‘นพ.ผดุงเกียรติ ตั้งพิรุฬห์ธรรม’ ศัลยแพทย์ส่องกล้องทรวงอก ผู้ยกระดับการรักษาโรคทางด้านทรวงอก

ก้าวสู่ปีที่ 4 แล้วสำหรับการทำงานในประเทศไทยของ นพ.ผดุงเกียรติ ตั้งพิรุฬห์ธรรม ศัลยแพทย์ทรวงอกส่องกล้องไฟแรง ดีกรีแพทย์เฉพาะทางด้านการผ่าตัดปอดทรวงอก จาก Harvard Medical School และประสบการณ์การทำงานจาก Brigham and Women’s Hospital มลรัฐแมสชาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ปัจจุบันเขาได้เข้ามาร่วมงานกับโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ ควบคู่ไปกับงานอาจารย์พิเศษที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล 

นพ.ผดุงเกียรติ ย้อนเส้นทางการเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดปอดและทรวงอกว่า ขณะที่กำลังเรียนแพทย์ชั้นปีสุดท้าย ที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เขาสูญเสียคุณแม่ไปด้วยโรคมะเร็งปอด ขณะที่คุณพ่อเสียชีวิตด้วยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ตัดสินใจเลือกเรียนเฉพาะทางด้านทรวงอก “ปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจของผมก็คือ ครอบครัว เราคิดว่าเราเข้าใจคนที่ต้องเผชิญกับโรคกลุ่มนี้ ความกังวลใจของคนไข้ หรือญาติคนไข้ การตรวจการรักษา การผ่าตัด ผมอยากจะทำให้มันดีขึ้นเรื่อยๆ อยากหานวัตกรรมการรักษาที่ทำให้คนไข้สบายขึ้น เจ็บปวดน้อยลง รวมทั้งมีโอกาสหายขาดได้มากขึ้น”

“เมื่อถึงช่วงเลือกเรียนเฉพาะทางที่ศิริราช ผมเลือกด้านการผ่าตัดหัวใจและปอด และมีโอกาสได้ไปทำงานที่ Brigham and Women’s Hospital ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่ร่วมมือกับ Harvard Medical School มหาวิทยาลัยทางการแพทย์อันดับหนึ่งของสหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 2 ปี การทำงานในโรงพยาบาลเครือฮาร์วาร์ดจะค่อนข้างกดดันเพราะแข่งขันสูง แต่ข้อดีคือเรามีเคสคนไข้จากทั่วทุกมุมโลกเข้ามารับการรักษา มีงานวิจัยด้านการแพทย์ให้ศึกษาเยอะมาก ทำให้เราไม่หยุดพัฒนาตัวเอง นอกจากนี้ยังมีเรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้เรียนรู้เยอะมาก ทำให้ได้นำกลับมาใช้เพื่อช่วยดูแลผู้ป่วยอย่างเต็มที่”   

Advertisement

หลังจากกลับมาจากสหรัฐอเมริกา นพ.ผดุงเกียรติ ใช้ความเชี่ยวชาญในการรักษาโรคที่เกิดในบริเวณทรวงอก มุ่งสู่เส้นทางการผ่าตัดเพื่อรักษามะเร็งปอดเป็นหลักและเลือกร่วมงานกับโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ เพราะมีความพร้อมทางด้านเทคโนโลยีการรักษาและบุคลากร 

“มะเร็งปอดเป็นโรคที่ไม่ค่อยแสดงอาการในช่วงต้น เรียกได้ว่าเป็นภัยร้ายซ่อนเงียบ ถ้าโรคแสดงอาการนั่นแปลว่า ลุกลาม และอยู่ในระยะสุดท้ายของโรคแล้ว ดังนั้น เมื่อผมกลับมาจึงเริ่มโครงการการตรวจคัดกรองมะเร็งปอด ด้วยการใช้เอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์รังสีต่ำ เพื่อที่เราจะได้คัดกรองคนไข้ในระยะ 1 เพื่อเพิ่มโอกาสในการผ่าตัดและการหายขาดสูงขึ้น ผมนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น เทคนิคการผ่าตัดส่องกล้องแผลเดียว (Uniportal VATS) ลดความเจ็บปวดหลังผ่าตัด เพื่อให้คนไข้ฟื้นตัวเร็วขึ้น และนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลน้อยลง และพัฒนาเทคนิคการผ่าตัดส่องกล้องด้วยระบบนำทางแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic Navigation Bronchoscopy – ENB) โดยเป็นการใช้เทคโนโลยีระบบ GPS ค้นหาตำแหน่งของก้อนเนื้อบริเวณปอดที่มีขนาดเล็กกว่า 1 เซนติเมตร ทำให้การผ่าตัดแม่นยำและรวดเร็วยิ่งขึ้น

Advertisement

“VATS เป็นการผ่าตัดส่องกล้องในช่องอกซึ่งเป็นผลมาจากเทคโนโลยีกล้องและอุปกรณ์ผ่าตัดที่พัฒนามากขึ้น ทำให้จากที่ต้องผ่าตัดแบบเปิดซึ่งทำให้คนไข้เจ็บปวดหลังการผ่าตัด ก็เปลี่ยนมาสู่การผ่าตัดแผลขนาดเล็กหลายแผลซึ่งได้ผลลัพธ์การผ่าตัดไม่แตกต่างกัน แต่เจ็บตัวน้อยกว่าการผ่าตัดแบบเปิด และปัจจุบันการผ่าตัดแผลเดียวสามารถรักษาได้ไม่ต่างจากแบบเปิดแผลใหญ่หรือส่องกล้องหลายแผลแต่มีข้อดีคือ เจ็บน้อยกว่า และฟื้นตัวเร็วกว่า ส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย” 

