“นิด้า” ก้าวสู่ปีที่ 55 พร้อมฝ่าทุกการเปลี่ยนแปลง เดินหน้าผลิตบุคลากรให้ตลาดโลก นำร่องผุดโมเดล “Bangkapi Smart District”

เมื่อ “โควิด-19” กลายเป็นตัวเร่งให้ภาคศึกษาต้องปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนสู่ระบบออนไลน์อย่างรวดเร็ว สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ “นิด้า” ก็มองว่าความท้าทายที่เกิดขึ้น ก็ยังมีข้อดีแฝงอยู่ และได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในดีเอ็นเอของการเรียนการสอน ของนิด้าไปเสียแล้ว โดยล่าสุดประกาศพร้อมเป็นกำลังสำคัญสร้างสรรค์สังคม ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และส่งมหาบัณฑิต-ดุษฎีบัณฑิต ร่วมฝ่าทุกการเปลี่ยนแปลงด้วยปัญญา ภายใต้ปรัชญา WISDOM for Change 

ในโอกาสก้าวเข้าสู่ปีที่ 55 “ศ.ดร.กำพล ปัญญาโกเมศ” อธิการบดีนิด้า ผู้สานต่อปณิธานจากคณะผู้บริหารในวาระก่อนหน้าของนิด้า ได้ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าของการขับเคลื่อนในแต่ละด้านว่า ยังคงเดินหน้าตามแผนกลยุทธ์ ผ่าน 3 คีย์สำคัญคือ “ความเป็นเลิศ (Excellence)” “การสร้างความมีส่วนร่วม (Inclusion)” และ “การสร้างความเชื่อมโยง (Connectivity)” โดยหมุดหมายสำคัญใน 1 – 2 ปีนี้ ได้เน้นไปที่การทำ “Smart Classroom” การปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กร การบริหารงานบุคคล งานวิจัย การพัฒนาหลักสูตร และนำร่องพัฒนาย่านบางกะปิด้วยโครงการ “Bangkapi Smart District” 

“นิด้าพยายามจะเชื่อมโยงเรื่องของ DATA Analytics Technology, Strategic Foresight, Design Thinking และ Innovation โดยมองว่า 4 องค์ประกอบนี้ สามารถนำไปใช้แก้ปัญหาได้ทุกเรื่องเพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ทุกอย่างนิด้าจะขับเคลื่อนด้วยการใช้แกนแนวความคิดนี้ เพื่อให้ท้ายที่สุดเกิดเป็นนวัตกรรม ซึ่งจะเชื่อมโยงไปถึงหลักสูตรใหม่ที่กำลังจะออกมาด้วย”

Advertisement
  • ตอบโจทย์รูปแบบการเรียนสมัยใหม่

นิด้ามีโครงการทำ “Smart classroom” ในลักษณะของ “Hybrid and Blended Learning” ที่ตอบสนองรูปแบบการเรียนการสอนสมัยใหม่  เพื่อให้นักศึกษาได้ประสบการณ์การเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ที่ใส่เรื่องของเทคโนโลยี Facility ต่าง ๆ ครบครันเหมาะกับรูปแบบการเรียนการสอนของแต่ละวิชา รวมถึงมีโครงการเพิ่ม 2 ศูนย์ ที่เกี่ยวกับ “AI / IoT Innovation” เพื่อให้นักศึกษาได้มีโอกาสใช้เทคโนโลยีในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และมีโครงการทำ “Smart City Lab” เพื่อรองรับหลักสูตรทางด้าน “Smart Cities and Urban Analytics” ที่กำลังจะเปิดสอนในปีการศึกษาหน้า

ควบคู่กัน ได้มีการปรับโครงสร้างองค์กรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น บริหารงานบุคคลโดยใส่เรื่องของดิจิทัล และ IOT เข้าไปในการทำงานมากขึ้น ปรับระบบค่าตอบแทน (Incentive) ไปพร้อมกัน เพื่อทำให้เกิด Digital Workplace ภายในองค์กรมากยิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายหลักให้การทำงานมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น และสามารถสร้างความพึงพอใจให้กับผู้ใช้บริการมากยิ่งขึ้น

