‘Health at Home’ สตาร์ตอัพสายเฮลธ์แคร์ อาสาดูแลผู้สูงอายุ ให้สุขภาพดีและมีความสุขที่บ้าน

เพราะเชื่อว่า ‘บ้าน’ คือสถานที่พักฟื้นที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วย 

    ขณะเดียวกันก็ต้องได้รับการดูแลอย่างถูกวิธีและใส่ใจจากผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ด้านนี้โดยเฉพาะ เพราะนอกจากช่วยสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้ป่วยแล้ว ญาติสนิทหรือลูกหลานก็สามารถไว้วางใจและออกไปทำงานได้อย่างไม่ต้องกังวล

    นพ.คณพล ภูมิรัตนประพิณ หรือ ‘หมอตั้ม’ ผู้ก่อตั้ง ‘Health at Home’ สตาร์ตอัพหาคนดูแลผู้สูงอายุประจำบ้าน เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของการพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อให้บริการจัดหาผู้ดูแลที่เหมาะสมสำหรับดูแลผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยที่บ้าน โดยมีมาตรฐานในการคัดเลือกผู้ดูแลเข้ามาในระบบอย่างเข้มงวด ใช้เทคโนโลยีในการทำงานและการดูแลผู้ป่วย เพื่อให้ทุกอย่างมีประสิทธิภาพสูงที่สุด

    “หลังจากเรียนจบแพทย์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็เริ่มทำงานใช้ทุนที่โรงพยาบาลพัทลุง เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลอยู่ 3 ปี จากนั้นก็กลับมาเรียนด้านอายุรศาสตร์ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ แล้วก็ได้ทุนจากโรงพยาบาลกรุงเทพไปเรียนต่อด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ (Geriatric Medicine) ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา พอกลับมาทำงานที่โรงพยาบาลกรุงเทพได้ระยะหนึ่งก็ตัดสินใจลาออกมาทำ Health at Home”

Advertisement

    แรงบันดาลใจที่ทำให้หมอตั้มกลายมาเป็นสตาร์ตอัพสายเฮลท์แคร์นั้น เริ่มจากขณะที่ใช้ชีวิตอยู่อเมริกา ได้เห็นถึงความก้าวหน้าของระบบการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน โดยมีการนำเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยมาใช้มอนิเตอร์ข้อมูล ผู้ป่วยบางรายแม้เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง หรือมีภาวะพึ่งพิง ก็ไม่จำเป็นต้องไปอยู่เนอร์สซิ่งโฮม สามารถใช้ชีวิตท่ามกลางความรักความอบอุ่นของสมาชิกในบ้านตลอด 24 ชั่วโมง

    เมื่อกลับมาทำงานที่เมืองไทย ภาพที่หมอตั้มเห็นทุกวันคือมีคนเจ็บป่วยทั้งโรคและประสบอุบัติเหตุมาเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล เมื่อดีขึ้นก็กลับออกไป เกิดเป็นคำถามอยู่ในใจตลอดเวลาว่า เมื่อคนไข้ออกจากโรงพยาบาลแล้วเขาจะดูแลตัวได้อย่างถูกต้องหรือไม่ จะทำอย่างไรเพื่อช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และกลับมาโรงพยาบาลน้อยครั้งลง เพราะในเวลานั้นยังไม่มีโซลูชั่นใดๆ ที่มาตอบโจทย์ในเรื่องนี้ได้

Advertisement

    “แต่สิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่สุดก็คือ ในอนาคตพ่อแม่เราต้องมีอายุมากขึ้น จำเป็นต้องมีผู้ดูแล จะทำอย่างไรให้พ่อแม่แข็งแรงอย่างมีความสุขที่บ้าน ทำให้อยากพัฒนารูปแบบบริการขึ้นมาเอง และยังเป็นที่มาของชื่อ Health at Home อีกด้วย”

    หลังจากที่ได้ผันตัวเองมาเป็นสตาร์ตอัพโดยร่วมกับผู้ก่อตั้งอีก 2 คน เพื่อช่วยแก้ปัญหาและสร้างบริการดูแลผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยที่บ้าน มีการพัฒนารูปแบบบริการที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องมาเป็นลำดับ โดยรูปแบบการให้บริการของ Health at Home ในปัจจุบันแบ่งเป็น 2 ส่วนหลักๆ ได้แก่ Post-Hospitalization Care บริการจัดส่งผู้ดูแลผู้สูงอายุหลังออกจากโรงพยาบาลแล้วกลับไปอยู่บ้าน (Carepro)หรือถ้าไม่สะดวกอยู่บ้าน ก็ส่งมาได้ที่ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ (Health at Home Care Center

