‘มะเร็งปอด’ โรคร้ายที่ไม่ได้มาจากบุหรี่เท่านั้น

ช่วงหลายปีมานี้ คนไทยค่อนข้างตื่นตัวในเรื่องของสุขภาพ ทั้งดูแลร่างกายด้วยการออกกำลังกาย เข้าฟิตเนสเพื่อให้มีกล้าม หรือเล่นกีฬาที่เป็นกระแสมาพักใหญ่อย่าง ‘วิ่งและปั่น’ ต่อด้วยเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ ถ้าเข้าขั้นสุดก็คือกินแต่อาหารลีน

แล้วถ้าพูดถึงเรื่องการดูแลสุขภาพ แน่นอนว่าเทรนด์ของคนยุคใหม่ต้องไม่สูบบุหรี่ เพราะส่วนใหญ่ก็จะรู้กันว่าพิษภัยของบุหรี่นั้นก่อให้เกิดโรคร้ายอย่างมะเร็งปอดและโรคถุงลมโป่งพอง

แต่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า ‘มะเร็งปอด’ ไม่ได้มาจากการสูบบุหรี่เท่านั้น ยังมีปัจจัยอื่นๆ มาเกี่ยวข้อง

แพทย์หญิงพจนา จิตตวัฒนรัตน์ แพทย์อายุรกรรมโรคมะเร็ง โรงพยาบาลมะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ เจ้าของเพจดัง ‘หมอซัง สุขภาพดีมีคำตอบ ให้ความรู้เรื่องของโรคมะเร็งปอดว่า แบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ 2 ชนิด คือ ชนิดเซลส์ขนาดใหญ่ (nonsmall cell lung cancer) และชนิดเซลส์ขนาดเล็ก (small cell lung cancer) โรคนี้ถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตในกลุ่มมะเร็งเป็นอันดับต้นๆ

Advertisement

“หากดูจากสถิติล่าสุดของผู้ป่วยมะเร็งทั่วโลกเมื่อปี 2018 พบว่า มะเร็งปอดมีอัตราการเป็นสูงที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง รวมถึงมีอัตราการเสียชีวิตเป็นอันดับหนึ่งด้วยเช่นกัน ในปีเดียวกันนั้นทั่วโลกมีผู้ป่วยมะเร็งปอดที่เกิดขึ้นใหม่ประมาณ 2 ล้านคน เสียชีวิตจากมะเร็งปอดเป็นอันดับหนึ่งประมาณ 1.7 ล้านคน ถือเป็นอัตราการเป็นมะเร็งชนิดใหม่ที่มากที่สุดและเสียชีวิตมากที่สุด”

สำหรับประเทศไทยก็มีสัดส่วนเช่นเดียวกับทั่วโลก พบว่า ผู้ป่วยมะเร็งปอดทั้งชาย-หญิงรวมกันแล้วยังถือว่าเป็นแชมป์อันดับหนึ่ง โดยมีจำนวนทั้งหมด 23,957 คน หากแยกเป็นเพศชายและหญิง พบว่าเกิดในเพศชายมากกว่าเพศหญิง โดยเพศชายป่วยเป็นมะเร็งปอดอันดับสองรองจากมะเร็งตับ ส่วนเพศหญิงถือว่าอยู่ในอันดับ 4

เมื่อรวมแล้วก็นับได้ว่า มะเร็งปอดทำให้มีอัตราการเสียชีวิตเป็นอันดับ 2 หรือประมาณ 18.7% ของมะเร็งทั้งหมดในประเทศไทย คิดเป็นผู้เสียชีวิตประมาณ 21,371 คน

Advertisement

คุณหมอซังบอกว่า แม้สาเหตุการป่วยเป็นมะเร็งปอดมาจากการสูบบุหรี่เป็นหลัก แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่นๆ มาเกี่ยวข้อง โดยในประเทศแถบเอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นมีประชากรที่พบเจอว่า มียีนที่ผิดปกติหรือเป็นการผ่าเหล่าของยีน เรียกว่า ‘EGFR mutation’ ซึ่งวงการแพทย์ยังไม่ทราบถึงสาเหตุที่ชัดเจนของความผิดปกตินั้น 

“ประมาณ 60% ของผู้ป่วยมะเร็งปอดในประเทศไทยพบว่ามียีน EGFR mutation ก็คือคนที่มียีนผิดปกติแล้วป่วยเป็นมะเร็งปอดส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากการสูบบุหรี่ จึงชัดเจนว่าถึงจะไม่สูบบุหรี่ก็สามารถเป็นมะเร็งปอดได้”

EGFR ไม่ได้เป็นยีนที่ถ่ายทอดทางกรรรมพันธุ์ แต่เป็นยีนผิดปกติที่เกิดขึ้นเองในเซลส์ปอด หากในร่างกายมียีนผิดปกติเพียงตัวเดียวก็สามารถทำให้เป็นมะเร็งปอดได้ทันที 

