‘LOCAL ALIKE’ ธุรกิจที่สามารถเติบโตคู่กับชุมชนอย่างยั่งยืน แรงขับเคลื่อนจากสตาร์ทอัพไทยหัวใจนักพัฒนา

ธุรกิจท่องเที่ยวไม่ได้เพียงสร้างจีดีพีเป็นอันดับต้นๆ ให้กับประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้ชุมชนหมู่บ้านทั่วประเทศที่มีอยู่ถึง 70,000-80,000 แห่ง สามารถพัฒนาด้วยตัวเองได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน

‘ไผ’ หรือ สมศักดิ์ บุญคำ สตาร์ทอัพหนุ่มลูกอีสานผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์ม ‘Local Alike’ เพราะต้องการช่วยเหลือชุมชนทั่วประเทศให้มีรายได้อย่างยั่งยืน มีโอกาสพัฒนาตัวเองมากกว่าการเป็นเพียงโฮมสเตย์ที่ถูกแพครวมเข้าไปกับโปรแกรมท่องเที่ยวของบริษัททัวร์เท่านั้น

“Local Alike คือสตาร์ทอัพที่ทำธุรกิจเพื่อสังคมเพื่อแก้ปัญหาการท่องเที่ยวที่ยังไม่ยั่งยืน คำว่ายังไม่ยั่งยืนในมุมมองของผมก็คือยังไม่กระจายรายได้ไปหาชุมชนเท่าที่ควรจะเป็น ขณะเดียวกันชุมชนที่ต้องการทำท่องเที่ยวที่มีศักยภาพแต่ไม่มีองค์ความรู้ที่จะทำเพื่อให้เดินหน้าต่อไปได้ สุดท้ายก็จะเป็นเพียงแรงงานหรือผู้ให้บริการระดับล่างที่ต้องทำตามบริษัททัวร์ทุกอย่าง ซึ่งผมมองว่าพวกเขามีศักยภาพเต็มเปี่ยมในการสร้างแบรนด์ท่องเที่ยวของเขาเองได้ จึงเป็นที่มาของการก่อตั้ง Local Alike เพื่อใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน”

Advertisement

จากวิศวะปิโตรเคมีสู่นักพัฒนาธุรกิจชุมชน

สมศักดิ์ถือกำเนิดในครอบครัวเกษตรกรจังหวัดร้อยเอ็ด ลูกบ้านส่วนใหญ่ถึงจะมีที่ดินแต่กลับต้องยึดอาชีพรับจ้างเพราะความแห้งแล้งทำให้ไม่สามารถเพาะปลูกอะไรได้ พ่อกับแม่ต้องไปทำงานรับจ้างแบกปูนที่กรุงเทพฯ เพื่อให้ได้ค่าแรงวันละ 50 บาท รวบรวมส่งกลับมาเป็นทุนให้เด็กชายสมศักดิ์ได้มีโอกาสเรียนหนังสือ

“ด้วยความที่เติบโตในหมู่บ้านยากจนก็เลยทำให้เข้าใจในปัญหาความยากจนอย่างลึกซึ้ง พ่อเคยพูดไว้ประโยคหนึ่งที่จำได้ขึ้นใจ ท่านบอกว่า คนจนอย่างเรามีแค่ 2 โอกาสให้เลือก คือ หาการศึกษาให้ตัวเอง กับขายแรงงาน ผมบอกว่าเลือกทั้ง 2 อย่างเพราะอยากออกจากความจน ก็ตั้งใจเรียนหนังสือให้เก่ง ซึ่งใช้ความอดทนอย่างมากเพราะต้องเดินเท้าเปล่าจากบ้านกว่าจะถึงโรงเรียนก็เป็นชั่วโมง”

Advertisement

หลังจบชั้นมัธยมศึกษา เขาตั้งใจเลือกเรียนที่คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สาขาปิโตรเคมี มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยหวังใจว่าจะเป็นวิชาชีพที่สร้างรายได้เลี้ยงดูครอบครัว เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องเพราะก่อนเรียนจบก็มีบริษัทต่างชาติติดต่อจองตัวให้ไปทำงานที่ประเทศเยอรมนี ก่อนที่บริษัทดังกล่าวจะย้ายฐานการผลิตมาเมืองไทย

