ผาปังโมเดล อยู่อย่างพอเพียงสร้างวิสาหกิจ ดึงรายได้ให้ชุมชนยั่งยืน

หากพื้นที่แห่งความสุขคือดินแดนในฝัน ชุมชนผาปัง อ.แม่พริก จ.ลำปาง คงเป็นหมุดหมายที่ทุกคนตามหา หมู่บ้านเล็กๆ ท่ามกลางป่าเขาแห่งนี้ เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำ แต่ในอดีตไม่สามารถทำการเกษตรได้ เนื่องจากพื้นที่ป่าถูกทำลาย ขาดแคลนแหล่งน้ำและไม่มีระบบการกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง วันเวลาผ่านไปจากชุมชนด้อยพัฒนา แดนสนธยาและเขตเงาฝน ปัจจุบันผาปังก้าวผ่านสู่วิสาหกิจชุมชนอย่างยั่งยืนใช้องค์ความรู้ของคนในท้องถิ่นยึดโยงด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

การพัฒนาและจัดการทรัพยากรในพื้นป่าเริ่มขึ้น โดยการขับเคลื่อนจากพลังเล็กๆ ของคนในชุมชนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาดูแลและใช้ประโยชน์ “นายรังสฤษฎ์ คุณชัยมัง” ผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนาชุมชนผาปัง กล่าวถึงที่มาของการคิดแก้ปัญหาของชุมชนอย่างจริงจังว่า ผาปังเป็นตำบลที่เล็กที่สุดในประเทศไทย มีจำนวน 5 หมู่บ้าน มีประชากรราว 1,000 คน 462 ครัวเรือน ร้อยละ 41 ของคนในพื้นที่เป็นผู้สูงอายุ หากย้อนกลับไปหลายสิบปีก่อนหน้านี้ ชุมชนมีปัญหาน้ำแล้งทำให้มีพื้นที่สำหรับเพาะปลูกน้อยมาก คนในพื้นที่บางส่วนเริ่มทยอยออกจากหมู่บ้านไปอยู่ในพื้นที่อื่น

“จากวิกฤติที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน ในปี 2547 จึงเกิดการรวมตัวของลูกหลานที่ทำงานในสาขาต่างๆ ในเชิงรูปแบบองค์ความรู้ ใครจบอะไรมาก็มารวมตัวกัน ด้านวิศวะ การบริหาร การตลาด มาระดมสมอง ช่วยกันคิดร่วมกันแก้ไขปัญหา รวมกลุ่มเหมือนองค์กรหนึ่ง เอาความรู้มารวมกัน จากนั้นก็ออกแบบกระบวนการ การติดกระดุมเม็ดแรกจะต้องไม่พลาด เราเรียกสิ่งที่ทำว่าไม่ใช่กิจกรรม เราคิดแบบกิจการคือไม่ใช่จบโปรเจ็คก็จบแต่ต้องอยู่อย่างยั่งยืนให้ได้ ฉะนั้นการคิดโปรเจ็คต่อโปรเจ็คใช้ไม่ได้กับโมเดลที่เราจะทำกับบ้านของเรา เราไม่ทำ CSR แต่ต้องพัฒนามาเป็นกิจการที่สร้างคุณค่าร่วมให้สังคม หรือ CSV –Creating shared value พวกเราจึงสร้างนวัตกรรมในการใช้ประโยชน์จากพื้นที่กันใหม่ ออกแบบให้พื้นที่แล้งน้ำให้เกิดคุณค่าใหม่ โดยไม่ละทิ้งรากฐานเดิมของชุมชน”

Advertisement

ภาพของผาปังปัจจุบันเปรียบเทียบกับปี 2547 ชุมชนมีการพัฒนาชัดเจน หลังได้รับคำแนะนำด้านการท่องเที่ยววิถีชุมชนจากพี่เลี้ยงอย่าง Local Alike และการสนับสนุนจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และหน่วยงานเอกชนต่างๆ ทำให้บ้านผาปังยกระดับคุณภาพชีวิต พร้อมทั้งพึ่งพาตัวเองได้หลังจากนั้นจึงพัฒนาอย่างต่อเนื่องจากรูปแบบวิสาหกิจ สู่รูปแบบธุรกิจรวม 3 ประเภท คือ ธุรกิจการท่องเที่ยว ธุรกิจพลังงานที่ผลิตถ่านชีวภาพ และธุรกิจไฟเบอร์

