ผลกระทบระยะยาวววของโควิด-19

ดร. สมชัย อมรธรรม
ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์
บลจ. กรุงไทย

วิกฤติโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบไปยังทุกประเทศทั่วโลก เราเผชิญกับการหยุดชะงักของกิจกรรมอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน อัตราการเติบโตติดลบเป็นส่วนใหญ่ แต่อย่างน้อยเราก็พอที่จะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์จากความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีน พอมีความหวังที่ทุกอย่างจะค่อยๆ กลับมาใกล้เคียงเดิม อาจจะไม่เหมือนเดิมเสียทีเดียว เพราะวิถีชีวิตแบบใหม่ที่ต่างไปจากเดิม (New Normal) แต่ก็ใกล้เคียงเดิมกว่าในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม วิกฤติสาธารณสุขในครั้งนี้น่าจะสร้าง “แผลเป็น” ขนาดใหญ่ให้เกิดขึ้นในเศรษฐกิจ ซึ่งน่าจะสร้างผลกระทบระยะยาวให้เกิดขึ้น แม้ว่าการแพร่ระบาดของโควิดจะหายไปในเร็ววันนี้ก็ตาม (เพี้ยง!)

ผลกระทบระยะถัดไปที่พูดกันถึงบ่อยๆ คือ หนี้ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นหนี้สาธารณะ (หนี้ของรัฐบาล) หนี้ของบริษัทเอกชน หรือหนี้ครัวเรือน โดย IMF ประเมินหนี้สาธารณะของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วเพิ่มขึ้นจาก 104% ของ GDP ณ สิ้นปี 2019 ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 เป็น 124% ภายในสิ้นปีนี้ อันยังไม่รวมมาตรการกระตุ้นที่ออกมาปลายปีก่อนและต้นปีนี้ ส่วนหนี้ครัวเรือนในไทยเพิ่มขึ้นจาก 79.5% ของ GDP ก่อนวิกฤติโควิด เป็น 86.7% ณ สิ้นไตรมาส 3 ปีก่อน

หนี้ที่เพิ่มขึ้นย่อมทำให้ฐานะทางการเงินอ่อนแอลง เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นแล้วก็จำเป็นต้องมีการปรับฐานะทางการเงินนั้นให้แข็งแกร่งขึ้น ซึ่งจะไปจำกัดความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยหรือการลงทุนในอนาคต นอกจากนี้ ระดับหนี้ที่สูงนี้ยังอาจจะส่งผลไปถึงแนวโน้มของดอกเบี้ยและประสิทธิภาพของเศรษฐกิจในอนาคตด้วย การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่ได้แข็งแกร่งทำให้ดอกเบี้ยคงปรับขึ้นได้ไม่สูงนัก หากภาระการจ่ายดอกเบี้ยก็สูงขึ้นมากเกินไป ก็จะเข้าไปกัดกร่อนความสามารถในการชำระหนี้เข้าไปอีก อีกทั้ง โอกาสเกิด “บริษัทผีดิบ” (Zombie Firm) ก็สูงขึ้น ซึ่งบริษัทเหล่านี้ก็คือบริษัทที่มี “หนี้สินล้นพ้นตัว” ที่อาจจะยังพอจะจ่ายคืนดอกเบี้ยได้ แต่ไม่สามารถจ่ายคืนเงินต้นได้ และยังต้องการความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง อย่างในกรณีศึกษาของญี่ปุ่น การคงอยู่ของบริษัทเช่นนี้อาจทำให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่มีประสิทธิภาพ มีส่วนทำให้เกิด Loss Decade(s) ในญี่ปุ่น ซึ่งปัญหาหนี้ที่สูงขึ้นนี้จะสร้างความท้าทายให้กับผู้ดำเนินนโยบายและเศรษฐกิจอีกหลายปีข้างหน้า เป็นผลกระทบระยะยาว ที่อาจจะไม่ได้ยาวมากนัก เมื่อเทียบกับผลกระทบอื่นๆ ที่จะพูดถึงต่อไป

Advertisement

สำหรับผลกระทบระยะยาว ในระดับปานกลาง  คือ ปัญหาสุขภาพ มีคำถามเกิดขึ้นว่าจะกระทบต่อคุณภาพแรงงานในอนาคตหรือไม่ จากตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 102 ล้านคนทั่วโลก และเสียชีวิต 2 ล้านคน หมายความว่ามีผู้ที่ติดเชื้อและหายดีประมาณ 100 ล้านคน หรือคิดเป็นประมาณ 1% ของประชากรทั่วโลก (เท่าที่มีการรายงาน) เริ่มมีการศึกษาถึงผลข้างเคียงจากการติดเชื้อโควิด-19 บ้าง ซึ่งคงเป็นประเด็นที่ต้องหาข้อเท็จจริงกันต่อไปว่าจะส่งผลกระทบต่อคุณภาพของแรงงานมากน้อยเพียงใด แต่อย่างน้อยที่สุด ข้อดีที่เกิดขึ้นในการแพร่ระบาดครั้งนี้ คือ การควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดที่ดีกว่าในอดีตอยู่มาก อีกทั้ง ในครั้งก่อนๆ กลุ่มเสี่ยงนั้นไม่ได้เลือกเพศหรือวัย การระบาดที่เกิดขึ้นส่งผลต่อปริมาณกำลังแรงงานให้ลดลงไปอย่างมาก อย่างเช่น Spanish Flu ที่มีการติดเชื้อไป 1 ใน 3 ของประชากรทั่วโลก และคร่าชีวิตคนไปประมาณ 20-50 ล้านคน  หรืออย่าง การแพร่ระบาดของกาฬโรคในช่วงศตวรรษที่ 14 ที่มีคนเสียชีวติไป 2 ใน 3 ของประชากรยุโรป ทำให้ภาวะการขาดแคลนแรงงานรุนแรงตามมา ค่าจ้างแรงงานพุ่งสูงขึ้น แต่ปัญหาการขาดแคลนแรงงานนี้คงไม่เกิดขึ้นคราวนี้ เพราะการป้องกันที่ดีในหลายประเทศ แต่นอกจากเรื่องสุขภาพร่างกายแล้ว ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจเป็นในด้านสุขภาพจิตได้ด้วย (ซึ่งอาจเกิดกับคนที่ไม่ได้ติดโควิดก็ได้ แต่เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่) 

