คุณเคยชิมอาหารบน Food Truck หรือเปล่า
Food Truck เป็นหนึ่งรูปแบบการขายที่เพิ่มเสน่ห์ให้อาหารสตรีทฟู้ดของไทย หรือเป็นลูกเล่นใหม่ มิติใหม่ของอาหารข้างทางใน 5-6 ปีที่ผ่านมา แต่ปัญหาของ ผู้ประกอบการ Food Truck คือ วันนี้มีที่ขาย แต่พรุ่งนี้อาจจะไม่มีที่ขายก็ได้ จึงเป็นโอกาสของสตาร์ทอัพรุ่นใหม่อย่าง We Chef Thailand สตาร์ตอัพว่าด้วยเรื่องการจัดการพื้นที่ขายอาหาร Food Truck ที่มี นิด-วินิจ ลิ่มเจริญ เป็น CEO & Founder จดทะเบียนในชื่อ บริษัท วี เชฟ ประเทศไทย จำกัด เริ่มต้นธุรกิจมาแล้ว 3 ปี เปิดพื้นที่จองช่องจอดขายอาหารมาแล้วหลายที่ ทั้งปั๊มน้ำมันใหญ่ๆ ศูนย์การค้า และอีเวนต์ทั้งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ปัจจุบันมีสมาชิก Food Truck มากกว่า 500 คัน และตั้งเป้าหมายว่าจะต้องมี 1,000 คัน กระจายตัวไปทั่วประเทศภายในปีนี้
ถ้าหากจะให้พูดถึง วินิจ ลิ่มเจริญ หรือ นิด เจ้าของไอเดียและควบตำแหน่ง CEO & Founder We Chef Thailand แต่เขายังมีอีกหลายบทบาท เป็นทั้งอาจารย์สอนด้านธุรกิจอีคอมเมิร์ซ โมเดิร์นเทรด เจ้าของธุรกิจให้บริการซ่อมและทำความสะอาดกระเป๋าแบรนด์เนมและกระเป๋าเดินทาง
แม้จะมีหมวกหลายใบ และได้ชื่อว่าเป็นสตาร์ตอัพรุ่นใหม่ แต่เขากลับบอกว่าไม่เคยฝันว่าจะมาถึงจุดนี้ เพราะแทบไม่ได้ศึกษาด้านอาหารเลยแม้แต่น้อย แต่ด้วยความหลงใหลในอาหาร นิดจึงสนุกกับการคลุกเคล้าไอเดียในแอพพลิเคชั่น We Chef ของเขา และแน่นอนว่าการปรุงอาหารจานแรกจะอร่อยเลยก็ไม่ใช่ จึงมีการลองผิดลองถูก และปรับเปลี่ยนธุรกิจไปเรื่อยๆ บทสนทนาต่อไปนี้ อาจจุดประกายให้กับอีกหลายๆ คน
เปลี่ยนเพื่อให้ธุรกิจเติบโต
นิดได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นของ We Chef Thailand ว่า เมื่อปี 2561 หรือเมื่อ 3 ปีที่ ได้เริ่มต้นพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อเปิดพื้นที่ให้คนที่รักในการทำอาหาร สามารถเปลี่ยนครัวที่บ้าน เป็นอาชีพและสร้างรายได้ ด้วยแนวคิด “เปลี่ยนครัวที่บ้านให้เป็นงาน เปลี่ยนฝีมือทำอาหารให้เป็นเงิน” โดยแอพพลิเคชั่นช่วงแรกจะเป็นตัวกลางในการส่งอาหารจากครัวไปถึงมือคนกินในรูปแบบของดิลิเวอรี แต่หลังจากที่เริ่มทดลองไปสู่ตลาดแล้ว เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่แอพพลิเคชั่น Food Delivery ของต่างประเทศเข้ามาแข่งขันในบ้านเรามากขึ้น ทำให้มองว่าช่องทางนี้หากยิ่งแข่งยิ่งแพ้ ก็เลยมองหาช่องทางอื่นที่จะขายอาหาร
