ยกระดับบัตรทอง รักษาทุกที่เฉพาะศูนย์สาธารณสุขและคลินิก นำร่อง กทม. 1 พ.ย.63

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ตลอดระยะเวลาในการดำเนินงาน “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” หรือ “กองทุนบัตร” ช่วง 18 ปีที่ผ่านมา วิถีชีวิต ความรู้ความเข้าใจในเรื่องการดูแลสุขภาพได้เปลี่ยนแปลงไป ทำให้กองทุนบัตรทองต้องยกระดับบริการให้ทันต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยในการพัฒนาและปรับปรุงระบบการให้บริการ รวมถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ เป็นผลมาจากการสำรวจความเห็นของประชาชน ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้ดำเนินการจัดเวทีรับฟังความเห็นทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการมาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี 

หลากหลายข้อเสนอมากมาย ที่ผ่านมา สปสช. ได้รับมาและดำเนินการผลักดันจนทำให้ระบบบัตรทองดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล บรรลุวัตถุประสงค์ในการดูแลประชาชนผู้มีสิทธิ 48 ล้านคน ให้เข้าถึงบริการอย่างครอบคลุมและทั่วถึง และในปีนี้ สปสช. โดยคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ซึ่งมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ได้มีนโยบายเพิ่มความสะดวกในการเข้ารับบริการสุขภาพในระบบบัตรทองให้กับประชาชน พร้อมแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคในการเข้ารับบริการ  

Advertisement

ทั้งนี้จากการสำรวจความเห็นที่ผ่านมา ได้มีเสียงเรียกร้องของประชาชนผู้มีสิทธิให้เร่งดำเนินการปรับปรุงการบริการใน 4 เรื่อง ได้แก่ ปัญหาการรับบริการปฐมภูมิที่จำกัดเฉพาะหน่วยบริการประจำ ปัญหาใบส่งตัวหมดอายุขณะเป็นผู้ป่วยในอยู่ที่โรงพยาบาล ปัญหาส่งต่อรักษาโรคมะเร็งที่ล่าช้าทำให้ผู้ป่วยอาการลุกลาม และปัญหาการเปลี่ยนหน่วยบริการประจำที่การใช้สิทธิรักษาต้องรอนานถึง 15 วัน  

จากปัญหาข้างต้นนี้ ได้นำมาสู่การยกระดับ 4 บริการในระบบบัตรทอง โดยเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2563ที่ผ่านมา บอร์ด สปสช. ได้พิจารณาและลงมติเห็นชอบให้ สปสช. เร่งดำเนินการแล้ว 

เริ่มจากการปรับบริการ “รักษาทุกที่ ณ เครือข่ายหน่วยบริการชุมชนอบอุ่น” เพื่อให้ประชาชนไปรับบริการที่ใดก็ได้ในระบบปฐมภูมิในเครือข่าย โดยนำร่องในพื้นที่เขต กทม. ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 นี้ นอกจากหน่วยบริการประจำ ที่เป็นศูนย์บริการสาธารณสุขและคลินิกเวชกรรมในการรักษาโรคทั่วไปแล้ว ยังเพิ่มเติมคลินิกเฉพาะทางในระบบ เพื่อให้ผู้ป่วยพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางได้ ไม่ต้องรอคิวและช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล โดยมีศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่งใน 50 เขต ที่สังกัดสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร รับหน้าที่เป็นหน่วยบริการแม่ข่ายในแต่ละเขตพื้นที่ เพื่อเป็นพี่เลี้ยงในการให้คำแนะนำการบริการของคลินิก โดยเฉพาะการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ซึ่งศูนย์บริการสาธารณสุขมีความเชี่ยวชาญ

พร้อมกันนี้ยังได้จัดโซนนิ่งโรงพยาบาลรับส่งต่อ เพื่อรองรับการดูแลผู้ป่วยจากคลินิก โดยแบ่งเป็น 6 โซน ซึ่งจะช่วยให้การส่งต่อผู้ป่วยมีความสะดวกและรวดเร็ว   

