“TIJ” จับมือ “ECPAT” ยุติการแสวงประโยชน์ทางเพศจากเด็ก ดึงผู้เกี่ยวข้องระดมความคิด-ปรับกฎหมายให้เท่าทันอาชญากร

แต่ละปีประเทศไทยมีภาพของเด็กที่ถูกละเมิดและแสวงหาประโยชน์ทางเพศบนโลกออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากรายงาน “Thaihotline” ในปี 2559 พบรายการรับแจ้งสื่อลามกอนาจารเด็ก 640 รายการ ถัดมาในปี 2560 เพิ่มเป็น 1,400 รายการ ซึ่งการแสวงหาประโยชน์ทางเพศกับเด็กบนโลกออนไลน์ ถือเป็นภัยคุกคามที่มีแนวโน้มเพิ่มจำนวนความรุนแรงสูงขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่กฎหมาย นโยบาย และ ความรู้ความเข้าใจของประชาชนต่อภัยคุกคามในรูปแบบนี้มีจำกัด จะทำอย่างไรให้ประเทศไทยมีมาตรการทางกฎหมายและนโยบายที่มีความพร้อมในการรับมือและป้องกันปัญหาดังกล่าว รวมถึงช่วยเหลือและคุ้มครองเด็กทุกคนได้อย่างมีประสิทธิภาพสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ในฐานะองค์การมหาชนที่มีจุดมุ่งหมายผลักดันแนวคิดและมาตรฐานระหว่างประเทศว่าด้วยหลักนิติธรรม การป้องกันอาชญากรรม และกระบวนการยุติธรรมทางอาญาสู่การปฏิบัติในประเทศไทยและระดับภูมิภาคจึงร่วมกับมูลนิธิเพื่อยุติการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก(ECPAT Foundation) เดินหน้าจัด “การประชุมผู้เชี่ยวชาญยุทธศาสตร์ต้นแบบสหประชาชาติ เพื่อยุติความรุนแรงต่อเด็กในรูปแบบการแสวงหาประโยชน์ทางเพศกับเด็กผ่านออนไลน์” โดยใช้กรอบแนวคิด  “WeProtect” และ “UN Model Strategies on VAC” โมเดลที่พัฒนาขึ้นจากความร่วมมือขององค์กรระหว่างประเทศและในประเทศหลายภาคส่วน โดยพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงมีส่วนร่วมในการยกร่างและผลักดันมาตรการนี้สู่เวทีการประชุมระดับนานาชาติ ปัจจุบันโมเดลดังกล่าวเป็นแนวทางให้แก่ประเทศต่างๆ ได้นำมาปฏิบัติและเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการยุติธรรมทางอาญาที่เหมาะสมสำหรับเด็กในทุกด้าน สำหรับการประชุมครั้งนี้ ได้มีผู้เชี่ยวชาญ ผู้กำหนดนโยบาย และนักปฏิบัติจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งด้านกฎหมายกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนภาคประชาสังคม ร่วมระดมความคิดเห็นเพื่อผลักดันสู่การปรับปรุงระบบกฎหมายและนโยบาย ในการป้องกันและปราบปรามการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศต่อเด็กผ่านช่องทางออนไลน์ในประเทศไทย

อดิศักดิ์ ภาณุพงศ์ อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงออตตาวา ที่ปรึกษาพิเศษ TIJ ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ ใจความว่า จากสภาพสังคมมนุษย์ที่ปรับเปลี่ยนเป็นพลวัติ ประกอบกับการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในสื่อออนไลน์ในสังคมมากขึ้น ทำให้อาชญากรได้อาศัยเป็นช่องทางที่จะละเมิดและแสวงหาประโยชน์กับเด็กได้โดยง่าย  การที่อาชญากรรมดังกล่าวมีลักษณะปกปิดและปรับเปลี่ยนรูปแบบเสมอ การแก้ไขปัญหาจึงไม่อาจทำได้สำเร็จเพียงประเทศใดประเทศหนึ่งหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง หากต้องอาศัยความร่วมมือทุกประเทศและทุกฝ่าย “ภายหลังจากรับฟังข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมประชุมครั้งนี้ จะนำไปเสริมบทบาทของประเทศไทยในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา (UN Crime Congress) ที่จะจัดขึ้นในปี 2563 ที่ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่ง TIJ ในฐานะสมาชิกสมทบมีสิทธิที่จะเสนอให้เข้าสู่การพิจารณาของสหประชาชาติ แสดงให้เห็นจุดยืนและท่าทีของประเทศไทยเกี่ยวกับการต่อต้านการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กบนโลกออนไลน์ โดยเป็นแนวทางให้ประเทศสมาชิกนำไปปรับใช้กับประเทศของตนเอง ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนที่จะเกิดขึ้นกับเด็กในอนาคตต่อไป” ด้วยแนวโน้มความรุนแรงของอาชญากรรมและการล่วงละเมิดทางเพศบนโลกออนไลน์ที่เพิ่มสูงขึ้น ก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้เสียหายและพยานที่เป็นเด็ก ประกอบกับช่องว่างทางกฎหมายและนโยบายในปัจจุบัน นำมาสู่ความพยายามในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายและนโยบาย รวมถึงเพิ่มความร่วมมือระหว่างประเทศในการต่อสู้ภัยคุกคามดังกล่าว โดยเวทีการประชุมครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมได้มีข้อคิดเห็นทั้งในประเด็น “ความสำคัญของปัญหาการแสวงหาประโยชน์ทางเพศกับเด็กผ่านออนไลน์” กรอบแนวคิดยุทธศาสตร์ต้นแบบและมาตรการเชิงปฏิบัติของสหประชาชาติในการขจัดความรุนแรงต่อเด็ก ในด้านการป้องกันอาชญากรรมและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา” และ “นำเสนอรายงานเบื้องต้น วิเคราะห์ช่องว่าง และความก้าวหน้าของกฎหมาย นโยบายบนพื้นฐานของยุทธศาสตร์ต้นแบบฯ กับ WeProtect โมเดล” โดย รังสิมา ดีสวัสดิ์ ผู้ประสานโครงการระดับภูมิภาค ECPAT International เปิดประเด็นด้วยการกล่าวว่า แนวโน้มของภัยคุกคามทั่วโลก คือ อายุของเด็กที่ถูกล่วงละเมิดลดน้อยลงเรื่อยๆ จากวัยรุ่น สู่เด็กช่วงก่อนเข้าสู่วัยรุ่น ลงไปถึงเด็กวัยหัดเดินและทารก จากรายงาน IWF ปี 2560 ระบุว่า ทุก 7 นาที บนระบบออนไลน์ทั่วโลกพบภาพเด็กถูกทารุณกรรมทางเพศ เป็นเด็กอายุ 11-15 ปี 43% อายุต่ำกว่า 10 ปี 55% เด็กทารกถึง 2 ขวบ 2% ซึ่งเด็กที่ถูกละเมิดต้องทนทุกข์ทรมาน และบางกรณีอาจถึงกับเสียชีวิต