“ผมเป็นวิศวกรชุดแรกจากทั้งหมดที่มี 5 คน ไปเรียนรู้การทำงานที่เยอรมัน 1 ปีกลับมาทำงานที่เมืองไทยได้ 3 ปี มีรายได้จนสามารถเก็บเงินปลูกบ้านหลังใหม่ให้พ่อแม่ เปิดร้านขายของชำให้พ่อกับแม่ไม่ต้องรับจ้างอีกต่อไป ครอบครัวหลุดพ้นจากความยากจนได้แล้ว โดยชีวิตมาเจอกับจุดเปลี่ยนสำคัญจากการที่เรียนกับทำงานอย่างหนักมาตลอดทำให้รู้สึกว่าอยากชาร์จแบตให้กับตัวเอง จึงขออนุญาตหัวหน้างานเพื่อลาพักร้อน 1 เดือนแล้วก็ออกตระเวนเที่ยวต่างเมืองไปเรื่อยๆ จนทำให้ได้เห็นถึงความแตกต่างของวิถีชีวิตผู้คนแต่ละสถานที่ อย่างหลวงพระบางซึ่งเป็นเมืองมรดกโลก คนที่นั่นแต่งตัวดีเพราะมีรายได้จำนวนมากจากนักท่องเที่ยว ส่วนเชียงตุงเท่าที่สัมผัส เด็กๆ บางคนยากจนขนาดไม่มีเสื้อผ้าใส่ หรือพุทธคยาก็เห็นขอทานขอเงินจากนักท่องเที่ยว ไกด์เตือนว่าต้องคอยระวังตัวนะ เพราะพวกนี้มากันเป็นแก๊ง ในใจผมก็คิดว่าพฤติกรรมอย่างนี้ไม่ใช่ความผิดของเขา แต่เป็นเพราะความยากจนจึงทำให้ไม่มีทางเลือก”

เป็นครั้งแรกในชีวิตที่เขาตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทรัพย์สินทุกอย่างที่มีอยู่ในเวลานี้เพียงพอแล้วหรือยัง หากมีพอแล้ว ได้ตอบแทนพระคุณบุพการีจนชีวิตท่านสุขสบายแล้ว ก็น่าจะได้ทำอะไรเพื่อคนอื่นบ้าง

“จากสิ่งที่ได้พบเห็นก็มานั่งคิดว่า จะมีธุรกิจแบบไหนสามารถช่วยคนขาดโอกาสหรือคนที่มีพื้นฐานชีวิตยากจนแบบเราได้ ก็เริ่มศึกษาหาข้อมูลจนกระทั่งได้รู้จักโครงการพัฒนาพื้นที่ชุมชนขององค์กรเพื่อสังคมแห่งหนึ่ง ภายใต้แนวทางการปลูกป่าควบคู่ไปกับการปลูกคนให้พึ่งพาตนเองได้และพัฒนาชุมชนต่อไปอย่างยั่งยืน ทำให้อยากไปทำงานกับองค์กรแห่งนี้ แต่เมื่อติดต่อไปก็ได้รับคำตอบว่าไม่มีตำแหน่งงานที่เหมาะสมกับวิชาชีพวิศวกรที่ผมจบมา”

แม้จะผิดหวังด้วยคำปฏิเสธที่ได้รับ แต่สมศักดิ์ก็ยังมุ่งมั่นเดินหน้าตามเจตนารมณ์ ไม่ยอมให้ขวากหนามใดมาเป็นอุปสรรค เขาตัดสินใจลาออกจากงานเพื่อบินไปศึกษาต่อปริญญาโทด้านการบริหารธุรกิจอย่างยั่งยืนที่ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ตามคำชักชวนของเพื่อนรัก

ผ่านไป 2 ปี เมื่อเรียนจบ เขากลับมาเมืองไทยและลงมือทำตามฝันด้วยการเดินทางไปที่องค์กรเพื่อสังคมแห่งนั้นอีกครั้ง เพื่อขอสมัครเป็นส่วนหนึ่งของทีมงาน ครั้งนี้แม้จะยังไม่มีตำแหน่งงานประจำที่เหมาะสม แต่ความฝันของสมศักดิ์ก็เริ่มเป็นจริง เขาได้รับการเปิดประตูต้อนรับให้มาฝึกงาน ทำให้มีโอกาสทำงานร่วมกับชุมชนในพื้นที่อย่างใกล้ชิด เป็นการจุดประกายให้เห็นถึงศักยภาพของแต่ละชุมชนที่สามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวได้

