เมื่อพูดถึง “ต่อมลูกหมาก” (Prostate) หลายคนคงรู้กันดีว่าเป็นต่อมมีท่อที่มีอยู่เฉพาะในเพศชายเท่านั้น แต่ถ้าถามว่าอยู่ตรงไหนหรือมีหน้าที่อะไร เชื่อว่าหลายคนอาจจะไม่ได้รู้ลึกโดยเฉพาะกับเพศหญิงที่อาจจะ ไม่เคยรู้เลยเพราะเป็นเรื่องไกลตัว แต่อย่างไรก็ตามต่อมลูกหมากเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากเมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์ อีกทั้งยังมีบทบาทมากยิ่งขึ้นเมื่อเพศชายเข้าสู่วัยสูงอายุ ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ควรรู้จักและทำความเข้าใจ ในต่อมลูกหมากไปพร้อม ๆ กัน เพื่อหมั่นดูแลกันและไม่มองข้ามปัญหาสุขภาพที่อยู่ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด
ต่อมลูกหมากเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งในระบบสืบพันธุ์เพศชาย อยู่บริเวณใต้กระเพาะปัสสาวะ หน้าท่อทวารหนัก เป็นส่วนที่หุ้มรอบท่อปัสสาวะส่วนต้นเอาไว้ มีหน้าที่สร้างของเหลวและสารหล่อเลี้ยง ตัวอสุจิให้มีความสมบูรณ์ แข็งแรง พร้อมทำหน้าที่ในการสืบพันธุ์ โดยเมื่อเพศชายอายุ 25 ปี ต่อมลูกหมาก ก็เจริญเติบโตเต็มที่คือมีน้ำหนักประมาณ 20 กรัม กว้าง 4 ซม. ยาว 3 ซม. และหนา 2 ซม. ซึ่งขนาดนั้นจะแปรผัน กับอายุ กล่าวคือเมื่ออายุมากขึ้น ต่อมลูกหมากก็มีโอกาสเพิ่มขนาดตามไปด้วย จนเกิดเป็นโรคยอดฮิตที่วัยทอง มักจะหนีไม่พ้นอย่าง โรคต่อมลูกหมากโต (Benign Prostatic Hyperplasia: BPH)
นพ.ดำรงพันธ์ วัฒนะโชติ ผู้อำนวยการศูนย์โรคทางเดินปัสสาวะ รพ.กรุงเทพ เปิดเผยว่า ภาวะเสี่ยงต่อโรคต่อมลูกหมากโตมักจะเกี่ยวข้องกับอายุ โดยจากสถิติในประเทศไทยพบว่า เพศชายที่อายุ 40 ปีขึ้นไป มีโอกาสเกิดโรคต่อมลูกหมากโตเฉลี่ย 1 ใน 4 หรือร้อยละ 25 และความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามอายุที่เพิ่มขึ้น ยิ่งอายุมาก ยิ่งเสี่ยงมาก ปัจจุบันยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัดว่ามาจากอะไร แต่มีข้อบ่งชี้ว่าโรคมีความสัมพันธ์กับฮอร์โมนเพศชาย เพราะเมื่อเพศชายย่างเข้าสู่อายุ 40 ปี ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) จะมีปริมาณลดลง เพราะถูกเปลี่ยนไปเป็นไดไฮโดรเทสโทสเตอโรน (DHT) ซึ่ง DHT นี้เป็นฮอร์โมนตัวสำคัญที่ทำให้ต่อมลูกหมากมีขนาดใหญ่ขึ้นจนไปบีบท่อปัสสาวะ และส่งผลกระทบต่อร่างกาย เกิดเป็นความผิดปกติ 2 กลุ่มหลัก ๆ คือ 1.รู้สึกระคายเคือง (irritative) ทำให้ปัสสาวะบ่อยมากขึ้น เก็บไม่ได้นาน ไม่ถึง 2 ชม. ต่อครั้ง ปวดกลั้น เข้าห้องน้ำไม่ทัน และปัสสาวะบ่อยทั้งช่วงกลางวันและกลางคืน 2.อาการติดขัด (obstructive) คือ ปัสสาวะไม่ออกในทันที ต้องใช้เวลาสักพัก หรือต้องเบ่ง รู้สึกเหมือนมีอะไรปิดกั้นอยู่ สายปัสสาวะเบาลง ขาดช่วง ออกไม่หมด และปัสสาวะไม่ออกในที่สุด ซึ่งในผู้ป่วย 1 คน สามารถเกิดร่วมกันได้ทั้งสองกลุ่มอาการ หรือเกิดเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งก็ได้ หากพบว่ามีอาการเหล่านี้ต่อเนื่องนาน ๆ จนเกิดความรำคาญ หรือทำให้คุณภาพการใช้ชีวิตสูญเสียไป ควรรีบพบหมอทันที
“น้อยไปมาก” ทุกขั้นตอน
