ถึงเวลา ‘ปลดล็อก’ มหากาพย์ค่าโง่ทางด่วน

กลับมาอยู่ในความสนใจของสังคมอีกครั้ง สำหรับข้อพิพาทมหากาพย์ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กับภาคเอกชน บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ซึ่งชื่อในอดีตก็คือ BECL ที่พิพาทยืดเยื้อยาวนานมาร่วม 20 ปี

ประเด็นล่าสุดเกิดขึ้น เมื่อสมาชิกบางส่วนของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (สร.กทพ.)  บุกเข้าไปในห้องประชุมบอร์ดกทพ.ระหว่างการประชุมพิจารณาการแก้ไขข้อพิพาทระหว่างกทพ. กับ BEM ที่มีวาระขยายสัมปทานทางด่วนอุดรรัถยา และทางด่วนศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) เพื่อแลกกับการที่ฝ่ายเอกชนต้องยุติการฟ้องร้องดำเนินคดีที่มีข้อพิพาทกว่า 134,000 ล้านบาท รวมถึงต้องยอมควักกระเป๋าตัวเองลงทุนเพิ่มเติมเพื่อช่วยภาครัฐแก้วิกฤตจราจร

อย่างไรก็ตาม สหภาพกทพ. บางส่วน-บางกลุ่ม เคลื่อนไหวค้านมติดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่าข้อมูลที่บอร์ดได้รับนั้นไม่รอบด้าน  และอยากให้ กทพ. เข้ามาบริหารงานด้วยตัวเอง หลังหมดสัมปทาน

ส่วน “ค่าเสียหาย” ที่ต้องจ่ายชดเชยตามคำพิพากษาศาลปกครองนั้น สร.กทพ. เสนอให้นำเงินที่ระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF) จำนวน 4,300 ล้านบาท ไปจ่ายค่าชดเชย เพื่อหยุดภาระดอกเบี้ยจากก้อนหนี้ที่ถูกบังคับ

Advertisement

ส่งผลให้นายสุรงค์ บูลกุล ประธานบอร์ดกทพ. สั่งยกเลิกการประชุมชั่วคราว เพราะเกรงว่าจะเกิดเหตุวุ่นวาย และเลื่อนประชุมออกไปภายหลัง

ผลที่ตามมาคือการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทไม่ลุล่วง ยังคาราคาซังกันต่อไป กลายเป็นข้อถกเถียงว่าทำไมผู้ที่อยู่เบื้องหลัง สร.กทพ. บางกลุ่มถึงไม่อยากให้ข้อพิพาทระหว่าง กทพ. กับ BEM จบลง !?

หากย้อนไปในอดีต ก็จะทราบว่า กทพ. เป็นองค์กรที่มีผลประโยชน์มากมาย จึงเป็นช่องทางที่ผู้มีอำนาจบางยุคบางสมัยเข้ามาหาผลประโยชน์ และผู้บริหารกทพ. เองก็มักจะต้องตกเป็นเครื่องมืออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

Advertisement

ในอดีตมีถึงขั้นที่เมื่อ กทพ. จะเวนคืนที่ดิน ก็มีการให้ข่าวภายใน จนกลุ่มนายทุนการเมืองไปดักซื้อที่ไว้ก่อน เพื่อรอเวนคืน หรือรอราคาพุ่งขึ้น จากนั้นทำกำไรขายต่อกันไปจนร่ำรวย

หรือกระทั่งการเช่าที่ใต้ทางด่วน ที่คนทั่วไปไม่ทราบเลยว่าเป็นขุมทรัพย์สำคัญซ่อนอยู่

ซึ่งขุมทรัพย์เหล่านี้ถูกนำมาแบ่งปันใช้ประโยชน์กันโดยมี “คนใน” รับรู้ และแน่นอนย่อมส่งผลให้ กทพ. เสียประโยชน์ไปอย่างน่าเสียดาย

ที่น่าสังเกต คือ เหตุใด กทพ. ที่มีข้อพิพาทมากมาย คิดเป็นมูลค่าที่ต้องชดใช้กว่าแสนล้าน ทำไมผู้บริหารกทพ. ในอดีตบางคนและคนที่อยู่เบื้องหลังสหภาพฯ กลับไม่อยากให้เรื่องราวจบลงด้วยดีตามที่มีข้อตกลงกันไว้

แต่กลับหาวิธียื้อเวลาออกไป อ้างว่าข้อพิพาทยังไม่ได้ข้อยุติ

จากการติดตามข้อมูลพอจะต่อจิ๊กซอว์ พบว่า เหตุผลหนึ่งเพราะเกรงว่าหากการเจรจายุติ  กทพ.ร่วมงานกับ BEM ตามเดิมภายใต้ข้อตกลงการเจรจา 20 ธันวาคม 2561

งานนี้หากมีการสะสาง “รื้อขยะ” ที่ซุกอยู่ใต้พรม อาจต้องมีคนรับผิดชอบในความผิดที่เกิดขึ้น จนถูกหางเลขไปด้วย จึงต้องยื้อกันอย่างไม่คิดชีวิต

