“BGF” เปิดกลยุทธ์สู้ศึกปี’63 เล็งเปิดตลาดยุโรป ลุยรายได้ 3 พันล้าน

     “BGF ผู้ผลิตจัดจำหน่ายกระจกและวัสดุก่อสร้าง สัญชาติไทยในเครือบริษัท บางกอกกล๊าส จำกัด (มหาชน) สวนกระแสตลาดอสังหาริมทรัพย์ ประกาศเดินหน้าขยายฐานลูกค้ายุโรป หวังโตรอบทิศ ปักธงรายได้ปี 2563 แตะ 3 พันล้านบาท 

     นับตั้งแต่ปลายปี 2560 BGFได้ลุยตั้งโรงงานผลิตกระจกแผ่น กบินทร์บุรีกล๊าส ที่จ.ปราจีนบุรี โดยเดินเครื่องผลิตเต็มกำลัง 2.19 แสนตันต่อปี จัดจำหน่ายภายใต้แบรนด์ BGF ไปทั่วประเทศ ควบคู่ไปกับเบนเข็มลุยตลาดอสังหาฯ ในกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม)  

     ที่น่าจับตามองคือเกมกลยุทธ์ในการรักษาระดับการเติบโตที่รวดเร็ว และการเทคโอเวอร์กิจการอลูมิเนียมจาก ยูแซม อินเตอร์กรุ๊ป เข้ามาต่อยอดธุรกิจหลักในปี 2562 จนทำให้ขณะนี้ BGF กลายเป็นรายแรกที่มีสินค้ากระจกและอลูมิเนียมที่เป็นผู้ผลิตรายเดียวกัน เข้าไปนำเสนอให้กับโครงการอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ครอบคลุมทุกความต้องการของลูกค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งยังมีจุดแข็งอยู่ที่ การบริการที่ธุรกิจนี้ไม่เคยทำมาก่อน

Advertisement

     “ศุภสิน ลีลาฤทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีจี โฟลต กล๊าส จำกัด หรือ BGF เผยถึงองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ BGF โตสวนกระแส ว่า แม้ว่าจะต้องเผชิญกับตลาดแข่งเดือด สมรภูมิช่วงชิง เนื่องจากมีผู้ผลิตในประเทศเดิมอยู่ 2 ราย และBGF เป็นรายใหม่ที่เข้ามาเป็นรายที่ 3 ประกอบกับสถานการณ์การแข่งขันของผู้ส่งออกโดยเฉพาะในกลุ่ม CLMV ซึ่งมีโรงกระจกเกิดขึ้นใหม่และได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล รวมไปถึงตลาดอสังหาฯ ที่ยังคงชะลอตัวอยู่ และ สงครามการค้า (Trade War) ปะทะกันระหว่างมหาอำนาจเศรษฐีจีนกับสหรัฐฯ ที่ดูท่าจะไม่จบง่ายๆ แต่สิ่งที่ BGF พยายามทำคือ เข้าหาลูกค้า สร้างข้อได้เปรียบโดยมีเสิร์ฟทั้งกระจกและอลูมิเนียม และเน้นทำตลาดโดยผ่านการบริการแบบ ดูแลลูกค้าของคู่ค้า อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม จึงส่งผลให้ปี 2562 รายได้ของกลุ่มเพิ่มขึ้นจาก 1,387 ล้านบาท เป็น 2,422 ล้านบาท โดยมีรายได้เพิ่มจากกระจก 200 กว่าล้านบาท และอลูมิเนียม 800 กว่าล้านบาท ซึ่งบ่งบอกว่า BGF โตขึ้นประมาณ 75%  

     เราไม่เคยมีความรู้เรื่องอลูมิเนียมมาก่อน แต่เราก็เข้าเทคโอเวอร์กิจการและดำเนินธุรกิจได้ดีพอสมควร ปีที่ผ่านมาตลาดวัสดุก่อสร้างในประเทศเติบโตเพียง 6-8% แต่เราเติบโตถึง 28% เป็นกระจก 16% แล้วก็สามารถขยายไปในอุตสาหกรรมอื่นๆ มากขึ้น ส่วนด้านส่งออกของเราก็มีอัตราเพิ่มขึ้นถึง 16% ถ้าเรามียอดขายที่จะต้องก้าวกระโดดไปแบบนี้ ต้องมาจากการแข่งขันส่วนหนึ่ง การเสาะหาตลาดใหม่ และเพิ่ม Market Share

