กทม.ช็อก!! ขยะคลองเตย900ตัน ชาวบ้านอ้างขี้เกียจเดินไปทิ้งไกล ลงคลอง สะดวกสุด

เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วย นางอัจฉราวดี ชัยสุวิรัตน์ ผู้อำนวยการเขตคลองเตย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจระบบระบายน้ำในพื้นที่ชุมชนคลองเตยล็อค 4-6 ถ.อาจณรงค์ ภายในชุมชนหมู่บ้านพัฒนา 70 ไร่ เขตคลองเตย หลังสำนักการระบายน้ำและสำนักงานเขตเข้าหารือผู้บริหารกทม.เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังเป็นประจำทุกปี

นายจักกพันธุ์ กล่าวว่า โครงการที่อยู่อาศัยชุมชนหมู่บ้านพัฒนา 70 ไร่เป็นพื้นที่กรรมสิทธิ์ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) มีประชาชนกว่า 1,000 หลังคาเรือนประสบปัญหาน้ำท่วมทุกปี ทำให้กทม.เข้าสำรวจพื้นที่ชุมชนเพื่อแก้ปัญหา พบคูระบายน้ำหลังชุมชน ซึ่งเป็นเส้นทางการระบายน้ำสายหลักของชุมชนที่จะช่วยระบายน้ำไปยังท่อระบายน้ำขนาด 60-80 เซนติเมตร (ซม.) ของกทม.และกทท.จัดสร้างขึ้น จากนั้นจะไหลไปรวมกันยังบ่อสุดท้าย ถ.อาจณรงค์ เพื่อระบายน้ำออกสู่คลองหัวลำโพง กลับพบว่าต้นทางการไหลของน้ำมีน้ำท่วมขังมาก ไม่ไหลมายังบ่อปลายทาง สาเหตุเพราะขยะอุดตันภายในคูระบายน้ำจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติก มัดรวมกันเป็นถุงขนาดใหญ่ ทำให้เกิดปัญหาระบายน้ำ โดยเฉพาะขยะพลาสติกจะใช้เวลาย่อยสลายถึง 450 ปี กระทั่ง กทม.ระดมเจ้าหน้าที่เข้าไปทำความสะอาดและเก็บขยะในคูระบายน้ำ ซึ่งมีความกว้าง 10-20 เมตร (ม.) และยาวประมาณ 500 ม. ปัจจุบันใช้เวลาเก็บขยะมาแล้ว 15 วัน อุปสรรคมีซอยแคบและมีบ้านเรือนประชาชนหนาแน่น เจ้าหน้าที่เข้าทำงานลำบาก คาดใช้เวลา 45 วันหรือสิ้นเดือนกรกฎาคมจึงจะแล้วเสร็จ

“ทางเขตได้นำรถ 6 ล้อ จำนวน 5 คัน ขนขยะจากคูคลองวันละ 1 เที่ยว เก็บขยะได้วันละ 15-20 ตัน รวมครึ่งเดือน กทม.เก็บขยะได้แล้ว 300 ตัน คาดจะมีขยะในคูระบายน้ำถึง 900 ตัน แน่นอนว่าขยะหมักหมมมานานส่งผลให้น้ำเน่าและมีกลิ่นเหม็น” รองผู้ว่าฯกทม. กล่าว

Advertisement

นายจักกพันธุ์ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน กทม.ติดตั้งเครื่องสูบน้ำชนิดดีเซล ขนาด 10 นิ้วเพิ่มเติมอีก 2 เครื่อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบายน้ำ ซึ่งที่ผ่านมาหลังกทม.ทำความสะอาดคูคลองและติดตั้งเครื่องสูบน้ำปัญหาน้ำท่วมเริ่มบรรเทาลง และมีแผนจะติดตั้งเพิ่มเติมอีก 1 จุด ขณะนี้ ได้มอบหมายให้เขตและประธานชุมชน ร่วมเจราจากับกทท. เพื่อขอติดตั้งเครื่องสูบน้ำในพื้นที่ให้การระบายน้ำชุมชนดีขึ้น นอกจากนี้ ได้มอบหมายให้ประธานชุมชนเร่งทำความเข้าใจกับชุมชน เพื่อขอความร่วมมือไม่ให้ทิ้งขยะลงคูคลองเด็ดขาด พร้อมให้นัดหมายเวลาให้ทางเขตเข้ามาจัดเก็บขยะในช่วงเวลาใดก็ได้ ตามที่ชุมชนต้องการ เพื่อป้องกันปัญหาสุขอนามัยอื่นที่จะตาม คาดจะมีชุมชนลักษณะเดียวกันในพื้นที่อื่นอีก กทม.ก็จะให้แต่ละเขตช่วยกันสำรวจต่อไป