ไม่เพียงแค่นั้น ยังพบข้อมูลว่า มีความพยายามจากอดีตผู้บริหารกทพ. และแกนนำสหภาพฯ บางคน ให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนกับพนักงาน จนหวาดกลัวว่าจะสูญเสียรายได้ เงินเดือน และสวัสดิการ เพื่อหาแนวร่วมต่อต้านการยุติข้อพิพาท ทั้งยังจ้องจะล้มประธานสหภาพฯ คนปัจจุบันอีกด้วย

จนเกิดข้อกังขาว่าสิ่งที่เคลื่อนไหวนั้นจริงๆ แล้วเป็นไปเพื่อประโยชน์ของชาติ ขององค์กร หรือของส่วนตัวกันแน่  !?

ล่าสุด มีรายงานข่าวจากฝั่งรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม ในฐานะผู้แก้ปัญหา ที่พอทราบข้อมูลเชิงลึกว่าเอาเข้าจริงแล้ว สหภาพแรงงานกทพ. มีกลุ่มที่ต้องการให้ปัญหาฟ้องร้องยุติด้วยดีเช่นกัน

โดยมองว่า ถ้าจบได้ด้วยโมเดลเจรจาวิน-วิน นั้นดีที่สุด เพราะรัฐไม่ต้องเอาภาษีไปจ่ายค่าโง่ ดอกเบี้ยหยุดวิ่ง ขณะที่เอกชนก็อยู่ได้ ประชาชนผู้ใช้ทางก็ได้ประโยชน์ด้วยจากทางด่วนใหม่ที่เอกชนต้องรับภาระสร้าง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ขณะเดียวกัน ในฝั่งสหภาพฯ ก็มีฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกันการเจรจา  ได้แก่ กลุ่มที่นำโดย “อดีตผู้นำ สร.กทพ.” คนหนึ่งที่เคยโดนคดีทุจริต ร่วมกันทำเป็นขบวนการกับฝ่ายการเงินและฝ่ายกฎหมายบางคนที่สนิทชิดเชื้อ

ตามปูมประวัติ พบด้วยว่า อดีตผู้นำ สร.กทพ. รายนี้เคยถูกพิพากษาเมื่อเดือนมีนาคม 2559  เพราะโอนเงินของสร.กทพ. ไปเป็นของตัวเอง !

คดีดังกล่าว สร.กทพ. เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง หลังพบว่าบุคคลคนนี้ถอนเงินค่าสมัครสมาชิก จากบัญชีออกจากธนาคารกรุงไทย สาขาพหลโยธิน ซึ่งเป็นบัญชีของสร.กทพ. เพื่อโอนไปเป็นของตนเองและบุคคลที่ 3 ยี่สิบกว่าครั้ง รวมเป็นเงินเกือบเจ็ดแสนบาท !

 

ก่อนหน้านี้ ศาลอาญา พิพากษาว่า อดีตผู้นำสหภาพกทพ. ดังกล่าว มีความผิดตามมาตรา 353  ผู้ใดได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่น หรือทรัพย์สินซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย กระทำผิดหน้าที่ของตนด้วยประการใด ๆ โดยทุจริต จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของผู้นั้น ให้ลงโทษทุกกรรม กระทงละ 2 ปี

ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษ 1 ใน 4 คงจำคุก 396 เดือน แต่เมื่อรวมโทษจำคุกได้ คงลงโทษจำคุก 120 เดือน และให้คืนเงิน 686,662 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี

ต่อมา วันที่ 3 พ.ค. 2560 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืน ระบุว่า พฤติการณ์แห่งคดีถือได้ว่ากระทำผิดหน้าที่ในการควบคุมจัดการทรัพย์สินของ สร.กทพ. โดยทุจริต ทำให้หน่วยงานเสียหาย

ในที่สุด จำเลยไม่ฎีกา ยอมรับคำตัดสินชั้นอุทธรณ์ แต่กระนั้นความผิดบังเกิดแล้วในฐานะพนักงานก่อเหตุฉ้อโกง ผิดศีลธรรม เป็นเหตุให้โดนผู้ว่าฯ กทพ. ตั้งสอบ

กระแสข่าวหนาหูว่า พอเกิดเหตุเจรจาหาทางออกระหว่าง กทพ. กับ BEM อดีตผู้นำสหภาพฯ รายนี้ พร้อมกับพรรคพวก จึงสบช่องจับเอาประเด็นนี้เป็นตัวประกัน  ยื่นเงื่อนไขให้ผู้ว่ากทพ.ฯ ปฏิบัติตาม ถ้าอยากให้พวกตนเห็นชอบด้วย

หากย้อนดูมหากาพย์ข้อพิพาทของกทพ. และ BEM คงต้องย้อนไปเมื่อปี 2546 โดยกทพ.มีสัมปทานทางด่วนกับ BEM อยู่ 3 สัญญา

ที่มีปัญหาพิพาทมากคือสัญญาทางด่วนขั้นที่ 2 และทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด เนื่องจากรัฐบาลในขณะนั้นไม่ปรับขึ้นค่าผ่านทางให้ BEM ตามสัญญา

