รายงานพิเศษ – ย้อนรอย10ปี ‘อสมท VS ไร่ส้ม’ จากพันธมิตรสู่คู่พิพาท

เส้นทางป.ป.ช.ชี้มูลความผิด

ภายหลังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เข้าสอบสวนกรณีนางพิชชาภา เอี่ยมสอาด เจ้าหน้าที่ธุรการระดับ 5 สํานักกลยุทธ์การตลาด บมจ.อสมท กับพวก ช่วยเหลือบริษัท ไร่ส้ม จํากัด ทำการขายโฆษณาเกินเวลาที่กําหนดในสัญญา โดยไม่เรียกเก็บเงินค่าโฆษณา จํานวน 138,790,000 บาท

กระทั่งเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2555 ป.ป.ช.มีมติว่าการกระทําของนางพิชชาภามีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และมีมูลความผิดทางอาญา ตามมาตรา 6, มาตรา 8 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502

ขณะที่การกระทําของนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมการ บจก.ไร่ส้ม และ น.ส.มณฑา ธีระเดช เจ้าหน้าที่ บจก.ไร่ส้ม ซึ่งใช้ให้นางพิชชาภาไม่ต้องรายงานการโฆษณาเกินเวลาที่กําหนดในสัญญาให้ผู้บังคับบัญชาทราบ มีความผิดฐานสนับสนุนพนักงานกระทําความผิด ตามมาตรา 6, มาตรา 8 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 พร้อมทั้งส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหาที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อพิจารณาโทษทางวินัย และให้ส่งรายงาน เอกสาร และความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดําเนินคดีอาญากับผู้ถูกกล่าวหาตามฐานความผิดดังกล่าวข้างต้น ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 92 และมาตรา 97

Advertisement

-วันที่ 22 มีนาคม 2556 นายวิชา มหาคุณ อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ระบุว่าได้ทำหนังสือทวงถามความคืบหน้าคดีดังกล่าวจากอัยการสูงสุด เนื่องจากได้ส่งสำนวนไปแล้วตั้งแต่เดือนตุลาคม 2555 แต่ทราบว่าอัยการสูงสุดเพียงแค่ตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบสำนวนที่ ป.ป.ช.ส่งไปให้เท่านั้น ยังไม่มีความคืบหน้าหรือการแจ้งกลับมายัง ป.ป.ช.ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

-วันที่ 30 สิงหาคม 2556 มีกระแสข่าวจากสำนักงานอัยการสูงสุดว่า คณะทำงานอัยการเจ้าของสำนวนการสอบสวนคดีนายสรยุทธและบริษัทไร่ส้มที่ ป.ป.ช.จัดส่งสำนวนมาให้ ได้พิจารณาสรุปสำนวนคดีนี้เสนอให้อัยการสูงสุดพิจารณา โดยเบื้องต้นพบว่าการสอบสวนดังกล่าวยังมีความไม่สมบูรณ์ในบางประเด็น จึงเห็นสมควรส่งสำนวนคดีกลับไปให้ ป.ป.ช.พิจารณาอีกครั้ง

-วันที่ 22 กรกฎาคม 2557 นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. แถลงว่า ป.ป.ช.เคยมีมติชี้มูลความผิดร้ายแรงและความผิดทางอาญา และได้ส่งรายงานการไต่สวนไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดี แต่อัยการสูงสุดยังไม่ดำเนินการฟ้องคดี เนื่องจากเห็นว่ายังมีข้อไม่สมบูรณ์ จึงมีการแต่งตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างอัยการกับ ป.ป.ช.

