ถ่ายเป็นเลือด… ตรวจให้แน่! ริดสีดวง หรือมะเร็งลำไส้ตรง

       หากสังเกตเห็นว่ามีเลือดออกปนมากับอุจจาระ คนส่วนใหญ่อาจคิดว่าเป็นโรคริดสีดวงทวารหนัก ไม่ทันคาดคิดว่าอาการเลือดออกมากับอุจจาระอาจมีสาเหตุที่รุนแรงกว่าที่คิด อย่าชะล่าใจในการเข้ารับการตรวจวินิจฉัยกับแพทย์เฉพาะทาง เพื่อทำการรักษาที่เหมาะสมก่อนจะสายเกินไป

       ริดสีดวงทวารหนัก คือ กลุ่มของหลอดเลือดบริเวณทวารหนักที่มีลักษณะโป่งพอง จัดเป็นอวัยวะหนึ่งของร่างกายมนุษย์ แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ริดสีดวงทวารหนักภายใน (internal hemorrhoid) และริดสีดวงทวารหนักภายนอก (external hemorrhoid)   ริดสีดวงทวารหนัก มีหน้าที่ช่วยกลั้นอุจจาระและรับความรู้สึกบริเวณทวารหนัก ทั้งนี้ ริดสีดวงทวารหนักเองอาจเป็นต้นเหตุของปัญหาสุขภาพอันไม่พึงประสงค์ได้ หากมีแรงดันเพิ่มมากขึ้นบริเวณทวารหนัก จากภาวะท้องผูก ท้องเสีย นั่งห้องน้ำนาน ยกของหนัก หรือการตั้งครรภ์ ส่วนอาการของโรคที่เกิดจากริดสีดวงทวารหนักอาจพบได้ตั้งแต่ รู้สึกไม่สุขสบายบริเวณทวารหนัก คลำได้ก้อน  อาการปวดคัน หรืออาจมีเลือดสดติดกระดาษชำระขณะเช็ดทำความสะอาด  พบเลือดในโถส้วมหรือปนออกมากับอุจจาระ เป็นต้น

       การรักษาริดสีดวงขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรค ประกอบด้วย 2 วิธีหลักใหญ่ๆ คือ รักษาแบบไม่ต้องผ่าตัด ซึ่งทำได้หลายวิธี อาทิ การแช่ทวารหนักด้วยน้ำสะอาด ทาครีมหรือเหน็บยา การใช้ยางรัด การเย็บเก็บเข้าที่ การฉีดยาหรือใช้ความร้อน อาทิ เลเซอร์ ทำให้ริดสีดวงฝ่อไป หรืออาจแนะนำให้ผ่าตัดริดสีดวงแบบ Day Surgery หลังผ่าตัดแผลมีขนาดเล็ก คนไข้ฟื้นตัวไว ผ่าตัดแล้วสามารถกลับบ้านได้ โดยไม่ต้องนอนพักโรงพยาบาล

Advertisement

       ส่วนมะเร็งลำไส้ตรง (rectal cancer) คือ มะเร็งที่เกิดขึ้นบริเวณลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ผู้ป่วยที่เป็นโรคอาจแสดงอาการได้หลายแบบ อาทิ ถ่ายมีเลือดสดปนกับอุจจาระ หากเป็นมากอาจมีก้อนอุจจาระขนาดเล็กลง ท้องผูก รู้สึกถ่ายอุจจาระไม่สุด อาจมีอาการท้องผูกสลับกับท้องเสีย ปวดท้องน้อย อ่อนเพลีย น้ำหนักลด เป็นต้น ซึ่งอาการแสดงขึ้นอยู่กับขนาดและตำแหน่งของก้อนมะเร็งที่พบ 

