ทีไอเจ เปิดเวทีระดมความคิด ‘บล็อกเชน’กับโอกาสในกระบวนการยุติธรรมไทย

การเปลี่ยนแปลงของโลกสู่ยุคดิจิทัลนำมาซึ่งเทคโนโลยีที่สามารถเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตของคนได้ อาทิ แพลตฟอร์มที่เรียกว่าบล็อกเชน(Blockchain) เทคโนโลยี AI และ Open Data กำลังสร้างความเปลี่ยนแปลงในวงการธุรกิจ การเงิน การแพทย์ ที่เครื่องมือเหล่านี้ช่วยเอื้อประโยชน์ให้ระบบการจัดเก็บข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นส่วนตัว ขณะที่อีกด้านเทคโนโลยีใหม่นี้ก็ใช้เป็นเครื่องมือที่ช่วยสนับสนุนภาคประชาชนให้เข้าถึงความเป็นธรรมได้ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) จึงร่วมกับ Change Fusion และภาคีเครือข่าย จัดเสวนาในหัวข้อ “เทคโนโลยี Blockchain เพื่อความโปร่งใสและความรับผิดชอบ” มีผู้เชี่ยวชาญในหลายภาคส่วนร่วมแลกเปลี่ยนความรู้เพื่อแก้ปัญหาเก่าๆ ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงโอกาสในการนำบล็อกเชนมาใช้ในกระบวนการยุติธรรมของไทยว่า เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาและอาศัยความพร้อมของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งในต่างประเทศเริ่มนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้แล้ว โดยตัวอย่างที่ชัดเจน คือ เรื่องผู้ลี้ภัยในจอร์แดน ระบบอินทราเน็ตของ UNHCR สามารถใช้ข้อมูลเพื่อยืนยันสิทธิ์ของการเป็นผู้ลี้ภัย เช่น ตรวจม่านตา ตรวจลายมือ ตรวจสอบอัตลักษณ์ของบุคคล ทำให้ลดปัญหาเอกสารและลดปัญหาจากการพิจารณาของเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้เกิดความเป็นธรรมได้ หรือจะเป็นที่มาของเพชร Blood Diamonds ซึ่งเดิมจะมีความยุ่งยากด้านเอกสาร การตรวจสอบย้อนกลับหลายขั้นตอน การใช้บล็อกเชนเพื่อตรวจสอบจะช่วยลดดุลยพินิจของแต่ละบุคคลทำให้การยืนยันเอกสารง่ายและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น “เราต้องหวังว่าจะใช้โอกาสใหม่ๆ เช่น จะลดการกำกับการใช้ดุลยพินิจโดยอำนาจรัฐมากเกิน

ไปได้อย่างไร จะเปิดข้อมูลให้กว้างมากขึ้นโดยภาคประชาชนจะรวมตัวกันแล้วใช้บล็อกเชนมาเป็น สปอตไลท์เพื่อตรวจสอบได้อย่างไร ซึ่ง TIJ หวังว่าจะทำให้เกิดกลุ่มคนซึ่งเป็นนักเทคโนโลยีที่รู้เรื่องนี้ดี รวมถึงนักรณรงค์และคนเกี่ยวข้องมาช่วยกันทำความเข้าใจเบื้องต้นโดยไม่ต้องรอภาครัฐ นำไปสู่การใช้ในระดับเล็กๆ ก่อนขยายผลความสำเร็จ อาจนำไปสู่การเสนอเป็นนโยบายสำหรับภาครัฐได้ในอนาคต หากเครือข่ายเพิ่มขึ้นก็จะมีการคุยหัวข้ออื่นๆ เช่น การตรวจสอบ การลดอาชญากรรม การค้ามนุษย์ เป็นต้น”

Advertisement

ทางด้านนายปริญญ์ พานิชภักดิ์ กรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) กล่าวว่า ภาครัฐสามารถใช้บล็อกเชนเพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการนโยบายของประเทศให้ดีขึ้นได้ ยกตัวอย่าง เช่น ข้อมูลประชากรที่มหาศาลทำอย่างไรที่จะนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์ สร้างสรรค์นโยบาย จากเดต้าที่เรามี ซึ่งเก็บอย่างปลอดภัยบนฐานข้อมูลบล็อกเชน และหากมองไปในต่างประเทศ จะเห็นกรณีศึกษาการใช้ Blockchain ที่น่าสนใจ อย่างสิงคโปร์ ที่นำ Blockchain มาใช้ในระบบราชการ เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง การกำหนดราคากลาง เพื่อให้เกิดความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน ส่วนประเทศอังกฤษ กรมตำรวจได้นำระบบ Blockchain มาใช้ ตั้งแต่รับแจ้งความ สอบสวน ไปจนถึงชั้นศาล เพื่อเพิ่มความปลอดภัยของข้อมูลและลดการใช้กระดาษ เป็นต้น

