“เริ่มต้นอย่างไร” “นับหนึ่งตรงไหน” รวมคู่มือเสริมสุขภาพที่พร้อมให้คุณได้ “เลือก” แล้ว “เริ่ม” ลงมือทำ

      เริ่มวิ่งอย่างไร ถึงจะไม่ส่งผลเสีย?
      นวดเท้ากดจุด ช่วยเลิกบุหรี่ได้จริงหรือไม่?
      เปิดอกคุยเรื่องเพศกับลูก ต้องทำอย่างไร?
      พัฒนาชุมชนอย่างไร ให้หันมาใส่ใจเรื่องปัญหาขยะ?

      คำถามเหล่านี้คือส่วนหนึ่งของสารพันปัญหาที่เรามักจะเห็นประจำบนโลกออนไลน์ หรือไม่ก็ได้ยินจากปากของญาติสนิทมิตรสหายที่อยากจะเริ่มต้นหันมาใส่ใจรักษาสุขภาพ หรือต้องการที่จะสร้างสุขภาวะที่ดีให้เกิดขึ้นภายในครอบครัว ซึ่งเอาเข้าจริงๆ แล้ว คำตอบบางอย่างเราอาจจะสามารถสืบค้นได้เองในอินเตอร์เน็ต แต่ประเด็นที่สำคัญกว่าก็คือ เราไม่สามารถรู้ได้เลยว่า ข้อมูลที่ได้มานั้นมีความถูกต้องมากน้อยเพียงใด วิธีการที่ถูกระบุไว้สามารถทำได้จริงหรือไม่ และที่หนักไปกว่านั้นก็คือ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะดีต่อสุขภาพ หรือทำลายสุขภาพให้แย่หนักลงไปกว่าเดิม ดังนั้นการหาคำตอบแบบมีความเสี่ยง คงไม่ใช่วิธีการที่เหมาะสมสักเท่าไหร่นัก

      น่าดีใจที่ว่า สสส. องค์กรสร้างเสริมสุขภาพที่เรารู้จักกันเป็นอย่างดี ได้ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านี้จึงได้จัดทำ “108 วิธี สร้างเสริมสุขภาพดี ที่ทุกคนทำได้” ซึ่งเป็นการรวบรวมชุดข้อมูลคุณภาพให้คนไทยทุกคนสามารถเลือกนำมาปฏิบัติ สร้างแรงบันดาลใจ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเองให้ดีขึ้นได้ ที่สำคัญคู่มือจาก สสส. เป็นการรวบรวมข้อมูลที่ครบถ้วน และครอบคลุมในทุกมิติ ซึ่งได้มาจากภาคีเครือข่ายคุณภาพ และผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาอาชีพ ซึ่งได้ถูกแบ่งออกเป็น 4 หมวด ที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

      เริ่มสร้างเสริมสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง

Advertisement

      ในหมวดนี้จะเน้นเรื่องวิธีการสร้างสุขภาพร่างกายของตัวเองให้มีความแข็งแรง ซึ่งเป็นวิธีง่าย ๆ ที่ทุกคนสามารถทำได้ ยกตัวอย่างเช่น “7 เคล็ดลับเตรียมตัววิ่งอย่างปลอดภัยสำหรับนักวิ่งหน้าใหม่ จากครูดิน อดีตนักวิ่งมาราธอนทีมชาติไทย” (https://www.youtube.com/watch?v=uQKaMLGRzCc) คลิปวิดีโอตัวนี้มีความยาวไม่ถึง 4 นาที แต่อัดแน่นไปด้วยคุณภาพ ซึ่ง 7 วิธี ที่ครูดินพูดถึงนั้นมีดังต่อไปนี้

