สองโคริยาประชาธิปไตย: ใครเป็นใครในการชุมนุมกรณีทุจริตปธน.เกาหลีใต้ (จบ)

คลิกอ่านตอนแรก

หลายท่านคงได้มีโอกาสติดตามเรื่องราวของกรณีทุจริตประธานาธิบดีเกาหลีใต้ที่กลายเป็นเรื่องใหญ่โตประจำปีของประเทศนี้เมื่อปีที่แล้วไปบ้างนะครับ ผู้เขียนเองได้เขียนบทความเรื่องสองโคริยาประชาธิปไตยตอนที่ 1 ที่บอกเล่าเรื่องราวของการชุมนุมดวงเทียนจรัสแสงของฝ่ายสนับสนุนการถอดถอนประธานาธิบดีไปแล้ว แต่ยังติดค้างท่านผู้อ่านอยู่ตรงที่ไม่ได้เล่าเรื่องราวของการเคลื่อนไหวจากอีกฟากหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า ผู้สนับสนุนประธานาธิบดีหรือ “ปักซาโม” นะครับ ผู้เขียนเองก็โชคดีอีกที่ได้เข้าไปสังเกตการณ์ทั้งสองฝ่าย สมควรกล่าวด้วยว่า ปักซาโมเริ่มรวมตัวจากกลุ่มผู้สูงวัยที่สนับสนุนอดีตประธานาธิบดี โดยใช้ธงชาติเกาหลีหรือ “แทกึกกี” เป็นสัญลักษณ์ กลุ่มคนเหล่านี้บางครั้งก็เรียกตัวเองว่า ผู้ชุมนุมแทกึกกี คือเป็นผู้แสดงความรักชาติและความรักอดีตประธานาธิบดีด้วยธงชาติ แน่นอนครับว่า ทั้งสองฝ่ายล้วนอ้างถึงความรักชาติทั้งคู่ เพียงแต่ปักซาโมเขาก็จะชัดเจนหน่อยตรงที่ ฉันรักอดีตประธานาธิบดีด้วยนะจ๊ะ เพราะท่านประธานาธิบดีนี่เป็น “หัวใจ” ของประเทศเกาหลีใต้ เราขาดท่านไม่ได้

วิธีการอธิบายตัวเองอย่างนี้ ผู้เขียนเห็นว่า เขาไปเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์เกาหลีใต้ในช่วงทศวรรษ 1960-1970 ซึ่งเป็นช่วงที่อดีตประธานาธิบดีปัก ช็อง-ฮี ผู้พ่อปกครองบ้านเมือง หลายท่านเคยได้ยินใช่ไหมครับว่า ปัก ช็อง-ฮี ผู้พ่อของนางสาวปัก คึน-ฮเย อดีตประธานาธิบดีที่เป็นคนที่สร้างชาติสร้างประเทศให้มีความเจริญก้าวไกล มีตัวเลขเศรษฐกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด มีการพัฒนาอุตสาหกรรมหลักอย่างเข้มแข็งหลัง ซึ่งนักวิชาการเกาหลีใต้บางท่าน เช่น แพ็ก นัก-ช็อง (Paik Nak-chung) เสนอว่า แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจนี้มาจากการตัดสินใจของปัก ช็อง-ฮีเอง หลังจากการหารือกับนักเศรษฐศาสตร์หลายคน ปัก ช็อง-ฮี เห็นว่า แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจควรใช้ยุทธศาสตร์แบบผสม ทั้งส่งเสริมความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมภายในประเทศพร้อมกับการเน้นการผลิตเพื่อส่งออกไปด้วย ซึ่งน่าสนใจว่า ผู้สูงอายุที่เข้าร่วมการชุมนุมปักซาโมนั้นหลายท่านมีจินตภาพของบ้านเมืองในสมัยปัก ช็อง-ฮี อยู่ และยังเชื่ออย่างสนิทใจด้วยว่า ลูกสาวของพ่อจะเป็นคนเดียวที่สามารถนำพาบ้านเมืองให้พ้นจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และปัญหาเกาหลีเหนือได้

