นักอนุรักษ์วอนห้ามใช้ “หลอดกาแฟ-ไม้คนพลาสติก”

(CSIRO via AP)

เดนีส ฮาร์เดสตี กับ คริส วิลค็อกซ์ สองนักวิทยาศาสตร์ออสเตรเลีย จากองค์การเพื่อการวิจัยอุตสาหกรรมและวิทยาศาสตร์แห่งเครือจักรภพ (ซีเอสไออาร์โอ) ซึ่งศึกษาวิจัยขยะที่เก็บได้จากพื้นที่ชายทะเลทั่วสหรัฐอเมริกาในช่วง

ระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ประเมินว่ามีขยะพลาสติกขนาดเล็กที่เป็นหลอดเครื่องดื่มและไม้คนเครื่องดื่มที่เป็นพลาสติกอยู่ด้วยถึงเกือบ 7.5 ล้านชิ้น เมื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาประเมินเพื่อคำนวณหาปริมาณทั่วโลก พบว่า ปริมาณของหลอดเครื่องดื่มพลาสติกที่พบได้ตามแนวชายฝั่งของทุกประเทศทั่วโลกจะมีอยู่สูงมาก ระหว่าง 437 ล้านชิ้นไปจนถึง 8,300 ล้านชิ้น ส่งผลให้เกิดการเรียกร้องให้ทุกประเทศหาทางห้ามใช้หลอดเครื่องดื่มพลาสติกและไม้คนพลาสติก เพื่อใช้เป็นเชิงสัญลักษณ์ให้ตระหนักถึงปัญหาขยะพลาสติกในทะเล

ปัญหาเรื่องหลอดเครื่องดื่มพลาสติกเริ่มเป็นประเด็นโด่งดังขึ้นมาเมื่อปี 2015 เมื่อมีการเผยแพร่คลิปวิดีโอแสดงภาพเจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือเต่าทะเลตัวหนึ่งซึ่งมีหลอดเครื่องดื่มพลาสติกเข้าไปติดอยู่ในจมูก ชนิดที่ต้องผ่าตัดจนเลือดทะลักอย่างทุลักทุเล ต่อมาเมื่อปลายปี 2016 ซีเอสไออาร์โอก็เผยแพร่ภาพนกทะเลเชียร์วอเทอร์ตายแล้วอยู่บนโต๊ะให้ความช่วยเหลือ ด้านข้างๆ มีหลอดเครื่องดื่มพลาสติกและเศษลูกโป่งสีแดงที่พบในตัวนกดังกล่าว ทั้งคลิปและภาพดังกล่าวกลายเป็นไวรัลแพร่หลายออกไปทั่วโลก

ฮาร์เดสตีระบุว่า นกทะเลสามารถกินพลาสติกขนาดเล็กเข้าไปในระบบทางเดินอาหารของมันได้ราว 8 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัว ซึ่งเมื่อเทียบกับตัวคนแล้วก็จะมีสภาพเหมือนผู้หญิงตั้งครรภ์ที่มีเด็ก 2 คนอยู่ในท้องพร้อมๆ กัน

Advertisement

หลังจากนั้นเมื่อต้นปีนี้หลายเมืองในสหรัฐอเมริกา อาทิ ซีแอตเทิลและไมอามี ก็ห้ามการใช้หลอดเครื่องดื่มพลาสติก ไม้คนเครื่องดื่มพลาสติก และสำลีอนามัยที่มีก้านเป็นพลาสติกเพื่อไม่ให้กลายเป็นขยะและเป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเลเหล่านั้น ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี เทเรซา เมย์ ของอังกฤษก็เรียกร้องให้บรรดาประเทศในเครือจักรภพพิจารณาห้ามการใช้ตามแบบอย่างดังกล่าวด้วย

ทั้งนี้นักวิทยาศาสตร์ต่างเห็นตรงกันว่าสำหรับบุคคลทั่วไป ที่ไม่ใช่ผู้พิการและเด็กเล็กแล้ว หลอดเครื่องดื่มและไม้คนเครื่องดื่มพลาสติกนั้นแทบไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใด เพราะพลาสติกเหล่านี้ถูกนำมาใช้งานเพียงไม่กี่นาทีแล้วก็ทิ้งให้เป็นขยะอยู่ในสิ่งแวดล้อมและเป็นอันตรายอยู่ได้นานถึงชั่วชีวิตของผู้ใช้หรือนานกว่านั้นด้วยซ้ำไป การห้ามใช้จึงถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีและถือเป็นสัญลักษณ์ที่ดีให้ทุกฝ่ายตื่นตัว ตระหนักถึงความสำคัญของขยะพลาสติกในมหาสมุทร

อย่างไรก็ตาม คารา คัดโลว์ นักสมุทรศาสตร์ซึ่งเคยศึกษาวิจัยปัญหาขยะพลาสติกในมหาสมุทรเมื่อปี 2015 ระบุว่า การห้ามใช้หลอดเครื่องดื่มอาจมีบทบาทอยู่บ้าง แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาขยะพลาสติกในทะเลได้ ในการศึกษาดังกล่าวซึ่งทำร่วมกับเจนนา เจมเบ็ค ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยจอร์เจีย พบว่า ขยะพลาสติกในทะเลเมื่อถึงปี 2010 ซึ่งเป็นปีที่ทำวิจัยนั้นมีเกือบ 9 ล้านตัน ในขณะที่หลอดพลาสติกที่เป็นขยะถึงแม้จะมีปริมาณชิ้นมาก แต่มีน้ำหนักรวมทั้งหมดเพียง 2,000 ตัน

Advertisement

ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับเกือบ 9 ล้านตัน ซึ่งหลุดลงไปยังทะเลและมหาสมุทรในแต่ละปี

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image