AgTech จุดเปลี่ยน ‘อัลจีบา ’สตาร์ตอัพที่นำเทคโนโลยีมาพัฒนาอุตสาหกรรมสัตว์น้ำไทย

การเกษตร คือวิถีชีวิตที่อยู่คู่สังคมไทยมายาวนาน สังคมไทยผูกพันกับการเกษตรกรรมด้วยความอุดมสมบูรณ์ ดังคำกล่าวที่ว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” และเมื่อโลกเปลี่ยน เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทอำนวยความสะดวกสบายให้ชีวิต จึงได้มีการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้เพื่อให้ประสิทธิภาพ ประสิทธิผลทางการผลิตที่ดีขึ้น

จากการที่ได้เข้าไปคลุกคลีในวงการประมง-อุตสาหกรรมสัตว์น้ำ อัลจีบา  (Algaeba) สตาร์ตอัพการเกษตรของไทย ได้สร้าง AgTech (Agriculture Technology) สำหรับการทำฟาร์มประมง-อุตสาหกรรมสัตว์น้ำ โดยนำเสนอเทคโนโลยีการทำฟาร์มสัตว์น้ำรูปแบบใหม่ ที่ชื่อว่า SeaThru COUNTER แพลตฟอร์มที่ใช้ Computer vision ร่วมกับปัญญาประดิษฐ์ในการนับจำนวนและประเมินคุณภาพลูกสัตว์น้ำและสัตว์น้ำทั่วๆ ไป โดยเครื่องนี้จะช่วยให้โรงเพาะฟักสัตว์น้ำ สามารถนับจำนวนสัตว์น้ำในระหว่างการผลิตหรือระหว่างการบรรจุเพื่อขายให้กับลูกค้าได้ด้วยความแม่นยำ รวดเร็ว และมีหลักฐานให้กับลูกค้าเพื่อยืนยันจำนวนนับ 

ประสบการณ์ 11 ปี จากงานประจำ ลาออกมาพิสูจน์ตัวเอง

กันย์ กังวานสายชล ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร บริษัท อัลจีบา จำกัด เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของบริษัทที่ก่อตั้งมาประมาณ 4 ปีว่า เดิมทีเขาทำงานอยู่ที่บริษัทปตท. เป็นเวลากว่า 11 ปี ระหว่างนั้นเองเขาพบว่าการงานที่ทำอยู่นั้น ความสนุก ความท้าทายที่เคยมีลดลงไป จึงลองออกมาพิสูจน์ตัวเองด้วยการตั้งบริษัทที่เป็นของเขาเอง  

Advertisement

“ตอนนั้นพบว่าการทำงานในองค์กรขนาดใหญ่มีทั้งความท้าทาย ความสนุก ความน่าเบื่อรวมๆ กัน พบว่าในช่วงครึ่งหลังของการทำงานอยู่ที่เดิมความสนุก ความท้าทายลดลง ผมเองเป็นพวกที่ชอบความท้าทาย เลยคิดว่าการที่จะท้าทายตัวเอง พิสูจน์ตัวเอง ถ้าเราทำได้คือออกมาตั้งบริษัทที่แก้ปัญหาให้กับผู้ใช้ได้จริงๆ ผมตัดสินใจร่วมกับครอบครัวว่า จะออกมาตั้งบริษัท โดยมีมิชชั่นว่าเราจะยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมเกษตรบ้านเราให้ไปสู่ยุคถัดไปให้ได้”

อัลจีบา เริ่มนับหนึ่งในธุรกิจด้วยผลิตภัณฑ์สาหร่ายขนาดเล็กเข้มข้นสำเร็จรูป (Microalgae) สำหรับอนุบาลลูกสัตว์น้ำให้กับเกษตรกร ณ ตอนนั้นพบกับปัญหาในการเข้าถึงตลาดที่ยังทำได้ยาก แต่จากจุดนี้เองทำให้ กันย์ ได้พบกับปัญหาและความต้องการแท้จริงของเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ในการนับแพ็กจำนวนลูกสัตว์น้ำที่ใช้แรงงานคนค่อนข้างมากและยังมีปัญหาผิดพลาดค่อนข้างเยอะ ตั้งแต่ 5-20% ซึ่งมีข้อโต้แย้งระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายที่จำนวนของที่ได้รับไม่ตรงกับจำนวนสั่งซื้อ และยังไม่มีโซลูชั่นที่ออกมาตอบโจทย์เพื่อแก้ปัญหานี้ จึงตัดสินใจเปลี่ยนทิศทางของบริษัทจากฟาร์มเกษตรสู่ AgTech

“ตั้งแต่ปี 2016 จนถึงปี 2019 ผมพบว่าเราควรจะต้องเปลี่ยนทิศทางธุรกิจเพื่อให้สามารถที่จะขับเคลื่อนไปสู่ยุคถัดไปของโลกได้” …และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงอัลจีบา

ยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงของอัลจีบา

กันย์ เล่าให้ฟังว่า ต้นปี 2019 อัลจีบาได้เริ่มต้นทำนวัตกรรมต้นแบบ (Prototype) อย่างง่ายของ SeaThru COUNTER  ขึ้นมา เพื่อให้ผู้ใช้งานได้เห็นวิธีการทำงานและเห็นหลักการในการทำงานของเครื่อง ถึงแม้จะได้รับผลตอบรับที่ดี แต่ก็มีข้อแนะนำ ติชมจากผู้ใช้งาน เขาจึงได้เอาข้อแนะนำเหล่านั้นมาปรับปรุงและพัฒนาเครื่องต้นแบบ

“ผมเริ่มต้นพิสูจน์ในหลักการทำงานก่อน โดยสร้างตัวต้นแบบอย่างง่ายมาให้ทดลองใช้ เมื่อผู้ใช้รู้สึกโอเคและเห็นแล้วว่าเครื่องนี้พอจะใช้ได้ ผมก็เริ่มนำไปพัฒนาเป็น prototype ขั้นต้น แล้วออกไปทดสอบ ได้รับผลตอบรับออกมาว่ายังไม่แม่นยำ ทำงานช้า ผมตัดสินใจว่าเราต้องแก้ปัญหาที่ลูกค้าฟีดแบคกลับมา ต้องมาอัพเกรดตัวระบบ”

“ต้นปี 2020 เราเริ่มมีตัวต้นต้นแบบชิ้นแรกที่ทำงานได้สอดคล้องกับความต้องการ เมื่อมิถุนายน ปี 2020 ได้เริ่มต้นทดสอบประสิทธิภาพของ SeaThru COUNTER ที่นำเอาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และกล้องมาใช้ในการระบุจำนวนของลูกสัตว์น้ำ ซึ่งสามารถเก็บรูปภาพ ส่งรูปภาพพร้อมผลการนับแบบยืนยันตำแหน่ง ซึ่งประหยัดเวลาได้มากขึ้น จากลูกสัตว์น้ำจำนวน 2 พันตัว ใช้เวลานับเพียง 6-8 วินาที จากเดิมที่ต้องใช้เวลาถึงครึ่งชั่วโมง จากการทดลองในลูกค้ากลุ่มเล็กๆ ของ อัลจีบา  โดยใช้เครื่องนับลูกสัตว์น้ำ ลูกปลานิล ลูกกุ้ง ไข่ปลา รวมถึงปู รวมถึงวัตถุสิ่งเล็กๆ ต่างๆ ที่ไม่เป็นรูปทรงเรขาคณิต ซึ่งทำงานได้ค่อนข้างดีมาก และการทดลองยังทำให้พบว่ากลุ่มลูกค้าใช้แพลตฟอร์ม SeaThru ซ้ำๆ” 

จุดนี้จึงทำให้กันย์มั่นใจว่า SeaThru COUNTER สามารถแก้ปัญหาให้กับลูกค้าได้จริงๆ 

อัลจีบา  ใช้เวลา 1 ปีครึ่ง ถึงจะเริ่มมียอดสั่งซื้อ SeaThru COUNTER  และเริ่มมีรายได้ ทั้งนี้ข้อมูลจากระบบที่ติดตามการใช้งานของลูกค้า พบว่าลูกค้าใช้งานต่อเนื่องทุกวัน ทำให้กันย์ค่อนข้างมั่นใจว่า สินค้าตัวนี้น่าจะแก้ไขปัญหาให้ลูกค้าได้จริง ขณะนี้ กันย์ มองถึงการทำการตลาดเพื่อที่จะจัดจำหน่ายได้มากขึ้นรวมถึงการขยายตลาดในต่างประเทศที่ตอนนี้กำลังเจรจาหาพาร์ทเนอร์ที่จะเป็นตัวแทนจัดจำหน่าย SeaThru COUNTER ในประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม 

“ปัจจุบันเราจำหน่ายไปได้ 30 ยูนิต ทั่วประเทศ แต่ปีนี้เราตั้งใจจะเป็นเจ้าตลาด เราตั้งเป้าไว้ที่ประมาณ 120 ยูนิต ตลาดนี้ค่อนข้างเล็กไม่ใหญ่มาก เพราะไม่ใช่แอปพลิเคชันมือถือ เราไม่ได้มีผู้ใช้เยอะ ล่าสุดเราได้รับออเดอร์จาก CP (เครือเจริญโภคภัณฑ์) ก็ทำให้เราค่อนข้างมั่นใจว่า เครื่องของเราได้รับการยอมรับในระดับโลกแล้วล่ะเพราะ CP ก็ถือเป็นบริษัทระดับโลก ในต่างประเทศเราเริ่มส่งออกไปที่ 4 ประเทศแล้ว เช่น สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ บราซิล และเร็วๆ นี้ที่รัสเซีย โดยชูจุดเด่นของ SeaThru COUNTER การันตีความแม่นยำของการนับสูงที่สุดในโลกอยู่ที่ 95% ใช้งานง่ายเมื่อเที่ยบกับของคู่แข่ง และสามารถออกแบบอุปกรณ์ให้เหมาะสมกับผู้ใช้งานได้ โดยมีโมเดลสัตว์น้ำประมาณ 15 ชนิด”

