สธ.เตรียมประชุมร่วม 14 มี.ค.หาทางออก ‘โรคพิษสุนัขบ้า’ ทั้งสัตว์และคน (ชมคลิป)

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการดำเนินการเฝ้าระวังและควบคุมป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งเกิดข้อกังวลว่าหากควบคุมการแพร่ระบาดในสัตว์ไม่ได้จะลุกลามมายังคน ซึ่งในปี 2561 พบผู้เสียชีวิต 3 รายว่า คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ซึ่งมีทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นต้น มาร่วมมือกัน สิ่งที่ติดขัดคือ วัคซีนสุนัขและแมว  ซึ่งกรมปศุสัตว์ และกระทรวงมหาดไทยที่ดูแลส่วนท้องถิ่น องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการออกประกาศในการให้ดำเนินการฉีดวัคซีนให้แก่สัตว์ทุกพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการระบาดในสัตว์  อย่างไรก็ตาม ในส่วนของคน ณ ขณะนี้ยังไม่พบการระบาด และไม่อยากให้ตื่นตระหนก แต่ควรตระหนักในการป้องกันตัวเอง เพราะฝ่ายราชการคงไม่สามารถไปช่วยได้หมด หากเราไม่ตระหนักในการระมัดระวังสุนัข โดยเฉพาะเด็กเล็ก ผู้ใหญ่ต้องดูแลระมัดระวังให้ดี โดยเฉพาะกรณีเจ้าของสัตว์เลี้ยงต้องมีความรับผิดชอบ ในการนำสัตว์เลี้ยงไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ไม่ว่าหมาหรือแมว ถือเป็นหน้าที่

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร

“ประชาชนอย่าแตกตื่นเกินไป เพราะคนที่จะติดโรคพิษสุนัขบ้า จะต้องถูกกัด ถูกข่วน หรือถูกน้ำลายโดนบาดแผลเรา แต่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าพิษสุนัขบ้าไม่ใช่เจอแค่สัตว์เลี้ยง ในสุนัขหรือแมวเท่านั้น ยังมีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆ อีก ก็พบเชื้อนี้ได้ แม้แต่ค้างคาว หากเราระวังตัวก็จะปลอดภัยได้ แต่หากถูกกัดหรือมีความเสี่ยงให้รีบพบแพทย์ อย่าปล่อยทิ้งไว้ เพราะหากป่วยจะไม่มียารักษา และเสียชีวิตในที่สุด” นพ.ปิยะสกลกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าขณะนี้มีข้อเสนอจากองค์การอนามัยโลกว่าวัคซีนตัวนี้สามารถฉีดป้องกันล่วงหน้าได้ นพ.ปิยะสกลกล่าวว่า สำหรับกลุ่มเสี่ยง คือ คนที่คลุกคลีกับสัตว์ หรือกลุ่มที่ต้องไปจับสุนัข แต่ไม่มีความจำเป็นสำหรับประชาชนทั่วไป ส่วนข้อเสนออื่นๆ ก็จะมีทีมผู้เชี่ยวชาญในการพิจารณาวัคซีนในส่วนของคนอยู่

ด้าน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ในช่วงเช้าวันที่ 14 มีนาคม ที่คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะมีการประชุมร่วมกันทั้งกรมควบคุมโรค กรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น และกรมประชาสัมพันธ์ เพื่อหารือร่วมกันว่าจะมีมาตรการอย่างไรในการสร้างความตระหนักเรื่องวัคซีนพิษสุนัขบ้า และวันที่ 15 ก็จะมีการประชุมโครงการพระปณิธาน คือ โครงการสัตว์ปลอดโรค คนปลอดภัย จากโรคพิษสุนัขบ้า ตามพระปณิธาน ศ.ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ท่านทรงเป็นประธาน อย่างไรก็ตาม ข้อกังวลในเรื่องการฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้าในสัตว์นั้น แม้จะเคยมีปัญหาอุปสรรคแต่ขณะนี้กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นได้จัดสรรงบประมาณให้ท้องถิ่นทั่วประเทศดำเนินการ เป็นจำนวนเงิน 310 ล้านบาท และในส่วนของกรมปศุสัตว์เองก็ได้ตั้งงบประมาณในการดำเนินการเรื่องเชิงระบาด