ที่สำคัญ ปักซาโมนิยามตัวเองว่าอยู่ในฝ่าย “อนุรักษนิยม” ซึ่งผู้เขียนอธิบายไปบ้างแล้วในสองโคริยาประชาธิปไตยและบทความอื่น ๆ ว่า ฝ่ายอนุรักษนิยมนี้มองเกาหลีเหนือเป็นภัยคุกคาม และเชื่อว่าระบอบเกาหลีเหนือจะต้องล่มสลาย เพราะฉะนั้นจะต้องดำเนินนโยบายคว่ำบาตรอย่างแข็งขัน ส่วนเรื่องการเมืองภายในนั้น ฝ่ายอนุรักษนิยมจะวิพากษ์วิจารณ์พวกฝ่ายก้าวหน้าว่าเป็น “ลิ่วล้อเกาหลีเหนือ (종북 세력)” ซึ่งพวกเขาเหมารวมชุมนุมดวงเทียนจรัสแสงทั้งคณะว่า เป็นพวกลิ่วล้อเกาหลีเหนือ โดยไม่ได้พิจารณาข้อเท็จจริงว่า ผู้ชุมนุมดวงเทียนจรัสแสงหลายคนก็เคยเป็นผู้สนับสนุนอดีตประธานาธิบดีมาก่อน และได้เปลี่ยนจุดยืนหันมาวิพากษ์วิจารณ์สืบเนื่องจากข้อเท็จจริงในกรณีชเวซุนชิลเกต เพื่อนสนิทอดีตประธานาธิบดีที่รับสินบนและเข้าไปแทรกแซงการตัดสินใจเชิงนโยบายขององค์กรรัฐในหลายรูปแบบ เช่น การแต่งตั้งทูตประจำเมียนมา และประธาน KOICA เป็นต้น

Advertisement

พลพรรคฝ่ายอนุรักษนิยมนั้นก็ไม่ได้มีเพียงกลุ่มปักซาโมเท่านั้น แต่ยังมีสื่อหลักที่เรียกว่า “โช-ชุง-ทง” ย่อมาจากสื่อหลัก 3 บริษัท ได้แก่ โชซ็อนอิลโบ ชุงอังอิลโบ และทงอาอิลโบ ซึ่งสื่อเหล่านี้ได้ทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนนักการเมืองและรัฐบาลฝ่ายอนุรักษนิยมอย่างแข็งขันมาตั้งแต่หลังการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยในปี 1987 สื่อเหล่านี้เป็นพวกที่ได้รับการอุปถัมภ์อย่างเต็มรูปแบบจากรัฐ ทำนองว่า รัฐบาลขอความร่วมมืออะไร ก็ช่วยหมด (แต่ไม่แน่ใจว่า มีขอให้ไปถ่ายทำภารกิจของรัฐมนตรีแต่ละท่านหรือเปล่านะครับ อิอิ) ก็เลยมักจะได้สิทธิพิเศษในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ครองส่วนแบ่งของตลาด และได้รับการยกเว้นภาษีในบางรูปแบบ ทำให้สื่อเหล่านี้เติบโตและเข้มแข็งกว่าสื่ออื่น ๆ ซึ่งในภายหลัง ภาคประชาสังคมฝ่ายก้าวหน้าได้จัดตั้งสื่อใหม่อันเป็นผลจากการขยายตัวของการใช้อินเทอร์เน็ต เช่น สำนักข่าวโอ้มายนิวส์ ที่เกิดขึ้นจากฝีมือของอดีตคนทำข่าว เพราะต้องการเห็นทางเลือกในการนำเสนอข้อมูลอื่น ๆ มากกว่าการผูกขาดจากฝ่ายรัฐหรือสื่อฝ่ายอนุรักษนิยมแต่เพียงอย่างเดียว