ผอ.มูลนิธิพัฒนาชุมชนผาปัง บอกว่า กว่าจะมีวันนี้ก็ผ่านอุปสรรคและล้มเหลวมาแล้วทุกรูปแบบ ในช่วงเริ่มต้นชุมชนทำได้แค่ในระดับกิจกรรม แต่ไม่ต่อเนื่อง ปัญหาของชุมชนยังคงอยู่ อย่างไรก็ตาม ต้นทุนสำคัญของผาปังคือ คน บ้านเราไม่มีโอกาสเหมือนคนอื่นเขา เราจะต้องสร้างโอกาสขึ้นมาให้ได้ “ต้นทุนสำคัญที่ผาปังคือทุนคน ณ ปี2555 ผมกำลังเดินหาทุนจากข้างนอกเพื่อนำทุนของชุมชนทั้งหมดมาบริหารจัดการ ปี 2558 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน เราหาพันธมิตรมาเติมเต็ม เพราะไม่สามารถทำคนเดียวได้ แต่ก่อนที่เราจะไปชวนคนอื่น เราต้องถามตัวเองว่าเราพร้อมหรือยัง”

เมื่อถามว่าปัจจัยที่ทำให้ชุมชนบ้านผาปังประสบความสำเร็จ นายรังสฤษฎ์ ตอบว่า การวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งของตัวเองให้ได้อย่างลึกซึ้ง เราต้องรู้ว่าเรามีอะไรดี หรือมีสิ่งใดที่ต้องแก้ไขและเมื่อเจอปัญหาของชุมชนแล้วต้องให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการเพื่อแก้ปัญหา ใช้ภูมิปัญญาขับเคลื่อนจุดที่ดีให้กลายเป็นจุดแข็ง โดยผาปังใช้ไผ่เป็นพระเอกของพื้นที่ ซึ่งเป็นพืชกินน้ำน้อยแต่อุ้มน้ำมาก เหมาะกับสภาพพื้นที่ซึ่งเป็นเขตเงาฝน อีกทั้งยังให้ออกซิเจนมากกว่าพืชทุกชนิดร้อยละ 35 และมีประโยชน์ครบปัจจัย 4 บวกปัจจัยที่ 5 คือ สามารถนำไปแปรรูปทำเป็นถ่านให้พลังงานทดแทน ชาวบ้านได้จัดตั้งวิสาหกิจชุมชนไผ่ แจกพันธุ์ไผ่ให้ชาวบ้านนำไปปลูกไว้ที่หัวไร่ปลายนาเมื่อได้อายุ 2 ปีกว่า ก็ตัดขายให้บริษัทเพื่อนำมาแปรรูป

Advertisement

“ไม้ไผ่เป็นทุกอย่างของชุมชน ทั้งอาหาร ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย และเป็นพลังงาน เราสร้างจุดเด่นจนมีความแตกต่างจากที่อื่นๆ ชุมชนนำไผ่มาใช้ประโยชน์ปีละ 1,095 ตัน โดยนำมาทำตะเกียบ ถ่านอัดแท่ง เศษไม้ไผ่ใช้ผลิตเป็นปุ๋ยดินขุยไผ่ ธูปหอมไล่ยุง ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการอบอิฐบล็อก และทำเครื่องสำอางจากผงละอองไผ่ เป็นต้น และทางมูลนิธิฯ ทดลองการนำถ่านไม้ไผ่มาผลิตเป็นแก๊สรถยนต์จนประสบความสำเร็จ

ชาวบ้านมี Know How ชุมชนมีห้องวิจัยของตัวเอง มีกติกาชุมชนที่แน่ชัด มีธรรมนูญหมู่บ้าน คนภายนอกหรือองค์กรอื่นๆ ที่เข้ามาก็ต้องเข้ามาร่วมมือกัน หลักการทำงานของเราจะเริ่มจากการวิจัยและพัฒนาก่อน ดูว่าไผ่ชนิดนี้สามารถไปแปรรูปทำอะไรได้บ้าง หากทดลองใช้แล้วมีประสิทธิภาพจึงค่อยเชื่อมโยงตลาด และเมื่อมีตลาดรองรับก็จะกลับมาวางแผนการผลิต อย่างถ่านจากไม้ไผ่เราก็พัฒนาจดเป็นบริษัท รับซื้อไผ่จากชาวบ้าน สร้างโรงงานผลิตถ่าน และขายสินค้าตามออร์เดอร์”

ปัจจัยความสำเร็จอีกประการหนึ่งของชุมชนแห่งนี้คือการใช้ต้นทุนที่สำคัญอย่างทรัพยากรมนุษย์ผนวกกับการคิดค้นนวัตกรรมต่างๆ โดยแบ่งหน้าที่การทำงานอย่างเป็นระบบ ไม่ต่างจากองค์กรชั้นนำ การทำการแบ่งงาน เช่น ผู้นำท้องถิ่น อย่างกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จะเปรียบได้เหมือนกันฝ่ายอำนวยการ และมีฝ่ายต่างๆ ที่รับผิดชอบหน้าที่เป็นคณะกรรมการ เชิงโครงสร้างจะมีวิสาหกิจ และมีมูลนิธิพัฒนาชุมชนผาปัง

