‘ไมโครซอฟท์’ จับมือ ‘ดีป้า’ ปักหมุด EEC ปั้นคนดิจิทัล หนุนคลาสโค้ดดิ้งโรงเรียนต้นแบบ ‘เมืองพัทยา 7’ เปิดประตูสู่การแข่งขันระดับอาเซียน

       การเขียนชุดคำสั่งของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วยโค้ด หรือ ‘Coding (โค้ดดิ้ง)’ ถือเป็นหนึ่งในทักษะดิจิทัลที่สำคัญของ ‘Industry 4.0’ ทั้งยังเป็นทักษะหนึ่งที่ ‘พลเมืองดิจิทัล’ จำเป็นต้องมีติดตัว เพราะจะช่วยให้รู้ด้านการคิดเชิงตรรกะ การคิดเชิงคอมพิวเตอร์ และการแก้ปัญหา จนสามารถนำไปปรับใช้และต่อยอดได้ด้วยตัวเอง โดยประเทศที่พัฒนาแล้วต่างมีเป้าหมายสอนให้เยาวชนมีทักษะด้านโค้ดดิ้งเพื่อสร้าง ผู้ผลิตและสร้างสรรค์’ โดยเฉพาะงานด้านไอทีและซอฟต์แวร์ ซึ่งจะสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างก้าวกระโดด

       ในขณะที่เมืองไทยกำลังคนด้านดิจิทัลนั้นถือว่ามีสูง แต่ภาคธุรกิจยังคงสะท้อนปัญหาการขาดแคลนกำลังคนด้านดิจิทัลที่มีคุณภาพและสามารถทำงานได้จริง จึงทำให้เรื่อง ‘Coding’ กำลังถูกบรรจุไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอนวิทยาการคอมพิวเตอร์ เป็นวิชาบังคับในโรงเรียนตั้งแต่ระดับชั้น อนุบาล ของโรงเรียนหลายแห่ง เพื่อพัฒนาแรงงานรุ่นใหม่รองรับยุคดิจิทัลและพาประเทศก้าวเป็นผู้นำด้านดิจิทัลในอาเซียน

       ภายใต้บทบาทของการเป็นองค์กรที่ส่งเสริมให้ประเทศไทยปฏิรูปด้วยนวัตกรรมดิจิทัล ‘ไมโครซอฟท์’ จึงได้สนับสนุนให้คนรุ่นใหม่มีพื้นฐานทักษะทางด้านดิจิทัลซึ่งเป็นความรู้ที่สำคัญของศตวรรษที่ 21 หนึ่งในแนวทางดังกล่าวคือ ความร่วมมือกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และ มูลนิธิอาเซียน ในการจัดตั้งโครงการ ‘อาเซียน ดิจิทัล อินโนเวชั่น โปรแกรม’ ซึ่งเป็นโปรแกรมระดับอาเซียนที่ไมโครซอฟท์ลงมือทำใน 7 ประเทศ ได้แก่ ไทย เวียดนาม มาเลเซีย กัมพูชา ฟิลิปปินส์ พม่า และอินโดนีเซีย เพื่อใช้สอนโค้ดดิ้ง เพิ่มศักยภาพบุคลากรและเยาวชนทุกคนจากทุกภูมิหลัง ให้มีทักษะการเขียนโปรแกรมที่จะช่วยให้พวกเขาเติบโตในการปฏิวัติอุตสาหกรรมยุค 4.0

       ล่าสุด ขยายผลโครงการดังกล่าวไปในพื้นที่ จ.ชลบุรี หนึ่งในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ Eastern Economic Corridor (EEC) นำร่องโรงเรียนเมืองพัทยา 7 ให้เป็นโรงเรียนต้นแบบ พร้อมจัดอบรมครูผู้สอนทุกพื้นที่ EEC จำนวน 500 คน 500 โรงเรียน โดยร่วมกับ วิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา

Advertisement

สุภารัตน์ จูระมงคล ผู้จัดการฝ่ายกิจกรรมเพื่อชุมชน บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ไมโครซอฟท์ มีวิสัยทัศน์ที่เปิดรับต่อการเปลี่ยนแปลงและส่งเสริมให้ครูและบุคลากรทางการศึกษามีทักษะด้านดิจิทัล หลายปีที่ผ่านมาไมโครซอฟท์ได้ร่วมมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) สังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในโครงการ Coding Thailand ส่งเสริมให้ครูสอนวิทยาการคอมพิวเตอร์เป็น ไม่นานมานี้ก็มีโครงการดิจิเกิร์ลซ์ ที่จุดประกายเด็กนักเรียนหญิงสนใจเรียนโค้ดดิ้ง เกิดแรงบันดาลใจในการทำงานเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์และสายงานด้านเทคโนโลยี ปีนี้ทำงานร่วมกับวิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา เพื่อรุกสร้างกำลังคนพันธุ์ดิจิทัลรองรับ EEC โดยตั้งเป้าจัดอบรมครูผู้สอนวิทยาการคอมพิวเตอร์ จำนวน 500 คน ขยายผลไปยังนักเรียน 50,000 คน ขณะเดียวกันได้หมายมั่นให้โรงเรียนเมืองพัทยา 7 เป็นโรงเรียนต้นแบบ ที่มีเด็กเก่งเรื่องโค้ดดิ้ง สร้างนวัตกรรมเองได้