“พอฝึกงานไปได้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ผมก็มีโอกาสเสนอแผนงานเรื่องธุรกิจโฮมสเตย์ให้ผู้ใหญ่ของที่องค์กรนี้ ก็เลยได้รับการทาบทามให้ไปทำงานแบบเต็มตัวในหน้าที่นักพัฒนาธุรกิจชุมชน เรียกว่าเข้าล็อคที่อยากทำมานาน ผมตอบรับทันทีพร้อมกับยื่นข้อเสนอว่า อยากทำหมู่บ้านท่องเที่ยวควบคู่ไปด้วย ผู้ใหญ่ก็ยินดีแต่กำชับว่าต้องบริหารเวลาให้ดี”

อดีตวิศวกรปิโตรเคมีแห่งบริษัทยักษ์ใหญ่เยอรมนีค่อยๆ เรียนรู้งานเกี่ยวกับชุมชนควบคู่ไปกับไอเดียการท่องเที่ยวเพื่อพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนที่เริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ จึงตัดสินใจลาออกเพื่อมาทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง

ชู 4 หลักการทำงานของท่องเที่ยววิถีชุมชน

‘Local Alike’ เกิดขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ในรูปแบบของการท่องเที่ยวที่พัฒนาควบคู่ไปทั้งด้านสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และสังคมอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism) ด้วยการให้ความรู้คนในชุมชน ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้มีศักยภาพในการจัดการท่องเที่ยวด้วยตนเอง พร้อมกับเป็นตัวกลางเชื่อมต่อกับตลาดท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ

“หลักการทำงานของ Local Alike มีอยู่ 4 เรื่อง ได้แก่ ‘พัฒนาคน’ ด้วยการให้ความรู้คนในชุมชน มีการจัดทำเวิร์คช็อปให้สอดคล้องกับจุดขาย เช่น หมู่บ้านจะทำท่องเที่ยวชุมชน ต้องมีความรู้อะไรบ้าง ‘พัฒนาธุรกิจและบริการ’ เพราะเป็นส่วนที่จะทำให้เกิดรายได้กับเราและชุมชน เช่น เส้นทางท่องเที่ยว โฮมสเตย์ชุมชน สินค้าชุมชน อาหารชุมชน ไกด์และรถนำเที่ยวชุมชน ‘พัฒนาเทคโนโลยี’ ก็คือแพลตฟอร์มที่สร้างไว้เพื่อเป็นช่องทางเชื่อมต่อนักท่องเที่ยวกับชุมชน ชุมชนไหนพร้อมแล้ว มีสินค้าและบริการ ก็สามารถขายบนแพลตฟอร์ม localalike.com สุดท้ายคือ ‘พัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม’ ด้วยการนำรายได้บางส่วนของชุมชนรวมกับกำไรของ Local Alike มาแก้ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม เช่น ขยะ หรือระบบสาธารณูปโภคของชุมชน”

Local Alike ค่อยๆ เติบโต จนถึงปัจจุบันเป็นปีที่ 9 ทำงานร่วมกับชุมชน 160 แห่งทั่วประเทศ มีนักท่องเที่ยวเข้าไปในชุมชนแล้วกว่า 40,000 คน ใช้แพลตฟอร์มช่วยให้ชุมชนเชื่อมโยงกับนักท่องเที่ยวได้โดยตรง สร้างทั้งรายได้และความยั่งยืนตามที่เขาตั้งใจทุกประการ

อุปสรรคและความท้าทายบนเส้นทางเดิน

กว่าที่เขาจะมาถึงวันนี้ได้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย นอกจากต้องอาศัยความมานะอย่างแรงกล้าแล้ว เรื่องของเงินลงทุนเพื่อทำตามความฝันก็เป็นอีกหนึ่งอุปสรรคสำคัญยิ่ง

“ด้วยความที่เป็นธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) จึงจำเป็นต้องพัฒนาคนก่อน ผมไปเจรจากับนักลงทุนหลายรายแต่ก็ได้รับการปฎิเสธเพราะไม่สามารถให้คำตอบกับเขาได้ว่าจะรีเทิร์นกลับมาอย่างไร บางคนก็ถามว่าทำไมไม่ทำเหมือนบริษัททัวร์ทั่วไป ทำไมต้องพัฒนาชุมชนถึงขนาดนั้น ผมจึงเปลี่ยนมาใช้วิธีเดินสายประกวดแผนธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ หวังชนะเพื่อให้ได้เงินรางวัลมาเป็นทุน ช่วงแรกทำเคสพัฒนาหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่อยู่ใกล้ดอยตุงให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวโดยใช้เงินเก็บของตัวเอง กระทั่งสามารถสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยว ส่วนการประกวดแผนธุรกิจก็ชนะบ้างไม่ชนะบ้าง 