“เป็นความโชคดีของ We Chef Thailand ในวันที่ตัดสินใจเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ เราได้รับพาร์ตเนอร์คนสำคัญอย่าง PT Energy หรือศูนย์บริการน้ำมันพีที เข้ามาร่วมสร้างการบริการใหม่ๆ และเล็งเห็นถึง Pain Point ของธุรกิจ Food Truck ที่มีปัญหาเรื่องที่จอดรถขายอาหาร ตัวปั๊มน้ำมันเองต้องการ Traffic หรือจำนวนคนเข้ามาใช้บริการมากๆ และเกิดประสบการณ์ใหม่ๆ ในการเข้าปั๊มน้ำมันให้กับลูกค้า ขณะที่ผู้ขาย Food Truck ต้องการที่จอดรถ และต้องการตัดปัญหาในเรื่องของเงินทุนเริ่มต้น หรือทักษะที่อาจยังไม่มากพอ จึงนำสองเรื่องนี้มาเป็นไอเดีย รวมกันสร้างเป็นแพลตฟอร์ม We Chef Food Truck @PT station เพื่อเชื่อมระหว่างผู้ขายอาหารกับผู้มีสถานที่ และเชื่อมผู้ขายอาหารกับคนซื้อเข้าด้วยกันโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยบริหารจัดการ” นิดเล่าจุดเปลี่ยนของธุรกิจของ We Chef Thailand
ทางออกในวันที่ธุรกิจไม่ได้ราบรื่น
แต่การทำธุรกิจ ใช่ว่าไอเดียดีแล้วธุรกิจจะราบรื่น ปัญหาหลักของ We Chef Thailand ในช่วงแรกคือการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ขายอาหาร Food Truck เพราะก่อนหน้านี้ Food Truck สร้างรายได้เพียงวันละ 2,000-3,000 บาท ซึ่งถือว่าไม่มากเมื่อเทียบกับการเปิดร้านอาหารหรือออกบูธในงานต่างๆ จึงเป็นหน้าที่ของ We Chef ที่จะสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการ ด้วยการพยายามเข้าไปสื่อสาร และพิสูจน์ให้เห็นว่าธุรกิจ Food Truck แม้จะมีรายได้ไม่มาก แต่มีรายได้ที่แน่นอน ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยเวลาและก้าวข้ามปัญหาไปทีละขั้น
“นับเป็นความโชคดีของ We Chef Thailand ที่ได้รับโอกาสจากผู้สนับสนุนอย่างดีเสมอมา อีกทั้งยังมีพาร์ทเนอร์ที่ร่วมพัฒนาให้ธุรกิจไม่ย่ำอยู่ที่เดิม ผมได้รับการสนับสนุนส่งเสริมและพัฒนาความสามารถด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA) ภายใต้การกำกับของคณะกรรมการนวัตกรรมแห่งชาติ และมีโอกาสได้เป็นหนึ่งในสตาร์ทอัพที่เข้าร่วมโครงการบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี 2562 หรือ ‘SUCCESS 2019’ ของศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี (BIC)“
นิดเล่าว่า NIA ได้เข้ามามีบทบาทเรื่องของเงินทุน องค์ความรู้ในการทำธุรกิจนวัตกรรม และความรู้ด้านพัฒนาแอปพลิเคชัน ทำให้สามารถต่อยอดในพัฒนาแอปพลิเคชัน We Chef นอกจากนั้น ยังเป็นการสร้างเครือข่ายทางธุรกิจกับกลุ่มธุรกิจที่มีพื้นที่ต่างๆ เอื้อเฟื้อสถานที่ให้กับผู้ประกอบการสมาชิกของเรา โดยเฉพาะสถานีบริการน้ำมัน พีที โครงการอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำอย่าง แสนสิริ, อารียา พรอพเพอร์ตี้ รวมทั้งออริจิ้น พรอพเพอร์ตี้ เป็นต้น
จากนี้ไปจะได้เห็น Food Truck ในทุกที่
We Chef Thailand มีหลักสำคัญคือการสร้างช่องทางจำหน่ายอาหารให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นการพัฒนาร่วมกันระหว่าง We Chef กับกลุ่มหรือเจ้าของพื้นที่ต่างๆ พาร์ทเนอร์รายสำคัญอย่างศูนย์บริการน้ำมัน พีที คือ พื้นที่แห่งแรกที่ร้านขายอาหารเคลื่อนที่เข้าไปปักหลัก โดยใช้ชื่อว่า We Chef Food Truck @Oil Station
