“จมน้ำ” ปัญหาสำคัญของไทยที่นานาชาติชื่นชม

      จากรายงานการจมน้ำระดับโลก (Global Report on Drowning) ขององค์การอนามัยโลกพบว่า การจมน้ำเป็นสาเหตุนำของการเสียชีวิต และมากกว่าร้อยละ 50 ของคนที่จมน้ำเสียชีวิตอยู่ในกลุ่มอายุต่ำกว่า 25 ปี อีกทั้งยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 ในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี หรือมีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ทั่วโลก เสียชีวิตปีละ 140,219 คน

      ข้อมูลการเสียชีวิตจากใบมรณบัตร รวบรวมโดยกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่ปี 2550-2559 พบว่า คนไทยเสียชีวิตจากการตกน้ำหรือจมน้ำเฉลี่ยปีละ 3,846 คน สำหรับเด็กในกลุ่มอายุต่ำกว่า 15 ปี มีอัตราการเสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 1,016 คน เมื่อไม่นานมานี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผนึกความร่วมมือกับองค์การอนามัยโลก กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข และสถาบันชูชีพแห่งชาติ (RNLI) จัดงานประชุมภูมิภาคเอเชียใต้-ตะวันออก ว่าด้วยเรื่องการป้องกันการจมน้ำ (SEA Region Meeting on Drowning Prevention) เป็นครั้งแรก โดยมีผู้แทนจากประเทศสมาชิก WHO South-East Asia และองค์กรนานาชาติ เข้าร่วมกว่า 16 ประเทศ เพื่อถอดบทเรียนประสบการณ์การทำงาน แลกเปลี่ยนข้อเสนอและนโยบาย เพื่อเป้าหมายในการขับเคลื่อนการป้องกันและลดอัตราการจมน้ำ 

      โดย นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวว่า การจมน้ำเป็นปัญหาที่ถูกละเลยมานาน เนื่องจากระบบสาธารณสุขส่วนใหญ่มักมุ่งแก้ปัญหาในการป้องกันและรักษาโรค สำหรับประเทศไทย หลายปีที่ผ่านมีสถิติเด็กจมน้ำเสียชีวิตเฉลี่ย 900-1,000 คนต่อปี ในปี 2548 เกิดเหตุสูงที่สุด 1,529 คน หลังจากนั้นไทยจึงออกมาตรการป้องกันร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ส่งผลให้ลดจำนวนการสูญเสียไปถึงร้อยละ 50 เหลือเพียง 500 – 600 คนต่อปี ซึ่งเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี เป็นกลุ่มที่มีอัตราการจมน้ำเสียชีวิตมากที่สุด ปัจจัยส่วนหนึ่งเกิดจากปัจจัยตัวบุคคล สิ่งแวดล้อมและบริบทในพื้นที่ เช่น จมน้ำในแหล่งน้ำ หรือเด็กเล็กตกกะละมังน้ำ ซึ่งช่วงวันหยุดยาวหรือเสาร์อาทิตย์จะเป็นช่วงที่เกิดเหตุบ่อยครั้ง ที่ผ่านมามีการร่วมมือกับภาคีเครือข่ายหลายภาคส่วน เช่น ทำสระน้ำประยุกต์ในพื้นที่ใกล้เคียงชุมชนต่าง ๆ เพื่อสอนทักษะการลอยตัวในน้ำ หรือทักษะการเข้าช่วยเหลือเมื่อประสบเหตุ ซึ่งล้วนเป็นทักษะชีวิตที่ต่างประเทศให้ความสำคัญ ปลูกฝังให้ประชาชนเรียนรู้ทักษะพื้นฐาน หากช่วยเหลือและปฐมพยาบาลได้ทันท่วงทีจะสามารถช่วยชีวิตให้รอดได้

