100 วัน การันตี ‘หนองคายปลอดภัย’ พร้อมรับท่องเที่ยว นิว นอร์มอล

ในช่วงที่ตั้งแต่มีโควิด-19 ในประเทศไทยจนกระทั่งถึงปัจจุบัน จังหวัดหนองคายมีผู้ป่วยที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโควิด-19 ทั้งสิ้น 3 ราย โดยรายสุดท้ายเกิดขึ้นเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา นับจากวันที่ 2 เมษายน ถึงวันนี้ เป็นเวลาร้อยกว่าวัน ที่ไม่มีผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่เกิดขึ้นในหนองคาย

คำถามคือ ในวันนี้จังหวัดหนองคาย พร้อมที่จะเปิดต้อนรับนักท่องเที่ยว ฟื้นเศรษฐกิจ รวมถึงเปิดพรมแดนกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) แล้วหรือยัง?

โควิด-19 มา พักท่องเที่ยว ฟื้นฟูเกษตรกรรม

Advertisement

“ย้อนกลับไปเหตุการณ์ช่วงปลายปี 2562 ถึงต้นปี 2563 ในช่วงที่เศรษฐกิจหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของโลก แต่สำหรับหนองคายยังถือว่ากระทบไม่มากนัก เนื่องจากมีกำลังซื้อจากฝั่ง สปป.ลาว แต่เมื่อโควิด-19 เดินทางมาถึง มีการปิดพรมแดนข้ามประเทศไม่ให้คนเดินทางเข้า-ออก คนจากฝั่งไทยและลาวหยุดเดินทาง ทำให้กำลังซื้อส่วนหนึ่งที่เป็นคนของคนลาวหายไป การค้ามีผลกระทบต่อผู้ประกอบการ ทั้งรายย่อย ขนาดกลาง และรายใหญ่ เมื่อประเมินแล้วไม่ต่ำกว่า 60-70 %” รณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย กล่าวถึงผลกระทบที่ได้รับจากการระบาดโควิด-19

ผู้ว่าฯ หนองคาย กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือต้องทำให้ชาวหนองคายไม่อด และยังมีอาชีพทำต่อไป หลังจากที่โรคสงบลงจึงค่อยหาทางที่จะไปทำธุรกิจที่เคยทำต่อไป สำหรับการเยียวยาทำ 2 ส่วน คือตามมาตรการของรัฐบาล พยายามให้คนเข้าถึงให้ได้มากที่สุดด้วยการประชาสัมพันธ์ ติดตามข้อมูลโดยใช้กลไกในพื้นที่ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอ และศูนย์ดำรงธรรม เปิดรับเรื่องร้องทุกข์ของประชาชนและเข้าไปดูแลช่วยเหลือ   

และอีกส่วนหนึ่งจังหวัดดำเนินการเอง “นับว่ายังโชคดีที่เรามีพื้นดิน ส่วนหนึ่งพี่น้องเราอยู่ในภาคเกษตรกรรม คนที่เคยทำงานในภาคท่องเที่ยวพอกลับมาทำงานภาคเกษตร ก็ต้องหาโครงการที่จะสร้างอาชีพให้ ทำศูนย์พัฒนาและส่งเสริมอาชีพทางการเกษตร ให้คนที่กลับมาอยู่บ้านได้เข้ามาเรียนรู้ โดยจังหวัดจะมอบปัจจัยการผลิตให้เขาได้กลับไปทำที่พื้นดินของตัวเอง เช่น พันธุ์กบ พันธุ์ไก่ พันธุ์ปลา รวมถึงเมล็ดพันธุ์ผักที่สามารถปลูกเป็นอาหารได้ ทั้งหมดนี้จะมีการแบ่งและกระจายให้กับคนในพื้นที่ต่างๆ ของจังหวัด”

Advertisement

นอกจากนี้ จังหวัดหนองคายยังได้รับความร่วมมือจากภาคธุรกิจและประชาชนที่ยังพอประกอบกิจการอยู่ได้ บริจาคข้าวสาร และไข่ เพื่อดูแลผู้ได้รับผลกระทบให้เขามีกิน เป็นการดูแลกันภายในจังหวัด 

มาตรการ 3 ระยะ พาหนองคายพ้นวิกฤต

ยุทธนา ศรีตะบุตร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองคายได้ดำเนินนโยบายในการป้องกันภายใต้การกำกับของรัฐบาล โดยเราแบ่งการบริหารจัดการเป็น 3 ระยะ 