       การวินิจฉัยโรคตั้งแต่ระยะเริ่มต้นมีความสำคัญมากในการวางแผนการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วย หากมีอาการถ่ายเป็นเลือด หรือมีอาการผิดปกติที่บริเวณทวารหนัก อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ อาทิ ริดสีดวงทวารหนัก มีแผลที่ทวารหนักในผู้ป่วยที่ท้องผูก โรคถุงผนังลำไส้ มีหลอดเลือดที่ผนังลำไส้ผิดปกติ และมะเร็งลำไส้ตรง เป็นต้น ร่วมกับปัจจัยเสี่ยงที่พบได้บ่อย อาทิ พันธุกรรม อายุที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 45–50ปีขึ้นไป เป็นโรคอ้วน ทานอาหารที่มีไขมันสูง เนื้อแดง หรือผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป ดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น ซึ่งโดยทั่วไปแพทย์จะทำการตรวจร่างกายและทวารหนัก เมื่อพบก้อนเนื้อผิดปกติจะส่งพิสูจน์โรคจากการตัดชิ้นเนื้อ หากผลการตรวจรายงานชิ้นเนื้อว่าเป็นมะเร็ง แพทย์จะตรวจประเมิณระยะของโรคทางคลินิกด้วยภาพถ่ายรังสี ซึ่งเป็นขั้นตอนการประเมินโรคในเบื้องต้นที่มีความสำคัญ ทั้งนี้ การประมวลผลการตรวจและการวางแผนการรักษาโดยทีมแพทย์สหสาขา อันประกอบด้วย ศัลยแพทย์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก อายุรแพทย์ทางเดินอาหาร รังสีแพทย์ แพทย์รังสีรักษา อายุรแพทย์มะเร็ง และพยาธิแพทย์ มีความจำเป็นอย่างยิ่ง หากมะเร็งลำไส้ตรงอยู่ในระยะเริ่มแรก คือ ระยะที่ 1-2 อาจรักษาด้วยการผ่าตัดเพียงอย่างเดียว แต่หากมะเร็งลุกลามถึงชั้นเนื้อเยื่อที่หุ้มรอบลำไส้ใหญ่หรือลุกลามเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกรานก็จำเป็นต้นใช้การรักษาแบบผสมผสาน ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า การรักษาโรคมะเร็งลำไส้ตรงด้วยการฉายรังสีร่วมกับการักษาด้วยเคมีบำบัดอย่างเหมาะสมก่อนการผ่าตัดรักษา จะช่วยลดขนาดของก้อนและลดระยะของรอยโรค ทำให้เพิ่มโอกาสใน การผ่าตัดรักษามะเร็งลำไส้ตรง ด้วยเทคนิคผ่าตัดแผลเล็กแบบเก็บกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนัก (Sphincter Saving Surgery) โดยภายหลังการรักษา ผู้ป่วยสามารถถ่ายอุจจาระทางทวารหนักได้ ช่วยให้ผู้ป่วยไม่ต้องขับถ่ายผ่านทางถุงหน้าท้องไปตลอดชีวิต และช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วยได้มากขึ้น

       จะเห็นได้ว่าอาการของโรคริดสีดวงทวารหนัก (hemorrhoid) และมะเร็งลำไส้ตรง (rectal cancer) มีความคล้ายคลึงกันมาก จนบางครั้งอาจไม่สามารถแยกออกจากกันได้ชัดเจน ดังนั้น หากสังเกตเห็นเลือดออกจากทวารหนักควรตื่นตัว และเข้ารับการตรวจอย่างเหมาะสมโดยแพทย์ผู้ชำนาญการด้านลำไส้ใหญ่และทวารหนัก เพื่อวินิจฉัยโรคและรักษาอย่างทันท่วงที ทั้งนี้ หากพบว่าเป็นมะเร็งจะได้ทำการรักษาเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาว

////////////////////////////////////

ข้อมูล : ศ.(พิเศษ) ดร.นพ.อัฑฒ์ หิรัณยากาศ ศัลยแพทย์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก 

ผู้อำนวยการคลินิกศัลยกรรมลำไส้ใหญ่และทวารหนัก 

สอบถามเพิ่มเติม ศูนย์ศัลยกรรม โรงพยาบาลกรุงเทพ

โทร. 0 2310 3000 หรือ โทร. 1719

Email: [email protected]

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image