ในการชุมนุมดวงเทียนจรัสแสงครั้งก่อน ๆ ในปี 2002 และปี 2008 สื่อออนไลน์เข้าไปมีบทบาทในการระดมผู้ชุมนุมอย่างมากทั้งจากเว็บบอร์ดและคาเฟ่ออนไลน์ต่าง ๆ เช่น อันดานเต้ (Andante) หรืออะโกรา (Agora) ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ชุมนุมสามารถติดตามข่าวสารได้โดยไม่ผ่านสื่อรัฐ และสามารถมีส่วนร่วมในการถกเถียงอภิปรายประเด็นปัญหาของบ้านเมืองได้โดยตรงด้วย อย่างเช่นในการชุมนุมเพื่อแสดงความไม่พอใจที่ทหารสหรัฐอเมริกาขับรถถังชนเด็กหญิงสองคนเสียชีวิต มีผู้ใช้บริการเว็บบอร์ดออนไลน์ที่ใช้นามแฝงว่า “อังมา (Angma)” โพสต์เชิญชวนประชาชนให้ออกมาชุมนุมแสดงความไม่เห็นด้วยกับสหรัฐอเมริกาโดยนัดหมายชุมนุมอย่างสงบโดยร่วมกันจุดเทียนหน้าสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ซึ่งน่าสนใจว่า พลังของถ้อยคำที่ได้รับการแบ่งปันไปทั่วโลกอินเทอร์เน็ตนั้นได้เป็นแรงสำคัญในการเชื้อเชิญมวลชนให้ออกมาชุมนุมโดยพร้อมเพรียงกัน ขอขอบคุณที่มาของภาพจาก http://populargusts.blogspot.kr/2010/01/

โฉมหน้าของ “อังมา” ผู้โพสต์ข้อความเชิญชวนให้ออกมาชุมนุม

 

Advertisement
แผ่นป้ายประกาศไม่ต้อนรับอเมริกันในเกาหลีใต้ในช่วงดังกล่าว

 

การชุมนุมดวงเทียนจรัสแสงเมื่อปี 2002

สำหรับชุมนุมดวงเทียนจรัสแสงในปี 2016-2017 สื่อมวลชนฝ่ายอนุรักษนิยมยังคงมีบทบาทในการโจมตีผู้ชุมนุมดวงเทียนจรัสแสงว่า เป็นพวกฝักใฝ่เกาหลีเหนืออยู่ แต่ที่น่าสนใจคือ หนังสือพิมพ์ชุงอังอิลโบเริ่มเปลี่ยนจุดยืนหลังจากรัฐสภามีมติถออถอนนางสาวปักออกจากตำแหน่งเมื่อวันศุกร์ที่ 9 ธันวาคม 2016 ชุงอังอิลโบเริ่มหันมานำเสนอข่าวที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ชุมนุมพร้อมกับวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลปักมากขึ้น ขณะที่สื่ออีกสองเจ้าคือ โชซ็อนอิลโบและทงอาอิลโบ ยังคงเดินหน้าโจมตีผู้ชุมนุมดวงเทียนจรัสแสงและสนับสนุนปักซาโมอยู่

