คอลัมน์ วิเทศวิถี : การต่างประเทศยุคใหม่ของมะกัน

ช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา หนึ่งในข่าวที่สร้างความฮือฮาในไทยย่อมต้องมีเรื่องที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ต่อสายตรงคุยกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นับเป็นครั้งแรกที่ผู้นำสหรัฐได้ยกหูโทรศัพท์พูดคุยกับผู้นำไทยอย่างเป็นทางการ นับตั้งแต่พล.อ.ประยุทธ์ได้ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในห้วงเวลาเกือบ 3 ปี

พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ถึงการพูดคุยกับประธานาธิบดีทรัมป์อย่างละเอียด แต่ใจความสำคัญน่าจะอยู่ที่ทรัมป์ได้บอกกับพล.อ.ประยุทธ์ว่า “แม้ความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศจะห่างเหินกันไปบ้างในช่วงที่ผ่านมา แต่ก็ได้ให้ความมั่นใจว่าจากนี้จะมีความสัมพันธ์ที่มากยิ่งขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน” นอกจากนี้ทรัมป์ยังได้เชิญพล.อ.ประยุทธ์ไปหารือกันที่สหรัฐอเมริกา ซ้ำทรัมป์ยังตอบรับที่จะมาเยือนไทยตามคำเชิญของพล.อ.ประยุทธ์ในห้วงเวลาที่เหมาะสมอีกด้วย

การเปลี่ยนท่าทีต่อไทยของรัฐบาลสหรัฐภายใต้การนำของประธานาธิบดีทรัมป์นั้น เป็นการเปลี่ยนแปลงชนิดที่เรียกว่าหันกลับ 180 องศา หรือจะเรียกว่าจากหน้ามือเป็นหลังมือก็ไม่ผิดนัก เมื่อเทียบกับรัฐบาลสหรัฐของอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา ที่แม้จะไม่ได้แสดงท่าทีรังเกียจรังงอนมากนักในระยะหลังแต่ก็จะเป็นเพียงการพบปะหารือในเวทีความร่วมมือพหุภาคีอื่นๆ เท่านั้น เจตนาของรัฐบาลสหรัฐภายใต้การนำของทรัมป์นั้นชัดเจนว่าต้องการจับมือกับ”ชาติพันธมิตร”ในภูมิภาคให้อุ่น เพราะในห้วงเวลาเดียวกัน ทรัมป์ยังโทรศัพท์หาประธานาธิบดีโรดริโก ดูแตร์เต ของฟิลิปปินส์ และนายกรัฐมนตรีลี เซียน หลุง ของสิงคโปร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะเดินหน้าทางการทูตเพื่อหามิตรในภูมิภาคให้ได้มากที่สุดในห้วงเวลาที่สถานการณ์ความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลีกำลังตกต่ำย่ำแย่

สำหรับคนที่เคยติดตามสถานการณ์ต่างประเทศแบบห่างๆ คงฟังข่าวนี้ด้วยความฉงนว่าเหตุใดชาติมหาอำนาจที่เชิดชู”ประชาธิปไตย”เสมอมาอย่างสหรัฐ ถึงได้โทรศัพท์มาหารือซ้ำยังเชิญผู้นำที่มาจากการยึดอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินไปเยือนสหรัฐได้ แต่สำหรับคนที่เฝ้ามองสถานการณ์ต่างประเทศอย่างใกล้ชิดคงจะไม่ค่อยแปลกในนักกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะย่อมจะรู้ดีว่าสำหรับประธานาธิบดีทรัมป์ผู้ไม่เคยทำอะไรเหมือนใคร และบ่อยครั้งที่ไม่ค่อยทำอะไรอยู่กับร่องกับรอยแบบที่เราเคยเห็นจากผู้นำสหรัฐในอดีตที่ผ่านมา การคิดและทำนอกกรอบเช่นนี้เป็นเรื่องธรรมดาสามัญของคนไม่ธรรมดาเช่นทรัมป์

Advertisement

ไม่เพียงแต่จะต่อสายมาหารือกับพล.อ.ประยุทธ์อย่างเป็นทางการเท่านั้น ในระหว่างการเดินทางไปร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-สหรัฐสมัยพิเศษ ที่สหรัฐเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ยังได้หารือทวิภาคีกับนายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอีกด้วย แม้จะไม่ถือเป็นครั้งแรกที่รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐหารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เพราะในปี 2558 นายดอนเคยหารือกับนายแอนโธนี บลิเนน รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศสหรัฐ ระหว่างเดินทางไปร่วมการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 70 ที่นครนิวยอร์ก แต่นัยแห่งการหารือในครั้งนั้นก็เทียบไม่ได้กับการหารือครั้งนี้ที่เกิดขึ้นที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ

การหารือระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศไทยและสหรัฐไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะรัฐมนตรีจากชาติสมาชิกอาเซียนเดินทางเยือนสหรัฐเพื่อไปร่วมการประชุมสมัยพิเศษระหว่างอาเซียน-สหรัฐ และแน่นอนว่าไม่ใช่การหารือทวิภาคีแบบเหวี่ยงแห เพราะมีรัฐมนตรีต่างประเทศจากอาเซียนเพียง 2 คนเท่านั้นที่ทิลเลอร์สันหารือด้วยในห้วงเวลาดังกล่าว นอกเหนือจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศไทยแล้วก็คือนางเร็ดโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย

คำตอบของการเปลี่ยนแปลงท่าทีของสหรัฐอยู่ในถ้อยคำที่ทิลเลอร์สันได้พูดกับข้าราชการในกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ก่อนหน้าการประชุมสมัยพิเศษระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-สหรัฐ จะเกิดขึ้นเพียงวันเดียวว่า การดำเนินนโยบายต่างประเทศของสหรัฐบางครั้งจะต้องแยกสิ่งที่ถือเป็นค่านิยม อาทิ เสรีภาพ ศักดิ์ศรีของมนุษย์ หรือวิธีที่ผู้คนได้รับการปฏิบัติออกจากการดำเนินนโยบายในที่ต่างๆ ทั่วโลก

Advertisement

“นโยบาย”อเมริกาต้องมาก่อน”จะเป็นดำเนินการควบคู่กันไปในประเด็นความมั่นคงกับความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ เราไม่จำเป็นต้องทำในสิ่งหนึ่งโดยปล่อยให้อีกสิ่งหนึ่งสูญเสียไป ความร่วมมือกับชาติพันธมิตรของเรามีความสำคัญยิ่งต่อความสำเร็จของสหรัฐในทั้งสองประเด็น”ทิลเลอร์สันระบุ

รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐยังกล่าวด้วยว่า สงครามเย็นได้ยุติลงไปแล้ว แต่การวางยุทธศาสตร์ของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐรวมถึงองค์กรอย่างสหประชาชาติกลับล้มเหลวที่จะปรับตัวให้เข้ากับระเบียบโลกที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบัน การดำเนินนโยบายต่างประเทศสหรัฐถูกกำหนดทิศทางโดยค่านิยมพื้นฐาน แต่หากเงื่อนไขเหล่านั้นหนักหนาเกินกว่าที่คนอื่นจะรับได้ก็จะทำให้เกิดอุปสรรคต่อศักยภาพของสหรัฐที่จะพัฒนาผลประโยชน์ด้านความมั่นคงแห่งชาติและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

เป็นคำตอบที่ชัดเจนแจ่มแจ้งสำหรับความสงสัยใดๆ ของใครๆ ก็ตามต่อการหันกลับมาเดินหน้าสร้างสัมพันธ์กับพันธมิตรเก่าแก่ของสหรัฐในภูมิภาคแบบเต็มสูบ และอันที่จริงหากติดตามข่าวในสื่อต่างประเทศแล้วจะเห็นว่าการที่ทรัมป์ยกหูคุยกับพล.อ.ประยุทธ์รวมถึงเชิญให้เยือนสหรัฐ ยังไม่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์มากเท่ากับที่ทรัมป์ได้ต่อสายคุยกับประธานาธิบดีดูแตร์เต ซึ่งถูกถล่มหนักจากนโยบายทำสงครามกับยาเสพติดจากจำนวนผู้ถูกวิสามัญที่พุ่งสูงไปกว่า 7,000 รายนับตั้งแต่ดูแตร์เตขึ้นดำรงตำแหน่ง

สำหรับไทย การที่สหรัฐเปลี่ยนท่าทีและเปิดพื้นที่เพื่อการพูดคุยในระดับสูงแบบเปิดเผยเช่นนี้ย่อมเป็นสิ่งที่รัฐบาลปรารถนา และแน่นอนว่าไม่เพียงแต่จะช่วยให้”ภาพลักษณ์”ของรัฐบาลดูดีขึ้นทันตากับความยอมรับที่ได้จากชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐ ในระยะยาวท่าทีเชิงบวกเช่นนี้ย่อมจะส่งผลดีต่อการพัฒนาความร่วมมือระหว่างกันในอนาคต เพราะสิ่งที่รัฐบาลสหรัฐทำก็เป็นเครื่องบ่งชี้อันชัดเจนว่าสหรัฐให้คุณค่ากับความสัมพันธ์ที่มีกับไทย