ระยะที่หนึ่ง การป้องกัน โดยทุ่มเทสรรพกำลังด้านการแพทย์ พร้อมด้วยเครื่องมือแพทย์บางอย่าง เช่น เสื้อ PPE หน้ากาก N95 ตลอดจนพี่น้องอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เตรียมความพร้อมในการเข้าไปบริหารจัดการเรื่องโรคโควิด -19 ทั้งหมด 10,600 คน อสม. เป็นกลุ่มซึ่งทำงานเชิงรุกที่จะเข้าไปช่วยกันป้องกัน ขณะที่ภาคประชาชนก็ได้ระดมกำลังทำหน้ากากผ้าในช่วงที่เกิดวิกฤตการณ์หนัก และส่งมอบให้กับทุกครอบครัวในจังหวัด พร้อมทั้งอุปกรณ์น้ำยาฆ่าเชื้อ และเจลล้างมือจำนวนหนึ่ง 

ระยะที่ 2 การเยียวยา เมื่อรัฐบาลได้ออกมาตรการล็อคดาวน์ ประชาชนในจังหวัดหนองคายได้รับผลกระทบโดยตรง จึงเกิดมาตรการเยียวยา โดยแบ่งเป็นมาตรการเฉพาะหน้า เช่นเรื่องการขาดแคลนอาหาร ภาครัฐจะเข้าไปสนับสนุน ตั้งโรงครัวกระจายไปทั่วทั้งจังหวัด ซึ่งดำเนินการทั้งสิ้น 60 วัน 

ระยะที่ 3 การฟื้นฟู เมื่อผลกระทบผ่านไปแล้ว ทำอย่างไรให้ชาวหนองคายสามารถกลับมาดำเนินชีวิตเป็นปกติสุขให้เร็วที่สุด ในส่วน อบจ.หนองคาย มีการฟื้นฟูผ่านกลุ่มอาชีพ ในทุกหมู่บ้าน โดยเราใช้งบประมาณเป็นเงินอุดหนุนช่วยเหลือในการประกอบอาชีพ และสามารถที่จะนำมาผลิตสินค้ามาขายในตลาดเพื่อสร้างรายได้ให้กับกลุ่ม 

ชู ‘หนองคายปลอดภัย’ หวังไทยเที่ยวไทย 

นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองคาย ยอมรับว่า ช่วงนี้แม้ไทยจะเริ่มผ่อนคลายมาตรการบ้างแล้ว แต่การท่องเที่ยวระหว่างประเทศยังคงเป็นไปได้ยาก หนองคายจึงเตรียมมาตรการในการเปิดรับนักท่องเที่ยวภายในประเทศ บริหารจัดการพื้นที่ ห้างร้าน รองรับการเข้าใช้บริการของนักท่องเที่ยวคนไทยที่เริ่มเดินทาง ซึ่งนโยบายสำคัญคือ “ร้านค้าต้องจริงใจ ไม่ปิดบังข้อมูล และปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเข้มข้น 100%

“เท่าที่ดูเมื่อวันหยุดยาวที่ผ่านมา ร้านรวงต่างๆ เริ่มเปิดมากขึ้น แหล่งท่องเที่ยวหลายแห่งของหนองคายเริ่มคึกคัก เป็นสัญญาณว่าคนอยากออกมาเที่ยว เมื่อเกิดมีความเชื่อมั่น มั่นใจแล้วว่าการควบคุมโรคของแต่ละจังหวัดควบคุมอยู่ เขาก็จะมาท่องเที่ยว อย่างที่ผมเห็นหนองคายเริ่มมาเยอะแล้ว หน้าที่ของชาวหนองคายก็คือ ต้องร่วมมือกันป้องกันอย่างถึงที่สุด เพราะฉะนั้น พี่น้องประชาชนที่เดินทางมาจากทั่วประเทศ มั่นใจเถอะว่า มาจังหวัดหนองคายปลอดโรคอย่างแน่นอน

“จังหวัดหนองคายของเราปลอดโรคและผู้ป่วยมาน่าจะเกินวันที่ 90 แล้ว นับจากคนไข้คนสุดท้ายบวกถึงวันนี้น่าจะเกิน 90 วันที่ปลอดโรค ในระบบต่างๆ ที่จังหวัดหนองคายโดยท่านผู้ว่าฯ และหัวหน้าส่วนราชการได้ช่วยกันบริหารจัดการโดยความร่วมมือของพี่น้องประชาชน ทำให้มาตรการต่างๆ ได้รับการตอบสนองอย่างเข้มข้น จึงทำให้เราสามารถควบคุมสถานการณ์ได้