บริการ “ดูแลผู้ป่วยใน ไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัว” ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองที่เข้ารักษาตัวเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาล มีส่วนหนึ่งรักษาต่อเนื่องด้วยสาเหตุทางการแพทย์ ซึ่งในกรณีที่ใบส่งตัวครบกำหนด ผู้ป่วยหรือญาติต้องกลับไปยังหน่วยบริการประจำเพื่อขอใบส่งตัวใหม่ เกิดความไม่สะดวกและเป็นปัญหา โดยเฉพาะผู้ป่วยที่อยู่ต่างจังหวัด เพื่ออำนวยความสะดวกในกรณีนี้ สปสช. ได้ปรับระบบให้ผู้ป่วยในสามารถรักษาต่อเนื่องได้ตามการวินิจฉัยของแพทย์โดยไม่ต้องกลับไปขอใบส่งตัว โดยจะเริ่มนำร่องเขต 9 นครราชสีมา ใน 4 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 นี้ 

ปรับระบบบริการ “มะเร็งส่งตรงถึง รพ.เฉพาะด้าน ที่ไม่แออัด” เนื่องจากมะเร็งเป็นโรคที่ละเอียดอ่อน มีความซับซ้อน และมีหลายชนิด โรงพยาบาลแต่ละแห่งมีศักยภาพการรักษามะเร็งแต่ละชนิดไม่เท่ากัน บางแห่งมีความแออัดทำให้ผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ดังนั้นจึงได้ปรับระบบบริการ ในกรณีที่ ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง ผู้วินิจฉัยจะส่งข้อมูลผู้ป่วยมายังศูนย์ส่งต่อด้านมะเร็ง จากนั้น ศูนย์ส่งต่อจะทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานจัดหา รพ.ที่ไม่แออัด และมีศักยภาพรักษาโรคมะเร็งนั้นๆ ให้เป็นการเฉพาะราย ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วและเหมาะสมมากยิ่งขึ้น โดยจะเริ่มในวันที่ 1 มกราคม 2564 พร้อมกันทั่วประเทศ ขณะเดียวกันยังสนับสนุนการจัดบริการให้ยาเคมีบำบัดที่บ้าน การติดตามอาการและแนะนำการทานยาผ่านระบบสื่อสารทางไกล(Telehealth)

“ย้ายหน่วยบริการปุ๊บ รักษาที่ใหม่ได้ปั๊บ” บริการสุดท้ายนี้เป็นการปรับระบบเพื่อให้ประชาชนได้รับสิทธิบริการทันที หลังเปลี่ยนหน่วยบริการประจำ ด้วยปัญหาอุปสรรคที่ตามระบบเดิมกำหนดให้ผู้เปลี่ยนหน่วยบริการประจำต้องรอ 15 วัน ถึงจะสามารถใช้สิทธิเข้ารับบริการได้ แต่ด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่พัฒนาก้าวหน้า โดยเฉพาะการเชื่อมต่อข้อมูลไปยังหน่วยบริการ และการยืนยันตัวตนโดย Smart card ทำให้ สปสช. สามารถปรับระบบเพื่อแก้ไขช่องว่างนี้ได้ ดังนั้นตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นไป พร้อมกันทั่วประเทศ ประชาชนสามารถใช้สิทธิบัตรทองได้ทันทีหลังเปลี่ยนหน่วยบริการประจำ ไม่ต้องรอ 15 วันอีกต่อไป   

อย่างไรก็ตามในช่วงเริ่มต้นในการยกระดับบริการนี้ อาจเกิดการติดขัดในบางประการช่วงที่ระบบยังเดินเครื่องไม่สมบูรณ์ และอาจมีบางส่วนยังต้องปรับปรุงจากเสียงของประชาชนผู้รับริการที่สะท้อนเข้ามา แต่เชื่อมั่นว่าด้วยความร่วมมือของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ต้องขอบคุณมา ณ ที่นี้ จะทำให้ระบบบัตรทองเกิดการพัฒนา และเดินหน้าไปอีกก้าวหนึ่ง ในการเป็นหลักประกันด้านสุขภาพให้กับคนไทยทุกคน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image