อดีต ปัจจุบัน และเป้าหมายในอนาคตของอัลจีบา 

ณ วันที่ อัลจีบา  ในฐานะสตาร์ตอัพ เริ่มต้นด้วยเงินทุนของตัวเอง ครอบครัว และนักลงทุนอิสระ ดำเนินธุรกิจเรื่อยมาจนได้รับเงินสนับสนุนจาก Venture Capital ต่างประเทศ นอกจากเงินทุนสนับสนุนจากต่างประเทศแล้ว อัลจีบา ยังได้รับทุน Open Innovation จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ทำให้ต่อยอดจากผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ไปสู่ผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ และได้รับคำแนะนำและรายงานประสิทธิภาพการนับ การพัฒนางานผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ๆ ในมิติของงานวิจัยจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ด้วยทุนก้อนนี้ด้วย ด้วยการสนับสนุนต่างๆ ทำให้ SeaThru COUNTER สามารถออกสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็ว และได้รับผลตอบรับเป็นอย่างดี

“จากบทเรียนที่ผมทำมา 4-5 ปี พบว่า สิ่งที่ผู้เริ่มต้นทำธุรกิจต้องทำให้ดีก็คือ ทำให้เร็ว เรียนรู้ให้เร็วว่า สิ่งที่เราทำแล้วมันผิดพลาด ลูกค้ายังไม่ใช้เป็นเพราะว่าอะไร แล้วก็รีบนำมาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ของเรา แล้วก็นำไปสู่การใช้งานจริงให้ได้เร็วที่สุด    ถ้าเรียนรู้ตรงนี้ได้เร็วยังไงก็เกิดเป็นธุรกิจได้ แต่ถ้าเกิดว่าเรายังนั่งอยู่บนหอคอยงาช้าง ไม่ลงมือปฏิบัติ ไม่นำไปให้ลูกค้าทดสอบจริง ยังไงก็ไม่สามารถประสบความสำเร็จได้แบบมิติของสตาร์ตอัพ ก็แนะนำให้รีบทำผลิตภัณฑ์ต้นแบบ หรือทดสอบสมมติฐานบางอย่างให้รวดเร็วแล้วก็นำบทเรียนนี้มาเรียนรู้ แล้วรีบเอากลับไปให้ลูกค้าทดสอบใหม่เร็วๆ ทำเร็วๆ ครับ

กับเป้าหมายในอนาคตข้างหน้า กันย์ ไม่ได้คาดหวังว่า อัลจีบา  จะก้าวเป็นยูนิคอร์น แต่มุ่งหวังให้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทช่วยแก้ไขปัญหาเกษตรกรได้จริง

“คำว่ายูนิคอร์นสำหรับผมก็ไม่คาดหวังครับ เนื่องจากบริษัทเราทำสินค้าที่เป็นฮาร์ดแวร์ เป็น IOT ผสมกับซอฟต์แวร์     คือโมบายแอป อัตราการเติบโตมันคงจะสู้แอปพลิเคชันหรือที่ทำซอฟต์แวร์แพลตฟอร์มล้วนๆ ไม่ได้ ไม่คิดว่าเราจะก้าวสู่การเป็นยูนิคอร์นได้โดยเร็ว แต่ก็ขอให้เติบโตเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขายได้จริง แก้ไขปัญหาให้เกษตรกรได้จริงและยกระดับมาตรฐานตามมิชชั่นขององค์กรได้ ถ้าทำได้ประเทศไทยมีเกษตรกรที่ใช้อุปกรณ์ของเรามากพอ ที่จะยกระดับมาตรฐานชีวิตของเขาผมถือว่าก็ประสบความสำเร็จแล้วไม่ต้องเป็นยูนิคอร์นก็ได้”

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Startup Thailand Marketplace ของ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ซึ่งได้ให้การส่งเสริมและสนับสนุน อัลจีบา ด้วยการอบรมให้ความรู้พร้อมมอบทุนสนับสนุนและพัฒนาต่อยอดจนกลายเป็นธุรกิจที่สร้างประโยชน์และคุณค่าแก่สังคมไทย 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image