และแม้ในอดีตที่ผ่านมาถึงสหรัฐจะไม่มีการติดต่อแบบทวิภาคีในระดับการเมืองกับไทยอย่างชัดเจน แต่ในการประชุมตามเวทีพหุภาคีก็มีการพูดจาทักทายและมีความร่วมมือกันในระดับหนึ่ง ขณะที่ในระดับเจ้าหน้าที่แล้ว ความร่วมมือต่างๆ ยังดำเนินไปตามปกติ พูดได้ว่าแม้จะไม่ออกสื่อ แต่ความร่วมมือก็ไม่ได้หยุดชะงัก การเดินหน้าประสานงานเพื่อหาช่วงเวลาในการเดินทางเยือนสหรัฐของพล.อ.ประยุทธ์ มีการประกาศแล้วว่าน่าจะเกิดขึ้นได้ภายในปีนี้ และอาจเกิดขึ้นเร็วกว่าที่ใครหลายคนคาดคิด น่าจะยิ่งปลดล็อกข้อจำกัดต่างๆ ที่ยังคงมีอยู่ให้ค่อยๆ หมดไป

ขณะที่การหารือสมัยพิเศษระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-สหรัฐ ที่เกิดขึ้่นในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในห้วงเวลาเดียวกัน แม้ใครต่อใครจะรู้ว่าเป้าหมายใหญ่ของสหรัฐอยู่ที่การหาแนวร่วมในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลี แต่ก็ยังเป็นผลดีต่ออาเซียน และเป็นการแสดงท่าทีที่ชัดเจนของรัฐบาลสหรัฐภายใต้การนำของทรัมป์ว่ายังคงให้ความสำคัญกับอาเซียน หลังจากที่ก่อนหน้านี้สหรัฐไม่ได้แสดงท่าทีชัดเจนใดๆ กระทั่งนายไมค์ เพนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐ ได้เดินทางเยือนกรุงจาการ์ตา ของอินโดนีเซีย และแจ้งกับเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรของชาติสมาชิกอาเซียนว่า ประธานาธิบดีทรัมป์จะเดินทางมาร่วมประชุมสุดยอดร่วมกับผู้นำอาเซียนที่ประเทศฟิลิปปินส์ รวมถึงเข้าประชุมผู้นำเอเปคที่เวียดนามในช่วงปลายปีนี้อย่างแน่นอน

การประชุมดังกล่าวจึงถือว่าต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์ สำหรับสหรัฐอย่างน้อยก็ได้ใจอาเซียนกับภาพที่สหรัฐให้ความสำคัญในฐานะกลไกขับเคลื่อนอนุภูมิภาค ขณะที่อาเซียนเองก็ย่อมพอใจที่แม้สหรัฐจะเปลี่ยนรัฐบาลและปรับเปลี่ยนจุดยืนหลายอย่างในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ แต่อาเซียนก็ยังได้รับความยอมรับจากสหรัฐเช่นเดิม

ชัดเจนว่ายุคนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับสหรัฐคือผลประโยชน์แห่งชาติ ไม่ใช่เรื่องค่านิยมดั้งเดิมที่เคยยึดถือและเป็นกรอบในการมีปฏิสัมพันธ์กับประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน หรือค่านิยมสวยหรูฟังดูดีใดๆ แต่ถึงแม้ว่าสหรัฐจะกลับเข้ามาหาไทยด้วยผลประโยชน์ตามนโยบาย”อเมริกาต้องมาก่อน”หรืออะไรก็ตามที

สุดท้ายอยู่ที่เราจะบริหารโอกาสที่เกิดขึ้นให้เป็นประโยชน์สูงสุดกับประเทศไทยได้อย่างไรมากกว่า โดยเฉพาะในยุคที่โลกกำลังปั่นป่วนวุ่นวาย และเศรษฐกิจกำลังเต็มไปด้วยปัญหา ไม่ว่าจะมองในด้านใดการมีพันธมิตรที่สามารถพูดคุยกันได้เพิ่มขึ้นย่อมส่งผลดีกับเราทั้งนั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image