       “ไมโครซอฟท์ มีกิจกรรมเช่นนี้ทุกปี ปีนี้เน้นที่ EEC โดยมองว่าจุดแข็งของเราคือเรื่องของเครื่องมือ ที่ใช้งานง่าย เข้าใจง่าย เนื้อหาที่ใช้สำหรับอบรมครูนำมาจากโครงการอาเซียนดิจิทัลอินโนเวชั่นโปรแกรม มีคู่มือให้ ประกอบกับมีเว็บไซต์ Future Ready ASEAN (www.futurereadyasean.org) ที่มีหลักสูตรให้เลือกสอนจำนวนมาก ขณะที่การเรียนการสอนโค้ดดิ้ง เริ่มจาก tutorial เบื้องต้น เช่น แบบฝึกเขียนโปรแกรมด้วยเกม Minecraft เรียนรู้การเขียนโปรแกรมสไตล์ Block-based Programming ที่เป็นการต่อบล็อกคำสั่งที่ทั้งง่ายและสนุกสำหรับผู้เรียนที่เพิ่งเริ่มต้น ด้วย Microsoft MakeCode ฝึกการเขียนโปรแกรมด้วยภาษา Python รวมทั้งการใช้เครื่องมือ visual studio code เขียนเว็บด้วยภาษา HTML5 และ CSS อย่างง่าย เราไม่ได้สอนเด็กเล่นเกม แต่สอนคิดเกม สร้างเกม ทำให้เด็กรู้สึกว่าการโค้ดไม่ได้เป็นเรื่องที่ยาก แต่ง่ายและสนุก เรียน 1 ชั่วโมงทำให้เด็กมีคอนเซ็ปของการเขียนโค้ด สามารถต่อยอดเป็นโปรแกรมเมอร์ได้

Advertisement

คลาสโค้ดดิ้ง โครงการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล’

       อ.ณรงค์ รัตนโสภา รองผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา กล่าวว่า ได้เริ่มอบรมครูไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยจะอบรมทั้งหมด 20 รุ่น รุ่นละ 25 คน เป็นครูระดับประถมศึกษา 10 รุ่น (อบรม 1 วัน) ระดับมัธยมศึกษา 10 รุ่น (อบรม 2 วัน) ส่วนโรงเรียนต้นแบบเมืองพัทยา 7 ได้เลือกชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3/1 ซึ่งมีจำนวนผู้เรียน 39 คน โดยจะได้เรียนรู้เรื่องโค้ดดิ้งจากครูวิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ครั้งละ 2 ชั่วโมง จำนวนทั้งสิ้นรวม 24 ครั้ง

       เรามีประสบการณ์ในการสอนด้านโค้ดดิ้ง 30 ปี โดยทางไมโครซอฟท์ส่งเสริมให้เราได้เป็นวิทยากร อบรมให้กับครูและเด็กนักเรียนที่อยู่พื้นที่ EEC นอกจากเป็นการส่งต่อความรู้ด้านโค้ดดิ้งแล้ว อีกมุมหนึ่งเรายังได้แสดงศักยภาพในการทำงานของคนพิการ โดยครูที่เป็นวิทยากรทั้งหมดนั้นเป็นคนพิการ

จำเป็นแค่ไหนที่เด็กไทยจะต้องรู้เรื่องโค้ดดิ้ง

       อ.โสภิตา จันทรส บุคลากรทางการศึกษาจากวิทยาลัยเทคโนโลยีพระมหาไถ่ พัทยา บุคคลซึ่งมีหน้าที่ฝึกอบรมทักษะด้านคอมพิวเตอร์และการโค้ดดิ้งเบื้องต้นให้กับเยาวชนผู้พิการและขาดโอกาสมาแล้วทั่วประเทศ กล่าวว่า การโค้ดดิ้งเป็นทักษะสำคัญสำหรับการเปิดโอกาสด้านอาชีพ ถ้าเด็กๆ ได้ศึกษาตั้งแต่ต้นเฉกเช่นเดียวกับภาษาที่ใช้สื่อสาร เด็กจะเข้าใจการทำงานแบบเป็นกระบวนการ สามารถคิดวิเคราะห์ มีความคิดสร้างสรรค์ในสายงานที่ทำและพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาต่อยอด

