เตรียมปั้นยะลาก้าวสู่ ‘ยะลาโมเดล’ เมืองนวัตกรรม เลิศล้ำการท่องเที่ยว

“กว่า 3 เดือนแล้วที่จังหวัดยะลาไม่พบจำนวนผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ แต่ในขณะเดียวกันไม่ได้หมายความว่าสามารถที่จะปล่อยปะละเลยได้ หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสาธารณสุขจังหวัด เทศบาลนครยะลา รวมถึงภาคเอกชน ฯลฯ ยังมีการรณรงค์เรื่องของการดูแลสุขอนามัยของประชาชนอย่างต่อเนื่อง เช่น การสวมหน้ากากอนามัย กวดขันเรื่องการล้างมืออย่างสม่ำเสมอ และมีการเว้นระยะห่างทางสังคม สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เราพยายามรณรงค์ให้ประชาชนได้ตระหนักมาโดยตลอด แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้หมายความว่าให้งดจัดกิจกรรมต่างๆ โดยปริยายยังสามารถจัดได้ เพียงแต่ต้องอยู่ภายใต้มาตรการป้องกันโรคระบาดของสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด” นี่คือประโยคแรกที่ นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา บอกกับผู้สื่อข่าวมติชน หลังจากงาน ‘70 วัน ยะลาปลอดโควิด ชีวิตปลอดภัย’ เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ได้มีโอกาสพูดคุยถึงแนวทางการฟื้นฟูและพัฒนาเศรษฐกิจหลังจากวิกฤติโควิด-19 ของจังหวัดยะลา กับนายกเทศมนตรีฯ อีกครั้ง ปรากฏถึงความคืบหน้าและการดำเนินการที่มีประสิทธิภาพของหลายหน่วยงานและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง พร้อมที่จะมีส่วนร่วมและช่วยเหลือตามแผนฟื้นฟูฯ จังหวัดยะลาอย่างเข้มแข็ง เพื่อให้จังหวัดยะลาก้าวสู่การเป็น ‘ยะลาโมเดล’

  • เตรียมเช็คอินแหล่งท่องเที่ยวเฟสใหม่ที่ ‘ไม่เหมือนเดิม’

Advertisement

โรงแรมและร้านอาหารหลายแห่งในจังหวัดยะลาได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ ซึ่งเป็นโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยว ให้คนไทยเที่ยวเมืองไทย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไทยของรัฐบาล ปรากฏว่ามีนักท่องเที่ยวมาใช้สิทธิ์ในอำเภอเบตงค่อนข้างเยอะ โรงแรมบางแห่งมีจำนวนผู้เข้าพักเต็มเสียด้วยซ้ำในช่วงวันหยุด ในส่วนของแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดยะลา ไม่มีที่ไหนเป็นพื้นที่ที่รายงานว่ามีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เลย เพราะฉะนั้นนี่คือหลักประกันที่สร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวว่าจะไม่มีการติดเชื้อจากพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวอย่างแน่นอน

สิ่งที่หลายคนอาจจะไม่ทราบคือจังหวัดยะลามีสถานที่ท่องเที่ยวเยอะมาก แทบจะเรียกได้ว่าที่ไหนมีอะไร ยะลา มีหมด ด้วยสภาพอากาศและภูมิประเทศที่โอบล้อมด้วยธรรมชาติและหุบเขาเหมือนกับจังหวัดทางภาคเหนือของประเทศไทย ทำให้จังหวัดยะลาเป็นเหมือนกับ ‘ภาคเหนือแห่งแดนด้ามขวาน’ ไม่ต้องไปดูทะเลหมอกถึงเขาค้อ แค่เดินทางไปที่ตำบลอัยเยอร์เวง ที่ตั้งอยู่ในอำเภอเบตง ก็ได้ชม ‘ทะเลหมอกอัยเยอร์เวง’ ที่เป็นจุดชมวิวทะเลหมอกยอดฮิตของอำเภอ    เบตงที่เดินทางสะดวก รถยนต์เข้าถึงได้ และมีทะเลหมอกให้ชมตลอดทั้งปี และสิ่งที่เรียกได้ว่าเป็นเฟสใหม่คือ ‘สกายวอล์ค’ ที่มีความสูงถึง 45 เมตร นับเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของอำเภอเบตงที่จะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จปลายปีนี้ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวขึ้นชมความสวยงามของทะเลหมอกที่ปกคลุมตลอดทั้งปี อีกทั้งยังสามารถชมแสงแรกของพระอาทิตย์ และเป็นทะเลหมอกที่ใหญ่และสวยงามที่สุดแห่งหนึ่งในจังหวัดยลา ในช่วงเวลาเช้าจุดชมวิวแห่งนี้จะกลายเป็น ‘สวรรค์บนดิน’ ที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเต็มอิ่มกับทะเลหมอก สัมผัสอากาศอันบริสุทธิ์และทัศนียภาพที่สวยงาม อีกทั้งยังสามารถชมแสงแรกของพระอาทิตย์ได้จากที่นี่อีกด้วย