Advertisement
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย

“ข้อมูลที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อน ณ ขณะนี้ คือ พื้นที่เสี่ยงกับพื้นที่ระบาดจะแตกต่างกัน ซึ่งพื้นที่เสี่ยง คือพื้นที่ที่มีกรณีมีความเสียชีวิตขึ้น แต่พื้นที่ระบาดประกาศเพื่อวัตถุประสงค์ 3 ประการ คือ 1.ห้ามย้ายสัตว์เข้ามา 2.ห้ามย้ายสัตว์ออกไป และ 3.กรณีสัตว์เสียชีวิตต้องจัดการให้เป็นไปตามมาตรการ ดังนั้น ในกรณี 2 จังหวัดที่มีการประกาศ คือ นนทบุรี และ กทม. เป็นกรณีที่ตรวจพบสัตว์ที่ตายและตรวจเจอเชื้อ แต่ยังไม่พบกรณีผู้เสียชีวิต ส่วนพื้นที่เสี่ยงนั้นจะเป็นเชิงบริหารจัดการกรณีมีคนเสียชีวิต ก็จะเรียกว่าพื้นที่เสียชีวิต เพื่อระดมคนไปจัดการ” นพ.สุวรรณชัยกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงความคืบหน้ากรณีคนเสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าว่า ยังมีรอผลยืนยันอีกหรือไม่ นพ.สุวรรณชัยกล่าวว่า สำหรับโรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคทางสมองประเภทหนึ่ง ซึ่งต้องมีการยืนยันเชื้อ แต่ล่าสุดยังคงเป็น 3 ราย คือ ที่ จ.สงขลา สุรินทร์ และตรัง จังหวัดละ 1 ราย ส่วนรายอื่นๆ ยังเป็นระบบรายงานโรค ต้องอาศัยในเรื่องของการสอบสวนโรค และผลตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ จริงๆ แล้วจำนวนตัวเลขดังกล่าวยังบอกไม่ได้ว่ามากหรือน้อยกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งพบผู้เสียชีวิต 11 รายในปี 2560 แต่ในปี 2561 เพิ่งผ่านมาเกือบ 3 เดือนยังต้องพิจารณาหลายปัจจัย แต่ที่อยากสื่อสารคือ หากถูกกัด หรือมีความเสี่ยงติดเชื้อพิษสุนัขบ้า ต้องรีบมา เพราะตัวเลขที่ผ่านมาปัญหาเกิดจากมารับการฉีดวัคซีนช้าเกินไป และที่อยากให้เข้าใจคือเรื่องของการเกิดโรคในสัตว์นั้น

“ขอย้ำเรื่องพื้นที่ระบาดและพื้นที่เสี่ยง เพราะไม่อยากให้เกิดความแตกตื่น ซึ่งพื้นที่ระบาด หัวใจสำคัญคือการควบคุมในสัตว์ โดยเฉพาะการเคลื่อนย้าย เรื่องนี้จะเป็นบทบาทของกรมปศุสัตว์ ปัญหาของการฉีดในสัตว์คือ จะมีทั้งสัตว์ที่มีเจ้าของกับที่ไม่มีเจ้าของ ก็ต้องยอมรับว่ามีบางส่วนที่ไม่ยอมนำสัตว์เลี้ยงมาฉีดวัคซีน ซึ่งไม่ปฏิบัติตามกฎหมายของ พ.ร.บ.โรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ.2535 ซึ่งเป็นหน้าที่ที่ต้องเอามาฉีด ซึ่งตรงนี้สำคัญมาก เพราะสุนัขที่กัดคนและเสียชีวิตมักพบว่าเป็นสุนัขมีเจ้าของ และข้อมูลที่ผ่านมาก็พบว่าสุนัขที่ตายและพบเชื้อกว่าร้อยละ 50 เป็นสุนัขมีเจ้าของ ส่วนสุนัขที่ไม่มีเจ้าของ ซึ่งอาจเดิมเคยมีแต่ถูกทิ้ง หรือไม่มีเจ้าของตั้งแต่ต้น ดังนั้น หากสุนัขมีเจ้าของไปกัดคนอื่น ผู้ที่ถูกกัดฟ้องได้ทั้งแพ่งและอาญา หรือสุนัขไปเพ่นพ่าน ก็ยังมีกฎหมายที่เอาผิดในเรื่องความเป็นระเบียบเรียบร้อยและความสะอาด ซึ่งได้ให้อำนาจในส่วนของท้องถิ่นดำเนินการ ซึ่งในส่วน พ.ร.บ.สาธารณสุข พ.ศ.2535 ก็ให้อำนาจท้องถิ่นจัดการเช่นกัน” อธิบดี คร.กล่าว

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image