“จะเห็นได้ว่าทุกพื้นที่บริการปั๊มน้ำมันต้องการทราฟฟิก ขณะเดียวกันฟู้ดทรักเองก็ต้องการปัจจัยพื้นฐาน น้ำ ไฟฟ้า มีความปลอดภัย และที่สำคัญมีทราฟฟิก ปั๊มน้ำมันจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ We Chef เลือกเข้าไปทำ”
นอกจากมีระบบจองจอดขายในศูนย์บริการน้ำมันพีที แล้ว We Chef Thailand ยังมีอีก 3 ช่องทางให้กับผู้ประกอบกิจการ Food Truck ได้นำรถไปจอดขายอาหาร ได้แก่ We Chef Food Truck @Home คือ การนำรถไปจอดขายอาหารในหมู่บ้านต่างๆ โดยใช้รูปแบบของคาราวาน Food Truck เพื่อเป็นสร้างเสน่ห์และสร้างตัวเลือกให้ผู้ซื้อ, We Chef Food Truck @Market คือ การเข้าไปเป็นตัวกลางในการบริหารจัดการ รวมไปถึงการสร้างตลาดที่เป็นตลาดสำหรับ Food Truck โดยเฉพาะ ซึ่งในอนาคตอันใกล้จะมีการตั้งตลาดที่เป็นตลาด Food Truck แห่งแรกของ We Chef เกิดขึ้น และ We Chef Food Truck On Event มีลักษณะที่ We Chef จะเป็นออแกไนเซอร์ในการจัดหางานหรือกิจกรรมต่างๆ แล้วก็ส่งร้านอาหาร Food Truck ที่อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของ We Chef เข้าไปร่วมงาน รวมถึงมีแผนขยายการใช้งานแอพพลิเคชั่นกับปั๊มน้ำมันอื่นๆ
“ขณะนี้อยู่ในช่วงพูดคุยเจรจากับสถานีบริการน้ำมันอีกหลายแห่ง เพราะคิดว่าแค่ปั๊มพีทีรายเดียวอาจจะไม่เพียงพอ ที่จะสร้างการรับรู้ให้คนทั่วไป เพราะภาพที่เราต้องการคือ Food Truck ปรากฏอยู่ในทุกปั๊มทุกแบรนด์และทุกจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งภายในปีนี้ คาดว่าน่าจะได้เห็นปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นจริง รวมถึงให้คนกินอาหารการเข้าถึงระบบออนไลน์ในรูปของดิลิเวอรีให้มากยิ่งขึ้น ซึ่งตอนนี้เรามีพาร์ทเนอร์อย่างแอพพลิเคชั่น โรบินฮู้ด (Robinhood) เข้ามาช่วยจัดการเรื่องการจัดส่งอาหารไม่ว่า We Chef Food Truck จะเข้าไปจอดที่ไหน” นิด เล่าถึงแนวทางการตลาดที่วางเอาไว้
เป้าหมายใหม่ จาก Food Truck สู่ Service Truck
“แม้เริ่มต้นได้ไม่นาน แต่เราล้วนมีเป้าหมายและความหวัง”
ผู้บริหารสตาร์ตอัพอาหาร Food Truck บอกถึงความคาดหวังและการเดินหน้าต่อไปของ We Chef
เป้าหมายระยะสั้น คือ เพิ่มจำนวนผู้ประกอบการและผู้สนใจให้มีมากขึ้น จากเดิมที่มีอยู่ในปัจจุบันจำนวน 500 คัน จะมุ่งสู่ 1,000 คันภายในปีนี้ให้ได้
ส่วนความฝันในอนาคตวางเป้าไว้ว่าจะทรานฟอร์มหลายๆ ธุรกิจเข้ามาเป็นธุรกิจโมเดลเดียวกัน หรือเรียกว่าธุรกิจออนทรัก เช่น ธุรกิจเซอร์วิส ธุรกิจบาร์เบอร์ทรัก เป็นต้น และที่สำคัญไปกว่านั้น คือ การสร้างช่องทางในการจัดสรรพื้นที่ให้กับผู้ประกอบการให้ได้เยอะที่สุด ส่วนเป้าหมายในช่วง 3 ถึง 5 ปี ต่อจากนี้ จะพยายามสร้างทัศนคติที่ดีต่อธุรกิจออนทรัก จะสร้างธุรกิจออนทรักให้เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งของผู้ที่อยากลงทุน อยากทำอาชีพ หรือมีรายได้โดยที่ไม่ต้องเสียค่าลงทุนเยอะอีกต่อไป