ด้าน นายปฏิพัทธ์ สุสำเภา กรรมการผู้จัดการ โอเพ่นดรีม จำกัด เปิดเผยว่า เนื่องจากที่ผ่านมาในห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมปลามักจะมีความ ไม่ไว้วางใจในแต่ละขั้นตอน การใช้บล็อกเชนในอุตสาหกรรมประมงจะช่วยกระจายข้อมูล ช่วยให้ห่วงโซ่อุปทานโปร่งใสขึ้น ซึ่งเป้าหมายต้องการให้ผู้บริโภครับรู้ว่าปลาที่กำลังรับประทานอยู่ ถูกจับที่ไหน โดยใคร เริ่มจากชาวประมงสามารถลงทะเบียนปลาผ่าน SMS จะทำให้ปลาทุกตัวมี ID ของตัวเองก่อนส่งต่อเข้ากระบวนการผลิต เช่น แล่เนื้อ ตัดครีบ ออกแบบให้บล็อกเชนทำงานสอดคล้องกับระบบเดิมที่มีอยู่ จนสามารถทำให้ผู้บริโภคสามารถรู้ทั้งกระบวนการผลิตว่าปลาผ่านกระบวนการใดมาบ้าง และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ โดยในอนาคตคาดหวังว่าจะมีส่วนช่วยในเรื่องการค้าแรงงาน และการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมปลาได้ 

Advertisement

นายต่อภัสสร์ ยมนาค ที่ปรึกษาและผู้ก่อตั้งบริษัท แอนด์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด เสนอหลัก 3P ที่จะเข้ามาทำให้บล็อกเชนเข้ามาอุดรอยรั่วในการคอร์รัปชัน ได้แก่ People ที่ผ่านมาประชาชนมีความหลากหลาย ผู้ออกมาตรการอาจยังไม่เข้าใจกลุ่มบุคคลมากพอ ซึ่งบล็อกเชนสามารถแชร์ข้อมูลทุกหน่วยงานร่วมกัน บนพื้นฐานของความปลอดภัย ทำให้ภาครัฐเข้าใจความแตกต่างตรงนี้ได้ ต่อมาคือ Professionals เป็นเรื่องของการร่วมมือกันของคนหรือองค์กรที่ต่อต้านการคอร์รัปชันโดยอาศัยความร่วมมือและสนับสนุนข้อมูลและทรัพยากรผ่านบล็อกเชน สุดท้ายคือ Platform โซเชียลมีเดียอย่างเฟซบุ๊ก สามารถช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนและเป็นระบบจึงควรมีแพลตฟอร์มที่เป็นทางการที่เอื้อต่อ การใช้ระบบเพราะการใช้เทคโนโลยีออกแบบช่องทางการมีส่วนร่วมของประชาชน จะนำไปสู่กลไกการสร้างการมีส่วนร่วมที่มีประสิทธิภาพ

ขณะที่นายพณชิต กิตติปัญญางาม CEO, AccRevo นายกสมาคมไทยแลนด์เทคสตาร์ทอัพ มองว่า สิ่งสำคัญของการใช้ระบบบล็อกเชนคือ การทำความเข้าใจระบบก่อนใช้จริง เนื่องจากบล็อกเชน ไม่ใช่ยาสารพัดประโยชน์ที่สามารถแก้ได้ทุกปัญหา บางประเด็นก็ไม่เหมาะที่จะนำไปใช้ ไม่ใช่แค่การมีซอฟต์แวร์หรือเว็บไซต์ แต่จำเป็นต้องมีความเข้าใจเรื่องระบบก่อน จึงต้องทำความเข้าใจหลักคิดของบล็อกเชนให้มากขึ้นก่อนจะนำมาใช้จริง อย่างไรก็ตาม กิจกรรมครั้งนี้เป็นการเสวนาครั้งแรกในชุด Roundtable on Technology for Justice Series ภายใต้โครงการ Project j : jX Justice Experiment ของ TIJ เกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีมาแก้ปัญหาความยุติธรรมในแง่มุมต่างๆ เป็นจุดเริ่มต้น คัดกรองประเด็นและไอเดียที่น่าสนใจนำมาเป็นต้นแบบ (Prototype) ที่สามารถนำมาทดลอง พัฒนา และต่อยอดไปสู่การใช้แก้ไขปัญหาได้จริง พร้อมกับเป็นการขยายเครือข่ายความร่วมมือของนักปฏิบัติจากภาคส่วนต่างๆ ในสังคมเพื่อนำแนวคิดใหม่ไปขยายผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image