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.กำพล ได้มองโควิด-19 เป็นข้อดี เพราะกระตุ้นให้การเรียนผ่านออนไลน์เกิดเร็วขึ้น เดิมนิด้าได้ใช้ Microsoft Office 365 และมี License อยู่แล้ว ก็สามารถสอนออนไลน์ได้ 100% ถือว่าปรับตัวไม่มาก เพราะล่าสุดได้นำทีมคณาจารย์จาก 12 คณะ มาร่วมกันวิเคราะห์ เจาะลึกโอกาสใหม่ของประเทศไทยหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ด้วยการจัดสัมมนาออนไลน์ ผ่านเวที NIDA VIRTUAL FORUM “Thailand’s New Opportunity: Post Covid-19 and the New Normal” ซึ่งจะจัดขึ้น 30 ก.ค. – 26 ส.ค. นี้ เวลา 19.00 – 20.30 น.

  • เพิ่มหลักสูตรร่วมผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่

ศ.ดร.กำพล เผยว่า ที่เพิ่งผ่านการอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัย จะเป็นหลักสูตรเกี่ยวกับ “Cyber Security” และ “Data Privacy” ซึ่งถือเป็นหลักสูตรที่จะมี Demand เยอะในอนาคต นอกจากนั้นก็มีหลักสูตรที่ต่อยอดจาก Business Analytics and Data Science (BADS) เป็นหลักสูตรใหม่ที่ชื่อว่า Management of Analytics and Data Technologies (MADT) ซึ่งเป็นหลักสูตรที่เน้นให้ผู้บริหารสามารถนำความรู้ด้าน Data Analytics และ Data Science ไปประยุกต์ใช้ด้านการบริหาร และช่วยให้สามารถใช้ข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลในการบริหารจัดการองค์กรได้ดีขึ้น และอีกสิ่งหนึ่งที่นิด้าพยายามทำก็คือ “การเชื่อมโยงระหว่างคณะ” ก็จะมีถึง 2 หลักสูตรใหม่ เบื้องต้นมีชื่อว่า “Technology and Innovation Design for Sustainable Development” กับ “Smart Cities and Urban Analytics” 

โดยทั้ง 12 คณะ มีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตร “Technology and Innovation Design for Sustainable Development” ซึ่งแพลนว่าจะเริ่มเปิดสอนในปีการศึกษา 2564 คนที่เข้ามาเรียนจะได้เรียนเกี่ยวกับ DATA Analytics, Strategic Foresight และ Design Thinking ที่สามารถนำองค์ความรู้ไปใช้ในด้านต่าง ๆ ได้ เช่น อาจจะไปส่งเสริมเรื่อง New S-curve หรือไปทำเรื่องสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ กฎหมาย ก็นำไปประยุกต์ใช้ได้ตามความสนใจ 

“นิด้าเป็นมหาวิทยาลัยแรกในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้เป็น University Innovation Fellow (UIF) ของ d.school ที่ Stanford University ทำให้นิด้ามีองค์ความรู้ที่พร้อม ที่จะออกหลักสูตรเกี่ยวข้องกับทางด้าน Design Thinking ซึ่งหลักสูตร “Technology and Innovation Design for Sustainable Development” ก็จะเน้นในเรื่องของ DATA Analytics และ Big Data ดูเทรนด์โดยการใช้เรื่อง Strategic Foresight และใช้เรื่อง Design Thinking ในการออกแบบ การแก้ปัญหาว่ามีทางเลือกอะไรบ้าง จากนั้นก็จะก่อให้เกิดเป็นนวัตกรรม (Innovation) ซึ่งจะเป็นนวัตกรรมที่ใช้ในการแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน” 

ขณะที่หลักสูตร “Smart Cities and Urban Analytics” ศ.ดร.กำพล ระบุว่า ได้ร่วมกับเครือข่ายของบริษัทพัฒนาเมืองและ ม.ขอนแก่น พัฒนาหลักสูตรนี้ เพื่อปั้นนักพัฒนาเมืองที่เก่งรอบด้าน ที่ไม่เพียงแค่มีความรู้ด้านสถาปัตย์ ผังเมือง วิศวกรรม เท่านั้น แต่ต้องรู้ศาสตร์ด้านอื่นด้วย เช่น ด้านเศรษฐศาสตร์ บริหารธุรกิจ การวิเคราะห์ข้อมูล และกฎหมาย เป็นต้น