เนื่องจากต่อมลูกหมากเป็นอวัยวะที่อยู่ในร่างกาย คุณผู้ชายจึงอาจจะกังวลในขั้นตอนการวินิจฉัยโรค ซึ่งเรื่องนี้คุณหมอดำรงพันธ์ช่วยยืนยันให้ว่า “การตรวจวินิจฉัยโรคต่อมลูกหมากโตนั้นมีหลายวิธี และไม่จำเป็น ต้องถึงขั้นตรวจภายในเสมอไป ซึ่งหลักการตรวจจะเริ่มจากน้อยไปมาก เพื่อไม่ให้รบกวนความรู้สึกหรือสร้าง ความไม่สะดวกใจให้ผู้เข้ารับการตรวจ”
การวินิจฉัยโรคจะเริ่มด้วยวิธีง่าย ๆ อย่างการใช้คะแนนดัชนีอาการของต่อมลูกหมากโต (The international Prostate Symptom Score: IPSS Score) สำหรับประเมินความถี่ และความบ่อยของอาการบ่งชี้ต่าง ๆ แล้วนำมาคิดเป็นคะแนน จัดแบ่งกลุ่มอาการของโรคตามระดับความรุนแรง คือ กลุ่มที่มีอาการน้อย ปานกลาง และมาก เพื่อประเมินว่าอาการของโรครบกวนการใช้ชีวิตของผู้ป่วยหรือไม่ หรือควรได้รับการรักษาอย่างไร ต่อมาจะเป็นการตรวจอัตราการไหลของการปัสสาวะ (Uroflowmetry: UFM) เป็นวิธีการตรวจที่ดีที่สุด เพราะทำให้ทราบได้ชัดเจนเลยว่าปัสสาวะมีความผิดปกติอย่างไร โดยให้ผู้ป่วยปัสสาวะลงไปในเครื่องตรวจ เพื่อวัดผลต่าง ๆ ออกมาเป็นกราฟ เช่น ปริมาณปัสสาวะที่ออกมา ความแรง ความต่อเนื่องของปัสสาวะ เป็นต้น พร้อมทั้งใช้เครื่องอัลตราซาวด์หน้าท้องควบคู่ไปด้วย เพื่อดูว่ามีปัสสาวะตกค้างอยู่มากน้อยเพียงใด ซึ่งทั้งหมด นี้ก็สามารถวินิจฉัยโรคต่อมลูกหมากโตได้แม่นยำกว่า 80% แล้ว แต่ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นที่จะต้องทราบ ขนาดที่ชัดเจนของต่อมลูกหมาก หมอจึงจะเลือกใช้วิธีคลำเพื่อวัดขนาดต่อมลูกหมากผ่านช่องทวารหนัก พร้อมกับตรวจอาการของโรคอื่น ๆ ไปด้วย เช่น ตรวจความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ด้วยการคลำผิว สัมผัสของต่อมที่แข็งผิดปกติ และดูจากผลเลือด PSA (Prostate-Specific Antigen) เป็นต้น ทั้งนี้แต่ละโรคไม่มี ความเกี่ยวข้องกัน แต่อาจเกิดอาการร่วมกันได้
ในส่วนของการรักษาก็เช่นกัน ที่จะเริ่มจากน้อยไปมาก คือ เริ่มจากเฝ้าดูอาการก่อนว่ามีอาการมากน้อย เพียงใดแล้วจึงค่อยให้การรักษา ถ้าผู้ป่วยมีขนาดต่อมลูกหมากไม่ใหญ่มากนัก จะเริ่มด้วยการกินยาประเภท Alpha blocker หรือยาคลายกล้ามเนื้อเรียบของต่อมลูกหมาก ที่จะช่วยให้ต่อมลูกหมากคลายตัว ไม่บีบเกร็งมากเกินไป ขนาดท่อปัสสาวะกว้างขึ้น ทำให้ปัสสาวะได้คล่องขึ้น เบ่งปัสสาวะน้อยลง โดยต้องกินต่อเนื่อง 4 – 6 สัปดาห์ มีผลข้างเคียงเล็กน้อย เช่น เวียนศรีษะ อ่อนเพลีย คัดจมูก เป็นต้น และถ้าผู้ป่วยมีต่อมลูกหมากขนาดใหญ่กว่า 40 กรัมขึ้นไป ต้องใช้ยาประเภท 5 alpha-reductase inhibitor ซึ่งเป็นยาที่จะไปยับยั้งเอนไซม์ 5 alpha-reductase มีฤทธิ์ทำให้ต่อมลูกหมากเล็กลงประมาณ 20% ในระยะ เวลาประมาณ 6-12 เดือน เนื่องจากยากลุ่มนี้มีผลยับยั้งฮอร์โมนไดไฮโดรเทสโทสเตอโรนอาจมีผลข้างเคียง จากการที่ฮอร์โมนลดลงได้บ้าง เช่น ความต้องการและสมรรถภาพทางเพศลดลง เป็นต้น ซึ่งในบางกรณีจำเป็น ต้องใช้ยาสองประเภทนี้ควบคู่กัน โดยจากสถิติแล้ว 1 ใน 4 ของผู้ที่ทานยามีโอกาสดีขึ้นและสามารถลด ปริมาณยาลงได้ จำนวน 2 ใน 4 ยังต้องกินยาต่อเนื่องยาวนาน