ผศ.นพ. อรรถภูมิ ศัลยแพทย์มือทองกับเทคนิคซ่อมลิ้นหัวใจแผลเล็ก 4 ซม. เพื่อชีวิตที่ดีกว่าของคนไทย 

“การผ่าตัดหัวใจ เป็นสิ่งที่ถึงแม้มันจะเหนื่อย แต่ก็มีความสุข ยิ่งเมื่อได้ผ่าตัดให้คนไข้สำเร็จ ยิ่งรู้สึกภูมิใจที่สามารถช่วยชีวิตพวกเขาได้”

หนึ่งในความภาคภูมิใจที่ทำให้ศัลยแพทย์หัวใจ รุ่นใหม่ ไฟแรง อย่าง ผศ.นพ. อรรถภูมิ สู่ศุภอรรถ มีพลังใจฮึดสู้กับภาระงานที่หนัก เพื่อมอบการรักษาที่ดีที่สุดให้คนไข้มากว่า 20 ปี 

ถ้าพูดถึงเส้นทางในการประกอบอาชีพของใครหลายคน เชื่อว่ามีไม่น้อยที่ต่อยอดมาจากความชอบส่วนตัว ซึ่งกับแพทย์ท่านนี้ก็เช่นกัน ที่ความชอบในอดีตนั้นได้นำมาสู่เส้นทางการเป็นศัลแพทย์หัวใจมากฝีมือในวันนี้ ผศ.นพ.อรรถภูมิ เล่าว่า เส้นทางของการเป็นศัลยแพทย์หัวใจของตน เริ่มจากความชอบส่วนตัวตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม คือเป็นนักดนตรี ที่ต้องฟังเสียงเพลงและแกะโน้ตดนตรีอยู่เป็นประจำ ทำให้เมื่อมาเรียนแพทย์ ก็สามารถฟังเสียงหัวใจได้เป็นอย่างดี จึงคิดว่าตนน่าจะเป็นหมอหัวใจที่ดีได้ ประกอบกับชอบงานประเภทหัตถการอยู่แล้ว หลังจากจบการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลแล้ว เลยเลือกเรียนต่อเฉพาะทางด้านการผ่าตัดหัวใจจากทั้งในประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา และกลับมาทำหน้าที่ศัลยแพทย์หัวใจอย่างเต็มตัวที่โรงพยาบาลราชวิถีนานถึง 19 ปีเต็ม ก่อนย้ายมาอยู่ที่โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพจนถึงปัจจุบัน ผ่านการรักษาคนไข้มาแล้วหลายรูปแบบ พบเจอเคสยากๆ มานับครั้งไม่ถ้วน จนทำให้มีประสบการณ์ด้านการผ่าตัดหัวใจมากว่า 20 ปี โดยตลอดเวลาที่ผ่านมาได้ให้การรักษาคนไข้อย่างเต็มที่ แม้จะมีบางครั้งที่เหนื่อยกับภาระหน้าที่ แต่สุดท้ายก็ผ่านพ้นมาได้ เพราะได้รับสิ่งตอบแทนเป็นความสุข เมื่อเห็นคนไข้หายเป็นปกติจากการรักษาของเรา 