  1. หัวใจของการฝึกซ้อมคือการเดินช้าให้เป็น การวิ่งที่ดีควรเริ่มต้นแบบช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป
  2. การยืดเหยียดก่อนและหลังซ้อม คือการเพิ่มประสิทธิภาพและการผ่อนคลายกล้ามเนื้อที่ดีที่สุด
  3. วิธีการวิ่งที่ปลอดภัย คือการวิ่งให้ถูกท่า ทุกส่วนในร่างกายต้องมีความสัมพันธ์กัน
  4. จับชีพจรเพื่อความปลอดภัย ระหว่างการวิ่งเราต้องคอยสังเกตตัวเองด้วยการจับชีพจรให้อยู่ในระดับที่พอเหมาะ 
  5. มีวันพักให้แก่ร่างกาย เพราะการหักโหมจนเกินไปจะส่งผลเสีย 
  6. ออกกำลังกายแบบอื่นสลับกันไปมา เพื่อให้ร่างกายแข่งแรงครบทุกสัดส่วน
  7. วิ่งดีได้ต้องกินดีด้วย การกินต้องถูกหลักตามโภชนาการ เพื่อสุขภาพที่แข็งแรง

      เห็นได้ชัดเลยว่าข้อมูลที่ครูดินแนะนำมานั้นครบถ้วน เหมาะเป็นอย่างยิ่งสำหรับนักวิ่งหน้าใหม่ ที่สำคัญยังเป็นการให้ข้อมูลในรูปแบบของคลิปวิดีโอ เข้าใจง่าย ดูซ้ำเมื่อไหร่ก็ได้ 

Advertisement

เริ่มตั้งเป้าหมาย การมีชีวิตที่ดี

      ในหมวดนี้จะเน้นเรื่องการตั้งเป้าหมายให้กับชีวิต ขั้นตอนต่างๆ ในการ ลด ละ เลิก ยกตัวอย่างเช่น “นวดเท้ากดจุดช่วยเลิกบุหรี่ วิธีง่ายๆ ทำได้ที่บ้าน ช่วยลดอาการอยากบุหรี่ได้จริง” (https://www.youtube.com/watch?v=47MnO1lO1Tg)  เนื้อหาภายในคลิปก็จะเกี่ยวกับขั้นตอนในการนวดเท้าเพื่อลดอาการอยากบุหรี่ที่สามารถทำได้ทันทีหลังดูจบ โดยแบ่งเป็นขั้นตอนง่าย ๆ ดังต่อไปนี้

  1. แบ่งพื้นที่นิ้วโป้งเท้าออกเป็น 4 ส่วน แล้วไล่นวดไปตามจุดต่างๆ
  2. จุดที่ 1 ด้านบนฝั่งขวาติดกับนิ้วชี้ นวดจากบนลงล่างหรือกด 40 ครั้ง 
  3. จุดที่ 2 ด้านล่างฝั่งขวาติดกับนิ้วชี้ นวดจากบนลงล่างหรือกด 40 ครั้ง
  4. จุดที่ 3 ด้านบนและล่าง ฝั่งซ้ายของนิ้วโป้ง นวดจากบนลงล่างหรือกด 40 ครั้ง
  5. จุดที่ 4 ด้านข้างด้านนอกของนิ้วโป้ง นวดลงหรือกด 40 ครั้ง
  6. จุดที่ 5 อยู่ระหว่างร่องโคนนิ้วโป้งด้านในติดกับนิ้วชี้ นวดจากล่างขึ้นบน 40 ครั้ง

      นวดให้ครบทั้ง 5 จุด ทั้งเท้าซ้ายและเท้าขวา ทำติดต่อกันให้ครบ 10 วัน แค่นี้อาการอยากบุหรี่ก็จะลดลงทันที เพราะการนวดจะช่วยให้สมองหลั่งสารโดปามิน หรือสารที่ช่วยให้มีความสุข ออกมาทำหน้าที่แทนการได้รับนิโคติน เมื่อกลับไปสูบใหม่ก็จะรู้สึกเหม็นกลิ่นบุหรี่จนไม่กล้ากลับไปสูบอีก 