และ 1 ส่วนสุดท้ายที่ไม่ดีขึ้นจำเป็นต้องเข้ารับ การรักษาในขั้นรักษาเพิ่มเติมด้วยยาสมุนไพรประเภท Saw Palmetto หรือบางคนชอบเลือกใช้การผ่าตัด โดยใช้กล้องส่อง (Transurethral Resection of the Prostate: TUR-P) เพื่อขูดต่อมลูกหมากออกมาบางส่วน หรือทั้งหมด ตามความเหมาะสมของแต่ละกรณี วิธีนี้มีระยะฟื้นตัวจะอยู่ที่ประมาณ 2-6 อาทิตย์ – 3 เดือน ก็จะหายเป็นปกติและใช้ชีวิตได้ตามเดิม อย่างไรก็ตาม อาจพบผลข้างเคียงอยู่บ้าง เช่น หลังจากผ่าตัดประมาณ 2 – 3 วัน อาจมีเลือดออกมาเล็กน้อย แต่ไม่ได้มากจนต้องให้เลือดเพิ่มแต่อย่างใด และหลังจากผ่าตัดประมาณ 1 ปี บริเวณเนื้อเยื่อที่ถูกตัดออกไป อาจจะมีโอกาสเกิดพังผืดประมาณร้อยละ 10 จากผู้ป่วยทั้งหมด รวมถึงอาจมี ความรู้สึกทางเพศลดลง และอาจมีการหลั่งน้ำอสุจิออกมาน้อยลงไปด้วย เนื่องจากน้ำอสุจิไหลบางส่วน จะไหลย้อนกลับทางช่องที่ผ่าตัดไว้
โรคห่างไกล ด้วยเคล็ด (ไม่) ลับ
ถึงแม้โรคต่อมลูกหมากโตจะเป็นเรื่องใกล้ตัวและดูเหมือนจะเลี่ยงไม่ได้ แต่เราสามารถสร้างสุขภาพที่ดี ให้ต่อมลูกหมากได้ไม่ยาก ด้วยการฝึกขับถ่ายปัสสาวะให้ถูกวิธี ที่ไม่ว่าจะเป็นบุคคลทั่วไปหรือผู้ป่วยก็ควรรู้ไว้ เพื่อนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน คุณหมอได้แนะนำเคล็ดลับที่น่าสนใจไว้ว่า การทำการฝึกให้สรีระของ การขับถ่ายเป็นไปอย่างถูกต้อง เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะต่อมลูกหมากโตเกี่ยวข้องกับการปัสสาวะโดยตรง ดังนั้นควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตั้งแต่ตอนนี้ คือ ไม่อั้นปัสสาวะจนมากเกินไป ควรเก็บให้พอดีแล้วไป ปัสสาวะออกอย่างผ่อนคลาย เพราะการปัสสาวะที่ดีนั้นต้องมาจากคำสั่งจากสมอง ไม่ใช่มาจากการเบ่ง ต้องใช้ความคิดคำสั่งจากสมองลงมาให้เราคลาย หูรูดท่อปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะก็จะบีบตัว แล้วปล่อยปัสสาวะออกมา ให้ใช้เวลาเต็มที่ในห้องน้ำ อยู่จนกว่าจะแน่ใจว่าปัสสาวะออกหมด ไม่ต้องรีบร้อน รวมทั้งควรฝึกขมิบอุ้งเชิงกรานบ่อย ๆ เพื่อให้สามารถควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อทางเดินปัสสาวะได้ดีขึ้น นอกจากนี้ ควรดื่มน้ำสะอาดวันละ 6 – 8 แก้ว หรือ 1,500 – 2,000 ซีซี ลดการดื่มคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ เพราะจะทำให้ปัสสาวะมากขึ้น ลดอาหารไขมันสูง ลดอาหารเค็มจัดและรสหวาน เพิ่มการกินผักที่ดีต่อต่อมลูกหมาก เช่น มะเขือเทศ เมล็ดฟักทองคั่วที่ไม่ปรุงรส แครอท ฟักทอง และควรหมั่นสังเกตความผิดปกติของปัสสาวะอยู่เสมอ ที่สำคัญ เมื่อเพศชายอายุ 40 ปี ขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจต่อมลูกหมากปีละ 1 ครั้งด้วย สำหรับเรื่องการมีเพศสัมพันธ์นั้น คุณหมอบอกว่ามีได้ปกติ ไม่ต้องกังวล แต่ควรมีแบบพอดี ๆ แบ่งปันกันกับคู่ครอง
“โรคต่อมลูกหมากโต แม้จะเป็นโรคในเพศชาย แต่พฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ก็ส่งผลต่อคู่ชีวิตด้วยเหมือนกัน ดังนั้นคนในครอบครัวควรหมั่นสังเกตซึ่งกันและกันว่ามีอะไรผิดปกติไปบ้าง” นพ.ดำรงพันธ์กล่าวทิ้งท้าย