  • เตรียมพร้อมสู่ เมืองแห่งทุเรียน

ย้อนไปเมื่อ 5 ถึง 10 ปีก่อน จากเหตุการณ์ความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ ทำให้ประชาชนต้องละทิ้งถิ่นฐานเดิมและอบพยบลี้ภัยไปอยู่ในที่ปลอดภัย ทำให้พื้นที่ป่าจำนวนมหาศาลมีความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ ปราศจากสารเคมี นั่นคือข้อได้เปรียบของจังหวัดยะลาในการทำเกษตรกรรม ทั้งการปลูกลองกอง มังคุด ส้ม กล้วยหิน ฯลฯ ทำให้มีรสชาติที่หวาน อร่อย เนื้อแน่น โดยเฉพาะทุเรียนที่เป็นของขึ้นชื่อของจังหวัดยะลา เป็นราชาแห่งผลไม้ที่มีเอกลักษณ์ทั้งความหอม สีสวย เนื้อแน่น หวานมัน และมีรสชาติที่เรียกได้ว่าเข้มข้นกว่าทุเรียนที่ปลูกในภูมิภาคอื่น

โดยปกติแล้วทุเรียนเป็นพืชที่ชอบน้ำ ต้องได้รับน้ำอย่างเพียงพอ แต่ทุเรียนของจังหวัดยะลาเป็นทุเรียนที่มีการปลูกตามไหล่เขา และหุบเขา เพราะภูมิประเทศของจังหวัดยะลาเป็นพื้นที่ภูเขาซะส่วนใหญ่ เนื้อของทุเรียนจึงมีความแห้ง มีความมัน เนื้อไม่เละ ถึงเป็นที่มาของคำว่า ‘ทุเรียนสะเด็ดน้ำ’ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากความสมบูรณ์ของดินและธรรมชาติทั้งสิ้น ถ้าเป็นทุกเรียนพันธุ์หมอนทองของจังหวัดยะลา จะมีเหลืองที่เข้มกว่าทุเรียนพันธุ์หมอนทองทั่วไป หากพูดถึงทุเรียนพันธุ์ที่ถือว่าเป็นคู่แข่งของหมอนทองและมีเฉพาะในจังหวัดยะลาคือทุเรียนพันธุ์มูซานคิง ซึ่งประเทศมาเลเซียได้ส่งเสริมการปลูกทุเรียนพันธุ์นี้กว่าหลายแสนไร่ ทุเรียนมูซานคิงมีราคาที่สูงกว่าทุเรียนหมอนทองและเป็นทุเรียนที่คนจีนนิยมรับประทาน นอกจากนี้ยังมีทุเรียนอีกพันธุ์หนึ่งเรียกว่าพันธุ์โอฉีหรือทุเรียนหนามดำ มีลักษณะของสีออกไปทางสีส้มเหลือง และเป็นทุเรียนที่ได้แชมป์จากการประกวดทุเรียนของประเทศมาเลเซีย ที่มีต้นกำเนิดพันธุ์จากจังหวัดยะลาอีกด้วย

สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดคือสาเหตุที่เทศบาลนครยะลาต้องการปั้นเมืองยะลาสู่การเป็น ‘เมืองแห่งทุเรียน’ เพราะความ ‘อร่อยจับใจ’ ที่มาพร้อมราคาที่ ‘แพงระยับ’ ทุเรียนพื้นบ้านเหล่านี้ยังถูกผลักดันให้จดทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ด้วย โดยตอนนี้มีทุเรียนพันธุ์ยาวลิ้นจี่และพันธุ์โอฉี นำร่องก่อน และกำลังทำให้ทุเรียนพันธุ์โกลเดน ฮาร์ท ที่มีจุดเด่นคือพูทุเรียนจะเป็นรูปหัวใจ เป็นจุดขายของจังหวัดยะลาตามไปอีกด้วย แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าในปีนี้ไม่สามารถจัดงาน ‘มหกรรมผลไม้และของดีเมืองยะลา’ ที่จัดขึ้นในเดือนสิงหาคมของทุกปีได้ ด้วยมาตรการด้านสาธารณสุข ที่มีข้อกำหนดว่าให้งดจัดงานที่มีผู้เข้าร่วมงานจำนวนมาก บวกกับปัญหาข้อกำหนดด้านการเดินทางที่ยังไม่ได้ผ่อนปรนแบบหนึ่งร้อยเปอร์เซนต์ จึงเปลี่ยนวิธีการนำเสนอเป็นการใช้สื่อโซเชียลมีเดียบนแพลตฟอร์มต่างๆ ช่วยประชาสัมพันธ์เรื่องราวของผลไม้ในจังหวัดยะลาแทน