Advertisement

-วันที่ 5 สิงหาคม 2557 ป.ป.ช.แถลงความคืบหน้าระบุว่าการสอบพยานเพิ่มเติมและการรวบรวมพยานหลักฐานเสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว คณะทำงานทั้งสองฝ่ายเห็นว่า การรวบรวมพยานหลักฐานครบถ้วนตามประเด็นข้อไม่สมบูรณ์ที่อัยการสูงสุดตั้งข้อสังเกตมาแล้ว ดังนั้น จะสรุปเรื่องเสนอไปยังอัยการสูงสุดเพื่อพิจารณาต่อไป

-วันที่ 15 มกราคม 2558 นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช.ในขณะนั้นระบุว่า ป.ป.ช.ได้ออกหนังสือแจ้งไปยังผู้ถูกกล่าวหา คือ นางพิชชาภา นายสรยุทธ น.ส.มณฑา เพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหาเตรียมตัวและเตรียมทนาย รวมทั้งเตรียมหลักทรัพย์ประกันตัว

จากนั้นคดีจึงถูกนำขึ้นสู่ศาลอาญา

บนเส้นทางศาลปกครอง

17 กรกฎาคม 2558 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา คดีหมายเลขดำ 1141/2551 กรณีบริษัท ไร่ส้ม จำกัด โดยนายสรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมการบริษัท ยื่นฟ้องบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เรื่องผิดสัญญาทางปกครอง ขอให้ชำระเงินคืนจากผิดสัญญาร่วมดำเนินการรายการโทรทัศน์ “คุยคุ้ยข่าว” ที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์เมื่อปี 2548-2549

สืบเนื่องจาก บจก.ไร่ส้ม กล่าวหา อสมท ผิดข้อตกลงและสัญญาร่วมผลิตรายการ “คุยคุ้ยข่าว” จากกรณี อสมท เรียกเก็บค่าโฆษณาส่วนเกินจาก บจก.ไร่ส้ม โดยไม่ให้ส่วนลดทางการค้าอัตรา 30% ตามข้อตกลง และ อสมท ยังได้โฆษณาเกินส่วนแบ่งเวลาตามข้อตกลงอีกด้วย ซึ่ง บจก.ไร่ส้มเคยมีหนังสือเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ขอให้ อสมท คืนเงินค่าโฆษณาที่ บจก.ไร่ส้มชำระเกินไป รวมทั้งให้ บมจ.อสมท ชำระเงินค่าโฆษณาส่วนเกินให้ บจก.ไร่ส้มด้วย แต่ อสมท กลับเพิกเฉย

ต่อมาศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2556 ว่า อสมท ผิดจริง และให้จ่ายเงินแก่บริษัท ไร่ส้ม 55,777,019.14 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี นับจากวันถัดจากวันฟ้อง โดยให้ชำระเสร็จสิ้นภายใน 90 วัน นับแต่คดีถึงที่สุด

ต่อมา อสมท ยื่นอุทธรณ์ว่า บจก.ไร่ส้ม ไม่มีสิทธิได้รับส่วนลดทางการค้า 30% จากการเรียกเก็บค่าโฆษณาส่วนเกิน และ อสมท ไม่มีเหตุผลที่ต้องคืนส่วนลดดังกล่าวให้ เพราะ บจก.ไร่ส้ม ไม่ได้แจ้งขอซื้อเวลาโฆษณาที่เกินเวลา ด้วยการจัดทำใบสั่งซื้อหรือหนังสือขอซื้อยื่นต่อฝ่ายขายสำนักการตลาดของ อสมท ซึ่ง บจก.ไร่ส้ม จะต้องดำเนินการตามที่เคยปฏิบัติตามสัญญาโฆษณาและใบสั่งซื้อโฆษณา ระหว่าง บมจ.อสมท กับบริษัท ซีเนริโอ จำกัด และบริษัท เอ็กแซ็กท์ จำกัด จึงขอให้ศาลปกครองสูงสุดกลับคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น

ขณะเดียวกัน บจก.ไร่ส้มได้ยื่นอุทธรณ์เช่นกัน เนื่องจากเห็นว่า อสมท ควรต้องชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่โฆษณาจนถึงวันฟ้อง จำนวน 197,502,927.74 บาท จากการที่ อสมท ใช้เวลาโฆษณาเกินสิทธิที่มีอยู่ในสัญญาและล้ำเข้าไปในสิทธิของ บจก.ไร่ส้ม

ศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์ข้อเท็จจริงจากการไต่สวนและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่าการที่ อสมท ไม่หักค่าส่วนลดทางการค้า 30% ให้กับ บจก.ไร่ส้ม จากการเรียกค่าโฆษณาส่วนเกิน ไม่เป็นการผิดสัญญา และ อสมท ไม่มีหน้าที่ต้องคืนเงินส่วนลดดังกล่าวให้ บจก.ไร่ส้ม เพราะข้อเท็จจริงรับฟังเป็นที่ยุติว่า ตั้งแต่ออกอากาศมีการโฆษณาเกินเวลาที่กำหนดในสัญญาตามที่ บจก.ไร่ส้มส่งใบคิวโฆษณาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ตลอดมา จนถึงเดือนมิถุนายน 2549 และ บจก.ไร่ส้มมีหนังสือขอซื้อโฆษณาของเดือนมีนาคม 2558 เพียงครั้งเดียว โดย บจก.ไร่ส้มไม่มีหนังสือขอซื้อโฆษณาเกินเวลาไปยังสำนักการตลาด อสมท รวมทั้งไม่ได้แสดงความประสงค์ที่จะชำระค่าโฆษณาให้ บมจ.อสมท แต่อย่างใด

กระทั่งเดือนกรกฎาคม 2549 อสมท ตรวจพบและตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงขึ้นมา มีการนำคิวโฆษณาของ บจก.ไร่ส้มมารวมคิวโฆษณา อ.ส.ม.ท.แล้ว คิดเป็นค่าโฆษณาเกินเวลา 138,790,000 บาท อ.ส.ม.ท.จึงแจ้งให้ บจก.ไร่ส้มชำระค่าโฆษณาส่วนเกินเพิ่มเติม 41,637,000 บาท พร้อมภาษีมูลค่าเพิ่มและดอกเบี้ย ซึ่ง บจก.ไร่ส้มก็ชำระเงินโดยไม่โต้แย้ง และเมื่อ อสมท มีใบแจ้งหนี้เดือนธันวาคม 2549 ให้ บจก.ไร่ส้มชำระส่วนที่ตกหล่นเพิ่มอีก 60,000 บาท บจก.ไร่ส้มก็ชำระโดยไม่คัดค้าน จึงฟังได้ว่าทั้ง 2 ฝ่ายไม่ได้ตกลงกันให้หักค่าส่วนลดทางการค้า 30% ดังนั้น บจก.ไร่ส้มจึงไม่มีสิทธิได้รับส่วนลด

อีกทั้งการที่ บจก.ไร่ส้มยอมชำระค่าโฆษณาไปเต็มจำนวนถึง 2 ครั้งโดยไม่โต้แย้ง ย่อมแสดงให้เห็นว่า บจก.ไร่ส้มไม่ติดใจส่วนลดทางการค้า

ส่วน อสมท มีหน้าที่ตามสัญญา ต้องชำระค่าโฆษณาส่วนเกินให้ บจก.ไร่ส้มด้วยหรือไม่ ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า ตามสัญญาร่วมดำเนินรายการทุกฉบับในข้อ 3 กำหนดว่า เวลาแพร่ภาพออกอากาศ ระยะเวลาออกอากาศ และระยะเวลาของเนื้อรายการ จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขเวลาได้โดย อสมท ผู้ถูกฟ้อง และข้อ 6 เป็นการตกลงแบ่งเวลาโฆษณา โดย บจก.ไร่ส้มตกลงยินยอมชำระเงินกรณีที่มีการโฆษณาเกินเวลา จึงเห็นได้ว่า เมื่อมีการตกลงแบ่งเวลาโฆษณาแล้ว อสมท ย่อมมีสิทธิจำหน่ายเวลาโฆษณาได้ในเวลาเท่ากัน ลักษณะตกลงกันให้คู่สัญญาทั้ง 2 ฝ่ายมีสิทธิหาประโยชน์จากการจำหน่ายเวลาโฆษณาแบบไทม์แชริ่งกำหนดส่วนแบ่ง 50/50 ขณะที่ไม่มีการกำหนดในสัญญาให้ อสมท ชำระเงินค่าโฆษณาให้ บจก.ไร่ส้มแต่อย่างใด เพราะเมื่อมีการใช้เวลาโฆษณาเกินกว่าส่วนแบ่งเวลาที่กำหนดในสัญญาแล้ว ผู้ที่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นคือฝ่าย อสมท เอง ที่เป็นเจ้าของสถานีและเจ้าของเวลาออกอากาศ