ส่วนผลกระทบในระยะยาว ที่ยาวมากๆ  เรามองไปถึงเรื่องการศึกษา ในช่วงการระบาดที่รุนแรงขึ้น หรือแม้กระทั่งการระบาดระลอกล่าสุดนี้ หลายประเทศจำเป็นปิดสถานที่ต่างๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ซึ่งรวมไปถึงโรงเรียน-สถานศึกษาด้วย แม้ว่าบางโรงเรียนจะหันมาใช้การเรียนการสอนแบบออนไลน์แทน แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันทันด่วนเช่นนี้ การเรียนการสอนออนไลน์ก็อาจไม่ได้เข้มข้นเหมือนอย่างในห้องเรียน หรือบางโรงเรียนอาจจะไม่สามารถสอนได้เลย ไม่ว่าจะเป็นเหตุจากด้านผู้เรียนหรือผู้สอนก็ตาม ทั้งนี้ UNICEF ประเมินว่าการระบาดของโควิดรอบล่าสุดตั้งแต่ปลายปีก่อนนี้ ส่งผลกระทบต่อผู้เรียนถึงประมาณ 825 ล้านคนทั่วโลก คิดเป็นประมาณ 10% ของประชากรทั่วโลก

เพราะเด็กคือ “กำลังสำคัญของชาติ” ในภาษาทางเศรษฐศาสตร์แรงงานมีคำว่า “Hysteresis” ที่หมายถึงผลกระทบจากการว่างงงานเป็นเวลานานต่อความสามารถในการหางานทำในอนาคต ฉันใดฉันนั้น การหยุดเรียนไปเป็นเวลานานก็จะมีผลกระทบในอนาคตด้วย ทั้งนี้ มีการประเมินว่าตอบแทนจากการศึกษา (Return to schooling) อยู่ที่ประมาณ 12-13% ต่อปีการศึกษาสำหรับกรณีในไทย และสำหรับผู้ที่อยู่ในแวดวงการเงิน-การลงทุน น่าจะเข้าใจคำว่า “ดอกเบี้ยทบต้น” เป็นอย่างดี การเรียนที่หยุดชะงักไปย่อมส่งผลต่อรายได้ในอนาคตไม่เพียงแต่ในปีแรกของการทำงานเท่านั้น แต่จะกระทบไปตลอดช่วงอายุการทำงานด้วย อีกทั้ง ผลกระทบของการหยุดชะงักของการเรียนนั้นอาจไม่ได้จำกัดเพียงในมิติของช่วงเวลาที่ใช้ในการเรียนเท่านั้น แต่ยังกระทบถึงความสนใจใฝ่รู้, โอกาสในการหยุดเรียนกลางคัน, การขาดกิจกรรมร่วมในสังคม (ยกเว้นการเล่นเกมส์ออนไลน์) ของผู้เรียนอีกด้วย อีกทั้ง ผลเสียของการหยุดเรียนนี้อาจจะมากขึ้นสำหรับผู้เรียนที่มีโอกาสทางสังคมน้อยกว่า ยิ่งอาจเป็นตัวเร่งความไม่เท่าเทียมกันในอนาคตได้อีก 

Advertisement

เหล่านี้เป็นความท้าทายที่จะเกิดขึ้น แม้ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะจบลงไปก็ตาม ซึ่งผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนจำเป็นต้องเข้ามาดูแลกับความท้าทายเหล่านี้ ให้ความช่วยเหลือที่เพียงพอกับผู้ที่จำเป็น เป็นที่ยอมรับกันว่าวิกฤติครั้งนี้ทำให้เรานำเทคโนโลยีมาใช้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น ซึ่งถือเป็นโอกาสทางธุรกิจและเศรษฐกิจได้เช่นกัน แม้ว่าคำว่า “ในทุกวิกฤติย่อมมีโอกาส” จะเป็นคำพูดที่ใช้จนเฝือ แต่ก็ยังเป็นความจริงอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวิกฤติครั้งนี้และต่อประเด็นผลกระทบระยะยาวที่พูดถึงเหล่านี้ครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image