Advertisement

จากนศพ.สู่ศัลยแพทย์หัวใจมากบทบาท

การทำงานในช่วงแรกของผศ.นพ.อรรถภูมิ หรือคุณหมอโหน่งนั้น รับหน้าที่ผ่าตัดหัวใจและทรวงอกทุกประเภท ทั้งปอด หัวใจ และลิ้นหัวใจ แต่เมื่อ 5-6 ปีที่ผ่านมา จำเป็นต้องสืบทอดหน้าที่จากอาจารย์แพทย์ที่เกษียณอายุ จึงทำให้มีงานที่ได้ทำบ่อยครั้งจนมีความชำนาญมากเป็นพิเศษ ตลอดจนถึงปัจจุบัน คือ ซ่อมลิ้นหัวใจและผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ และเมื่อมีโอกาสมาทำงานที่โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ ก็ได้รับความไว้วางใจให้เข้ารับตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพด้วย โดยทำงานบริหารควบคู่ไปกับการตรวจรักษาคนไข้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง เรียกได้ว่าเป็นหมอนักบริหารอีกหนึ่งท่านที่มีความสามารถรอบด้าน คุณหมอเล่าว่า งานบริหารในครั้งนี้ ได้นำเอาประสบการณ์ด้านต่างๆ จากทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชนมาปรับใช้ เพื่อให้การทำงานราบรื่นมากยิ่งขึ้นด้วย แต่ก็จะยังคงให้ความสำคัญกับงานรักษาคนเป็นลำดับแรก โดยคุณหมอมักจะได้รับมอบหมายให้รักษาโรคยากๆ ทางด้านหัวใจและหลอดเลือดด้วยเทคนิคต่างๆ อยู่เสมอ อย่างล่าสุดกับการพัฒนาการรักษาให้ทันสมัยยิ่งขึ้น ด้วย “เทคนิคการซ่อมลิ้นหัวใจ แผลเล็ก 4 ซม.” ทางเลือกใหม่สำหรับผู้ที่มีภาวะลิ้นหัวใจเสื่อม รั่ว หรือผิดรูป 

Advertisement

ลิ้นหัวใจ ทำไมต้องซ่อม? 

อะไรคือสาเหตุที่นำไปสู่การผ่าตัดซ่อมลิ้นหัวใจ และต้องอาการมากแค่ไหนถึงควรไปพบหมอ ? เชื่อว่าหลายคนอาจยังสงสัยอยู่ เพราะดูเหมือนจะเป็นอาการที่ไกลตัวเสียเหลือเกิน ข้อนี้คุณหมอแนะนำว่า อาการบ่งชี้ที่สำคัญคือ เหนื่อยง่าย หรือเหนื่อยเร็วกว่าปกติเมื่อเทียบกับในอดีต เช่น เมื่อก่อนสามารถเดินขึ้นบันไดสองชั้นได้โดยไม่เหนื่อยและไม่ต้องหยุดพัก แต่ตอนนี้ขึ้นได้แค่ชั้นเดียวก็เหนื่อยมากแล้ว “เอาเป็นว่าเมื่อไหร่ที่เรารู้สึกว่าเหนื่อยเร็วกว่าปกติ หรือมีอาการ เจ็บ จุก แน่น หน้าอก วูบ หรือหมดสติ ทั้งหมดนี้คืออาการเตือนที่ต้องนำมาสู่การตรวจเพิ่มเติม อย่าชะล่าใจและปล่อยทิ้งไว้ ให้รีบมาพบหมอ”  

เมื่อหมอตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติมแล้วพบว่าลิ้นหัวใจมีความผิดปกติจริง เช่น ลิ้นหัวใจรั่ว ผิดรูป เสื่อม มีการเติบโตไม่สมบูรณ์ หรือแม้กระทั่งลิ้นหัวใจเสียหายจากการติดเชื้อ ก็จำเป็นต้องได้รับการรักษาในลำดับถัดไปซึ่งก็คือการผ่าตัดนั่นเอง แต่จากผลการศึกษาทางการแพทย์ชี้ว่า ปัญหาความผิดปกติเกี่ยวกับลิ้นหัวใจ ถ้าประเมินแล้วว่าซ่อมแซมได้ ก็ควรซ่อมมากกว่าเปลี่ยนชิ้นใหม่ เพราะจะส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของคนไข้ในระยะยาวมากกว่า และช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตหลังการผ่าตัดด้วย เนื่องจากคนไข้ไม่จำเป็นต้องกินยากันเลือดแข็งในระยะยาว ลดความเสี่ยงต่อภาวะอัมพฤกษ์ อัมพาต หรืออย่างในเด็กเล็ก หากเลือกที่จะเปลี่ยนลิ้นหัวใจใหม่ เมื่อโตขึ้นก็อาจต้องผ่าตัดซ้ำอีก เพราะขนาดของลิ้นหัวใจเล็กกว่าขนาดของร่างกาย แต่ทั้งนี้การซ่อมลิ้นหัวใจ ไม่ได้ทำได้ในทุกราย ต้องดูความเหมาะสมเป็นครั้งๆ ไป อย่างที่โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพนี้จะมีเทคโนโลยีใหม่ที่สามารถแสดงให้เห็นถึงภาพการทำงานของลิ้นหัวใจได้ชัดเจนว่าเป็นอย่างไร มีปัญหาตรงไหน และมีโอกาสในการซ่อมแซมได้มากน้อยเพียงใด เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจให้คนไข้เลือกรูปแบบการรักษาได้ตามความต้องการ