       “การเขียนโค้ดดิ้งในโครงการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล เลือกใช้ Tools เป็นสื่อในการเรียนการสอน ภายใต้หลักการเล่นไปด้วยเรียนไปด้วย เริ่มต้นให้เด็กเรียน Minecraft ฝึกให้มีลอจิกในการคิดแก้ปัญหา เรียนไมโครคอนโทรเลอร์ขนาดเล็กที่สามารถเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ลงไปได้ ท้ายที่สุดสามารถต่อยอดกับสิ่งที่อยากพัฒนาได้ เช่น สร้างหุ่นยนต์ที่เดินตามเส้นได้ โดยจากที่สอนไปแล้ว 2 สัปดาห์ พบว่าเด็กๆ มีสเต็ปการคิดและวิเคราะห์ที่เร็ว เชื่อว่าถ้าได้เรียนต่อเนื่อง น่าจะเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งกับประเทศอื่นได้ไม่ยาก

ด้าน อ.สุเทพ คล้ายสีแก้ว ผู้อำนวยการโรงเรียนเมืองพัทยา 7 กล่าวว่า ที่นี่เน้นสอนเด็กเพื่อไปสู่อาชีพ ด้วยเป็นโรงเรียนที่มีถึงแค่ม.3 ถูกจำกัดสิทธิการใช้สื่อและเครือข่าย การลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ จึงทำให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติ เกิดการรู้จริงรู้แจ้ง ซึ่งวันนี้เด็กแก้คอมฯเบื้องต้นได้ เขียนโปรแกรมได้ นอกเหนือจากเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ เด็กๆ รู้จักการทำงานร่วมกัน มีทักษะในการทำงานเป็นทีม กล้าถามและกล้าทำ

ใครๆ ก็เรียนเขียนโปรแกรมได้

       ด.ช.ไพบูลย์ สายจิตต์ นักเรียน ม.3/1 โรงเรียนเมืองพัทยา 7 ผู้เรียนในโครงการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล บอกว่า “ผมมอง “โค้ดดิ้งเหมือนเป็นการให้อาหารคอมพิวเตอร์ เพราะจะต้องเขียนด้วยภาษาของคอมพิวเตอร์ แล้วสิ่งที่เขียนจึงจะสามารถเกิดขึ้นได้จริง การเรียนโค้ดดิ้งไม่ยากอย่างที่คิด ใครๆ ก็เรียนได้ถ้ามีความสนใจ อย่างตัวผมเองก็เริ่มจาก 0 ฝึกฝนและเขียนโค้ดบ่อยๆ เพราะใฝ่ฝันที่จะเป็นนักโปรแกรมเมอร์ที่สามารถทำงานให้กับบริษัทชั้นนำของโลก สร้างสรรค์งานต่างๆ ด้วยโค้ดดิ้งที่ได้เรียนมา ข้อดีของการมีทักษะด้านโค้ดดิ้งเป็นพื้นฐาน ไม่ใช่แค่ไปเป็นนักคอมพิวเตอร์ หรือนักโปรแกรมเมอร์ที่เก่ง แต่ทำให้มีทักษะด้านการคิด การแก้ปัญหา การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของทุกอาชีพ ถ้าเพื่อนๆ คนไหน สนใจเรียนรู้เกี่ยวกับวิธีการโค้ดดิ้งง่ายๆ ที่เว็บไซต์ “FutureReadyASEAN” มีหลักสูตรให้เลือกเรียนและสามารถต่อยอดเองได้


       ด.ญ.ถมทอง กิจวิสาละ อีกหนึ่งผู้เรียนในโครงการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล บอกว่า ส่วนตัวเป็นคนชอบเรียนศิลปะและวิทยาศาสตร์ ครั้งแรกที่ได้เรียนโค้ดดิ้งรู้สึกว่าเป็นวิชาที่น่าสนใจมาก ให้เราฝึกคิดคำนวณ วางแผน ผ่านเกมส์ พอเป็นเกมส์ก็ทำให้รู้สึกสนุกกับการเรียนมากขึ้น ตอนแรกคิดว่าการเขียนโค้ดจะยาก เพราะมีคนบอกว่าเป็นการทำที่ยาก แต่พอได้ลองเรียนแล้วสนุก ยิ่งถ้าฝึกบ่อยๆ จะทำได้โดยง่าย และยิ่งมีพื้นฐานด้านนี้ในอนาคตก็จะช่วยทำให้งานเราออกมาดีและโดดเด่นได้ด้วย

       ทั้งนี้ เชื่อว่าน้องๆ โรงเรียนเมืองพัทยา 7 ที่ได้เรียนโค้ดดิ้งจาก โครงการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล จะสามารถต่อยอดไปถึงการพัฒนาทักษะดิจิทัลในระดับสูง และกลายเป็นหนึ่งในตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันกับอีก 6 ประเทศ ในการแข่งขัน “ASEAN Digital Innovation” ณ ประเทศอินโดนีเซีย เดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ในที่สุด

 

แล้ววันนี้คุณรู้ด้านโค้ดดิ้งมากน้อยแค่ไหน? ควรจะเรียนหรือศึกษาไว้ เพราะนอกจากจะไม่ทำให้ตกขบวนรถไฟ 4.0 แล้ว แถมยังจะไม่ตกงานอีกด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image