รู้จัก ‘วังจันทร์วัลเลย์’ เมืองอัจฉริยะต้นแบบสมาร์ทซิตี้

เรียกว่ากำลังเป็นที่กล่าวถึงอย่างมากในแวดวงนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างประเทศ สำหรับการเปิดตัวโครงการ 5G x UAV SANDBOX WANGCHAN VALLEY ที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ผนึกกำลังร่วมกับพันธมิตรด้านโทรคมนาคมเปิดพื้นที่ทดลอง ทดสอบเทคโนโลยี 5G มาใช้กับโดรน อันเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม และเทคโนโลยี 5G ภายในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ (Wangchan Valley) และประกาศความพร้อมสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ทั้ง 7 ด้านในปีพ.ศ. 2564 มาทำความรู้จัก “วังจันทร์วัลเลย์” ซึ่งตั้งอยู่ในตำบลป่ายุบใน อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง บนพื้นที่ 3,454 ไร่ แต่เดิมเป็นที่ดินของบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ต่อมาทางไออาร์พีซีได้ขายพื้นที่แปลงนี้ให้กับ ปตท. โดยในปีพ.ศ. 2556 ได้เข้ามาบริหารและใช้ประโยชน์จากที่ดิน โดยใช้ชื่อว่า “โครงการพัฒนาการใช้ประโยชน์ที่ดินของ ปตท. อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง” ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนเป็น “วังจันทร์วัลเลย์” จุดประสงค์เพื่อฟื้นฟู พัฒนาพื้นที่และปรับปรุงสภาพทางนิเวศวิทยาด้านสิ่งแวดล้อมให้สมบูรณ์และยั่งยืน 

ขณะเดียวกันก็พัฒนาพื้นที่เพื่อรองรับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561 – 2580 แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2564) ด้วยแนวคิด Powering Thailand’s Transformation ตั้งเป้าเป็นฐานที่ตั้งสำคัญของเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) เพื่อให้ประเทศไทยสามารถสร้างห่วงโซ่มูลค่าทางเศรษฐกิจ ทั้งในภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตร และภาคบริการ กระจายผลประโยชน์จากการพัฒนา ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ และนำไปสู่การเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกภาคส่วนของประเทศ

Advertisement

ปตท. ได้ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ ในรูปแบบ Smart Natural Innovation Platform เพื่อรองรับงานวิจัยและนวัตกรรม โดยแบ่งออกเป็น 3 โซน ได้แก่ พื้นที่เพื่อการศึกษา (Education Zone) ด้วยความร่วมมือของ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จึงพัฒนาพื้นที่เพื่อการศึกษาและการเรียนรู้สู่การเป็นสถาบันอุดมศึกษา และโรงเรียนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาตรฐานระดับโลก ซึ่งมีพื้นที่ที่พัฒนาแล้ว ได้แก่ สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC), โรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) พร้อมกันนี้ยังมีเป้าหมายการสร้างพื้นที่สีเขียวและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในพื้นที่ จึงจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ ขึ้นเพื่อเป็นสถานที่รวบรวมองค์ความรู้ การพัฒนางานวิจัยด้านการปลูกฟื้นฟูและจัดการป่าไม้ ที่ ปตท. ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมากว่า 20 ปี รวมทั้งจัดตั้งศูนย์เรียนรู้เกษตรนวัต สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา

เป็นศูนย์การเรียนรู้ในการพัฒนาพื้นที่เกษตรโดยใช้แนวคิดวนเกษตร เกษตรผสมผสาน ใช้พืชเศรษฐกิจที่สามารถสร้างรายได้ทั้งในระยะสั้น ปานกลาง และระยะยาว ที่จะยกระดับผลผลิตทางการเกษตรด้วยระบบ Smart Farming จึงนับเป็นการพัฒนาพื้นที่สำหรับสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ให้กับประเทศไทยอีกแห่งหนึ่ง

Advertisement

ต่อมาคือพื้นที่เพื่อการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม (Innovation Zone) พื้นที่ที่จะพัฒนาเป็นศูนย์วิจัยพัฒนา และนวัตกรรม หรือ Smart Innovation Platform เพื่อยกระดับความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแบบก้าวกระโดด โดยออกแบบโครงสร้างพื้นฐานและบริการไว้อย่างครบวงจร โดยผลักดันผ่านโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรม อาทิ Plant Factory, Greenhouse, Pilot Plant, Demonstration Plant, Prototyping Facility, Testing Service Center, Testbed, Synchrotron Facility เป็นต้น ซึ่งภาคเอกชนสามารถใช้บริการหรือเช่าพื้นที่ระยะยาวเพื่อทำนวัตกรรมของบริษัทเองได้ โดยได้รับสิทธิประโยชน์ BOI สูงสุด และยังเป็น Regulatory Sandbox สำหรับนวัตรรมที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่นี้อีกด้วย  นอกจากนี้ ยังมีศูนย์ข้อมูล (Data Center) ส่วนกลาง และอาคารศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะ (Intelligent Operation Center : IOC) ซึ่งมีการวางโครงข่ายเชื่อมโยงกับระบบอัจฉริยะต่างๆ เพื่อบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์ต่อยอดในเชิงธุรกิจ ซึ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้วตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

และโซนสุดท้ายคือพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวก ที่พักอาศัยและสันทนาการ (Community Zone) พื้นที่ซึ่งจะพัฒนาให้เป็นพื้นที่สำหรับที่อยู่อาศัยและสันทนาการ รองรับความเป็นอยู่ของนักวิจัยและครอบครัว นักเรียน นักศึกษา และผู้ประกอบการที่ทำงานในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ ได้แก่ โรงเรียนนานาชาติ โรงแรมและที่พักอาศัย ศูนย์การค้าและนันทนาการ

ขณะนี้วังจันทร์วัลเลย์ ได้รับการประกาศเป็นเขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ จากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล พร้อมสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ของประเทศ ครบทั้ง 7 ด้าน ตามหลักเกณฑ์การส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ Smart City Thailand ซึ่งก็คือ Smart Economy , Smart People, Smart Living, Smart Environment, Smart Mobility, Smart Energy และ Smart Governance ซึ่งนับว่ามาเร็วกว่ากำหนด ด้วยความตั้งใจจริงของผู้ร่วมพัฒนาพื้นที่ ทั้งปตท. พันธมิตรทั้งภาครัฐและองค์กรเอกชน ทำให้ความคืบหน้าของการก่อสร้างโครงการภายในวังจันทร์วัลเลย์ทั้ง 3 โซน คืบหน้าถึง 95% และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในต้นปี พ.ศ. 2564 และเริ่มให้บริการแก่นักลงทุนในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีหน้า โดยหลังจากพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานแล้วเสร็จ ปตท.จะเร่งสร้าง Ecosystem ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวกับ New S-Curve แสวงหาพันธมิตรเพิ่มเติมเพื่อสร้างความร่วมมือและผลักดันพื้นที่ให้เหมาะสมกับการพัฒนานวัตกรรมอย่างแท้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image