คิดถึงคึกฤทธิ์เป็นห่วงการเมืองไทย : โดย ผศ.ดร.สมหมาย จันทร์เรือง

ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 13 เกิดเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2454 สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีเกียรตินิยมสาขาปรัชญาการเมืองและเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ เป็นผู้เริ่มก่อตั้งพรรคการเมืองพรรคแรกในประเทศไทย คือ พรรคก้าวหน้า เมื่อ พ.ศ.2488 ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายสมัย เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี เป็นหัวหน้าพรรคกิจสังคม และได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี ระหว่าง พ.ศ.2518-2519

บทบาททางการเมืองที่สำคัญประการหนึ่งที่น่าจะสอดคล้องกับการเมืองไทยในปัจจุบัน คือ การจัดตั้งรัฐบาล โดยขอยกเหตุการณ์เมื่อผลการเลือกตั้งวันที่ 26 มกราคม 2518 ที่สมาชิกของพรรคการเมืองได้รับเลือกตั้งมาเพียง 22 พรรค (จาก 42 พรรค) ไม่ปรากฏว่าพรรคใดมีเสียงข้างมากเด็ดขาดเพียงพรรคเดียว แต่จากการยอมรับของทุกพรรคทำให้พรรคกิจสังคมที่มีสมาชิกมาเพียง 18 คน สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2518 และหัวหน้าพรรคกิจสังคมได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคือ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

ปรากฏการณ์ทางการเมืองนี้ไม่เคยมีมาก่อน เพราะบารมีของการเป็นผู้นำของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กอปรด้วยความรู้ความสามารถ และประสบการณ์หลากหลาย เป็นที่ยอมรับของสังคม จึงได้รับการสนับสนุนจากทหารและประชาชน รวมทั้งไม่มีคู่แข่งทางการเมือง แม้พรรคการเมืองที่มีสมาชิกจำนวนมาก แต่หัวหน้าพรรคเหล่านั้นไม่มีบารมีเทียบได้ ย่อมไม่ได้รับการยอมรับจากพรรคการเมืองอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม การเป็นรัฐบาลผสมต้องใช้ความสามารถในการแก้ปัญหาตลอดที่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ซึ่งสามารถนำมาเป็นแนวคิดทางการเมืองปัจจุบันได้ดังนี้

Advertisement

1.การเจรจาต่อรองทางการเมือง ด้วยกลวิธีการเจรจาอันยอดเยี่ยมสามารถจูงใจหลายพรรคเข้าร่วมเป็นรัฐบาลได้ นับเป็นกลยุทธ์ทางการเมืองที่ไม่เคยมีรัฐบาลใดทำได้มาก่อน

2.การแก้ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งถือว่าเป็นรัฐบาลคอมมิวนิสต์ที่รัฐบาลไทยในยุคก่อนถือเป็นฝ่ายตรงข้ามและถูกสร้างภาพอย่างน่ากลัว

3.การดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจ คือ นโยบาย “เงินผัน” ที่กระจายเงินจำนวนมากออกไปสร้างงานในชนบท เพื่อแก้ปัญหาหนี้สินชาวไร่ชาวนา

Advertisement

4.การแก้ปัญหาการประท้วง ด้วยความอดทนและการให้อภัย จากการประท้วงหลายครั้งหลายรูปแบบ ได้แก่ การประท้วงของนิสิตนักศึกษา นักเรียนอาชีวศึกษา กรรมกร (ไทยการ์ด) และการประท้วงของตำรวจที่เดินขบวนไปพังรั้วบ้าน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เข้าไปทำลายทรัพย์สินในบ้าน แต่นายกรัฐมนตรีพลเรือนผู้นี้ยกโทษในทุกความผิดและอโหสิกรรมให้ตำรวจที่ร่วมกระทำการครั้งนี้ทั้งหมด

5.การแก้ปัญหาความขัดแย้งของมวลชน ได้แก่ ข้อพิพาทระหว่างนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพกับนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยการประสานกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และเจ้าหน้าที่ตำรวจทำให้สูญเสียเล็กน้อยเฉพาะทรัพย์สินเพียงบางส่วน

6.การแก้ปัญหาภายในพรรคร่วมรัฐบาล โดยการปรับคณะรัฐมนตรีเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาสังคม และการบริหารของคณะรัฐบาลอย่างสุขุมรอบคอบ

อย่างไรก็ดี เมื่อปัญหาได้รุมเร้ามากขึ้น จนเหลือวิสัยที่จะบริหารประเทศด้วยรัฐบาลผสมนี้ต่อไป ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช จึงดำเนินการให้มีการยุบสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2519

คิดถึงการเมืองยุคก่อนๆ แล้วอดเป็นห่วงการเมืองไทยไม่ได้ เพราะร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ต่อไปจะมีการเลือกตั้ง โดยนักวิชาการ และหลายสำนักต่างคาดการณ์ล่วงหน้าว่าจะไม่มีพรรคการเมืองใดได้เสียงข้างมาก รัฐบาลในอนาคตคงเป็นรัฐบาลผสม ย่อมมีปัญหาที่ต้องแก้ไขตลอดการเป็นรัฐบาล

ดังนั้น ลองกลับไปพิจารณา การบริหารของรัฐบาลที่ผ่านมาโดยเฉพาะรัฐบาลที่มี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี และร่วมรำลึกวันที่ 20 เมษายน 2560 จะเป็นวันครบ 106 ปี ชาตกาลของท่าน

ผศ.ดร.สมหมาย จันทร์เรือง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image