“เรากำลังทำกิจการ คือความยั่งยืน เป็นแผนการดำเนินการที่ตอบโจทย์ว่าอีก 20-30 ปี ลูกหลานของเราจะอยู่อย่างไร เราจึงมีสภาเด็กและเยาวชน ชมรมการท่องเที่ยวเชิงวิถีผาปัง แต่ไม่ละทิ้งประชากรส่วนมากของเรา นั่นคือกลุ่มผู้สูงอายุจึงเกิดศูนย์นวัตกรรมผู้สูงอายุ สมาชิกของทั้งสองกลุ่มจะได้เข้ามารับหน้าที่ในกระบวนการการท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งความธรรมดาของหมู่บ้านเราบวกกับการออกแบบการท่องเที่ยวชุมชนที่ดีจาก Local Alike ทำให้ตอนนี้มีกลุ่มนักท่องเที่ยวจองคิวการท่องเที่ยวชุมชนผาปังยาวไปถึงปี 2562 แล้ว” ผอ.มูลนิธิชุมชนผาปัง ให้ภาพ

อย่างไรก็ตาม กระบวนการที่ชุมชนผาปังดำเนินการตลอดระยะเวลา 12 ปีที่ผ่านมา เป็นบทพิสูจน์ว่า การสร้างความเข้มแข็งของภาคประชาชนที่ระเบิดจากข้างในพาให้เกิดความยั่งยืน สร้างคนให้มีความรู้ และนำความรู้มาต่อยอดเป็นกิจการ จาก 21 เรื่อง มีกิจการที่ยกระดับเป็น SE (Social Enterprise) ในชุมชนแล้ว 2 บริษัท คือ บริษัท ถ่านไผ่ผาปัง จำกัด ผลิตถ่านโค้ก และ บริษัท กรีน คอมมูนิตี้ จำกัด ให้คำปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม ทำเรื่องการท่องเที่ยว โดยในปี 2561 นี้จะมีกระบวนการเพื่อไปสู่การเป็นบริษัท พลังงานชุมชน จำกัด ทำพลังงานโดยนำถ่ายไผ่ไปทดแทนน้ำมัน แก้ส LPG และไบโอแพค ผลิตแบมบูไฟเบอร์ ซึ่งช่วยตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อมได้ทุกข้อ

จากความสำเร็จดังกล่าว ชุมชนผาปัง มีเป้าหมายสู่การตามกระบวนการที่เราทำตรงนี้ในอนาคต ป่าไผ่ที่ทั้งตำบลร่วมกันปลูกจะกลายเป็นอุโมงค์ไผ่ขนาดใหญ่แห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งนอกจากประโยชน์จากไผ่ มันจะเป็นตัวดึงดูดให้คนทั้งประเทศรู้จักผาปังผ่านความสวยงามและความอลังการตามธรรมชาติ

ผอ.มูลนิธิพัฒนาชุมชนผาปัง ยังวางเป้าหมายว่า หากธุรกิจของชุมชนขยายตัวมากขึ้น เขามองเป้าหมายไปถึงการเปิดให้ประชาชนที่สนใจเข้าร่วมลงทุนในรูปแบบสตาร์ทอัพ หากทำได้จริงสร้างกิจการของชุมชนผาปังอาจได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เป็นชุมชนแห่งแรก “ถ้าทำได้จะตอบโจทย์ความยั่งยืนของประเทศ ชุมชนก้าวไปถึงขีดความสามารถในการพึ่งพาตนเอง” นายรังสฤษฎ์ ปิดท้าย

เราสร้างจุดเด่นจนมีความแตกต่างจากที่อื่นๆ ชาวบ้านมี Know How ชุมชนมีห้องวิจัยของตัวเอง มีกติกาชุมชนที่แน่ชัด มีธรรมนูญหมู่บ้าน เราใช้ภูมิปัญญาขับเคลื่อนจุดที่ดีให้กลายเป็นจุดแข็ง โดยผาปังใช้ไผ่เป็นพระเอกของพื้นที่ ซึ่งเป็นพืชกินน้ำน้อยแต่อุ้มน้ำมาก เหมาะกับสภาพพื้นที่ซึ่งเป็นเขตเงาฝน ไม้ไผ่เป็นทุกอย่างของชุมชน ทั้งอาหาร ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย และเป็นพลังงาน”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image