โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี: พลังงานสะอาดจาก Run-of-River

เสาสายส่งที่เชื่อมต่อกับส่วนโรงไฟฟ้า จากแขวงไซยะบุรี สปป.ลาว โดยมีจุดสิ้นสุดที่ อ.ท่าลี่ จ.เลย

       พลังงานจากน้ำเป็นพลังที่สะอาดเพราะไม่สร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม จึงเป็นพลังงานหมุนเวียนที่นิยมนำมาผลิตกระแสไฟฟ้า และเมื่อพูดถึงโรงไฟฟ้าพลังน้ำ เราก็มักนึกถึงเขื่อนกักเก็บขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่อ่างเก็บน้ำที่ทำให้น้ำเอ่อท้นจนท่วมพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง ซึ่งลักษณะภูมิประเทศที่จะสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้านั้น จะต้องเลือกพื้นที่ซึ่งมีเขาสูงชันมากๆ จึงจะสามารถสร้างเขื่อนที่มีความสูงเพียงพอสำหรับเก็บน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า และโดยทั่วไปโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำส่วนใหญ่ก็จะเป็นรูปแบบของอ่างเก็บน้ำ ในประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างให้พอนึกภาพออกก็คือ โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนภูมิพล โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสิริกิติ์ โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ เป็นต้น 

       ลักษณะของเขื่อนแบบกักเก็บ จะผลิตไฟฟ้าตลอดทั้งปี โดยอ่างเก็บน้ำจะทำหน้าที่รวบรวมและเก็บกักน้ำไว้ที่ระดับสูงสุดในหน้าฝน เมื่อถึงช่วงหน้าแล้งซึ่งเป็นช่วงที่ต้องการใช้ไฟฟ้ามากที่สุดก็จะทำการพร่องน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ไฟฟ้าพลังน้ำจากอ่างเก็บน้ำ จะมีหลักการทำงานคือเมื่อปล่อยน้ำจากอ่างเก็บน้ำลงสู่ที่ต่ำโดยแรงดึงดูดของโลก พลังน้ำที่เกิดจากอัตราการไหลจะเข้าไปหมุนกังหันน้ำ หรือ Turbine และเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ดังนั้น ในเชิงธุรกิจแล้ว โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบเก็บกักน้ำมักผลิตไฟฟ้าในช่วงที่หน้าร้อน เพราะมีความต้องการไฟฟ้าสูงและให้ค่าตอบแทนสูง

       จากคอนเซ็ปต์ของโรงไฟฟ้าแบบกักเก็บน้ำที่กล่าวมา คำถามที่บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CKPower ในฐานะผู้พัฒนาและบริหารโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ต้องตอบอยู่เสมอก็คือ อะไรคือความแตกต่างของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี หากไม่ให้เรียกว่า “เขื่อน” จะให้เรียกว่าอะไร?

Advertisement

       “นายอานุภาพ วงศ์ละคร” รองกรรมการผู้จัดการ งานเดินเครื่องและบำรุงรักษา บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ให้การอธิบายว่า โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี มีลักษณะเป็น “ฝายทดน้ำขนาดใหญ่ (Run-of-River)” ความยาว 820 เมตร เป็นภูมิประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้า เพราะอยู่บนบริเวณทิวเขาหลวงพระบางซึ่งมีลักษณะสันฐานเชื่อมต่อกับเทือกเขาหิมาลัย จึงทำให้แม่น้ำโขงมีน้ำไหลตลอดทั้งปีมากน้อยตามฤดูกาลแต่เนื่องจากเป็นการสร้างโรงไฟฟ้าบนแม่น้ำสากล จึงออกแบบให้มีลักษณะ Run-of-River

อานุภาพ วงศ์ละคร รองกรรมการผู้จัดการ งานเดินเครื่องและบำรุงรักษา

       ดังนั้น ทำเลที่ตั้งของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ แบบ Run-of-River มักสร้างในพื้นที่ภูมิประเทศค่อนข้างราบ มีปริมาณน้ำมาก และไหลตลอดทั้งปี มีเนื้อที่เพียงพอสำหรับยกระดับน้ำด้านเหนือโรงไฟฟ้าสูงขึ้นเล็กน้อยเพื่อให้มีความแตกต่างกับระดับท้ายน้ำให้น้ำสามารถไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำเข้าสู่โรงไฟฟ้าขับเคลื่อนกังหันให้ไปปั่นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า จากนั้นจึงปล่อยน้ำลงสู่แม่น้ำ โดยไม่เปลี่ยนแปลงคุณภาพหรือคุณสมบัติของน้ำแต่อย่างใด 