  • สมาร์ท ซิตี้ เทคโนโลยีสู่วิถีชีวิตใหม่

สมาร์ท ซิตี้ หรืออีกชื่อหนึ่งว่า เมืองอัจฉริยะ คือเมืองที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย และชาญฉลาด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการและการบริหารจัดการเมือง ลดค่าใช้จ่ายและการใช้ทรัพยากรของเมืองและประชากรเป้าหมาย โดยเน้นการออกแบบที่ดี และการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจและภาคประชาชนในการพัฒนาการเมือง ภายใต้แนวคิดการพัฒนา เมืองน่าอยู่ เมืองทันสมัย ให้ประชาชนในเมืองมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุข อย่างยั่งยืน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิกฤติโควิด-19 เร่งให้เกิดการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเร็วและมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่จังหวัดยะลาเองกำลังดำเนินการอยู่หลายอย่าง เช่น สร้างระบบตรวจสอบบนแอปพลิเคชันไลน์ในจุดคัดกรองต่างๆ และให้ประชาชนสแกนคิวอาร์โค้ดก่อนเข้า ติดตั้งฟรีไวไฟทั้งหมดในเขตเทศบาลนครยะลาโดยเฉพาะในจุดที่มีผู้คนหนาแน่น เช่น สถานีรถไฟ สถานีขนส่ง และมัสยิด ขณะเดียวกัน ก็ให้ประชาชนคัดกรองตนเองเบื้องต้นจากการตอบคำถามในคิวอาร์โค้ด แม้ว่าจะอยู่ในช่วงเริ่มผ่อนปรนก็มีการแนะนำให้สแกนคิวอาร์โค้ดสถานที่ต่างๆ เช่นกัน เพราะก่อนหน้านี้เมื่อมีความคิดในการทำสมาร์ทซิตี้ มีแผนการติดตั้งฟรีไวไฟในพื้นที่ทั้งหมดของเทศบาลฯ และกำลังดำเนินการติดตั้งให้ครบทุกจุด

 

“ไม่ว่าจะอย่างไร โลกวันนี้ก็จำเป็นที่จะต้องพึ่งพาระบบอีคอมเมิร์ซและเป็นแนวทางในอนาคต จึงเกิดโครงการหลาดยะลา หรือยะลามาร์เก็ต ซึ่งมีร้านค้าประเภทต่างๆ เช่น ร้านโชห่วย ร้านอาหาร ฯลฯ รวมทั้ง การบริการ เช่น ช่างไฟ ช่างแอร์ เพื่อรองรับผู้ตกงานและประชาชนที่ไม่มีความรู้ในการขายสินค้าผ่านช่องทางดิจิทัล เช่น การช่วยเหลือร้านค้าด้วยการสนับสนุนการขาย ส่งช่างภาพไปถ่ายรูป และนำข้อมูลมาใส่ในระบบ เจ้าหน้าที่เทศบาลทำหน้าที่เป็นแบ็คออฟฟิศให้ พร้อมกับใช้บริการวินมอเตอร์ไซค์ที่อยู่ใกล้ร้านค้าที่สุดเพื่อจัดส่งสินค้า ทั้งนี้ เทศบาลฯ มีการอบรมการใช้งานด้วย ไม่เช่นนั้น คนเหล่านี้จะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง และไม่มีที่ยืนในสังคม”  นายกเทศมนตรีฯ กล่าวถึงการฟื้นฟูแผนพัฒนาเศรษฐกิจในรูปแบบสมาร์ท ซิตี้ ของจังหวัดยะลา

จังหวัดยะลาในวันนี้ ไม่เหมือนกับจังหวัดยะลาเมื่อ 5 -10 ปีก่อนอย่างสิ้นเชิง วันนี้จังหวัดยะลามีความสงบ สะอาด พร้อมด้วยธรรมชาติและสถานที่ท่องเที่ยวที่ไม่ได้ด้อยไปกว่าที่ไหนเลย ประชาชนอยู่กันอย่าง   เอื้ออาทร มีน้ำใจต่อกัน อยากให้นักท่องเที่ยวได้ลองมาเที่ยวและลิ้มรสอาหารพื้นเมืองที่เปี่ยมด้วยรสชาติอร่อย  หาทานยาก จนกระทั่ง ‘ทุเรียน’ผลไม้ที่เป็น 1 ในสิ่งที่เชิดหน้าชูตาและควรมาลิ้มลองที่จังหวัดยะลาเพียงที่เดียว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image