รากฐานอนาคตชาติ เริ่มต้นที่…“เด็กปฐมวัย”

ช่วงวัยที่ถือเป็นหัวใจสำคัญในช่วงชีวิตของมนุษย์ ที่ส่งผลต่อพัฒนาการ การเจริญเติบโต และทักษะในด้านต่างๆ อันเป็นรากฐานในการก่อร่างสร้างฐานในชีวิตของคนๆ หนึ่ง ที่ควรให้ความสำคัญ นั่นคือ ช่วงวัยเด็กหรือปฐมวัย ที่ควรจะได้รับการดูแลและเอาใจใส่ เสริมสร้างพัฒนาการในทุกๆ ด้าน อวัยวะที่มีความสำคัญ คือ สมอง หากได้รับการพัฒนาที่ดี พื้นฐานนี้จะส่งผลดีต่อทรัพยากรมนุษย์ของไทยในอนาคต

“การลงทุนพัฒนาเด็กปฐมวัย เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าให้ผลตอบแทนแก่สังคมที่ดีที่สุดในระยะยาว โดยให้ผลตอบแทนกลับคืนมาในอนาคต 7-10 เท่า” คำกล่าวของ ดร.เจมส์ เจ เอคแมน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ปี 2542 ความหมาย คือ หากลงทุนอย่างดีในเด็กปฐมวัย 1 บาท จะได้ผลประโยชน์กลับคืนสู่สังคมถึง 7 บาท จากการศึกษาพบว่า เด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูที่ดี ทั้งสารอาหาร และการดูแลสุขภาพที่ดีในช่วงแรกของชีวิตจะมีทักษะทางกายภาพ ระดับสติปัญญา (IQ) ความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) ที่ดีกว่า และมีโอกาสที่จะเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาได้สูงกว่า ลดโอกาสการซ้ำชั้นหรือออกจากเรียนกลางคันและมีโอกาสเป็นกำลังแรงงานที่มีคุณภาพ มีรายได้ให้กับครอบครัวในอนาคต 

ถึงแม้จะมีงานวิจัยยืนยันถึงความคุ้มค่าดังกล่าว แต่สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเร่งดำเนินการแก้ไข และทำให้ทุกคนเห็นความสำคัญของช่วงวัยเด็กหรือปฐมวัย ปัญหาของเด็กไทยในวันนี้ควรมีตั้งแต่พัฒนาการไม่สมวัย ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ขาดโอกาสทางการศึกษา ออกจากระบบการศึกษากลางคัน เด็กเร่ร่อนถูกปล่อยปละละเลย ถูกละเมิดสิทธิ์ สภาพของครอบครัวและสิ่งแวดล้อมไม่เหมาะสม ความรุนแรง อบายมุข ฯลฯ ดังนั้น คุณภาพของเด็กในช่วงวัยปฐมวัย จึงเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการในช่วงวัยต่อๆ มา เป็นปัญหาที่ต้องลงมือแก้ไขอย่างโดยด่วน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในประเทศไทย

ปัญหาต่างๆ ของเด็กปฐมวัยที่เกิดขึ้น นำมาสู่บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ให้รัฐมีหน้าที่ดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนา เพื่อการพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัย จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายเพื่อคุ้มครองและให้สิทธิแก่เด็ก โดยการตราเป็น พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562 ที่ถูกเสนอโดยคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) และได้มีผลบังคับใช้ไปเมื่อ 26 เมษายน พ.ศ.2562 ที่ผ่านมา

Advertisement

พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562 มีเจตนารมย์เพื่อยกระดับความสำคัญของการพัฒนาเด็กปฐมวัยให้อยู่ในลำดับต้นของวาระแห่งชาติ และเพื่อให้เด็กปฐมวัยในประเทศได้รับการดูแล พัฒนา และจัดการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพตามหลักวิชาการ เพราะช่วงปฐมวัย ถือเป็นช่วงที่สมองพัฒนาสูงสุดและเรียนรู้ได้เร็วที่สุด และหากส่งเสริมพัฒนาการได้รอบด้านเหมาะสม จะเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของชาติคนหนึ่งให้เติบโตไปอย่างมีคุณภาพ อันจะช่วยยกระดับประเทศชาติในอนาคต

พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562 ได้ให้นิยามคำว่า “เด็กปฐมวัย หมายถึง เด็กซึ่งมีอายุยังไม่ครบหกปีบริบูรณ์และหมายรวมถึงทารกในครรภ์มารดาด้วย และให้ความหมายรวมถึงเด็กซึ่งต้องได้รับการพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษาในระดับประถมศึกษา”

การดูแลเด็กคนหนึ่งต้องเริ่มใส่ใจตั้งแต่การอบรมเลี้ยงดู สุขภาวะ สภาพแวดล้อม สังคม การศึกษา ชุมชนและครอบครัว ที่แวดล้อมอยู่รอบตัวเด็กนั้นเป็นสิ่งที่ต้องใส่ใจดูแล นอกจากกระทรวงศึกษาธิการแล้ว การสร้างความร่วมมือและการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข หรือแม้แต่ภาคประชาสังคมเองก็ต้องช่วยกันดูแลให้เด็กปฐมวัยเติบโตมาเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ อุดมไปด้วยศักยภาพ

Advertisement

กระทรวงที่เกี่ยวข้องต่างมีบทบาทและหน้าที่ในการดูแลเด็กปฐมวัยที่แตกต่างกัน ดังนี้ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีหน้าที่ให้บริการสาธารณสุขแก่หญิงตั้งครรภ์และเด็กปฐมวัย โดยต้องจัดให้มีการบริการสุขภาพแก่มารดาและบุตรอย่างทั่วถึง ให้บริการวางแผนครอบครัว การอนามัยเจริญพันธุ์ ฝากครรภ์ เตรียมตัวเป็นพ่อแม่ ตลอดจนให้บริการการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน ส่งเสริมโภชนาการ ส่งเสริมพัฒนาการ และส่งเสริมการให้นมมารดาแก่บุตรตั้งแต่แรกเกิดอย่างน้อยหกเดือน 

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีภารกิจพัฒนาเด็กปฐมวัย โดยให้ความช่วยเหลือเด็กที่มีฐานะยากจน ให้การอุปการะเด็กกำพร้า เด็กเร่ร่อน เด็กที่ถูกทอดทิ้ง เพื่อให้เด็กได้มีโอกาสดำรงชีวิตเช่นเด็กทั่วไป

ภายใต้กระทรวงมหาดไทย (มท.) มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัย คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีหน้าที่ดูแลพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในท้องถิ่นตั้งแต่เกิดจนเสียชีวิต การให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชนเกี่ยวกับการวางแผนครอบครัว การตั้งครรภ์ที่มีคุณภาพ การเลี้ยงดูบุตร การพัฒนาเด็กปฐมวัย บริหารจัดการดูแลศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในพื้นที่ของตนเอง รวมทั้งต้องจัดให้มีสวัสดิการแก่หญิงตั้งครรภ์ในท้องถิ่นอย่างเหมาะสม 

นอกจากความเป็นอยู่และสุขภาพ การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เด็กเติบโตมีสติปัญญาและสามารถอยู่รอดได้ในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้นกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานทางการศึกษาควรดูแลตั้งแต่กระบวนการผลิตและพัฒนาครูด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย การจัดการเรียนการสอน และพัฒนาการด้านต่างๆ ของเด็กปฐมวัยให้มีพัฒนาการที่เหมาะสมตามช่วงวัย

จากหน้าที่ต่างๆ ที่กฎหมายกำหนด ทำให้การทำงานของ 4 กระทรวงหลักที่ดูแลเด็กปฐมวัยนั้นจะต้องร่วมมือสอดประสานกันเพื่อดูแลอนาคตของชาติ ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ เด็กคนนั้นลืมตาดูโลก เติบโตและเข้าสู่ระบบการศึกษา การผนึกกำลังและขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว จำเป็นต้องมีคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ทำหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบายและดำเนินการด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กปฐมวัยทั้งหมด  

ขณะที่ สกศ. รับหน้าที่ตาม พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562 โดยการจัดตั้งสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย เพื่อเป็นศูนย์กลางและตัวกลางในการเชื่อมหรือประสานงานด้านต่างๆ 

ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า ความคืบหน้าในการจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยขณะนี้ได้นำเสนอร่างกฎเกณฑ์ในการพิจารณาสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไปยังนายกรัฐมนตรี ระยะเวลาในการดำเนินการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิ คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปลายเดือนกันยายน และคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัยจะสามารถเริ่มประชุมได้ในเดือนตุลาคมนี้ ในส่วนของสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการฯ สกศ. ได้ตั้งหน่วยงานขึ้นภายในสำนักงาน เพื่อดำเนินการเสริมสร้างความเข้าใจด้านปฐมวัย และประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  