ในการชุมนุมของปักซาโมนั้นมักจะเริ่มชุมนุมในช่วงบ่ายของวันเสาร์เช่นเดียวกับชุมนุมดวงเทียนจรัสแสงที่จัตุรัสควังฮวามุน แต่จะเลิกเร็วกว่าคือ ประมาณ 18.00 น. ปักซาโมได้เข้ายึดพื้นที่บริเวณหน้าที่ทำการเทศบาลกรุงโซลเป็นฐานที่มั่นปักหลักยาวนาน โดยตั้งเต็นท์เป็นกระโจมลักษณะค่ายทหาร และติดตั้งธงชาติสหรัฐอเมริกาเคียงข้างแทกึกกี ทำให้มีผู้วิจารณ์ว่า ปักซาโมกลายเป็นฐานทัพอีกแห่งของสหรัฐอเมริกา และผู้ชุมนุมบางส่วนก็ถูกจ้างมาชุมนุม ประเด็นเรื่องการถูกจ้างนี้น่าสนใจว่า ในช่วงเดือนกรกฎาคม-เดือนสิงหาคม รัฐบาลนางสาวปักผันเงินงบประมาณแผ่นดินผ่านสภาอุตสาหกรรมแห่งเกาหลีใต้ และสมาพันธ์บิดามารดรเกาหลีใต้เป็นเบี้ยยังชีพแก่กลุ่มผู้สูงวัยในบางพื้นที่ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นฐานการระดมมวลชน เช่น แทกู ที่เป็นฐานเสียงของฝ่ายอนุรักษนิยม และเป็นบ้านเกิดของอดีตประธานาธิบดีทั้งพ่อทั้งลูก หรือชุนช็อน ซึ่งอยู่ในเขตที่ได้รับการจัดสรรทรัพยากรอย่างดีจากรัฐบาลทหารและรัฐบาลอนุรักษนิยมของนายอี มย็อง-บัก และนางสาวปัก แทกูยังถือเป็นเมืองที่มีผู้ชุมนุมดวงเทียนจรัสแสงน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับเมืองอื่น ๆ ด้วย ทั้งนี้ ตอนที่ผู้เขียนได้เข้าไปร่วมสังเกตการณ์การชุมนุม เห็นชัดเลยว่า มีการชูป้ายว่ากลุ่มนี้มาจากพื้นที่ไหนของเกาหลีใต้ ซึ่งก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่า มีการระดมขึ้นมาชุมนุมกันจริง และผู้ชุมนุมบางท่านให้ข้อมูลว่า มีการจัดรถรับ-ส่งให้ฟรี แต่ไม่ได้ยอมรับว่า ได้รับเงินจากรัฐบาลโดยตรง ซึ่งในประเด็นการรับเงินนี้ เนื่องจากยังอยู่ระหว่างกระบวนการติดตามสืบสวน ผู้เขียนก็จะไม่ไปตัดสินว่า กลุ่มผู้ชุมนุมดังกล่าวเป็น “ม็อบรับจ้าง” เพราะมีเพื่อนของผู้เขียนบางคนที่เข้าร่วมปักซาโมโดยไม่ได้รับเงินด้วย

ค่ายทหารของปักซาโม
ป้ายแสดงภูมิภาคที่ผู้ชุมนุมอาศัย
ป้ายผ้าต้อนรับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา

 

นอกจากความเป็นอนุรักษนิยมแล้ว ปักซาโมยังเป็นผู้ศรัทธาในสหรัฐอเมริกาอย่างล้นเหลือ ในการชุมนุมทุกครั้งจะมีการชูธงชาติสหรัฐอเมริกาควบคู่กับแทกึกกีเสมอ และที่สำคัญคือ มีการเสนอภาพของโดนัลด์ ทรัมป์ควบคู่กับนางสาวปักและระบุถ้อยคำว่า “Make Korea w America Great Again!” พร้อมกับถ้อยคำที่แสดงเป้าหมายหลักของการชุมนุมนั่นคือ “ไม่รับรองการถอดถอน” (ทันแฮ็ก มูฮโย) ดังภาพด้านล่างด้วย

“Make Korea w America Great Again!”

ในช่วงที่ท่านประธานาธิบดีมุน แช-อินเยือนสหรัฐอเมริกา มีกลุ่มปักซาโมไปชูป้ายประท้วงท่านประธานาธิบดีด้วยโดยมีข้อความว่า “ชาวเกาหลีรักสหรัฐอเมริกาและประธานาธิบดีทรัมป์ อย่าไปพบ มุน แช-อิน ประธานาธิบดีจอมปลอมสายลับเกาหลีเหนือ” ดังภาพด้านล่าง

ปักซาโมในสหรัฐอเมริกา (ภาพจาก 와이고수)

 