นอกจากนี้การใช้โซเชียลต่างๆ มากขึ้น ทำให้เกิดรูปแบบการกระทำความผิดทางอาญาที่หลากหลาย เช่น มีการส่งต่อ หรือเผยแพร่สื่อลามกเด็กผ่าน Darknet มีการ live streaming มีการสื่อข้อความทางอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รูปแบบสื่อลามกหรือไฟล์วิดีโอ มีการใช้ virtual currency อย่าง Bitcoins ในการซื้อสื่อลามกเด็ก สำหรับประเด็นข้อท้าทายระดับภูมิภาค จำเป็นต้องมีกฎหมายเอาผิดการครอบครองสื่อลามก รวมทั้งการจัดการกับ live streaming อย่างเป็นรูปธรรม ขณะที่ด้าน สาโรช นักเบศร์ อัยการผู้เชี่ยวชาญ ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการและโครงการในพระดำริพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา สำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า สาระสำคัญของ UN Model Strategies เน้นในเรื่องการรับรองและคุ้มครองสิทธิของเด็ก เช่น สิทธิในการมีชีวิตรอด สิทธิในการได้รับการพัฒนาโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กอย่างไม่เลือกปฏิบัติ และครอบคลุมเด็กทั้งในฐานะผู้เสียหาย ผู้กระทำผิดและพยาน โดยเนื้อหาแบ่งเป็น 3 ส่วนกว้างๆ  ส่วนแรก คือ การป้องกันความรุนแรงต่อเด็ก ควรเน้นปรับปรุงกฎหมายให้คุ้มครองเด็กหรืออันตรายที่จะเกิดขึ้นต่อเด็กในทุกรูปแบบ ส่วนที่สอง คือ การพัฒนาความสามารถและศักยภาพของระบบงานยุติธรรมทางอาญา ควรเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรมโดยคำนึงถึงความเปราะบางของเด็ก สร้างระบบในกระบวนการยุติธรรมที่เน้นการคุ้มครองป้องกันเด็กตกเป็นเหยื่อซ้ำ และส่วนสุดท้าย คือ การคุ้มครองเด็กจากปัญหาความรุนแรงในกระบวนการยุติธรรม ควรกำหนดอายุขั้นต่ำของความรับผิดทางอาญา (12 ปี)  ลดจำนวนเด็กเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมด้วยการเบี่ยงเบนคดี  ปรับบทลงโทษต่อเด็กที่กระทำความผิดอย่างเหมาะสม ด้าน ดร.นิฤมน รัตนะรัต ผู้อำนวยการหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (นโยบายสังคม) คณะสังคมศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ประเทศไทยมีกฎหมายที่มีบทบาทในการคุ้มครองเด็กที่เป็นผู้เสียหาย แต่ยังขาดนิยามที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดที่เกิดขึ้น เช่น การถ่ายทอดสดออนไลน์ การสื่อสารข้อความทางเพศ ยังไม่มีการระบุเฉพาะเจาะจง ดังนั้น ควรมีการกำหนดกฎหมายเกี่ยวกับฐานความผิดนี้ให้ชัดเจนมากขึ้น รวมถึงมีนโยบายระดับชาติเพื่อให้สามารถบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนด้าน ร.ต.อ.เขมชาติ ประกายหงษ์มณี รองผู้อำนวยการกองกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมระหว่างประเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า คดีลักษณะนี้ค่อนข้างแตกต่างจากอาชญากรรมอื่น เพราะไม่มีเด็กคนไหนเดินขึ้นไปบนโรงพักแล้วร้องทุกข์ มีแต่เจ้าหน้าที่รัฐทำการสืบสวนและสืบจับเอง จากหลักฐานที่เริ่มจากตัวภาพ ไม่ว่าใครแชร์หรือดาวน์โหลดภาพลามกอนาจาร เราได้พยายามที่จะขยายผลจากซอฟต์แวร์ ใช้เทคโนโลยีในการเข้าไปทำการสืบสวนสอบสวน ซึ่งก็ได้ยึดคอนเซ็ปต์ทำลายสิ่งกีดกันและยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง

ทั้งหมดนี้ คือ ความร่วมแรงร่วมใจที่จะแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงการบำบัดเยียวยา ผลักดันและปิดช่องว่างระบบกฎหมาย และเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับภัยคุกคามทางเพศบนโลกออนไลน์ทุกรูปแบบ เพื่อไม่ให้เด็กไทยนั้นตกเป็นเหยื่อในอนาคต

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image