‘โครงการรับยาใกล้บ้าน’ ทะลุเป้า ลดความแออัดใน รพ. 10-20 %  ตอบโจทย์ยุค New Normal

สปสช.เริ่มดำเนินโครงโครงการรับยาใกล้บ้านวันแรกทั่วประเทศเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ตามนโยบายของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีวัตถุประสงค์เพื่อเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาลโดยร้านยา ขย.1 เพื่อให้ผู้ป่วยรับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน 

โดยเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2562 ในการประชุมบอร์ด สปสช.ได้ประสานดำเนินการร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สภาเภสัชกรรม และสมาคมเภสัชกรรมชุมชนแห่งประเทศไทยในการเตรียมความพร้อม ทั้งในส่วนของโรงพยาบาล ร้านยา และระบบต่างๆ เพื่อรองรับ การดำเนินงานด้านต่างๆ

ข้อมูล ณ วันที่ 1 ส.ค. 2563 หลังจากดำเนินโครงการรับยาใกล้บ้านมา 10 เดือน ตั้งแต่วันที่  วันที่ 1 ต.ค. 2562 พบว่ามีโรงพยาบาลเข้าร่วม 130 แห่ง มากกว่าเป้าหมายซึ่งตั้งไว้ที่ 50 แห่ง มีร้านยาเข้าร่วมโครงการ 1,033 แห่ง สูงกว่าเป้าซึ่งตั้งไว้ที่ 500 แห่ง มา 2 เท่า 

Advertisement

โดยเฉพาะตั้งแต่ช่วงเดือน มี.ค. 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่โรคโควิด-19 กำลังระบาด พบว่ามีผู้ป่วยเลือกรับยาใกล้บ้านเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ สะท้อนให้เห็นว่าโครงการนี้สอดรับกับนโยบายการเว้นระยะห่างทางสังคมเป็นอย่างดี

ประเภทโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ จากการสำรวจพบว่า สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การลดความแออัด ทั้งนี้โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป มีอัตราการเข้าร่วมโครงการมากที่สุด โดยโรงพยาบาลทั่วไปเข้าร่วมโครงการมากที่สุด 49 แห่ง คิดเป็นสัดส่วน 37.69% รองลงมาคือโรงพยาบาลศูนย์ 33 แห่ง คิดเป็นสัดส่วน 25.38%

โรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการรับยามากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่

1.โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ 3,515 ราย

2.โรงพยาบาลหาดใหญ่ 1,805 ราย

3.โรงพยาบาลพระจอมเกล้า 1,128 ราย

4.โรงพยาบาลลำพูน 963 ราย

5.โรงพยาบาลนครปฐม 859 ราย

รูปแบบการส่งยาที่โรงพยาบาลเลือกใช้มากที่สุด คือ รูปแบบที่ 1 โรงพยาบาลจัดยาผู้ป่วยส่งไปที่ร้าน แล้วให้ผู้ป่วยมารับยาที่ร้ายภายใต้การแนะนำของเภสัชกรร้านยา คิดเป็น80.77%

รองลงมาคือรูปแบบที่ 2 โรงพยาบาลจะจัดสต๊อกยาผู้ป่วยส่วนหนึ่งมาไว้ที่ร้านยา ซึ่งคนไข้จะนำใบสั่งยาของโรงพยาบาลหลังพบแพทย์มารับยาที่ร้านยา มีสัดส่วน 13.85% 

ทั้งนี้ในปี 2564 จะมีการขยายผลโครงการนำร่องในรูปแบบที่ 3 ให้ร้านยาบริหารจัดการด้านยาทั้งหมดให้กับผู้ป่วย ตั้งแต่การจัดซื้อ การสต๊อกยา และจ่ายยาให้ผู้ป่วย และสร้างความมั่นใจคุณภาพยาก โดยการทำงานร่วมกันทั้งโรงพยาบาลและร้านยา

สำหรับกลุ่มผู้ป่วยที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการ สปสช.ตั้งเป้าในปี 2564 ไว้ที่ 36,450 คน โดยปัจจุบันมียอดผู้สมัครแล้วรวมกว่า 19,625 คน และมีจำนวนครั้งที่ไปรับบริการจำนวน 29,986 ครั้ง รายละเอียดดังนี้

1.กลุ่มผู้ป่วยอายุระหว่าง 61-75 ปี มีจำนวน 7,894 คน

2.ผู้ป่วยอายุระหว่าง 46-60 ปี มีจำนวน 6,280 คน

  1. ผู้ป่วยอายุ 75 ปีขึ้นไป 2,563 คน

4.ผู้ป่วยอายุ 31-45 ปีอีก 1,644 คน 

โรคที่ผู้ป่วยรับยาที่ร้านยามากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่

1.โรคเรื้อรังอื่นๆ 8,249 ราย 

2.โรคความดันโลหิตสูงและโรคเรื้อรังอื่นๆ 3,049 ราย 

3.ความดันโลหิตสูงและเบาหวาน 2,873 ราย ความดันโลหิตสูงอย่างเดียว 2,467 ราย 

4.ผู้ป่วยจิตเวช 892 ราย

5.เบาหวานอย่างเดียว 801 ราย

ผลประเมิน‘โครงการรับยาใกล้บ้าน’ โดยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) พบว่าได้ประโยชน์ 3 ด้าน คือ 

1.ช่วยผู้ป่วยลดเวลารอรับยาเวลาเดินทาง  37.5 นาที หรือ 22%

2.ปรึกษาเภสัชกรได้นานขึ้น 4.5 นาที  หรือ 56%  

3.ช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลได้ 10-20%

แม้ว่าการดำเนินการในระยะแรกตลอด 10 เดือนที่ผ่านมาจะประสบความสำเร็จเกินเป้าหมาย แต่โครงการนี้ยังมีความท้าทายใหญ่ๆ อยู่ 3 ประเด็น คือ 

1.ความครอบคลุมต่ำและการกระจายไม่ทั่วถึง

2.การสนับสนุนค่าใช้จ่ายไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง

3.ระบบสารสนเทศยังไม่สนับสนุนการส่งต่อข้อมูลระหว่างโรงพยาบาลและร้านยา ส่งผลต่อคุณภาพการบริการและเป็นภาระต่อร้านยา 

โดย HITAP เสนอ ให้มีการสนับสนุนให้ขยายการดำเนินการของโรงพยาบาลร่วมกับบริการ Telemedicine ให้เพิ่มเป็นอีก 50% ภายในปี 2564 และเป็น 100% ภายในปี 2565 เพื่อลดความแออัดของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 50% 

พร้อมกันนี้ สปสช. ต้องพัฒนาระบบสารสนเทศให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างโรงพยาบาล ร้านยา และ สปสช.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image