นอกจาก พ.ร.บ.การพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2560 แล้ว การขับเคลื่อนและพัฒนาเด็กปฐมวัยให้ครอบคลุมทุกมิติ จำเป็นต้องมีมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ เพื่อให้เด็กปฐมวัยได้มีโอกาสเริ่มต้นชีวิตอย่างมีคุณภาพและเท่าเทียม ประเทศไทย มีเด็กปฐมวัยที่มีพัฒนาการไม่สมวัยจำนวนมาก ส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ อันเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ และด้วยสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยนั้นมีอยู่มากมายภายใต้การดูแลของหลากหลายหน่วยงาน ใน 4 กระทรวงที่เกี่ยวข้อง คือ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานอื่นๆ อาทิ กรุงเทพมหานคร โรงเรียนอนุบาลสาธิตในมหาวิทยาลัย กระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มูลนิธิและองค์กรเอกชน ทำให้มีมาตรฐานและเกณฑ์ที่แตกต่างกัน จึงได้กำหนดมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยเป็นมาตรฐานกลางของประเทศ โดยกำหนดมาตรฐาน 3 ด้านดังต่อไปนี้

  1. การบริหารจัดการสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย ที่ต้องมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นด้านบุคลากร สภาพแวดล้อมการจัดการสิ่งเสริมสุขภาพและการเรียนรู้ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของครอบครัวและชุมชน
  2. ครูหรือผู้ดูแลเด็กให้การดูแล และจัดประสบการณ์การเรียนรู้และการเล่นเพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัย ต้องเป็นไปอย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านสติปัญญา ภาษาและการสื่อสาร อารมณ์ จิตใจ สุขภาพ
  3. คุณภาพของเด็กปฐมวัย เด็กเจริญเติบโต มีพัฒนาการที่สมวัยในทุกๆ ด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา ภาษาและคุณธรรม แบ่งเป็นเด็กแรกเกิด – อายุ 2 ขวบ กับเด็กอายุ 3 ปี – 6 ขวบ หรือก่อนเข้าประถมศึกษาปีที่ 1

ดร.ศิวภรณ์ โควศวนนท์ ผู้รับใบอนุญาตและผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลศิวภรณ์ กล่าวว่า ระยะนี้การศึกษาของไทยเปลี่ยนแปลงทั้งกระบวน ตั้งแต่ประถมวัยจนถึงอุดมศึกษา มาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ เป็นมาตรฐานใหม่ ต้องเริ่มฝึกเด็กตั้งแต่อนุบาล ทักษะการเรียนรู้เป็นการเรียนการสอนผ่าน Learning by doing เรียนด้วยการปฏิบัติด้วยตัวเองที่เน้น Child center คือ เด็กเป็นศูนย์กลาง 

“สำหรับเด็กปฐมวัยต้องเตรียมพร้อมทุกอย่าง ทั้งอารมณ์ ความรู้ สังคม และร่างกาย ดังนั้นพื้นฐานของเด็กปฐมวัยเป็นการเตรียมพร้อมทุกเรื่องของพหุปัญญา เป็นเรื่องสำคัญและเป็นนาทีทองที่เราจะสร้างเยาวชนให้เติบโตไปข้างหน้าดังเป้าหมายของชาติ ครูต้องสอนความรู้พื้นฐานที่เขาจะต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต และการเรียนรู้ด้วยตัวเขาเอง ต้องต่อยอดได้ แล้วต้องอยากเรียนด้วย ทำอย่างไรเด็กถึงอยากเรียน แล้วจะต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นหน้าที่ที่เราต้องใส่ให้เขามีจิตสำนึกตรงนี้”ดร.ศิวภรณ์ กล่าว 

เพราะเด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า การเริ่มให้ความสำคัญกับทรัพยากรเด็กตั้งแต่จุดเริ่มต้น จะเป็นผลอันดีต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของไทยในอนาคต กับความท้าทายที่ไทยจะต้องเผชิญภาวะสังคมผู้สูงวัย นี่คือการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัยที่กำลังดำเนินการอยู่งาน เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของไทยในยุคต่อไป 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image