ศัลยแพทย์ทรวงอกส่องกล้องไฟแรง อธิบายว่า เทคนิคการผ่าตัดส่องกล้องแบบแผลเดียวอุปกรณ์ทั้งหมดจะมีความยาวพิเศษผ่านลงไปในแผลขอบหลังของราวนมขนาดประมาณ 3-4 เซนติเมตร ซึ่งแพทย์ผู้ผ่าตัดต้องมีความเชี่ยวชาญการผ่าตัดส่องกล้องชนิด 2 และ 3 แผลมาก่อน โดยการผ่าตัดส่องกล้องนั้นสามารถทำได้ในโรคดังนี้ โรคมะเร็งปอดขั้นต้น ระยะ 1-2, โรคลมรั่วในช่องอกที่เป็นซ้ำ, โรคเนื้องอกต่อมไทมัส,โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอ็มจี, โรคถุงน้ำจากหลอดอาหาร, โรคถุงน้ำจากหลอดลม, โรคติดเชื้อในช่องอก, โรคน้ำขังในช่องหัวใจและช่องอกจากมะเร็ง, โรคมะเร็งหลอดอาหาร รวมถึงโรคที่รักษาด้วยการผ่าตัดแบบเปิดช่องอกเกือบทุกโรค แต่ถึงอย่างนั้น การผ่าตัดส่องกล้องก็มีข้อจำกัดในบางโรค เช่น ภาวะมะเร็งปอดระยะลุกลาม ภาวะมะเร็งเยื่อบุช่องอก ภาวะติดเชื้อในช่องอกเรื้อรัง เป็นต้น 

แม้เทคนิคการผ่าตัดส่องกล้องแผลเดียวจะสามารถช่วยให้แผลผ่าตัดเล็กลงและมีประสิทธิภาพดีเพียงใด สิ่งที่ดีที่สุดคือการตระหนักถึงความสำคัญในการตรวจหาความเสี่ยงแต่เนิ่นๆ เพราะการหายขาดของโรคมะเร็งปอดไม่ได้ขึ้นอยู่กับเทคนิคการผ่าตัด แต่ขึ้นอยู่กับระยะของโรค 

“คนไข้ที่ผมทำการผ่าตัดส่องกล้องมากกว่า 80% เป็นมะเร็งปอด เกือบครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยเป็นระยะแรกที่มีโอกาสหายได้สูงถึง 90% ดังนั้น สิ่งที่ผมเน้นย้ำก็คือการหาผู้ป่วยในระยะเริ่มต้นให้ได้ เพื่อที่จะรักษาได้ทัน ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีวิธีการป้องกันการเกิดมะเร็งปอด แต่สิ่งที่ช่วยได้คือการตรวจคัดกรองโดยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ในผู้ที่มีความเสี่ยง 

“สำหรับคนที่มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งปอดสูง ซึ่งคือคนที่สูบบุหรี่มากกว่า 30 Pack-year เช่น สูบบุหรี่เฉลี่ยวันละ 1 ซองมามากกว่า 30 ปี และยังสูบอยู่หรือหยุดสูบไม่ถึง 15 ปี รวมถึงมีความเสี่ยงอื่นๆ เช่น เคยมีญาติในครอบครัวเป็นมะเร็งปอด ถุงลมโป่งพอง หรือป่วยด้วยอาการมะเร็งประเภทอื่นๆ ก็ควรมาตรวจ โดยแพทย์จะวินิจฉัยให้เป็นรายบุคคล หากพบความผิดปกติก็จะสามารถเริ่มขั้นตอนการรักษา คนไข้หรือญาติคนไข้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งปอด บางคนคิดว่าเป็นมะเร็งปอดคือจุดสิ้นสุดของชีวิตแล้ว จริงๆ หมอไม่อยากให้คิดแบบนั้น เพราะยังมีวิธีการรักษาที่สามารถหายขาดได้ ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด และยังมียาหลายชนิดทั้งเคมีบำบัด ยาพุ่งเป้า เป็นต้น สิ่งสำคัญคือการพบผู้เชี่ยวชาญ และรับการรักษาตามระยะของโรค” นพ.ผดุงเกียรติ ระบุ

เป้าหมายสูงสุดของ นพ.ผดุงเกียรติ ไม่ใช่เพียงแค่การเป็นมือหนึ่งในการผ่าตัด แต่รวมถึงการพัฒนาคุณภาพการรักษาคนไข้มะเร็งปอด ด้วยวิธีการคัดกรองโรคให้แม่นยำและมีประสิทธิภาพ เพราะหากสามารถตรวจพบโรคในระยะแรกได้มากขึ้น ความสูญเสียก็จะลดลง ขณะเดียวกัน ในฐานะอาจารย์แพทย์ ก็อยากพัฒนาทักษะการผ่าตัดให้กับแพทย์รุ่นใหม่ และแนะนำเทคโนโลยีที่จะช่วยคนไข้ได้รับความเจ็บปวดน้อยที่สุด โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของคนไข้มาเป็นอันดับหนึ่ง มากไปกว่านั้นคือ การดูแลด้านจิตใจของทั้งผู้ป่วยและเป็นญาติของพวกเขา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image