ปิดทุกเทียร์ หนุนเป้า 3 พันล้าน

     ศุภสิน ลีลาฤทธิ์ กล่าวว่า จำเป็นต้องทำให้ Cover กับกำลังการผลิตที่มีอยู่ และขยายตัวตามการเพิ่มขึ้นของปริมาณการผลิตอลูมิเนียม เป้าหมายรายได้จึงอยู่สูงถึง 3,000 ล้านบาท ซึ่งแบ่งเป็นเงินได้จากแหล่งในประเทศประมาณ 2,300 ล้านบาท (ในจำนวนนี้เป็นอลูมิเนียม 950 ล้านบาท) และตลาดยุโรปอีก 700 ล้านบาท โดยจะมุ่งพัฒนาธุรกิจที่เพิ่มความพึงพอใจของลูกค้าและการตลาดครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ เป็นสำคัญ

     ถ้าเป็นอลูมิเนียมจะพยายามพัฒนาเรื่องของโปรไฟล์ใหม่ๆ ที่เป็นตลาดอยู่แล้วอาจจะเป็นเรื่องของความบาง หรือความง่ายๆ แต่จะพัฒนาโปรไฟล์ใหม่ๆ ที่มีความหนาแน่นเหมือนที่เรียกว่าเป็น อลูมิเนียมยูโรโปรไฟล์ เพื่อตอบสนองวิถีชีวิตระดับ HiEnd ส่วนกระจกก็บุกเจาะตลาดมากขึ้น ที่นอกเหนือจาก Basic Glassเช่น เทมเปอร์ห้องน้ำ พิมพ์ภาพลงบนผิวกระจก 

     ในแง่ของตลาดค้าปลีก ดีลเลอร์วัสดุก่อสร้างในประเทศเราค่อนข้างจะทำได้ดี เรามีนโยบายที่เข้มแข็ง ดูแลลูกค้าของลูกค้า เข้าไปช่วยระบายสินค้าในคลัง ติดป้ายโฆษณาแต่งร้านค้าให้คู่ค้าทั่วประเทศ ช่วยจัดการตลาด ทำโปรโมชั่น เช่น ซื้อกระจกแถมถุงมือ แถมคีมตัด เก็บแต้มสะสมของรางวัลไปเที่ยวต่างประเทศ เราปิดทุกเทียร์ (Tier) ไม่ให้ซื้อแล้วจบไป ตั้งแต่เราเข้ามาเกิดการเปลี่ยนแปลงพอสมควร มีการจัดสัมมนาให้ความรู้ช่าง จัดเลี้ยงสังสรรค์ ซึ่งธุรกิจนี้ไม่เคยทำมาก่อน จึงทำให้ได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี

     ขณะที่การขยายธุรกิจไปยังกลุ่มประเทศในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนซึ่งเป็นตลาดเป้าหมายต่อไป ศุภสิน ก็มองว่าคุณภาพ BGF นั้นมีโอกาสที่จะแข่งขันได้ แต่ติดแค่เรื่องของค่าขนส่งที่ต้องศึกษาให้ดีเพราะเข้าไปแข่งขันด้วยราคาที่ต่ำ

         ถ้าพูดถึงราคากระจกที่โรงงานผลิตกระจกที่ยุโรป แพงอยู่แล้ว แต่กระจกจากจีนที่ไปถูกพอสมควร และคุณภาพไม่ได้ต่างกันเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นด้วยราคาที่ไปต่ำ ราคาที่ไปแข่งของเราคงไม่ใช่ราคากระจกยุโรป แต่เป็นราคากระจกจีน ซึ่งขณะนี้เราก็มีราคาที่พอเป็นไปได้อยู่ในบางประเทศ ต้องเลือก ต้องลองเข้าไป โดยมีหุ้นส่วนที่เยอรมนีคอยให้คำปรึกษา

