือต้องการให้ธุรกิจดำรงอยู่และเจริญก้าวหน้าต่อไป

อาณาจักรธุรกิจล้านล้านครอบคลุมทุกสิ่งอันทั้งอาหารสมอง และอาหารมนุษย์ในฐานะ “ครัวของโลก” ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) ก็เช่นเดียวกัน

แม้จะยังต้องรอให้บอร์ดบริษัทอนุมัติ และแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) อย่างเป็นทางการ แต่ภายในองค์กรก็เป็นที่รับรู้ทั่วกันแล้วว่า ในปี 2560 นี้ ถึงเวลาที่ทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูลเจียรวนนท์จะเข้ามารับไม้ต่อธุรกิจอย่างเต็มตัว

โดยเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2560 ที่ผ่านมา เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) ได้มีการประกาศการจัดโครงสร้างการบริหารเป็นการภายใน

Advertisement

เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ จะขยับขึ้นมานั่งเก้าอี้ประธานอาวุโส เปิดทางให้ “นายสุภกิต” ลูกชายคนโต นั่งในตำแหน่งประธานกรรมการ และนายศุภชัย ลูกชายคนเล็ก นั่งเป็นประธานคณะผู้บริหาร (ซีอีโอ) เครือเจริญโภคภัณฑ์

ทั้งสองตำแหน่งนี้แต่เดิมนายธนินท์นั่งควบอยู่ ไม่ถือเป็นเรื่องที่เหนือความคาดหมายแต่อย่างใด เพราะทั้งสุภกิต และศุภชัย ได้ผ่านช่วงเวลาของการฝึกฝน พิสูจน์ตนเอง และบ่มเพาะประสบการณ์มาอย่างยาวนานในฝั่งฟากของธุรกิจบนโลกดิจิทัลตามกฎของตระกูลเจียรวนนท์ที่กำหนดไว้ว่า ลูกหลานไม่ควรเข้ามาในธุรกิจที่ทำได้ดีอยู่แล้ว

ทั้งคู่จึงต้องไปเริ่มต้นบุกเบิกธุรกิจใหม่ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ โดย “สุภกิจ” รับผิดชอบธุรกิจมีเดีย ส่วน “ศุภชัย” ดูแลธุรกิจโทรคมนาคม

สำหรับ “ศุภชัย” อาจกล่าวได้ว่าเป็นผู้พลิกฟื้นธุรกิจโทรคมนาคมของ ซี.พี. หลังเผชิญวิกฤตต้มย้ำกุ้ง ในปี 2540 ที่แทบจะล้มละลาย ให้กลับมายืนได้อีกครั้ง โดยอาสาเป็นผู้นำทีมเจรจาต่อรองกับเจ้าหนี้ด้วยตนเอง

ในวิกฤตมีโอกาสเสมอ

วิกฤตของ “ทีเอ” ในช่วงเวลานั้นเป็นโอกาสให้เขาได้พิสูจน์ฝีมือ

หลังปรับโครงสร้างหนี้เสร็จ “ศุภชัย” ก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารสูงสุด และเดินหน้าปรับเปลี่ยนองค์กรจาก “ทีเอ” (เทเลคอมเอเชีย) มาสู่ “ทรู” ขยับขยายธุรกิจจากผู้ให้บริการโทรศัพท์บ้านมาสู่การเป็น “ผู้ให้บริการสื่อสารครบวงจร” ลงหลักปักฐานยุทธศาสตร์ธุรกิจ “คอนเวอร์เจนซ์” ตั้งแต่สิบกว่าปีที่แล้ว ที่แม้แต่คนในองค์กรเองก็ยังไม่เข้าใจนัก หากในเวลาต่อมาได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ และกลายมาเป็นสิ่งที่ทำให้กลุ่มทรูโดดเด่น และแตกต่างไปจากคู่แข่งรายอื่น

“ศุภชัย” เคยพูดถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำงานในช่วงหลายปีที่ผ่านมาว่า ทำให้เข้าใจว่าผู้ที่เห็นความเปลี่ยนแปลง และเห็นว่าอะไรกำลังจะเปลี่ยน คือผู้มี “วิสัยทัศน์” และผู้ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้ คือ “นักบุกเบิก”

และผู้ที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงได้คือ “ผู้ที่จะสามารถอยู่รอดได้”

“สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญสำหรับการเป็นผู้นำองค์กร แต่คุณพ่อสอนผมเสมอว่า ผู้นำไม่ใช่เราต้องการเป็น แต่คนอื่นให้เป็น ถ้าไม่ทุ่มเท ไม่เสียสละมากกว่าผู้อื่น ก็ยากที่่จะเกิดการยอมรับ ซึ่งไม่ได้สำคัญกว่านามสกุล แต่นามสกุลอาจมีส่วนดี ตรงที่อย่างน้อยได้รับโอกาส ได้รับความไว้วางใจเร็ว ถ้าทุ่มเท เสียสละ”

อย่างไรก็ตาม การทำงานในระบบที่มีมืออาชีพ สิ่งสำคัญคือ ต้องแสดงให้เห็นว่าเราทุ่มเท และเสียสละมากกว่า เพราะในใจของมืออาชีพจะคิดว่าเราได้เปรียบหลายอย่าง ฉะนั้น ต้องยอมเสียเปรียบเป็น

จาก ผู้นำ “กลุ่มทรู” สู่ผู้นำของ “เครือซีพี”

“กลุ่มทรูจะต้องปรับเปลี่ยนองค์กรเข้าสู่ยุคของดิจิทัลแพลตฟอร์ม และดิจิทัลมีเดีย โดยขับเคลื่อนองค์กรจากการเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมสู่ผู้ให้บริการดิจิทัลที่เติมเต็มความต้องการของผู้บริโภค และภาคธุรกิจให้ได้ เช่น ถ้าบอกว่า มีสมาร์ทโฮมจะต้องหมายถึงแพลตฟอร์มในการให้บริการลูกค้า ไม่ใช่มีแต่ฮาร์ดแวร์หรืออุปกรณ์ และนี่จะเป็นยุคต่อไปของกลุ่มทรู ที่จะได้เห็นในอีก 3-5 ปีข้างหน้า”

แม้ “ศุภชัย” จะไม่อยากพูดถึงบทบาทความรับผิดชอบในฐานะ “ซีอีโอ” เครือเจริญโภคภัณฑ์มากนัก เพราะการแต่งตั้งเป็นทางการจะเกิดขึ้นในไตรมาสแรกหรือภายในไตรมาส 2 ปีนี้ แต่ยอมรับว่าความร่วมมือของบริษัทในเครือซีพีและกลุ่มทรูจะแนบแน่นขึ้น

แต่ทั้งทรูและบริษัทในเครือซีพีจะต้องสร้างความสมดุลระหว่างความร่วมมือระหว่างกันและความเป็นเอกเทศของแต่ละธุรกิจด้วย เพราะโดยหลักการแล้วต่างต้องยืนได้ด้วยขาของตนเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image