‘ป.ป.ส.-ศาล’จับมือ 11 หน่วย พัฒนาระบบการให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมผู้ต้องหายาเสพติด

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 23 พฤษภาคม นายศิรินทร์ยา สิทธิชัย เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) พร้อมนายอธิคม อินทุภูติ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม นายบุญชู ทัศนประพันธ์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาธนบุรี พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันท์ อธิบดีกรมคุมประพฤติ นายสมัย ศิริทองถาวร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต นายภาสกร ชัยวานิชศิริ รองอธิบดีกรมการแพทย์ นายเฉลิมธันว์ สุขขะปุณณพันธ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดเชียงใหม่ น.ส.ศรัณยา เลิศศาสตร์วิวัฒน์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดนนทบุรี นายบัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และนายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระบบการให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมแก่ผู้ต้องหาคดียาเสพติดและคดีความรุนแรงในครอบครัวในระบบศาล มีกำหนดระยะเวลาการดำเนินงาน 3 ปี (2560-2562)

นายอธิคมกล่าวว่า สำหรับผู้ที่มีสิทธิเข้ารับคำปรึกษาด้านจิตสังคม ประกอบด้วยบุคคล 4 กลุ่ม คือ 1.ผู้ต้องหาที่อยู่ระหว่างการสอบสวนในคดีที่เสพสารเสพติด หรือครอบครองสารเสพติดจำนวนเล็กน้อย หรือขับขี่และเสพสารเสพติดหรือสุรา รวมทั้งผู้ต้องหาในคดีความรุนแรงในครอบครัวหรือคดีอาญาอื่นๆ ที่มีโทษไม่ร้ายแรง และศาลพิจารณาให้ประกันตัว 2.จำเลยที่ได้รับการประกันตัวและอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาล 3.จำเลยที่ศาลมีคำพิพากษาให้รอการลงโทษและกำหนดเงื่อนไขคุมประพฤติ และ 4.ผู้ที่สมัครใจเข้ารับคำปรึกษาเอง

Advertisement

นายอธิคมกล่าวต่อว่า ส่วนผลการดำเนินงานของคลินิกให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมแก่ผู้ต้องหาคดียาเสพติดและคดีความรุนแรงในครอบครัวของทั้ง 3 ศาล คือ ศาลอาญาธนบุรี ศาลจังหวัดนนทบุรี และศาลจังหวัดเชียงใหม่ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง ตลอดระยะเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปี 2557-2559 ที่ได้ร่วมกันลงในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระบบการให้คำปรึกษาด้านจิตสังคม มีผู้เข้ารับคำปรึกษา 4,947 คน แบ่งเป็น 1.ศาลอาญาธนบุรี ให้คำปรึกษา 2,227 คน เป็นคดียาเสพติดร้อยละ 90 ในจำนวนนี้พบการกระทำผิดซ้ำร้อยละ 1.5 2.ศาลจังหวัดนนทบุรี ให้คำปรึกษา 2,203 คน เป็นคดียาเสพติดร้อยละ 98.37 พบการกระทำผิดซ้ำร้อยละ 0.77 และ 3.ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ให้คำปรึกษา 517 คน เป็นคดียาเสพติดร้อยละ 84.33 พบการกระทำผิดซ้ำร้อยละ 2.7

ด้านนายศิรินทร์ยากล่าวว่า การลงนามในครั้งนี้เป็นความร่วมมือต่อเนื่องจากการประสบความสำเร็จในความร่วมมือครั้งแรก โดย ป.ป.ส.ร่วมกับ 11 หน่วยงาน บันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระบบการให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมฯ มีจุดมุ่งหมายให้โอกาสแก่ผู้กระทำความผิดในคดียาเสพติดและคดีความรุนแรงในครอบครัวที่มีโทษไม่ร้ายแรงและได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ทำให้ผู้กระทำผิดเหล่านี้มีโอกาสปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยทางศาลได้จัดอบรมและให้คำปรึกษาด้านจิตสังคม เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในช่วงวิกฤต

เลขาธิการ ป.ป.ส.กล่าวต่อว่า ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ แบ่งเป็น 2 มิติคือ 1.ตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ผ่านการให้คำปรึกษาด้านจิตสังคม ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น รวมทั้งได้รับการพัฒนาพฤตินิสัย ฟื้นฟูสภาพจิตใจ และส่งเสริมคุณภาพชีวิตภายใต้การให้คำปรึกษาของผู้ให้คำปรึกษาด้านจิตสังคม ไม่กลับไปกระทำความผิดซ้ำ และ 2.สังคมที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ผ่านการให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมรู้สึกปลอดภัยและมีความอุ่นใจในการดำรงชีวิตและทรัพย์สิน เนื่องจากไม่ต้องกังวลว่าจะถูกประทุษร้ายต่อร่างกาย หรือถูกทำลายหรือแย่งชิงทรัพย์สิน

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image