Advertisement

      ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยสามารถลดสถิติการจมน้ำอย่างเป็นรูปธรรม โดย สสส. มีบทบาทการทำงานในแนวราบ ประสานการทำงานระหว่างภาครัฐและหน่วยงานต่าง ๆ สนับสนุนนโยบายสำคัญจากกรมควบคุมโรคไปสู่ภาคเอกชน ประชาสังคมและท้องถิ่น รวมถึงพัฒนาข้อมูลทางวิชาการที่มีประสิทธิผล อาทิ พัฒนาโมเดลร่วมกับศูนย์วิชาการเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ผ่านชุดความรู้ 5 ด้านทักษะ ให้ครูนำไปปรับใช้ 1.โรงเรียนควรดูแลจัดการแหล่งน้ำและสิ่งแวดล้อม รู้ว่าในละแวกนั้นมีแหล่งน้ำใดที่จะเป็นจุดเสี่ยง 2.ปลูกฝังให้เด็กสวมเสื้อชูชีพเป็นและติดเป็นนิสัยเมื่อต้องลงน้ำ 3.ช่วยเหลือผู้ที่ตกน้ำด้วยทักษะ “ตะโกน โยน ยื่น” มากกว่าการกระโดดลงไปช่วยเหลือเอง 4.สามารถลอยตัวในน้ำได้อย่างน้อย 3 นาที เพื่อรอเวลาคนเข้าช่วยเหลือ และ 5.การเคลื่อนที่ในน้ำเป็นหรือว่ายน้ำได้อย่างน้อย 15 เมตร ซึ่งเป็นระยะที่จะพาชีวิตให้รอดได้ ทั้งหมดนี้เป็นการสร้างทักษะในโรงเรียนเนื่องจากสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ในไทยคือการจมน้ำ ซึ่งเด็กอายุระหว่าง 5-9 ปี เป็นกลุ่มที่เสี่ยงมากที่สุด โรงเรียนต้นแบบเหล่านี้จึงเป็นรากฐานเพื่อต่อยอดเป็นศูนย์เรียนรู้ในอนาคต ทั้งนี้โรงเรียนที่จังหวัดพิษณุโลกนำโมเดลดังกล่าวไปทดลองใช้และเห็นผลว่าสามารถลดอัตราการเสียชีวิตของเด็กจมน้ำได้อย่างชัดเจน

Advertisement

      ด้านตัวแทนจากต่างประเทศ นางสาวเก็มมา เมย์ ผู้จัดการด้านการผลักดันนโยบายระดับนานาชาติ สถาบันเรือชูชีพแห่งชาติ (Royal National Lifeboat Institution – RNLI) สหราชอาณาจักร กล่าวถึงการป้องกันและลดการจมน้ำอย่างเป็นรูปธรรมของไทยว่า ไทยเป็นประเทศแรกๆ ที่ตระหนักถึงปัญหาการจมน้ำ เนื่องจากไทยเริ่มดำเนินการแก้ไขตั้งแต่ปี 2006 ขณะที่ WHO เริ่มอย่างจริงจังในระดับนานาชาติเมื่อปี 2014 ซึ่งปัจจัยที่ทำให้แก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ ผลักดันให้เป็นแผนพัฒนาการเด็ก สอดรับกับนโยบายรัฐบาล ภาคสาธารณสุขตั้งเป้าหมายว่าจะลดอัตราการเสียชีวิตให้ได้ครึ่งหนึ่งภายใน 10 ปี อีกทั้งมาตรการการดำเนินงานของไทยก็สอดคล้องกับ WHO ทั้งพัฒนาทักษะการว่ายน้ำ ดูแล นโยบาย ป้องกันสิ่งกีดขวาง ร่วมถึงโครงการ Merit Maker ที่สร้างผู้ก่อการดีในชุมชนให้มีส่วนร่วมป้องกันการจมน้ำ โดย WHO ให้การยอมรับและเชิญชวนนานาประเทศเข้ามาร่วมศึกษาดูงานในการประชุมระดับโลกด้านการป้องกันการบาดเจ็บและส่งเสริมความปลอดภัย ครั้งที่ 13 (Safety 2018) เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2561

      “ประเทศไทยมีการเรียนรู้เพิ่มเติมตลอดเวลา อย่างปี 2009 ไทยเพิ่มเรื่องการดูแลเด็กและการจมน้ำในเด็กลงในสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก แม้จะมีเพียง 1 – 2 หน้ากระดาษ แต่ก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ทำให้ไทยพัฒนาองค์ความรู้เพื่อป้องกันและแก้ไขอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญคือ ในสหราชอาณาจักรให้ความสำคัญต่อเรื่องการจมน้ำมากว่า 190 ปี แต่ปัจจุบันยังไม่มีการบรรจุหลักสูตรสอนเด็กว่ายน้ำในโรงเรียนได้ และจากการสาธิตหลักสูตรว่ายน้ำช่วยให้รอดชีวิตจากโรงเรียนวัฒนพฤกษา จ.นนทบุรี ในโครงการ Merit Maker ในวันนี้ทำให้เห็นว่าไทยสามารถสร้างนวัตกรรมป้องกันได้รอบตัว อย่างเช่นขวดน้ำพลาสติกที่นำมาเป็นทุ่นช่วยให้ลอยตัวในน้ำได้” นางสาวเก็มมา เมย์ กล่าว

