‘Digital Learning Platform’ พลิกโฉมการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2562 ณ ห้องประชุมกำแหง พลางกูร อาคาร 56 ปี สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา ได้มีการจัดประชุมทางวิชาการ เรื่อง “พลิกโฉมการเรียนรู้ด้วยดิจิทัลแพลตฟอร์ม (Digital Learning Platform)” โดยมี ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เป็นประธานการประชุม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้แทนสถาบันอุดมศึกษา ครู อาจารย์ และสื่อมวลชน จำนวนกว่า 150 คน

ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กล่าวว่า  ใน 3-4 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลพยายามนำดิจิทัลเข้ามาจัดการเรื่องต่างๆ ในหลายด้าน ขณะที่บางหน่วยงานมีความก้าวหน้าในด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นอย่างมาก แต่ประเทศยังขาดการเชื่อมโยงทั้งองค์ความรู้ ข้อมูลทางดิจิทัล และฐานข้อมูลต่างๆ  รวมถึงการแลกเปลี่ยนและแบ่งปันความรู้ ซึ่งการเรียนรู้ในอดีตกับปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิด 1.โอกาสและทางเลือกของเด็กมีมากขึ้น 2.การแข่งขันมีความหลากหลาย เพราะฉะนั้นกลุ่มของเด็กและเยาวชนไทย โดยเฉพาะคนอายุต่ำกว่า 25 ปี มีโอกาสและสามารถนำเสนอสิ่งที่ตนเองได้เรียนรู้อย่างกว้างขวางได้มากขึ้น

“ประชากรไทยมีอัตราการเกิดน้อยลงและมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อการจัดการศึกษาระดับปฐมวัย และระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน สิ่งที่เกิดขึ้น คือ โอกาสในการเรียนรู้ของเด็กรุ่นใหม่มีมากขึ้น และมีโอกาสเป็น Entrepreneur หรือเจ้าของกิจการมากขึ้นด้วย ดิจิทัล เลิร์นนิ่ง แพลตฟอร์ม นอกจากสร้างโอกาสให้คนได้เรียนรู้พัฒนาตนเองแล้ว ต้องไม่ลืมวิธีการวัดความรู้ ความสามารถ สมรรถนะว่าควรทำอย่างไร ในโอกาสนี้จึงต้องขอความอนุเคราะห์จากท่านผู้บริหารการศึกษา คณาจารย์ ทุกท่าน นอกจากการแบ่งปันหรือแชร์ข้อมูลในการประชุมวันนี้แล้ว ต้องการเห็นความร่วมมือในการทำงานร่วมกันด้วย” ดร.สุภัทรกล่าว

รองศาสตราจารย์ ดร.ฐาปนีย์ ธรรมเมธา ผู้อำนวยการโครงการมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย กล่าวว่า ระบบ MOOC (Massive Open Online Course) เป็นการเรียน การสอนผ่านระบบออนไลน์แบบเปิดเพื่อมวลชน ซึ่งในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลี ต่างมีการพัฒนาแพลตฟอร์มใช้ในประเทศของตนเอง อาทิ JMOOC (แพลตฟอร์มของญี่ปุ่น) KMOOC (แพลตฟอร์มของเกาหลี)

Advertisement

สำหรับประเทศไทย ได้เริ่มทำแพลตฟอร์ม Thai MOOC ในปี 2559 ภายใต้แนวคิด แพลตฟอร์มกลางของประเทศที่สามารถให้มหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่างๆ ใช้ร่วมกัน เป็นเทคโนโลยีทางการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ของคนไทย อย่างไรก็ตาม การใช้ดิจิทัล แพลตฟอร์ม ต้องคำนึงถึงการเข้าใช้งานของผู้เรียนที่ต้องเข้าถึงได้ง่าย

ดร.วรสรวง ดวงจินดา ผู้อำนวยการสำนักการจัดการศึกษาออนไลน์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม กล่าวว่า แพลตฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์สามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ ทุกเวลา ทุกอุปกรณ์ สำหรับการเรียนการสอนยุคใหม่จากเดิมที่เป็นแบบการสื่อสารทางเดียว (One way) สื่อสารสองทาง (Two way) จนมาถึงการเรียนร่วมกัน (Collaborative) ได้เรียนรู้อะไรก็สามารถนำมาแบ่งปัน แลกเปลี่ยนกัน ผ่านแพลตฟอร์มการเรียนรู้

“แพลตฟอร์มการเรียนรู้ที่ดี มีคุณภาพ มีคนมาเรียนเยอะ ผู้เรียนควรได้แลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน โดยมี TA (Teacher Assistant) ไว้คอยตอบข้อสงสัย ผู้สอนจะเป็นตัวละครลับ ไม่ควรรีบตอบ ควรก่อให้เกิดกระบวนการตกผลึกในการเรียนรู้ของผู้เรียนก่อน นั่น คือ สิ่งที่ดีที่สุด” ดร.วรสรวง กล่าว

Advertisement

ดร.สุธิดา จักษ์เมธา Director of International Collaboration & Academic Coordinator สถาบัน Macquarie Education Group Australia (MEGA) กล่าวว่า ออสเตรเลียใช้การเรียนในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ผสมผสานกัน (Blended Learning) โดยข้อดีของการเรียนออนไลน์ คือ เปิดโอกาสการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน ทำให้เกิดความผูกพันในการเรียนรู้ เป็นการเรียนรู้ที่ดึงและพัฒนาศักยภาพผู้เรียน ดึงองค์ความต่างๆ มารวมอยู่ในแหล่งเดียวกัน สามารถแบ่งปันความรู้ซึ่งกันและกันได้   

ขณะเดียวกันการเรียนออนไลน์ก็มีข้อจำกัดเช่นกัน อาทิ การปรับตัวของผู้เรียนกับการเรียนผ่านช่องทางดิจิทัล ปัญหาด้านเทคโนโลยี ผู้เรียนที่ก้าวไม่ทันเทคโนโลยีหรือยังขาดความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ การจัดสรรเวลา และแรงกระตุ้นของผู้เรียน เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image