เริ่มเพื่อคนในครอบครัว เด็ก เยาวชน และผู้สูงอายุ

      ในหมวดนี้จะเน้นเรื่องการดูแลคนในครอบครัว ให้มีสุขภาพที่ดีทั้งกาย และจิตใจ ซึ่งรวมไปถึงการสื่อสารพูดคุย และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้เกิดขึ้นภายในครอบครัวด้วย ยกตัวอย่างเช่น คู่มือโอกาสทองคุยกับลูกเรื่องเพศ ขอเพียงเปิดใจแล้วคุณจะคุยกับลูกได้ทุกเรื่อง (http://คุยเรื่องเพศ.com/download/manual.pdf) เป็นคู่มือที่จะชวนผู้ปกครองหันมาคุยเรื่องเพศกับลูก เพื่อสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นก่อนที่จะออกไปเผชิญกับโลกภายนอก โดยเนื้อหาภายในคู่มือจะถูกแบ่งเป็น 7 บท ดังต่อไปนี้

บทที่ 1 โอกาสทองในการคุยกับลูกเรื่องเพศ หัวข้อนี้จะสอนให้เราเปิดโอกาสคุยเพื่อปิดโอกาสความผิดพลาดเรื่องเพศ รวมไปถึงจังหวะในการเปิดอกพูดคุยกันแบบไม่ต้องเหนียมอาย

บทที่ 2 เตรียมความพร้อมก่อนคุยกับลูก หัวข้อนี้จะมีแบบทดสอบให้เราได้ลองทำเพื่อเตรียมความพร้อม ซึ่งทุกคำถามจะมีคำตอบให้เราได้เรียนรู้เพิ่มเติมหลังทำบททดสอบเสร็จ

บทที่ 3 การมองเรื่องเพศในมุมใหม่ หัวข้อนี้เปรียบได้กับการละลายพฤติกรรมของผู้ปกครอง เพื่อให้เกิดการเปิดใจ เรื่องเพศเป็นเรื่องต้องรู้ไม่ใช่เรื่องต้องห้าม

บทที่ 4 การวางแผนเรื่องเพศให้ลูก หัวข้อนี้ครอบคลุมตั้งแต่วัยเด็กถึงวัยรุ่น เพราะแต่ละวัยมีความสนใจเรื่องเพศที่แตกต่างกันออกไป วัยไหนต้องพูดเรื่องอะไรมีระบุครบถ้วน

บทที่ 5 สัญญาณเตือนถึงเวลาคุยเรื่องเพศ หัวข้อนี้เป็นการเตือนให้ผู้ปกครองตระหนักว่าได้เวลาคุยเรื่องเพศก่อนที่จะสายเกินไป เช่น ลูกมีแฟน ลูกแต่งตัวโป๊

บทที่ 6 อยากให้ลูกไว้ใจต้อง… หัวข้อนี้เน้นเรื่องการสานสัมพันธ์ให้เกิดขึ้นภายในครอบครัว การสร้างความไว้ใจให้เกิดขึ้นระหว่างกัน

บทที่ 7 Q&A หัวข้อนี้จะเป็นการรวบรวมสารพันคำถามเรื่องเพศที่บุตรหลานอยากรู้ พร้อมแนวคำตอบที่ดีที่สุด

      เนื้อหาภายในคู่มือเล่มนี้นอกจากครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว ยังนำเสนอออกมาได้อย่างน่าสนใจ เพราะไม่ได้มีแต่เนื้อหาเป็นบทความยืดยาวอ่านเข้าใจยาก แต่นำเสนอในรูปแบบตัวการ์ตูนน่ารัก ควบคู่ไปกับเนื้อหาอ่านสบายตาเข้าใจง่าย 

เริ่มทำเพื่อชุมชน สังคมเราดีขึ้น

      หมวดนี้จะเน้นในเรื่องการสร้างสังคมที่ดี การมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน การจัดกิจกรรมเพื่อคนในพื้นที่ เพราะสังคมที่ดีเราสามารถร่วมกันสร้างได้ ยกตัวอย่างเช่น “การจัดการขยะในระดับชุมชน” (http://resource.thaihealth.or.th/library/hot/17078) คู่มือที่จะชวนให้คนในชุมชนหันมาใส่ใจปัญหาขยะ ปัญหาที่คนในชุมชนควรที่จะบริหารร่วมกันอย่างถูกวิธี เพื่อสร้างสรรค์ให้ชุมชนของเรามีความน่าอยู่เพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม โดยมีเนื้อหาที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