      ขณะที่ ดร.อไมเนอร์ ราห์มาน (Dr Aminur Rahman) Centre for Injury Prevention and Research ประเทศบังกลาเทศ กล่าวถึงการป้องกันการจมน้ำในประเทศของตนว่า สถานการณ์การจมน้ำของประเทศไทยและบังกลาเทศมีความคล้ายคลึงกัน ต่างกันตรงที่ในบังกลาเทศกลุ่มอายุหลักที่เสียชีวิตจากการจมน้ำต่ำกว่า 18 ปี ประมาณ 14,500 คน และภาครัฐของประเทศไทยให้ความสำคัญลงมาแก้ไขผลักดันนโยบายอย่างจริงจัง ซึ่งมาตรการที่ใช้ในบังกลาเทศก็คล้ายกับไทย คือมีเดย์แคร์ในชุมชนเพื่อดูแลเด็กไม่ให้เด็กอยู่ใกล้พื้นที่เสี่ยงน้ำ จัดตั้งศูนย์ฝึกสอนทักษะการว่ายน้ำแก่เด็กและเยาวชนที่อายุ 5 ปีขึ้นไป หรือ Swimsafe สร้างทักษะเอาชีวิตรอด (Survival Skills) ซึ่งเด็กที่ผ่านหลักสูตรต้องลอยตัวในน้ำไม่ต่ำกว่า 30 วินาที และว่ายน้ำได้ระยะไม่ต่ำกว่า 25 เมตร และทักษะทักษะเข้าช่วยเหลือฉุกเฉินอย่างถูกวิธี ซึ่งบังกลาเทศยังตั้งเป้าหมายในการลดอัตราการจมน้ำอยู่ที่ร้อยละ 50 เช่นเดียวกับเป้าหมายตลอด 10 ปีที่ผ่านมาของไทย

      นอกจากนี้ ดร.เดวิด เมดดิงส์ (Dr.David Meddings) ผู้แทนจากองค์การอนามัยโลก (WHO headquarters, Geneva) ได้เสนอว่า 6 มาตรการป้องกันและแก้ไขการจมน้ำในประเทศไทย โดยแบ่งเป็น 3 มาตรการระดับชุมชน ได้แก่ 1)สอนเด็กให้มีทักษะการเอาตัวรอด 2)ให้เด็กโดยเฉพาะเด็กเล็กอยู่ในเดย์แคร์หรือศูนย์เด็กเล็กอย่างมีระบบ และ 3) มีทักษะช่วยเหลือคนที่จมน้ำ และ 3 มาตรการระดับประเทศ ได้แก่ 1) บังคับใช้กฎหมายโดยเฉพาะความปลอดภัยทางเรือ เช่น เรือข้ามฟาก เป็นต้น 2) มีมาตรการดูแลในช่วงน้ำท่วมเพื่อป้องกันการจมน้ำ และ 3) นโยบายแห่งชาติ ไม่ใช่เรื่องยากที่ไทยเป็นตัวอย่างที่ดีในสายตาชาวโลกแม้ในอดีตไทยจะมีอัตราการจมน้ำสูงแต่ปัจจุบันก็ทำได้สำเร็จ

      ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ประเทศไทยจะเอาชนะปัญหาจนมายืนอยู่ในจุดนี้ได้ แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้ก็ยังพอจะได้ยินข่าวเด็กจมน้ำอยู่บ้างเป็นระยะ แต่เชื่อว่าหากบุตรหลานของเรามีความรู้ 5 ทักษะป้องกันการจมน้ำของ รพ.รามาธิบดี และ สสส. ในอนาคตเราอาจจะไม่ได้ยินข่าวเศร้าเพราะน้ำอีกเลยก็ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image