“ความแห้งแล้ง” เป็นภัยธรรมชาติประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจําทุกปี พอถึงช่วงที่ฝนทิ้งช่วงติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือการกระจายนํ้าฝนที่ตกไม่สม่ำเสมอ ก็มักจะนำความเสียหายมาสู่เศรษฐกิจและสังคม ทั้งทางด้านการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และด้านผลิตผลทางการเกษตรที่ต้องพึ่งพาแหล่งน้ำจากธรรมชาติ
ภัยแล้งในประเทศไทย นอกจากมีสาเหตุมาจากปริมาณน้ำฝนที่น้อยกว่าปกติแล้ว ยังมีปัจจัยที่เป็นสาเหตุให้เกิดภัยแล้งอีกหลายประการ เช่น ปรากฏการณ์ภาวะเรือนกระจก ความผิดปกติของตำแหน่งร่องมรสุม การตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งหลายพื้นที่ต้องเผชิญกับความแห้งแล้งหรือกระทั่งประสบภัยแล้ง อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
การใช้น้ำอย่างประหยัด ใช้น้ำทุกหยดอย่างรู้ค่า จึงเป็นสิ่งที่เราทุกคนจะช่วยกันได้เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้ง
สำหรับเรื่องนี้รัฐบาลก็มีแนวทางการบริหารจัดการน้ำและพัฒนาแหล่งน้ำภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (2561 – 2580) คือ 1.การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค โดยตั้งเป้าประปาหมู่บ้านได้มาตรฐานภายในปี 2573 พร้อมขยายเขตประปา/สำรองน้ำต้นทุนเพื่อรองรับเมืองท่องเที่ยว 2.สร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต โดยพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำและระบบส่งน้ำให้เต็มศักยภาพ ลดความเสียหายในพื้นที่วิกฤติ ร้อยละ 50
3.การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย ป้องกันน้ำท่วมชุมชนเมือง 764 เมือง และบรรเทาอุทกภัยพื้นที่วิกฤติ ร้อยละ 60
4.การจัดการคุณภาพน้ำ และอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ โดยเน้นป้องกันและลดการเกิดน้ำเสียที่ต้นทาง
5.การอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำฯ โดยฟื้นฟูป่าต้นน้ำที่เสื่อมโทรม และป้องกันการเกิดการชะล้างและการพังทลายของดินในพื้นที่เกษตรลาดชัน และ
6.การบริหารจัดการให้เป็นไปตามแผนแม่บท รวมไปถึงสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ พัฒนาวิจัย นวัตกรรม เพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มภาคการบริการและการผลิต
เหล่านี้คาดว่าจะสามารถรับมือกับน้ำท่วมและอุทกภัยที่ไม่คาดฝัน หรือลดความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นให้น้อยที่สุดได้ ด้วยปัจจุบันมีปริมาณน้ำเก็บกักทั้งประเทศอยู่ที่ 40,168 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 52 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ประมาณ 16,126 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งทั้งประเทศมีการใช้น้ำไปแล้ว 12,374 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 65 ของแผนฯ ส่วนในพื้นที่ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำเก็บกักรวมกัน 9,816 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 39 ของความจุอ่างฯรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 3,120 ล้าน ลบ.ม. และมีการใช้น้ำไปแล้ว 3,622 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 72 ของแผนฯ
“ประพิศ จันทร์มา” อธิบดีกรมชลประทาน ได้พูดคุยถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างเป็นระบบและการบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทาน ในห้องประชุมคณะกรรมาธิการ (สว.) กับคณะอนุกรรมาธิการติดตามมติของวุฒิสภา เพื่อติดตามความคืบหน้าผลการดำเนินงานตามกระทู้ถามของสมาชิกวุฒิสภา เกี่ยวกับนโยบายการแก้ไขปัญหาภัยแล้งซ้ำซากอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ จากสถานการณ์น้ำปัจจุบันซึ่งมีพื้นที่ชลประทานประมาณ 34.76 ล้านไร่ เก็บกักน้ำได้ทั้งประเทศกว่า 82,700 ล้าน ลบ.ม. กรมชลประทานได้วางแผนพัฒนาพื้นที่ชลประทานและเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำภายใต้ยุทธศาสตร์กรมชลประทาน 20 ปี (พ.ศ.2561-2580) เพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้มากกว่า 17.94 ล้านไร่ รวมทั้งการเพิ่มปริมาณการเก็บกักน้ำได้เพิ่มอีกกว่า 13,200 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งในปี 2564 ได้ตั้งเป้าที่จะเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 0.2695 ล้านไร่ ปริมาณน้ำเก็บกักเพิ่ม 96.88 ล้าน ลบ.ม.
ขณะที่เรื่องของการควบคุมค่าความเค็มในลุ่มน้ำเจ้าพระยา กรมชลประทานก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ล่าสุดได้ต่อยอดความร่วมมือกับการประปานครหลวง ที่จะลุยปฏิบัติการ “Water Hammer Operation” ซึ่งเป็นการเพิ่มปริมาณน้ำจืด เพื่อนำมาใช้ผลักดันและเจือจางค่าความเค็มบริเวณสถานีสูบน้ำสำแล โดยกำหนดให้หยุดสูบเป็นเวลา 2 ชั่วโมง ในช่วงเวลาน้ำลง เพื่อจะได้มีปริมาณน้ำจืดที่มากพอสำหรับผลักดันลิ่มความเค็มให้เคลื่อนตัวออกไปไกลจากสถานีสูบน้ำสำแล
ควบคู่ไปกับการปิด-เปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ และการสูบน้ำ ซึ่งได้ดำเนินการตามช่วงเวลาที่เหมาะสมตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เนื่องจากขณะนี้มีปริมาณน้ำจืดน้อย การที่จะนำมาดันน้ำเค็มตลอดเวลา อาจมีไม่เพียงพอ จึงต้องใช้กระบวนการดังกล่าวร่วมด้วย
“การควบคุมค่าความเค็ม ระดับความเค็ม หรือปัจจัยต่างๆ ในการผลิตน้ำประปา ในแต่ละพื้นที่จะไม่เท่ากัน เนื่องจากบางพื้นที่อาจมีแหล่งน้ำจืดมาช่วยเจือจางที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องควบคุมค่าความเค็มของแต่ละพื้นที่ตามเกณฑ์ที่กำหนดอย่างเข้มงวด”
นอกจากนี้ กรมชลประทาน ยังได้เตรียมความพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ ประจำในพื้นที่ชลประทานต่างๆ ทั่วประเทศ รวม 5,939 หน่วย ตามข้อสั่งการของ “ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่พร้อมจะเข้าให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ในทันที
อีกทั้งยังได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขและบรรเทาวิกฤติภัยแล้ง เพื่อความเป็นเอกภาพในการบริหารจัดการน้ำในแต่ละพื้นที่ทั่วไทย
แม้ว่าทุกปีจะต้องเผชิญกับแก้วิกฤติ “ภัยแล้ง” ซ้ำแล้วซ้ำอีก กรมชลประทานยังคงยืนหยัดเคียงข้างคนไทยสู้ภัยแล้ง ส่งเครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกน้ำ ช่วยพื้นที่ภัยแล้งอย่างเต็มกำลัง พร้อมขับเคลื่อนทุกภารกิจให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
ด้วยมุ่งหวังให้ประชาชนมีน้ำอุปโภค-บริโภค อย่างเพียงพอ ทั่วถึง และเป็นธรรม และผ่านพ้นวิกฤติภัยแล้งไปพร้อมๆ กัน