  1. สร้างความตื่นตัว ชี้ให้เห็นถึงปัญหาว่าในปัจจุบันขยะมูลฝอยจากชุมชนทั่วประเทศมีมากถึง 27.06 ตัน พร้อมแสดงให้เห็นถึงความสำคัญในการกำจัดขยะ
  2. วิธีการจัดตั้งโครงการจัดการขยะ ครอบคลุมตั้งแต่การประชาสัมพันธ์ การแต่งตั้งคณะทำงาน การสำรวจพื้นที่ การวางแผน รูปแบบในการดำเนินงาน
  3. การดำเนินการพร้อมแนวทางในการปฏิบัติ ถูกแบ่งออกเป็น 5 ขั้นตอน ประกอบไปด้วย 1.การค้นหาคณะทำงานจัดการขยะ 2.การสร้างความตระหนักและความเข้าใจร่วมกันในชุมชน 3.ปฏิบัติการคัดแยกขยะให้ทุกครัวเรือนตั้งเป้าหมายร่วมกัน 4.ติดตามผลการทำงาน ใช้ผลงานในการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง 5.สรุปผลเพื่อหาแนวทางในการพัฒนาต่อในอนาคต
  4. ตัวอย่างชุมชนที่ประสบความสำเร็จในการลดขยะ ซึ่งมาพร้อมกับนวัตกรรมใหม่ๆ ในการจัดการขยะ ที่ทุกชุมชนสามารถนำไปใช้ต่อได้

      โดยเนื้อหาทั้งหมดนี้ ถูกจัดทำในรูปแบบของ Infographic และบทความที่ง่ายต่อการทำความเข้าใจ สามารถส่งต่อให้คนในชุมชนอ่าน เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์ชุมชนที่ดีต่อไปในอนาคต

      จากตัวอย่างทั้ง 4 วิธีที่เราเลือกมานำเสนอ เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งจากเนื้อหาทั้งหมด 108 วิธี ที่คุณสามารถทำได้ เช่น แกว่งแขนให้ถูกวิธี ได้ผลดี ป้องกันการบาดเจ็บ, มาฝากเวลา ปฏิบัติภารกิจจิตอาสาสร้างสรรค์สังคมกับธนาคารจิตอาสา ปันเวลาแชร์ความสุข, 80 เคล็ด (ไม่) ลับ สร้างสุขเด็กไทย, เครือข่ายชุมชนคนสู้เหล้า แบ่งปันประสบการณ์ ชีวิตดีได้เมื่อเลิกเหล้า ซึ่งข้อมูลทั้งหมดนี้ ง่ายต่อการค้นหา ง่ายต่อการทำความเข้าใจ เริ่มต้นทำได้ทันที

      ดังนั้นหลังจากนี้ไปทุกสิ่งทุกอย่างก็จะขึ้นอยู่กับตัวเรา เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการตัดสินใจลงมือทำ ถ้าเราไม่เริ่ม สุขภาพที่ดีก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นตามมาได้ ลงมือทำคือขั้นตอนที่สำคัญที่สุดในการเริ่มเปลี่ยนแปลงตนเอง อย่าปล่อยให้อุปสรรคภายในจิตใจเป็นตัวขัดขวาง ชีวิตดีเริ่มที่เรา เริ่มลงมือทำกันตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยสามารถติดตามเครื่องมือที่ทำให้มีชีวิตดีๆ ได้ที่ www.thaihealth.or.th/livehealthier  หรืออ่านคู่มือ 108 วิธี สร้างเสริมสุขภาพดีที่ทุกคนทำได้  http://tiny.cc/g4gubz

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image