มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่กับการดำเนินโครงการครูรัก(ษ์)ถิ่น รุ่นที่ 1

            จากยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) ที่กำหนดเป้าหมายสำคัญเพื่อให้ประเทศไทย บรรลุวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามปรัชญา ของเศรษฐกิจพอเพียง” การวางรากฐานด้านการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและทรัพยากรมนุษย์จึงถือเป็นรากฐานสำคัญประการหนึ่ง โดยจะต้องมีการพัฒนาคนในทุกมิติให้มีความพร้อมในการขับเคลื่อนประเทศ  อย่างเต็มศักยภาพ มีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 พัฒนาระบบการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลง

          กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จึงได้ร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษา ขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ดำเนินการคัดเลือกสถาบันอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนาครูในโครงการสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลเป็นครูรุ่นใหม่ เพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนของชุมชน “ครูรัก(ษ์)ถิ่น” รุ่นที่ 1

         มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่เป็น 1 ใน 11 สถาบันอุดมศึกษาที่ผ่านการพิจารณาให้เป็นสถาบันผลิตและพัฒนาครูในโครงการสร้างโอกาสทางการศึกษาสำหรับนักเรียนในพื้นที่ห่างไกลเป็นครูรุ่นใหม่                  เพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนของชุมชน “ครูรัก(ษ์)ถิ่น” รุ่นที่ 1 หลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการศึกษาปฐมวัย ระดับปริญญาตรี 4 ปี จำนวน 30 คน ซึ่งอยู่ในภูมิลำเนาพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ 18 คน จังหวัดแม่ฮ่องสอน 2 คน จังหวัดแพร่ 2 คน และจังหวัดตาก 7 คน ถือเป็นก้าวสำคัญของการผลิตและพัฒนาครูรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพมีจิตวิญญาณของครูนักพัฒนา และมีความสามารถในการจัดการเรียนการสอนและการพัฒนาผู้เรียนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยมุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีความรู้และทักษะ 3 ด้าน คือ 1) ด้านวิชาการ 2) ด้านความเป็นคน และ 3) ด้านคุณลักษณะความเป็นครู จึงได้จัดให้มีการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าศึกษา Pre-University การจัดพิธีรับขวัญปวารณาตัวขอเป็นศิษย์ และกิจกรรมการเรียนรู้ เช่น การศึกษาดูงานศิลปวัฒนธรรมและแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงใหม่ “เรียนรู้โลกใหม่ ดินแดนกว้างใหญ่สะลวงแลนด์” , “เรียนรู้ตัวตน คนจะเป็นครูรัก(ษ์)ถิ่น” , “หัวใจนักปราชญ์ สู่ ทักษะการคิด” , “เทคนิคการเรียนรู้ แบบ New Normal” , การศึกษาดูงาน “เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรแบบธรรมชาติ               และเศรษฐกิจพอเพียง” , “Smart user : Smart teacher” , การทบทวนตนเอง และ ทบทวนความเป็นครู และการแสดงนิทรรศการสรุปองค์ความรู้ ทั้งนี้ในการดำเนินงานได้มีคณะกรรมการจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) มาติดตามและประเมินผลการดำเนินงานเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงกระบวนการในรุ่นต่อไป

Advertisement

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image