รายงานของ Korea Exposé ที่สัมภาษณ์ผู้ชุมนุมปักซาโมระบุแนวคิดที่น่าสนใจของผู้ชุมนุมต่อชุมนุมดวงเทียนจรัสแสงว่า วัยรุ่นพวกนี้อาจจะไม่ทราบว่า ท่านปัก ช็อง-ฮีได้สร้างบ้านแปงเมืองให้กลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมทันสมัยและท่านมี “บุญคุณ” ต่อประเทศมากแค่ไหน ปัก คึน-ฮเย ลูกสาวของท่านจะเป็นผู้มาสานต่อภารกิจของท่าน และพัฒนาประเทศให้ยั่งยืนสืบไป ขณะเดียวกันก็โต้แย้งประเด็นจากฝ่ายสนับสนุนการถอดถอนด้วยว่า ความผิดทั้งหมดควรเป็นความผิดของนางชเว ซุน-ชิล ไม่ใช่นางสาวปัก เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ JTBC ไปหามานั้นก็เป็นการสมรู้ร่วมคิด ประธานบริษัท JTBC นายซน ซ็อก-ฮีนี่เคยมีภาพพบปะกับอดีตประธานาธิบดีโน มู-ฮย็อน ฉะนั้นก็เป็นพวกฝักใฝ่เกาหลีเหนือเหมือนกัน ในภาษาเกาหลีจะมีคำว่า “ชิมิน (시민)” ที่หมายถึงชาวเมือง ปักซาโมเปรียบเทียบตัวเองว่า เป็นชาวเมืองที่แท้จริง ส่วนพวกชุมนุมดวงเทียนจรัสแสงเป็น “อินมิน (인민)” หมายถึง ราษฎรของเกาหลีเหนือ เช่นเดียวกับศาลรัฐธรรมนูญ กลายเป็นองค์กรทางการเมืองที่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของเกาหลีเหนือไปแล้ว อย่างไรก็ดี มีข่าวว่า ปักซาโมได้ขู่ทำร้ายท่านผู้พิพากษาสุภาพสตรีท่านเดียวในองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อี ช็อง-มี ด้วย ทำให้ตำรวจต้องอารักขาท่านอย่างเต็มที่

ผู้ชุมนุมถือป้ายโจมตี JTBC

 

“เรารักประธานาธิบดีปัก”
“พวกจุดเทียนเป็นราษฎรเกาหลีเหนือ ฉันนี่สิประชาชนเกาหลีใต้ของจริง”

 

หลังจากศาลรัฐธรรมนูญรับรองมติถอดถอนนางสาวปักของรัฐสภาแล้ว นางสาวปักจะต้องออกจากทำเนียบประธานาธิบดี ซึ่งระหว่างทาง ก็มีปักซาโมจำนวนมากคอยส่งเสียงต้อนรับและแสดงความจงรักภักดี บ้างก็ไปรอที่บริเวณบ้านพักย่านคังนัม และนำดอกไม้ไปวางให้กำลังใจหน้าบ้าน ผู้สื่อข่าวเรียก บริเวณดังกล่าวว่า “ฮเยรูซาเล็ม (Hyerusalem/혜루사렘)” ซึ่งเลียนเสียงจาก “เยรูซาเล็ม” และพยายามเปรียบเทียบว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของนางสาวปัก ซึ่งเปรียบเสมือนพระเจ้าของชาวปักซาโมนั่นเอง สมควรกล่าวด้วยว่า ปักซาโมรวมตัวกันได้หนาแน่นที่สุดในวันที่ 1 มีนาคม 2017 ซึ่งวันดังกล่าวมีความสำคัญคือ เป็นการรำลึกถึงขบวนการ 1 มีนาคม ขบวนการชาตินิยมแรกของเอเชียที่เคลื่อนไหวต่อต้านจักรวรรดินิยมและอาณานิคมญี่ปุ่น ปักซาโมใช้โอกาสดังกล่าวในการระดมผู้ชุมนุมและมีการแสดงแสงสีมหรสพ มีการรวมกลุ่มนายทหารเกษียณอายุราชการ ทหารผ่านศึก และวงดุริยางค์ของทหารด้วย ผู้เขียนเคยสัมภาษณ์ร้อยเอกหญิงคัง ยอ-อึน เพื่อนของผู้เขียนที่ศึกษาในคณะเดียวกันว่า ทหารเกาหลีใต้จำนวนมากจะยึดแนวทางอนุรักษนิยมและต่อต้านคอมมิวนิสต์อย่างแข็งขัน บางครั้งก็เห็นว่า ผู้ชุมนุมดวงเทียนจรัสแสงเป็นคอมมิวนิสต์จริง ๆ เธอกล่าวเพิ่มเติมว่า “มีข่าวกรอง” ที่ทำให้เชื่อได้ว่า แกนนำของคนเหล่านี้มีสายสัมพันธ์โดยตรงกับกรุงเปียงยางด้วย