“หลายประเทศเรื่องเศรษฐกิจและการศึกษา จะดีได้ส่วนหนึ่งอยู่ที่เมืองที่ดีด้วย ไทยเราขาดนักพัฒนาเมืองและนักพัฒนาเมืองส่วนใหญ่มีความรู้ด้านสถาปัตย์ ผังเมือง วิศกรรม แต่ในความเป็นจริงต้องรู้หลากหลายมากกว่านี้ เราก็ดูว่ามีพาร์ทเนอร์กับที่ไหนบ้าง หนึ่งในนั้นคือ ม.ขอนแก่น ก็มาช่วยกันทำหลักสูตรนี้”

  • ขยายฐาน Non-degree Program

ศ.ดร.กำพล กล่าวว่า นิด้าเน้นเอา Global Certificate มาเชื่อมระหว่าง Non-degree กับ Degree ด้วยจุดแข็งที่นิด้า มีอาจารย์ที่มีตำแหน่งศาสตราจารย์ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถือว่ามากที่สุดในประเทศ และหลายคนไปสอบ Global Certificate ทางวิชาชีพ ที่ผ่านมาจึงตอบรับผู้เรียนโดยการออกหลักสูตรที่ส่งเสริมทักษะและศักยภาพในการไปสอบ Global Certificate แต่ล่าสุดได้เพิ่มเป็น “เมนู” ให้เลือกลงเรียนได้แล้ว เป็นหลักสูตร Non-degree โดยคนที่สนใจมาเลือกเรียนได้ และสามารถเก็บหน่วยกิตนี้ไว้ได้ 5 ปี หากสนใจเรียนต่อ ใครที่จบป.โทไป พร้อมกับมี Global Certificate ก็สามารถหางานได้ทั่วโลก

  • พัฒนาชุมชนย่านบางกะปิ

ขณะนี้ นิด้ากำลังขับเคลื่อนโมเดล “Bangkapi Smart District” เพราะในอนาคตนิด้าจะเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคม เบื้องต้นจะมีรถไฟฟ้า 2 สาย แล่นผ่าน ซึ่งนิด้าจะเป็นหัวแรงหลักในการดึงภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม มาร่วมกันขับเคลื่อน

“เราจะเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่แถบนี้ ทั้งการคมนาคม เทคโนโลยี การท่องเที่ยวชุมชน สิ่งแวดล้อม ทุกอย่างจะเชื่อมโยงกันหมด ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1 – 2 ปี หลังจากทำเสร็จ ภูมิทัศน์ต่าง ๆ ของบางกะปิจะเปลี่ยนไป ตอนนี้ก็อยู่ในกระบวนการออกแบบสกายวอล์ค โดยเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมาร่วมกันให้ความคิดเห็น ไม่ว่าจะเป็น ผู้พิการ และผู้สูงอายุ เป็นต้น ทั้งนี้ ก็ได้เป็นไปตามแผนของเราที่อยากจะให้บางกะปิ เป็นหนึ่งในต้นแบบที่คนมาดูเรื่องของการพัฒนา ที่สามารถพัฒนาได้ในหลาย ๆ มิติ”

สำหรับงานวิจัย นิด้าก็ได้เน้นงานวิจัยที่มี Impact มากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม จะเชื่อมโยงหลาย ๆ ศาสตร์ ดังบทบาทที่ผ่านมา ที่เห็นชัดว่าอาจารย์นิด้าทำงานวิจัยตอบโจทย์ประเทศ จนทำให้เป็นที่ไว้วางใจได้รับเชิญเข้าไปอยู่ในกรรมการปฏิรูปประเทศในด้านต่าง ๆ 

ถือได้ว่าเป็นเครื่องการันตีถึงความพร้อม รวมไปถึงคุณภาพงานวิจัยที่จะร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และประเทศให้เจริญก้าวหน้า และสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้อย่างยั่งยืน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image