New Normal ความปกติใหม่ของชาวหนองคาย

ในภาพของการสาธารณสุข “วิศนุ วิทยาบำรุง” นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหนองคายมีหน้าที่สำคัญในการคอยควบคุมป้องกันโรค ซึ่งทำงานร่วมกับภาคีเครือข่าย อสม. ในการสร้างความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน โดยร่วมกับผู้นำชุมชนในหมู่บ้านคอยเฝ้าระวัง คัดกรองคนที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่ ดูแลการกักตัว (Home Quarantine) ตลอดทั้ง 14 วัน ขณะเดียวกันก็ให้ความรู้กับคนในชุมชน ให้เข้าใจการติดต่อของโรค

เมื่อเราสื่อสารให้คนเข้าใจ และชาวหนองคายปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด จึงไม่มีการระบาดรุนแรงใดๆ เกิดขึ้นในจังหวัด ซึ่ง New Normal ที่เราขอความร่วมมือให้คนหนองคายได้ปฏิบัติ มี 2 กลไกที่สำคัญ คือ ภาคส่วนราชการซึ่งมีท่านผู้ว่าฯเป็นประธาน เรื่องของการที่จะให้คนปฏิบัติเรื่องของ New Normal เราต้องการสื่อสารให้คนหนองคายรู้จักว่าการติดต่อของโรคสำคัญจากการไอ จาม หรือสัมผัสใกล้ชิด เพราะฉะนั้นคนหนองคายจะต้องใส่หน้ากากอยู่เสมอ เวลาออกจากบ้านไปในที่ชุมชนจะต้องใส่หน้ากากอนามัยไว้ โดยเฉพาะที่มีชุมชนแออัดหรือหนาแน่น ต้องพกพาเรื่องของเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ และต้องมีการจัดการเว้นระยะห่างอยู่เสมอ ซึ่งพี่น้องคนหนองคายให้ความร่วมมือมาก”

สำหรับสถานประกอบการร้านค้าจะเห็นว่าคนเริ่มเคยชินกับการใช้สื่อ ใช้ช่องทางออนไลน์ในการซื้อสินค้าและบริการที่สะดวกสบายมากขึ้น จึงคาดว่า นี่จะกลายเป็นชีวิตปกติใหม่ของคนหนองคายแม้โควิดจะสงบ  ในฐานะของภาครัฐก็ต้องปรับตัวและคาดการณ์แนวทางของการดำเนินกิจการต่างๆ เพื่อที่จะสามารถเข้าไปช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการ ผู้ค้ารายย่อย รายเล็กในด้านทุน หรือเทคโนโลยี เป็นต้น

ในตอนท้าย ผู้ว่าฯ จังหวัดหนองคาย กล่าวถึงแนวทางการฟื้นฟูต่อไปในอนาคตว่า สิ่งสำคัญที่สุดในขณะนี้ก็คือ ต้องตั้งหลักให้ได้ ต้องช่วยให้คนในพื้นที่มีกิน จากนั้นแล้ว จึงจะดำเนินการมาตรการของภาครัฐ ซึ่งตนพยายามให้ส่วนราชการต่าง ๆ ที่มีงบประมาณทำการจัดโครงการหรือการจัดประชุม อบรมเรื่องการท่องเที่ยว ให้กับผู้ประกอบการเพื่อที่ให้กิจการแต่ละประเภทสามารถที่จะยืนด้วยตัวเอง 

“หนองคายได้ชื่อว่าเป็นเมืองน่าอยู่ คนมาเที่ยวก็รู้สึกว่ามีความสุข เรามีความพร้อม คนหนองคายมีความตื่นตัวมาก เนื่องจากจังหวัดหนองคายเป็นจังหวัดชายแดน เรามีพื้นที่ติดกับ สปป. ลาว  เรามีน้ำโขงขวางกั้นระยะทาง 210 กิโลเมตร คนหนองคายรู้ว่าต่างประเทศจะมีคนผ่านเข้าออกได้ ดังนั้นคนหนองคายจึงมีความตื่นตัวเรื่องนี้ค่อนข้างมากจะคอยระวังพอสมควรแล้วก็คอยที่จะป้องกันตัวเองอยู่เสมอ 

คนหนองคายมีความเข้าใจให้ความร่วมมือกันในการที่จัดบริการไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร โรงแรมที่พัก รวมถึงสถานที่ราชการ ทุกส่วนให้ความร่วมมือดีมากในการที่จะจัดเรื่องของ New Normal  และก็พร้อมรับมือกับเหตุการณ์ และมั่นใจว่าจะไม่มีการแพร่ระบาดระลอก 2 แน่นอน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image