ทำให้ BEM ได้รับความเสียหายจากรายได้ที่ลดลงต่อเนื่อง จนต้องพึ่งคณะอนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาด

ต่อมาแม้ อนุญาโตฯ จะสั่งให้กทพ.ชดใช้เงินให้ BEM แต่กทพ.ไม่ยอมรับ และยื่นฟ้องเพิกถอนคำชี้ขาดจากศาลปกครอง

 

นอกจากนี้ ยังมีข้อพิพาทเรื่องผลกระทบทางการแข่งขัน  ที่กทพ.ไม่ชดเชยรายได้ที่ลดลงสำหรับทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด ให้กับ NECL ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ BEM เนื่องจากมีการก่อสร้าง “ดอนเมืองโทลล์เวย์” ส่วนต่อขยายจากอนุสรณ์สถาน-รังสิต มาแข่งขันเข้าข่ายผิดสัญญา ทั้งที่รัฐบาลในอดีตนั่นแหละไปชวนเขามาสร้าง ทำให้ทางด่วนสายนี้มีรายได้ลดลง จนต้องฟ้องเพิกถอนต่อศาลปกครอง

กระทั่งเมื่อวันที่ 21 ก.ย.2561 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้กทพ.ชดเชยรายได้ เป็นเงิน 4,318 ล้านบาท เมื่อคิดผลต่อเนื่องถึงปัจจุบัน มีมูลค่ากว่า 75,000 ล้านบาท

จึงเป็นเหตุให้ “กระทรวงคมนาคม” นำเรื่องเข้าหารือกับที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ( ครม.) และครม.มีมติ เมื่อ 2 ต.ค. 2561 ให้กทพ.เจรจาต่อรองกับคู่พิพาท เพื่อบรรเทาความเสียหายของรัฐ โดยให้คำนึงถึงประโยชน์ชาติเป็นสำคัญ

นำมาซึ่งกรอบเจรจาตามมติบอร์ด กทพ. เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2561 ให้กทพ. ขยายเวลาสัมปทานให้กับ BEM อีก 37 ปี (คำนวณจากมูลค่าความเสียหาย) แต่มีเงื่อนไขให้ BEM ถอนฟ้องกทพ. ยุติข้อพิพาททั้งหมด

ทำให้ข้อพิพาทกว่า 134,000 ล้านบาท ลดลงเหลือประมาณ 64,000 ล้านบาท และยังกำหนดให้ BEM เป็นผู้ลงทุนก่อสร้างและปรับปรุงทางด่วน  โดยมีการสร้างทางยกระดับขั้นที่ 2 จากอโศกถึงงามวงศ์วาน และก่อสร้างช่องจราจรบายพาส โดยไม่มีการเวนคืนที่ดินของประชาชน มูลค่า 31,500 ล้านบาท ซ้ำยังห้ามเก็บค่าผ่านทางเพิ่มตามอำเภอใจ ต้องมีเรตที่แน่ชัด

จุดประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาจราจร เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และลดภาระการลงทุนของรัฐ

ฝ่ายผู้เห็นด้วยกับทางออกแนวทางนี้มองว่า กทพ.จะได้ไม่ต้องนำภาษีอากรของประชาชนทั้งประเทศไปแก้ไขข้อพิพาท และกทพ.ได้ส่วนแบ่งค่าผ่านทางไม่น้อยกว่าเดิม แถมไม่ต้องรับความเสี่ยงในการดำเนินโครงการ

จึงกลายเป็นคำถามถึงรัฐบาลว่า ถึงเวลาหรือยังที่จะต้องสะสาง แก้ปัญหาที่สะสมมานานให้สะเด็ดน้ำ

แน่นอนว่า ฝ่ายภาคเอกชนต้องยอมกลืนเลือด สละประโยชน์ลงไปบ้าง เพื่อให้เดินต่อได้ เพราะยังไงรัฐคงไม่มีทางชดเชยให้ฟรีๆ โดยไม่มีเงื่อนไข

ส่วนฝ่ายคัดค้าน ควรนำมุมมองจากหลายๆ ภาคส่วนมาประกอบการตัดสินใจ ถ้าจะค้านก็ค้านด้วยเหตุผลเพื่อส่วนรวม แต่มิใช่เพื่อประโยชน์ของคนบางคนในสหภาพฯ ที่เคยมีพฤติกรรมไม่โปร่งใส รวมไปถึงกลุ่มอดีตผู้บริหารที่ไม่อยากให้แก้สำเร็จ เพราะหวั่นเกรงคดีความตามหลัง

ทางออกแบบวิน-วินมีอยู่ อย่าลืมว่าดอกเบี้ยจากค่าโง่นั้นวิ่งสูงขึ้นทุกวัน จะคิดอ่านปลดล็อกประการใดควรรีบทำเสียที มิเช่นนั้นผลสุดท้ายเงินที่จะต้องจ่ายคงหนีไม่พ้นเอามาจากภาษีของประชาชน !

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image