โปสเตอร์เชิญชวนร่วมชุมนุมในวันที่ 1 มีนาคม (ภาพจาก Imgrum)
วงดุริยางค์ทหารในการชุมนุมวันที่ 1 มีนาคม

 

อย่างไรก็ดี จนถึงวันที่ผู้เขียนเขียนบทความนี้ ปักซาโมก็ยังคงชุมนุมกันอยู่อย่างต่อเนื่องบริเวณหน้าศาลาว่าการกรุงโซลหลังใหม่ แต่มีจำนวนลดลงอย่างเห็นได้ชัด และได้รับการ “ขอคืนพื้นที่” จากเทศบาลกรุงโซลเรียบร้อยแล้ว การปักหลักชุมนุมจึงไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ ทั้งนี้ ความเข้าใจเรื่องสหรัฐอเมริกากับโดนัลด์ ทรัมป์ของผู้ชุมนุมก็ดูจะไม่ได้เปลี่ยนไป และก็ทำท่าเหมือนจะไม่ได้ติดตามข่าวสารบ้านเมือง เพราะขณะนี้ ท่านประธานาธิบดีมุน แช-อินได้ดำเนินนโยบายความมั่นคงในทิศทางที่ฝ่ายอนุรักษนิยมสนับสนุนมาโดยตลอด และทรัมป์เองก็ดูจะเป็นตัวปัญหาในการดำเนินนโยบายเสียมากกว่าจะเป็นปัจจัยสนับสนุน

สิ่งที่ผู้เขียนได้เรียนรู้มาโดยตลอดการชุมนุมของทั้งสองฝ่าย และอาจจะเป็นประโยชน์ในการพิจารณาข้อเรียนรู้สำหรับประเทศไทยนั้นคือ ภาวะแบ่งแยกทางการเมืองเป็นฝ่ายอนุรักษนิยมกับฝ่ายก้าวหน้านั้นเป็นเรื่องปกติในสังคมการเมือง ขณะที่กรณีเกาหลีใต้ได้แสดงให้เห็นแนวทางการจัดการความเห็นที่แตกต่างไปตามครรลองและกระบวนการของการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย น่าสนใจว่า ระหว่างที่สองฝ่ายชุมนุมอยู่บนถนนสายเดียวกันนั้น จะไม่มีการล่วงละเมิดพื้นที่ของอีกฝ่าย ผู้เขียนเคยเห็นปักซาโมกลุ่มหนึ่งเดินไปแหย่ชุมนุมดวงเทียนจรัสแสงที่สี่แยกควังฮวามุน และผู้ชุมนุมดวงเทียนจรัสแสงก็เดินเข้ามาหากลุ่มปักซาโมนั้นพร้อมกับกลุ่มเพื่อน แทนที่จะมีการยกพวกรุมตีหรือกระทบกระทั่งกัน กลับกลายเป็นภาพของตัวแทนหนึ่งคนของแต่ละฝ่ายโต้เถียงกัน และเพื่อน ๆ ในกลุ่มพยายามควบคุมหรือรั้งไว้ไม่ให้กระทบกระทั่ง

นอกจากนี้ ตำรวจเป็นบุคคลสำคัญอย่างมากในการบริหารจัดการชุมนุมแต่ละครั้ง กฎหมายการชุมนุมของเกาหลีใต้ระบุว่า ผู้ชุมนุมจะต้องขออนุญาตใช้สถานที่ด้วยการกรอกแบบฟอร์มออนไลน์ โดยจะอนุญาตตามลำดับก่อน-หลัง หากการชุมนุมนั้นจะเกิดขึ้นบริเวณสถานที่รัฐการ หรือสถานที่สำคัญเช่น ทำเนียบประธานาธิบดี จะต้องมีการขออนุญาตไปที่ศาลกรุงโซลเสียก่อน (ในส่วนของทำเนียบประธานาธิบดี กฎหมายระบุว่า อนุญาตให้เข้าใกล้ได้มากที่สุดไม่ต่ำกว่า 100 เมตร) และจะจัดการชุมนุมได้ต่อเมื่อศาลได้อนุญาตแล้วเท่านั้น มิฉะนั้น จะกลายเป็นการชุมนุมที่ขัดต่อกฎหมายโดยทันที ซึ่งบางครั้งรัฐบาลก็ใช้ประเด็นนี้โจมตีผู้ชุมนุมที่ต่อต้านรัฐบาลและระบุว่า ผู้ชุมนุมเหล่านี้กระทำการขัดต่อกฎหมาย ต้องจัดการสลายโดยเร็วที่สุด (ประเด็นนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งในสมัยรัฐบาลอี มย็อง-บัก)