แต่สุดท้ายก็ได้รับการสนับสนุนทุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ทั้งยังช่วยเชื่อมโยงระหว่าง Local Alike กับเครือข่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ถือโอกาสขอบคุณสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ตรงนี้อีกครั้งที่มองเห็นถึงความตั้งใจจริงของผมที่ไม่ได้คิดทำธุรกิจเพื่อแสวงหาผลกำไร แต่ยังเป็นการสร้างโอกาสสร้างอาชีพให้กับคนรุ่นใหม่ในต่างจังหวัดอีกด้วย”

นอกจากเงินทุนแล้ว เขาบอกว่าในช่วงแรกยังมีปัญหาเรื่องของการทำโมเดลธุรกิจที่ยังไม่ชัดเจน เพราะการพัฒนาคน ธุรกิจ เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม ไม่ได้มาพร้อมกัน แต่มาทีละสเต็ป ต้องใช้วิธีแก้ไขทีละปัญหา เช่น ถ้าชุมชนไม่มีความรู้ ก็ต้องพัฒนาคนก่อน หากเป็นปัญหาเรื่องของการตลาดก็ต้องทำเทคโนโลยีเชื่อมโยงเพื่อให้ชุมชนทำบริการและสินค้าเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ต้องมีการลงพื้นที่และทำงานอย่างจริงจังเพื่อให้เข้าถึงปัญหาที่แท้จริงของชุมชน เรื่องยากอีกส่วนหนึ่งคือการสร้างทีม เพราะ Local Alike ไม่ต้องการเพียงคนที่ชอบท่องเที่ยว แต่ต้องได้คนที่ตั้งใจทำงานเพื่อให้คนอื่นเที่ยว

โควิดทำให้ต้องปรับโมเดลธุรกิจ

โรคระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างมหาศาลแทบทุกอุตสาหกรรมบนโลก โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นรายได้หลัก ยอดจองทัวร์ของ Local Alike ดิ่งลงจนเป็นศูนย์ ต้องเผชิญกับวิกฤตเช่นเดียวกับธุรกิจอื่นก็คือไม่มีรายได้เข้ามา ขณะเดียวกันก็ต้องเลี้ยงดูทีมงานอีก 40 ชีวิต หลังระดมสมองเพื่อหาทางรอดก็ได้แตกออกเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ ‘Local Aroi’ กับ ‘Local Alot’ 

“Local Aroi คืออาหารชุมชนซึ่งที่จริงแล้วทำมาก่อนจะมีโควิด ส่วน Local Alot แปลว่า ‘เยอะสิ่ง’ หมายถึงสินค้าประจำชุมชน เช่น เสื้อ กระเป๋า ชุดของที่ระลึกต่างๆ แล้วเราก็นำอาหารชุมชนและสินค้าชุมชนมาจำหน่ายผ่านออนไลน์ในรูปแบบอีคอมเมิร์ซมากขึ้น มีการสร้างคอนเทนต์เล่าที่มาและความน่าสนใจของสินค้านั้นๆ เพื่อให้ลูกค้าซึมซับถึงเรื่องราวและความตั้งใจในการสร้างสรรค์สินค้าแต่ละชิ้น เป็นบทพิสูจน์ของคำว่า ทุกวิกฤตมีโอกาสเสมอ แต่โอกาสที่ดีก็ต้องมาจากสินทรัพย์ที่มีอยู่ และสินทรัพย์ที่ดีของเราก็คือชุมชนที่พร้อมก้าวเดินไปด้วยกัน”

คู่แข่งทางธุรกิจ

ถ้าพูดถึงความเป็นธุรกิจท่องเที่ยว หลายคนอาจมองว่าคู่แข่งในวงการก็คือบริษัททัวร์ต่างๆ แต่ในมุมมองของเขานั้นไม่ได้คิดว่าเป็นคู่แข่ง แม้แต่สตาร์ทอัพทั่วไปที่สร้างเพียงแพลตฟอร์มขึ้นมาแต่ไม่ได้มองรอบด้านอย่างที่เขาทำ เช่น Agoda หรือ Airbnb แพลตฟอร์มรับจองและแบ่งปันที่พักแต่ไม่ได้พัฒนาชุมชนตามแหล่งท่องเที่ยว

