สกศ.ลงพื้นที่นครพนม ศึกษาดูงาน ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

     เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) นำคณะกรรมการ กกส. ลงพื้นที่นครพนม ร่วมประชุมระดมความคิดเห็น และสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางการศึกษา 

     เมื่อวันที่ 10-11 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) พร้อมด้วยคณะกรรมการสภาการศึกษา (กกส.) 11 คน เดินทางศึกษาดูงานสถานศึกษา เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางการศึกษาให้กับกรรมการสภาการศึกษา ณ จังหวัดนครพนม โดยได้เข้าเยี่ยมชมสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม โรงเรียนบ้านหัวบึงทุ่ง (เขตการทางราชสีมาสงเคราะห์ 3) สพป. นครพนม เขต 1 โรงเรียนเซนต์ยอแซฟนครพนม จังหวัดนครพนม โรงเรียนนครพนมวิทยาคม สพม.เขต 22 และศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดนครพนม  

     ดร.สุภัทร กล่าวว่า เป้าหมายการศึกษาดูงานของกรรมการสภาการศึกษาในครั้งนี้ เพื่อรับฟังความคิดเห็น ได้เห็นกลุ่มตัวอย่างและกรณีศึกษา ซึ่งต้องการทราบลักษณะ ข้อจำกัด เพื่อนำสิ่งที่ได้รับทราบจากการศึกษาดูงานนี้ไปขยายผล นำไปพัฒนานโยบายใหม่ๆ เสนอต่อคณะรัฐมนตรี หรือเสนอต่อกระทรวงศึกษาธิการในการปรับมาตรการต่างๆ เพื่อนำไปบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้น

Advertisement

     ในการเยี่ยมชมสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม นั้น เลขาธิการสภาการศึกษา และคณะกรรมการ กกส. พบว่า มีความหลากหลายในการจัดการศึกษา เพราะ กศน.นั้นจัดการศึกษาหลายระดับ คือ ระดับ ปวช. หรือมัธยมศึกษาตอนปลาย พร้อมๆ กับมีการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย โดยมีกลุ่มเป้าหมายสำคัญ คือ ผู้สูงอายุ

     “สิ่งที่เป็นข้อดีของกลุ่ม กศน. อำเภอเมือง และตำบลในเมืองอยู่ในที่เดียวกัน  คือ ในกลุ่มของผู้สูงอายุได้เข้ามาใช้บริการจำนวนมาก ทั้งในแง่ของการศึกษาตามอัธยาศัยและการพัฒนาทักษะในการดำรงชีวิตอยู่ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่พบจาก กศน. คือ เรื่องของการมีความสุขของผู้สูงอายุ เพราะว่ามีกิจกรรมที่ทำร่วมกัน
มีกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ เรียนรู้ไปพร้อมกัน แล้วก็ได้สังคมไปพร้อมกัน” ดร.สุภัทรกล่าว 

     สำหรับการเยี่ยมชมการจัดการเรียนรวม ณ โรงเรียนบ้านหัวบึงทุ่ง ซึ่งโรงเรียนตั้งเป้าหมายให้นักเรียนทุกคนได้รับการพัฒนาตามศักยภาพและคุณภาพการศึกษาตามเกณฑ์มาตรฐาน เน้นปฏิรูปการเรียนรู้เพื่อทำให้ผู้เรียน เรียนรู้อย่างมีความสุข เน้นการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 และการจัดการเรียนการสอนเพิ่มเติมตามแผนการเรียนสำหรับพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ระดับประถมศึกษา รวมไปถึงเน้นการจัดการเรียนการสอนตามความหลากหลายและความถนัดของผู้เรียน ซึ่งผลปรากฏว่า นักเรียนของโรงเรียนบ้านหัวบึงทุ่ง ได้รับคะแนน O-NET สูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ มีนักเรียนได้คะแนน O-NET วิชาคณิตศาสตร์ เต็ม 100 คะแนน จำนวน 3 คน นักเรียนชั้น ป.6 สอบเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยมุกดาหารได้ จำนวน 5 คน และมีนักเรียนไปแข่งขันต่อศัพท์ภาษาอังกฤษ
ชั้น ป.1 – 6 และได้รางวัลเหรียญทองระดับชาติ

     นอกจากด้านวิชาการแล้ว ในด้านอื่นๆ นักเรียนโรงเรียนหัวบึงทุ่ง ยังได้รับเหรีญทองระดับชาติ รำวงมาตรฐาน ชั้น ป.1 – 6 และได้รับเหรียญทองระดับชาติการแข่งขันเดี่ยวซออู้ ชั้น ป.1 – 6 เป็นต้น 