นอกจากนี้ ยังมองว่า BGF มีความได้เปรียบในตลาดวัสดุก่อสร้าง ในกลุ่ม CLMV เพราะมีฐานการผลิตส่งออก ซึ่งในกลุ่มนี้มีอัตราการก่อสร้างที่สูงแต่ยังมีโรงกระจกไม่มาก หากมีการก่อสร้างเพิ่มขึ้นก็จะเป็นโอกาสของ BGF ทุกเมื่อ

ตลาดยังเติบโต รัฐต้องหนุน

     เป้าหมาย BGF คือตลาดค้าปลีกส่ง วางสเปคบ้านตึกสูง ในโครงการอสังหาฯ ทั่วประเทศ โดย ศุภสิน กล่าวว่า ภายใน 2 ปีต้องวางสเปคให้ครบ ไม่ว่าจะเป็นทั้ง เจ้าของโครงการ ที่ปรึกษาโครงการ สถาปนิก ผู้รับเหมา ค่อยๆ เปลี่ยนสเปคโดยเอา BGเข้าไปโดยใช้คำว่า เทียบเท่า เนื่องจากมองเห็นกำลังซื้อที่อยู่อาศัย โดยในธุรกิจหมวดวัสดุก่อสร้าง Low Lifeคนยังมีกำลังซื้ออยู่ บ้านโครงการใหญ่-หรู ขายดี คอนโดตามแนวรถไฟฟ้าก็ยังขายได้ดี ซึ่งเมื่อก่อนอาจจะซื้อเพื่อไว้เก็งกำไร แต่เทรนเปลี่ยนไปคือคนซื้อเพื่อการอยู่อาศัยจริงๆ ในขณะที่ธุรกิจหมวดวัสดุก่อสร้างHigh Lifeบ้านเดี่ยวทาวน์เฮ้าส์ การซื้อ-ขาย อาจจะชะลอตัวอยู่บ้าง แต่หากโครงการลงทุนภาครัฐยังมีต่อเนื่อง BGF ก็มองความเป็นไปได้ทั้งหมดนี้ และก็เชื่อมั่นว่าโครงการลงทุนของรัฐ จะส่งผลให้ปีนี้ตลาดวัสดุก่อสร้างเติบโตได้ถึง 6% 

     สิ่งที่จะต้องกังวลก็คือ สินค้าที่นำเข้าจากประเทศต่างๆ จากจีนเข้ามาเยอะพอสมควร ประเทศในละแวกเราก็เข้ามาเยอะ เพราะฉะนั้นเรื่องมาตรการที่จะช่วย หรือป้องกันผู้ผลิตในประเทศได้ ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ” 

BGF กับปีกความแข็งแกร่ง

     ถึงจะเป็นแบรนด์น้องใหม่ ใช้เวลาแค่ 2 ปีกว่าๆ แต่ก็ทำให้คนที่อยู่ในวงการช่างกระจก คนติดตั้ง รับรู้แบรนด์ BGFเป็นอย่างดี ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะวิสัยทัศน์ที่มองว่า การเข้าถึง ช่าง เป็นสิ่งสำคัญ และ End Userไม่ใช่เจ้าของบ้าน การทำแบรนด์ที่แข็งแกร่งในแง่ของที่จะขายได้จึงต้องทำที่ช่าง ซึ่งที่ผ่านมา BGF ก็ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้โดยผ่านการจัดสัมมนานอกสถานที่ให้กับลูกค้า ช่างผู้รับเหมา และผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้ความรู้ด้านของอลูมิเนียม การติดตั้งกระจก เป็นต้น

     เรียกได้ว่าเป็นแบรนด์ไทยที่น่าจับตามองอีกแบรนด์หนึ่งในปีนี้ เพราะว่าเขาได้วางเดิมพันด้วยรายได้ของปี2563 ที่ 3 พันล้านบาท โดยหากยังต้องเผชิญกับตลาดขาลงเช่นนี้ BGF จะงัดกลยุทธ์อะไรมาจัดการแก้เกม เพื่อรักษาระดับ หรือเพิ่มรายได้มากกว่าเดิม คงต้องรอดูกันต่อไป 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image