“วันนี้ We Chef Thailand ได้สร้าง Ecosystem ระบบนิเวศของธุรกิจออนทรักได้อย่างสมบูรณ์แบบในประเทศไทย ทั้งในเรื่องของระบบพื้นที่ขาย ระบบคนขาย หรือรวมไปถึงคนซื้อ ก็สามารถเข้ามาใช้บริการได้อย่างสะดวก”
นอกเหนือจากนี้ ผู้บริหารแพลตฟอร์ม We Chef Food Truck ยังได้ยกประโยคสุดคลาสิกอย่างคำว่า “ครัวไทยเป็นครัวของโลก เรื่องอาหารเราไม่แพ้ชาติใด” เพื่อบอกเล่าถึงเป้าหมายที่วางไว้ในระยะยาวว่า จะนำแพลตฟอร์มที่เกิดจากคนไทย ไปโกอินเตอร์ในระดับนานาชาติต่อไปให้ได้
เมื่อถามว่าในสถานการณ์อย่างปัจจุบัน การจะตัดสินใจลงทุนทำธุรกิจสตาร์ทอัพอะไรสักอย่าง คุ้มที่จะเสี่ยงแค่ไหน? ผู้บริหาร We Chef Thailand ตอบด้วยพลังเต็มร้อยว่า “สตาร์ทอัพมีมาเพื่อแก้ปัญหา และแน่นอนว่านี่เป็นเวลาของมัน”
“ผมยังเชื่อคำที่ว่า ทุกวิกฤติ ย่อมมีโอกาสเสมอ ส่วนตัวมองว่าในสถานการณ์ในปัจจุบันที่เรียกว่าวิกฤต แน่นอนว่ามันมาพร้อมโอกาสมากมายมหาศาล อยู่ที่ว่าใครจะมองเห็นก่อน และเชื่อว่าการทำธุรกิจสตาร์ตอัพหลังจากนี้ไป ยังมีเส้นทางที่สดใส ยังมีปัญหาอีกมากมายที่ต้องการโซลูชั่นใหม่ๆ เข้ามาช่วยเหลือ ไม่ว่าปัญหานั้นจะเล็กน้อยหรือใหญ่ระดับประเทศ เชื่อว่ามีคนมองเห็นทางออก ก็อยากให้ลองมาทำธุรกิจตรงนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ช่วงเวลาแบบนี้แหละที่เหมาะสมในการทำธุรกิจสตาร์ทอัพถ้าเปรียบเทียบโควิดเหมือนสึนามิ ก็เชื่อว่าหลังสึนามิผ่านไป หาดทรายก็จะกลับมาสวยงามอีกครั้ง”
สำหรับใครที่อยากเริ่มต้นธุรกิจ ให้เริ่มต้นด้วยใจรักและความตั้งใจ เพราะการทำธุรกิจไม่ใช่เรื่องง่าย บางครั้งต้องมีหลายอารมณ์ทั้งเศร้า เสียใจ ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดา แต่หากเลือกจะทำเส้นทางนี้ต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า เราทุ่มเทได้มากน้อยแค่ไหน และหลายคนที่ล้มเหลวจากการทำธุรกิจ เพราะหลงรักไอเดียมากจนเกินไป
กับนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่ตั้งเป้าว่าไอเดียนี้จะต้องเติบโต ความคิดนี้ถือว่าไม่ผิด แต่อย่ามองและรักไอเดียนี้มากจนเกินไป ให้มองระหว่างทางว่ามีโอกาสอื่นๆ คำแนะนำจากประสบการณ์ของคนอื่นๆ ว่าจะดีหรือไม่ดีอย่างไรถ้ายังทำอย่างนั้นอยู่ อย่าง We Chef Thailand เองก็ไม่ได้เดินตามไอเดียแรกเลย เพราะต้องมองสภาพความเป็นจริงและยอมรับ และรู้จักที่จะปรับตัว
หมายเหตุ : บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Startup Thailand Marketplace ของ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ซึ่งได้ให้การส่งเสริมและสนับสนุน We Chef Thailand ด้วยการอบรมให้ความรู้พร้อมมอบทุนสนับสนุนและพัฒนาต่อยอดจนกลายเป็นธุรกิจที่สร้างประโยชน์และคุณค่าแก่สังคมไทย
“สตาร์ทอัพมีมาเพื่อแก้ปัญหา และแน่นอนว่านี่เป็นเวลาของมัน”