    และอีกส่วนเป็น Pre-Hospitalization บริการก่อนเข้าโรงพยาบาลในรูปแบบคลินิก (Health at Home Medical Clinic) ด้วยการให้คำปรึกษาทางไกล (Telemedicine )โดยแพทย์พร้อมกับรับยา โดยเฉพาะช่วงนี้ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้คนส่วนใหญ่กังวลที่จะเดินทางไปโรงพยาบาล ทีมงานก็จะไปดูแลให้ถึงที่ทำงาน

    จากวันเริ่มต้นจนถึงวันนี้เป็นเวลา 5 ปี Health at Home มอบความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ผู้สูงอายุและผู้ป่วยถึงกว่า 2,000 ครอบครัวภายใต้การดูแลของทีมงาน 30 คน และ ‘Care Pro’ หรือผู้ดูแลอีก 300 คนที่ต้องผ่านการคัดสรรอย่างเข้มงวด เนื่องจากเป็นหัวใจสำคัญของการให้บริการ

    ต้องเริ่มจากการมีทัศนคติที่ดีต่ออาชีพ เข้ารับการอบรมทักษะทางการพยาบาล (Hard Skill) ควบคู่ไปกับทักษะในการสื่อสารและเข้าใจผู้ป่วย (Soft Skill) ก่อนจะออกไปให้บริการดูแลที่ครอบคลุมตั้งแต่ขั้นพื้นฐานไปจนถึงการทำกายภาพบำบัดเบื้องต้น การดูแลผู้ป่วยติดเตียง การวัดสัญญาณชีพเพื่อให้มั่นใจว่าผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยนั้นปลอดภัยดี หรือมีสัญญาณอะไรที่ควรต้องไปโรงพยาบาล เป็นต้น

ต้องเผชิญกับคู่แข่งและอุปสรรค

    “เนื่องจากเป็นรูปแบบธุรกิจที่เมืองไทยมีมาหลายปีแล้ว คู่แข่งส่วนใหญ่คือศูนย์สุขภาพที่ส่งผู้ดูแลไปตามบ้าน แต่จุดเด่นของ Health at Home ที่แตกต่างไปจากที่อื่นๆ คือ ‘มาตรฐาน’ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากของธุรกิจเฮลธ์แคร์เพราะเป็นความปลอดภัยในชีวิตคนไข้”

    คุณหมอสตาร์ตอัพย้ำถึงคำว่ามาตรฐานของ Health at Home จะต้องครบถ้วนทั้งทักษะการดูแลและความซื่อสัตย์ เพื่อให้ผู้รับบริการไม่ต้องเสี่ยงดวงว่าจะได้คนไม่ดีมาอยู่ในบ้าน และเรื่องของ ‘ระบบ’ ที่มีการนำเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้งาน มีรูปแบบการทำงานเป็นทีม สามารถทำงานทดแทนกันได้อย่างเป็นมาตรฐานเดียวกัน มีทีมซัพพอร์ตที่เป็นแพทย์และพยาบาลพร้อมให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง ผู้ดูแลจะต้องบันทึกข้อมูลสุขภาพผู้ป่วยในแอพพลิเคชั่น หากมีอะไรผิดปกติจะได้รับการแจ้งกลับไปว่าจะต้องไปโรงพยาบาลทันที แล้วก็สามารถใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับการวินิจฉัยของแพทย์ด้วย

    สำหรับปัญหาหรืออุปสรรคนั้น หมอตั้มอธิบายว่า แต่ละช่วงจะแตกต่างกันไป ช่วงที่เริ่มทำใหม่ๆ เป็นเรื่องของการที่ลูกค้ายังไม่เชื่อถือ ก็ต้องสร้างความมั่นใจเพื่อให้ลูกค้าเกิดความไว้วางใจ พอมีลูกค้ามากขึ้นก็ตามมาด้วยเรื่องของการเปิดรับผู้ดูแลหรือบุคลากร ต้องทำให้เขาเห็นภาพว่าการร่วมงานกับ Health at Home นั้นดีอย่างไร เช่น ได้รับค่าตอบแทนที่เป็นธรรมและตรงเวลา ได้มีโอกาสเรียนรู้ทักษะทางวิชาชีพด้านนี้เพิ่มขึ้น เป็นต้น