     ขณะที่การลงพื้นที่เพื่อเยี่ยมชมการจัดการความเสมอภาคทางการศึกษา ณ โรงเรียนเซนต์ยอแซฟ นครพนม ซึ่งเปิดสอนในระดับเตรียมอนุบาลถึงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3  ดร.สุภัทร กล่าวว่า จากการเยี่ยมชมพบว่า การจัดการศึกษาเอกชน มีข้อจำกัดเรื่องการลงทุน เนื่องจากขยายการลงทุนเป็นไปได้ยาก ผลกระทบอีกอย่างที่เกิดขึ้นคือ เมื่อพ้นระดับประถมศึกษาขึ้นไป เด็กจะไปศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาในโรงเรียนของรัฐที่เป็นโรงเรียนประจำจังหวัด เพราะเสียค่าใช้จ่ายในการศึกษาน้อยกว่าโรงเรียนเอกชน “ปัญหาผลกระทบนี้ทางโรงเรียนเข้าใจ เพราะโรงเรียนใหญ่เป็นแม่เหล็กดูดผู้เรียนเข้าไป แต่ก็ต้องขอบคุณทางโรงเรียนเอกชน ซึ่งเป็นโรงเรียนทางองค์กรศาสนาเป็นเจ้าของ ที่สามารถดูแลการศึกษาได้อย่างน่าชื่นชม” ดร.สุภัทร กล่าว 

     ขณะที่โรงเรียนนครพนมวิทยาคมนั้น สิ่งที่ได้ทราบจากการศึกษาดูงานในครั้งนี้ คือ ความหลากหลายของการจัดการศึกษา ที่เน้นการส่งเสริมให้เด็กนักเรียนได้ทำในสิ่งที่ชอบ ไม่ว่าจะเป็นด้านดนตรี กีฬา ซึ่งอาจจะเป็นข้อได้เปรียบของโรงเรียนขนาดใหญ่ในเมืองที่มีสาธารณูปโภคพร้อม มีสนามฟุตบอล มีสระว่ายน้ำ มีสนามมวย ด้านดนตรี โรงเรียนได้จัดให้มีวงดนตรีซิมโฟนี เป็นต้น

     “นครพนมวิทยาคม แสดงให้เห็นถึงการส่งเสริมความสามารถตามความชอบของเด็ก เด็กทุกคนไม่จำเป็นต้องเรียนเก่ง เด็กบางคนอาจจะเล่นกีฬาเก่ง อาจจะทำกิจกรรมอย่างอื่นเก่ง มีเด็กๆ ที่สนใจเรื่องของการทำอาหาร สิ่งเหล่านี้พัฒนาทักษะเด็กแล้ว อาจจะเป็นอาชีพในอนาคตได้ การเรียนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แต่ทักษะการประกอบอาชีพข้างหน้า ควรจะจัดให้มีความหลากหลายแบบนี้ ผมคิดว่าการสนับสนุนเขาดีมาก น่าประทับใจ และโรงเรียนแห่งนี้ไม่เพียงแต่ดูแลเด็กของตนเองด้วยสาธารณูปโภคที่มีมากมาย เขายังเผื่อแผ่ให้ผู้อื่นได้ใช้ประโยชน์ สิ่งเหล่านี้เป็นการส่งเสริม สนับสนุนให้เยาวชน ไม่เพียงแต่ในโรงเรียน แต่เยาวชนในพื้นที่ได้เข้ามาร่วมพัฒนาด้วยเช่นกัน”

     สำหรับสถานศึกษาแห่งสุดท้ายในการลงพื้นที่จังหวัดนครพนม คือ  ศูนย์การศึกษาพิเศษประจำจังหวัดนครพนม เป็นสถานศึกษาที่ให้บริการการศึกษาแก่คนพิการ โดยผู้อำนวยการ สุพจน์ ชะพินใจ กล่าวว่า ศูนย์ฯ มีเป้าหมาย คือ เราต้องการให้เด็กอยู่ในสังคมได้เป็นอิสระโดยไม่เป็นภาระต่อใคร ซึ่งการลงพื้นที่ พบว่า ส่วนกลางจะจัดสรรงบประมาณสำหรับหน่วยบริการศูนย์ฯ เพียง 5 อำเภอ แต่ทางศูนย์ฯ ได้ดำเนินงานเปิดหน่วยบริการศูนย์ฯ  ไปยัง 10 อำเภอ เพื่อให้บริการทางการศึกษาแก่คนพิการในพื้นที่ต่างๆ ของจังหวัดนครพนม รวมถึงให้บริการในการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการด้วยการกระบวนการถทางการศึกษา เพื่อให้คนพิการทุกคนในพื้นที่จังหวัดนครพนมนั้นได้รับการศึกษาที่เท่าเทียมกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image