       ต้นแบบของโรงไฟฟ้าแบบน้ำไหลผ่านในประเทศไทย อยากชวนให้นึกถึงภาพเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท อันเป็นฝายทดน้ำขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นเป็นแห่งแรกของประเทศไทย มีประตูระบายน้ำ และไม่กักเก็บน้ำคล้ายกลับ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ซึ่งสร้างพาดผ่านพื้นที่แม่น้ำโขงตอนล่างช่วงแขวงไซยะบุรี สปป.ลาว ห่างจากเมืองหลวงพระบางไปทางใต้ 80 กิโลเมตร

หลักการของ Run-of-River คือ Inflow = Outflow
ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเท่ากับปริมาณน้ำที่ไหลออกจากโรงไฟฟ้า ไม่มีการกักเก็บน้ำ หรือเบี่ยงน้ำออกจากแม่น้ำโขง ไม่ทำให้น้ำเปลี่ยนทิศทาง และปริมาณน้ำทางตอนล่างของน้ำโขงมีระดับน้ำตามธรรมชาติ

ภาพมุมกว้างของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี จากทางด้านเหนือน้ำ เห็นความยาวทั้งหมด 820 เมตรของโรงไฟฟ้า

      นายอานุภาพ อธิบายเพิ่มเติมว่า แท้จริงแล้วเทคโนโลยี Run-of-River มีมานานและเป็นรูปแบบหนึ่งของการออกแบบสร้างโรงไฟฟ้า เพียงแต่ความโดดเด่นและความท้าทายของการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี คือการเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแห่งแรกบนแม่น้ำโขงตอนล่าง วัตถุประสงค์หลักคือผลิตไฟฟ้าโดยไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อม โครงสร้างหลักของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ถูกออกแบบและพัฒนาโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ตามคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญระดับโลก จากหลากหลายประเทศ ได้แก่ Pöyry Energy Limited, AF-Consult Ltd.จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ Compagnie Nationale du Rhône (CNR) จากประเทศฝรั่งเศส และทีมกรุ๊ป จากประเทศไทย 

      “เพื่อให้เกิดความแตกต่างของระดับน้ำและเอื้อต่อการไหลของน้ำตามธรรมชาติ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี จึงทำการยกระดับน้ำขึ้นมาที่ 275 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล โดยมีความแตกต่างระหว่างหัวน้ำและท้ายน้ำที่ 30 เมตร การยกระดับน้ำจะทำเพียงครั้งเดียว โดยเลือกเก็บน้ำในช่วงฤดูฝนของปี 2561 ซึ่งเป็นช่วงที่อัตราการไหลของแม่น้ำโขงมากกว่า 6,000 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ซึ่งเกินความต้องการของท้ายน้ำ โดยทำการยกระดับวันละ 60 เซนติเมตร เป็นเวลา 15 วัน และจากนั้นระดับน้ำจะคงที่อยู่ที่ระดับ 275 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลตลอดไป เท่ากับว่าน้ำที่ไหลผ่านแม่น้ำโขงมีมาเท่าไหร่ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ก็นำมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า ก่อนจะปล่อยไหลออกไปเท่ากับที่ไหลเข้ามา ตามหลักการ Inflow = Outflow

Spillway เปิดระบายน้ำเมื่อมีปริมาณน้ำเกิน 5,000 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เพื่อรักษาสมดุล Inflow=Outflow

      “ยกตัวอย่างเช่น เช่น หากปริมาณการไหลของน้ำมากเกินกว่าอัตราการผลิตไฟฟ้าคือ 5,000 ลูกบาศก์เมตร/วินาที มวลน้ำจะถูกแบ่งเป็น 2 ทางคือ ทางแรกจะต้องเปิด Spillway เพื่อรักษาระดับน้ำไว้ที่ 275 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล แล้วให้มวลน้ำส่วนที่สองไหลเข้าสู่โรงไฟฟ้า โดยน้ำจะไหลเข้าโรงไฟฟ้าปะทะใบพัดและหมุนกังหันด้วยแรงดันน้ำตามธรรมชาติ พลังงานจากการหมุนใบพัดจะเชื่อมต่อกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เกิดกระแสไฟฟ้าแปลงเข้าสู่ระบบส่งไฟฟ้า จากนั้นน้ำจะไหลออกจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ไปสู่ท้ายน้ำ

      หากปริมาณการไหลของน้ำมีน้อย เช่น ในหน้าแล้ง น้ำในแม่น้ำโขงอาจมีเพียง 2,000 ลูกบาศก์เมตร/วินาที น้ำที่ไหลผ่านโครงการทั้งหมดจะถูกนำมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า และจะไหลออกไปตามธรรมชาติ” นายช่างใหญ่ของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ไซยะบุรี ย้ำ

      การที่โรงไฟฟ้ายกระดับน้ำขึ้นมาไม่มาก ทำให้ไม่เกิดผลกระทบกับคนเหนือน้ำ ไม่เกิดการท่วมขัง ระดับน้ำคงที่ กระแสการไหลของน้ำในแม่น้ำโขงยังเป็นไปตามธรรมชาติเช่นเดิม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image