“ในใจผมต้องการให้มีสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ๆ มาทำงานชุมชนมากขึ้น เพราะประเทศไทยมีชุมชนประมาณ 80,000 หมู่บ้าน มีโอกาสที่จะสร้างรายได้ให้กับประเทศ ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นสายท่องเที่ยวหรือสายเกษตร จะเป็นสายอะไรก็ได้ที่สามารถทำงานให้ชุมชนได้”

เสียงเรียกร้องจากสตาร์ทอัพถึงภาครัฐ

สตาร์ทอัพไทยหัวใจนักพัฒนายังบอกอีกว่า การที่ภาครัฐให้การสนับสนุนสตาร์ทอัพเป็นเรื่องที่ดีมากและทำให้สตาร์ทอัพทำงานได้เร็วขึ้น ส่วนตัวคิดว่าจะดีมากกว่านี้ถ้าสนับสนุนเงินทุนให้กับสตาร์ทอัพมากขึ้นเพราะเป็นเศรษฐกิจกระแสใหม่ (New Economy) รวมทั้งอาจจะแก้ไขกฎหมายเพื่อให้มีการสนับสนุนนโยบายมากกว่าที่เป็นอยู่

เป้าหมายสูงสุดของ Local Alike

“ก่อนอื่นต้องบอกว่า การที่ผมมาอยู่ในจุดนี้ได้เพราะมาจากความรักอย่างจริงจังในสิ่งที่ทำ ไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ มีผู้ประกอบการหลายคนที่มีความคิดเดียวกันก็คือยึดมั่นและมีความรักในงานอย่างสูง ทำให้มองเห็นอะไรที่อยู่ข้างหน้าคนอื่นหนึ่งสเต็ป ในความยากจนก็ถือเป็นความโชคดีเพราะหล่อหลอมให้เรามีวันนี้ พ่อแม่ปล่อยให้ใช้ชีวิตเองตั้งแต่เด็ก เพราะท่านต้องไปขายแรงงานหาเงินส่งให้ผมเรียน เหมือนกับปลูกฝังว่าต้องทำทุกอย่างเพื่อให้อยู่รอด (ยิ้ม)

อย่างที่เล่าไปข้างต้น ผมตั้งใจเลือกเรียนวิศวะเพราะรู้ว่าจบแล้วจะสามารถหางานที่มีรายได้มากพอจุนเจือครอบครัว ไม่ได้คิดฝันมาก่อนว่า ตัวเองจะมาลงมือทำอะไรเพื่อสังคม จนกระทั่งได้เห็นความแตกต่างของวิถีชีวิตผู้คนแต่ละเมือง ซึ่งวันนี้อาจจะเรียกว่าผมประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง โดยเป้าหมายสูงสุดก็คือการที่ชุมชนสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองอย่างยั่งยืน”

  เขายังฝากบอกถึงน้องๆ คนรุ่นใหม่ที่อยากเป็นสตาร์ทอัพ เชื่อว่าทุกคนอยากมีรายได้และมีไอเดีย แต่น้อยคนที่จะนำไอเดียนั้นมาลงมือทำให้เป็นจริง ต้องกล้าที่จะก้าวออกจากคอมฟอร์ทโซน กล้าที่จะลองทำอะไรใหม่ๆ ต้องไม่กลัว บางคนมีไอเดียแต่กลัวคนอื่นลอก ก็ไม่กล้าไปศึกษาหาแนวทางต่อ แต่ถ้าเก่งจริงๆ จะสามารถพลิกแพลงโมเดลได้ ช่องทางในปัจจุบันก็มีมากกว่าเดิม มีโซเชียลมีเดียที่เป็นช่องทางประชาสัมพันธ์ 

“หากคุณมีคอนเทนต์ดีจริง จะสามารถสร้าง Nobody ให้เป็น Somebody ได้ ถ้าเข้าใจปัญหาจริงๆ มีโซลูชันที่ตอบโจทย์ได้จริง ผมขอให้คุณลุกขึ้นมาทำ” 

“โควิดก็เป็นเพียงอุปสรรคหนึ่งที่อาจทำให้เราไม่สามารถทำทุกอย่างได้ปกติ แต่มันก็มีแนวทางใหม่ๆ วิถีใหม่ๆ ที่แตกต่างจากรูปแบบวิถีเดิม และถ้าเราสามารถผ่านโควิดไปได้ อะไรก็ฆ่าเราไม่ได้แล้ว”

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Startup Thailand Marketplace ของ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image