    “อุปสรรคที่สำคัญอีกประการคือเรื่องของการออกแบบประสบการณ์ (User Expereince) เราต้องทำเรื่องที่ซับซ้อนและสับสนให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับผู้รับบริการ ยกตัวอย่างเวลาที่คนไข้ไปโรงพยาบาลแล้วต้องเจอกับความยุ่งยากของขั้นตอนกระบวนการ เราพยายามทำให้เป็นเรื่องง่ายที่สุด ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก” 

ผลกระทบจาก โควิด-19

    สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สร้างความเสียหายให้กับทุกวงการธุรกิจ แต่สำหรับ Health at Home หมอตั้มบอกว่า ในแง่ของดีมานด์ถือว่าไม่มีผลกระทบเท่าใดนัก เพราะยังมีความต้องการใช้บริการอยู่ตลอดเวลา ในด้านซัพพลายก็คือการหาผู้ดูแลนั้นมีความท้าทายขึ้น เพราะการเดินทางช่วงล็อกดาวน์ที่มีการกักตัวทำให้จัดกิจกรรมอบรมได้น้อยลง ส่งผลให้จัดสรรผู้ดูแลได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการ

ความภูมิใจของ Health at Home

    “นอกจากประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง เป็นสตาร์ตอัพที่มีผลประกอบการน่าพอใจ สามารถเลี้ยงตัวเองได้แล้ว เรายังภูมิใจที่ช่วยให้ลูกค้ามีคุณภาพชีวิตที่ดี ยกตัวอย่างมีผู้ป่วยรายหนึ่งด้วยอาการสโตรค ต้องใส่อุปกรณ์พยุงชีวิตหลายอย่าง ขณะที่ลูกก็ต้องออกไปทำงาน แล้ว Health at Home สามารถทำให้เขารู้สึกว่า ฝากพ่อไว้ให้เราดูแลเหมือนกับเป็นคนในครอบครัวจริงๆ แล้วเราดูแลจนผู้ป่วยกลับมาเดินได้ เขาดีใจมาก เหมือนว่าขณะที่พ่อป่วยแต่เขาก็ออกไปทำงานได้เป็นปกติเหมือนกับชีวิตไม่ต้องสะดุด ทุกคนมีความสุข เป็นที่สุดของเรื่องราวประทับใจในมุมของผู้รับบริการ ขณะเดียวกันก็มีประทับใจในแง่ผู้ให้บริการ ก็คือเราได้สร้างอาชีพที่มีคุณค่าให้แก่บรรดาผู้ดูแล บางคนสามารถปลดหนี้ที่บ้านได้ มีเงินส่งลูกจนเรียนจบ บางคนก็ส่งรูปมาให้ดูพร้อมกับขอบคุณที่ Health at Home สร้างอาชีพให้ กระทั่งครอบครัวสามารถลืมตาอ้าปาก มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าเดิมอย่างเห็นได้ชัด

    สเต็ปต่อไปของสตาร์ทอัพสายเฮลท์แคร์อย่างเรา นอกจากให้บริการดูแลผู้ป่วยหลังออกจากโรงพยาบาลแล้ว จะพยายามป้องกันไม่ให้เขากลับเข้าไปโรงพยาบาลอีก โดยเราได้ก้าวเข้าสู่ธรุกิจแบบ B2B คือนำบริการของเราไปดูแลพนักงานบริษัทให้มีสุขภาพแข็งแรง ที่มีชื่อว่า Health at Work (www.healthatwork.in.th) เพราะภาพสุดท้ายเราอยากเป็นตัวช่วยให้กับคนไทยอยู่ห่างไกลโรงพยาบาลมากที่สุด”

หมายเหตุ: บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Startup Thailand Marketplace ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ซึ่งได้ให้การส่งเสริมและสนับสนุน ‘Health at Home’ ด้วยการอบรมให้ความรู้พร้อมมอบทุนสนับสนุนจากการเป็นธุรกิจที่สร้างคุณค่าให้แก่สังคมไทย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image