ดังนั้น การที่ บจก.ไร่ส้มจำหน่ายเวลาโฆษณาเกินกว่าเวลาที่กำหนดในสัญญา เท่ากับ บจก.ไร่ส้มซื้อเวลาออกอากาศที่ใช้โฆษณาเพิ่มขึ้น จึงต้องชำระเงินค่าเวลาตามสัญญา ส่วน อสมท ถือว่าใช้เวลาออกอากาศของตัวเอง จึงไม่มีหน้าที่ต้องชำระค่าซื้อเวลาออกอากาศดังกล่าว

ส่วนกรณี บจก.ไร่ส้มมีหน้าที่ต้องชำระเงินส่วนลดทางการค้า 30% ของค่าโฆษณาส่วนเกินเวลาในเดือนกรกฎาคม 2549 หรือไม่ ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า บจก.ไร่ส้มได้โฆษณาเกินเวลาในเดือนกรกฎาคม 2549 เป็นเงิน 7,430,000 บาท โดย บจก.ไร่ส้มชำระเงินที่มีการหักค่าส่วนลดทางการค้าไว้ 30% คิดเป็นเงิน 2,129,000 บาท ซึ่งแม้จะรับฟังได้ว่า บจก.ไร่ส้มไม่ได้แจ้งการโฆษณาส่วนเกินไปยังสำนักการตลาด อสมท ตามที่กำหนดในสัญญา แต่ตามรายงานการสอบสวนของกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง พบว่าการทำสัญญาโฆษณาเดือนกรกฎาคม 2549 ระหว่าง 2 ฝ่าย ตกลงยินยอมให้ส่วนลดทางการค้า 30% กับ บจก.ไร่ส้ม ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นอันใช้ได้ แม้จะปรากฏตามผลการสอบสวนว่าการทำสัญญานั้นเกิดจากที่นางพิชชาภา เอี่ยมสอาด เจ้าหน้าที่ อสมท ได้เสนอให้ค่าลดทางการค้าแก่ บจก.ไร่ส้มที่ขัดต่อระเบียบ แต่กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องภายในของ อสมท ในการทุจริตต่อหน้าที่ ไม่มีผลทำให้สัญญาโฆษณาหรือข้อตกลงเป็นโมฆะ

นอกจากนี้ ค่าส่วนลดดังกล่าว อสมท ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลแพ่ง ซึ่งศาลแพ่งให้เจ้าหน้าที่ อสมท ชดใช้เงินนั้นให้ บมจ.อสมท แล้ว ดังนั้น บจก.ไร่ส้มจึงไม่มีหน้าที่ต้องชำระเงินส่วนลดทางการค้ากว่า 2 ล้านบาทให้ อสมทแต่อย่างใด

เมื่อพิจารณาแล้วอุทธรณ์ของ บจก.ไร่ส้มฟังไม่ขึ้น โดยอุทธรณ์ของ อสมท ผู้ถูกฟ้อง ฟังขึ้นบางส่วน จึงพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องทั้งในส่วนของผู้ฟ้องและผู้ถูกฟ้อง โดย บมจ.อสมท ไม่ต้องชำระเงิน 55,777,019.14 บาท ให้ บจก.ไร่ส้ม ผู้ฟ้อง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image