นางอัจราวดี กล่าวว่า ทางเขตได้จัดวางถังขยะและกำหนดจุดทิ้งขยะให้ชุมชนมาทิ้ง โดยรถขยะได้เข้าไปเก็บขยะทุกวัน แต่ชุมชนไม่ได้นำขยะมาทิ้งยังจุดกำหนด กลับนำทิ้งยังคูระบายน้ำ ทุกวันนี้ทางเขตต้องไปเก็บขยะในคูระบายน้ำแทน ไม่ใช่เรื่องสนุกเพราะคูคลองมีน้ำเน่า เจ้าหน้าที่ต้องทิ้งตัวลงไปเก็บขยะในน้ำ ทั้งนี้ ในพื้นที่คลองเตย เขตได้จัดเก็บขยะต่อเนื่อง เช่นเดียวกับโครงการนัดเก็บขยะชิ้นใหญ่ ทางเขตได้นัดวันเก็บขยะในวันเสาร์-อาทิตย์ หมุนเวียนกันไป 41 ชุมชนภายในพื้นที่ แต่หากมีกรณีพิเศษ ชุมชนสามารถแจ้งความประสงค์ให้เขตเร่งจัดเก็บได้

Advertisement

ด้าน นายทองคำ แซ่โค้ว อายุ 62 ปี ประธานชุมชนหมู่บ้านพัฒนา 70 ไร่ กล่าวว่า อาศัยอยู่ภายในชุมชนตั้งแต่เกิด อดีตคูคลองอยู่ท้ายหมู่บ้านเป็นคลองสวยและน้ำใส ไม่มีกลิ่นเหม็น ชาวบ้านมาอาศัยนั่งเล่นอยู่ริมคลองได้ แต่รอบ 10 ปีที่ผ่านมา พบชาวบ้านนำขยะมาทิ้งขยะลงในคูคลองเป็นประจำ เพราะขี้เกียจไปทิ้งยังจุดทิ้งขยะที่กทม.กำหนด กระทั่งขยะในคูคลอง มีขยะทับถมจนไม่เห็นเป็นคลอง ทับถมจนมีลักษณะคล้ายพื้นดิน ที่ผ่านมาคนชุมชนเป็นโรคไข้เลือดออกเพราะมีน้ำขัง ปัญหาหนูพาหะนำโรคและปัญหากลิ่นน้ำเน่าเสียส่งผลเสียต่อสุขภาพ โดยชุมชนมีเด็กเล็กอาศัยอยู่ริมคลองด้วย จึงเป็นปัญหาน่ากังวล

“เมื่อมาเป็นประธานชุมชน เริ่มตระหนักเห็นปัญหาขยะทับถมก็จัดทำโครงการเสียงตามสายประกาศภายในชุมชน เพื่อขอความร่วมมือไม่ให้ทิ้งขยะลงคูคลอง แต่ไม่เป็นผล คาดหวังว่าหลังกทม.มาช่วยจัดเก็บขยะช่วยให้คูคลองกลับมาเหมือนเดิม ชาวบ้านจะเห็นความเปลี่ยนแปลงก่อน-หลัง พร้อมตระหนักถึงปัญหาความสะอาดยิ่งขึ้น สำหรับชุมชนพัฒนา 70 ไร่ มีจำนวน 1,180 หลังคาเรือนและมีผู้คนอาศัยอยู่ราว 9,000 คน” นายทองคำกล่าว และว่า ได้ขอให้ทางกทม.ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม เพราะที่ผ่านมาเมื่อเกิดฝนตกน้ำมักท่วมเป็นประจำและไหลเข้าบ้านเรือนประชาชน แม้มีความสูงไม่มากแต่น้ำมีกลิ่นเหม็นมาก

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชุมชนหมู่บ้านพัฒนา 70 ไร่ มีลักษณะเป็นชุมชนที่มีบ้านเรือนหนาแน่น คนในชุมชนส่วนใหญ่เปิดร้านค้า ร้านอาหาร รวมถึงแผงค้าขายผักและของสด บ้านเรือนแต่ละหลังมีพื้นที่ติดๆ กัน นอกจากขยะที่พบปริมาณมากในคูระบายน้ำแล้ว ยังพบขยะปริมาณมากตามท่อระบายน้ำของบ้านเรือน โดยเฉพาะขยะพลาสติกและขยะที่ไม่ใช้แล้ว บางหลังยังมีน้ำท่วมขังในท่อระบายน้ำหน้าบ้านและส่งกลิ่นเหม็น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image