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีเทคนิคซ่อมลิ้นหัวใจอยู่หลายรูปแบบ แต่สิ่งหนึ่งที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงนี้คือการผ่าตัดซ่อมลิ้นหัวใจโดยไม่ต้องผ่าเปิดกระดูกสันอก (Sternum) ซึ่งให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าการผ่าตัดซ่อมลิ้นหัวใจแบบมาตรฐานทั่วไป เพราะได้เปลี่ยนจากการผ่าตัดกระดูกสันอกให้แยกออกจากกันเพื่อเข้าไปซ่อมลิ้นหัวใจ มาเป็นการผ่าตัดส่องกล้องผ่านกระดูกซี่โครงแทน ทำให้ร่างกายฟื้นตัวได้เร็ว สามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติได้ภายใน 1 เดือนหลังผ่าตัด นอกจากนี้ จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ทำให้เข้าใจความต้องการของผู้ป่วยบางกลุ่มได้ว่ายิ่งแผลผ่าตัดเล็กยิ่งดี เพราะนอกจากจะจะช่วยให้ฟื้นตัวได้เร็วแล้ว ยังช่วยเรื่องความสวยงามอีกด้วย ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการใช้ชีวิตตามปกติแบบทันที ทั้งเล่นกีฬา หรือกิจวัตรประจำวันอื่น ๆ ที่ต้องใช้กล้ามเนื้ออก เป็นต้น แต่ยังคงต้องติดตามอาการอย่างต่อเนื่องตามหมอนัด อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Echocardiogram, Echocardiography: Echo) วัดระดับไขมัน ระดับน้ำตาล และภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ

ดังนั้นที่โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ จึงมีเทคนิคเทคนิคซ่อมลิ้นหัวใจ แผลเล็ก 4 ซม. เกิดขึ้น เพื่อมอบคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าให้กับผู้ป่วย โดยเทคนิคนี้จะทำให้ระยะการพักฟื้นสั้นลง จากเดิมประมาณ 7-10 วัน เหลือเพียง 5 – 7 วัน เท่านั้น (ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายพื้นฐานของคนไข้)  

โรคลิ้นหัวใจ ป้องกันได้ 

โรคของลิ้นหัวใจ รวมไปถึงโรคหัวใจอื่น ๆ เราสามารถป้องกันได้ เช่น งดสูบบุหรี่ ควบคุมอาหาร ลดการทานอาหารเค็มจัด ลดน้ำตาล ลดไขมัน และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยครั้งละ 30 นาที 3 วันต่อสัปดาห์ ก็จะช่วยให้สุขภาพดีขึ้นได้ นอกจากนี้ คุณหมอยังเน้นย้ำให้ต้องรักษาสุขภาพช่องปากให้ดีอยู่เสมอ อย่าปล่อยให้มีฟันผุ หรือเกิดการติดเชื้อในช่องปากนานๆ เพราะเชื้อโรคในปากสามารถเข้าไปทำลายลิ้นหัวใจผ่านกระแสเลือดได้ ควรไปพบทันตแพทย์อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image