อย่างไรก็ดี แพทย์อายุรกรรมโรคมะเร็ง รพ.มะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ ย้ำว่า สำหรับในทั่วโลกแล้ว บุหรี่ยังต้องถือว่าเป็นสาเหตุหลักของการเป็นมะเร็งปอด โดยล่าสุดยังพบอีกว่า เรื่องของมลภาวะจาก PM2.5 ก็มีหลักฐานมากขึ้นเรื่อยๆ มีความสัมพันธ์กับอัตราการเป็นมะเร็งปอด ตลอดจนทำให้เกิดเป็นมะเร็งชนิดอื่นๆ ด้วย

“สำหรับแนวทางการรักษาโรคมะเร็งปอดในปัจจุบัน ถ้าเพิ่งเป็นในระยะที่ 0 ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 จะใช้วิธีการผ่าตัดเป็นหลัก หลังจากผ่าตัดไปแล้วก็จะมีการติดตามผล อาจจะต้องรักษาต่อด้วยยาเคมีบำบัด หรือฉายรังสี หรือให้ยาภูมิต้านทานบำบัด แต่หากอยู่ในระยะที่ 3 ก็จะพิจารณาอีกว่า สามารถผ่าตัดได้หรือไม่ ถ้ามะเร็งมีขนาดใหญ่หรือมีต่อมน้ำเหลืองกระจายมาก ก็จะต้องใช้วิธีฉายรังสีร่วมกับยาเคมีบำบัด หลังจากนั้นจึงจะมีการให้ยาภูมิต้านทานบำบัด”

เมื่อไม่กี่วันมานี้ มีข่าวค่อนข้างดังในโลกโซเชียลที่เกี่ยวข้องถึง ‘ยามุ่งเป้า’ (targeted therapy) ซึ่งหลายคนอาจจะเพิ่งเคยได้ยินเป็นครั้งแรกและเข้าใจว่ายานี้สามารถช่วยรักษาหรือยื้อชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็งได้ทั้งหมด คุณหมอซังชี้แจงว่า อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น ผู้ป่วยมะเร็งปอดประมาณ 60% ในประเทศไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่าเกิดจากยีนที่ผิดปกติ ซึ่งในทางการแพทย์แล้วสามารถรักษาโดยใช้ยามุ่งเป้าได้ เนื่องจากคุณสมบัติของยาตัวนี้จะไปยับยั้งโปรตีนบางอย่างภายในเซลส์ ส่งผลให้เซลส์มะเร็งแบ่งตัวต่อออกไปไม่ได้ แต่หากไม่ได้เป็นมะเร็งจากการที่มียีนส์ผิดปกติ ก็จะไม่สามารถให้ยามุ่งเป้าได้ จะต้องรักษาด้วยยาเคมีบำบัด และหรือร่วมกับยาภูมิต้านทานบำบัด

“มีกรณีผู้ป่วยของ รพ.มะเร็งกรุงเทพ วัฒโนสถ เป็นหญิงวัยเกือบ 60 ปี ไม่มีพฤติกรรมสูบบุหรี่ ตรวจพบว่าเป็นมะเร็งปอดทั้ง 2 ข้างในระยะที่ 4 แล้วยังกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลือง รวมถึงจุดเล็กๆ ในสมอง ผู้ป่วยรายนี้มียีนผิดปกติ EGFR ได้รับการรักษาโดยการรับประทานยามุ่งเป้า จนถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 2 ปี เมื่อสแกนตัวโรคก็พบว่าคนไข้มีอาการดีขึ้นจากตัวโรคที่ควบคุมได้ ศัพท์ทางการแพทย์เรียกว่าโรคสงบ ทุกวันนี้ใช้ชีวิตเหมือนคนปกติทั่วไป โดยกินยาเพียงวันละเม็ด จะดูไม่รู้เลยว่าผู้หญิงคนนี้เคยป่วยเป็นมะเร็งปอด”

คุณหมอยังมีคำแนะนำให้กับผู้ที่ต้องการตรวจสุขภาพประจำปีว่า ควรจะพบแพทย์ก่อนเพื่อประเมินโอกาสเสี่ยงในการเกิดโรคว่ามีมากน้อยอย่างไร หากเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น สูบบุหรี่เป็นประจำ หรือสัมผัสควันบุหรี่ หรือว่าอยู่ในที่ที่มีมลภาวะบ่อยๆ ก็อาจจะเริ่มตรวจเบื้องต้นจากการเอ็กซ์เรย์คอมพิวเตอร์ปอด (Low Dose CT) เพื่อดูความผิดปกติ

 “สำหรับวิธีการป้องกันไม่ให้เป็นมะเร็งปอด นอกจากต้องงดสูบบุหรี่ซึ่งเป็นปัจจัยหลักแล้ว ยังต้องหลีกเลี่ยงบุหรี่มือสองจากการสัมผัสควันบุหรี่ เวลาออกไปข้างนอกก็ควรใส่หน้ากากเพื่อปกป้องตัวเองจากมลภาวะฝุ่น ควันท่อไอเสียรถ ฯลฯ ที่สำคัญคือต้องหมั่นออกกำลังกาย และรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หากร่างกายแข็งแรง โอกาสที่จะเจ็บป่วยหรือเป็นมะเร็งก็น้อยลงไป”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image