ทั้งนี้ การจะสรุปว่า ชุมนุมดวงเทียนจรัสแสงและปักซาโมเป็นการปะทะกันระหว่างคนหนุ่มกับคนแก่ก็อาจจะไม่สอดคล้องกับสภาพจริงของผู้ชุมนุม เพราะทั้งสองฝ่ายล้วนมีทั้งคนหนุ่มและคนแก่ แต่ปักซาโมจะมีคนแก่มากหน่อย แต่ที่เห็นได้ชัดเจนคือ แนวคิดและอุดมการณ์ของผู้ชุมนุมที่ฝ่ายปักซาโมประกาศตนแน่วแน่ตามแนวทางอนุรักษนิยม และไม่พิจารณาข้อเท็จจริงใด ๆ นอกจากความยึดมั่นในแนวคิดของตนเอง ขณะที่ชุมนุมดวงเทียนจรัสแสงจะมีแนวคิดที่ยืดหยุ่น แม้ในการชุมนุมจะมีการแสดงออกที่ค่อนข้างไปทาง “ซ้าย” แต่ผู้ชุมนุมหลายท่านก็ยืนยันว่า ทุกคนเห็นตรงกันในเรื่องการถอดถอนประธานาธิบดี แต่ก็ไม่ได้แปลว่า ทุกคนจะต้องต่อต้านญี่ปุ่น ต่อต้านสหรัฐอเมริกา สนับสนุนจีน หรือสนับสนุนการรณรงค์เรื่องหญิงบำรุงขวัญหรือ comfort women ภาวะแบ่งแยกทางแนวคิดและอุดมการณ์นี้เป็นส่วนสำคัญในชื่อบทความของผู้เขียนที่ใช้คำว่า “สองโคริยาประชาธิปไตย” ซึ่งพยายามอธิบายว่า การเมืองเกาหลีใต้ร่วมสมัยเป็นการต่อสู้ทางอำนาจและการต่อรองทางอัตลักษณ์ระหว่างฝ่ายอนุรักษนิยมกับฝ่ายก้าวหน้า อย่างไรก็ดี ผู้เขียนก็ตระหนักในข้อจำกัดว่า ความพยายามในการสรุปทุกอย่างลงไปที่เรื่องของแนวคิดและอุดมการณ์อาจทำให้การมองปัญหาขาดมิติอื่นและไม่เห็นพลวัตความต่อเนื่องและความเปลี่ยนแปลง เช่น บริบททางสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป หรือปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มทางสังคมต่าง ๆ ขณะที่แนวคิดและอุดมการณ์ของตัวแสดงนั้นก็อาจไม่แน่นอน ไม่คงที่ และปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์เช่นกัน การเมืองเกาหลีใต้เองก็มีประเด็นปัญหาและส่วนที่ต้องแก้ไขพัฒนาอยู่ไม่น้อยเช่นเดียวกับการเมืองไทย ผู้เขียนเองก็หวังว่าเรื่องเล่าจากเกาหลีใต้ที่ผู้เขียนบังเอิญโชคดีได้เข้าไปมีส่วนร่วมจะเป็นเพื่อนชวนคิดถึงการพัฒนาระบอบการเมืองไทยต่อไปในอนาคต ขอให้ทุกท่านโชคดีครับ

ตำรวจกับแนวกั้นอันไม่พึงละเมิด
ชายสูงวัยรอเรียกแถวกลับบ้าน
ปักซาโม

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image